การอบรมเลี้ยงดูลูกในอิสลาม


9,438 ผู้ชม


การอบรมเลี้ยงดูลูกในอิสลาม


บทบาททางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมในสังคม หรือสถานที่การใช้ชีวิตของบิดารมารดา ในการอบรมบุตรนั้นไม่ควรที่จะละเลยได้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลสะท้อนทั้งสิ้นในการอบรมบุตรของบิดามารดา การมีอยู่ของบิดาในฐานะผู้บริหารครอบครัว มีบทบาทอย่างยิ่งใหญ่ต่อโครงสร้างบุคลิคภาพของเด็กที่จะเติบโตขึ้นมา


การอบรมบุตรในอิสลาม คือหนึ่งหน้าที่ซึ่งสำคัญยิ่งในการใช้ชีวิตสำหรับบิดามารดา การอบรมบุตร หมายถึง การทำให้สัญชาติญาณต่างๆ ภายในของมนุษย์น้อยๆ เหล่านั้น มีความเจริญเติบโตขึ้น และเป็นการนำทางสัญชาติญาณต่างๆ เหล่านั้นไปสู่ความสมบูรณ์แบบที่สูงสุด ของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์


การอบรม คือทั้งหมดแห่งความพยายามต่างๆ อย่างสม่ำเสมอด้วยความมุ่งมั่นที่จะบรรลุสู่เป้าหมายที่สูงสุด เป็นการมุ่งสู่ความเจริญเติบโตในทุกๆ ด้านของการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพื่อกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ หรือจะกล่าวอีกความหมายหนึ่ง การอบรม คือการถ่ายโอนมรดกต่างๆ ทางวัฒนธรรมที่พึงปราถนา และคุณค่าที่สูงส่งจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง


หรืออาจจะกล่าวโดยรวม การอบรม คือทั้งหมดของความพยายาม โอกาส การดำเนินการ อุปกรณ์ และโปรแกรมต่างๆ จะถูกนำมาใช้เพื่อการเจริญเติบโตของสัญชาติญาณของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน เพื่อบรรลุสู่ความสมบูรณ์แบบของการเป็นมนุษย์ นับแต่แรกเริ่มการปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย


อิสลามได้มีแบบอย่างมากมายในการอบรมบุตร ซึ่งมีทั้งการปฏิบัติ และวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และจากวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ของท่านศาสดา (ศ) ซึ่งท่านเหล่านั้นได้แสดง และกล่าวเอาไว้เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะอบรมบุตรให้อยู่ในแนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้ปฏิบัติตาม การใช้ชีวิตของบุคคลเหล่านั้น คือการใช้ชีวิตแห่งพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพวกเขาคือคนของพระผู้เป็นเจ้า เป็นการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเป็นศิริมงคล เป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติตลอดกาล


บิดา และมารดา คือสององค์ประกอบสำคัญยิ่งของครอบครัว ซึ่งจะมีบทบาทมากที่สุดในการอบรมบุตร มารดานั้นมีสัมพันธ์กับบุตรตั้งแต่แรกเริ่มของการปฏิสนธิของบุตรในครรภ์ของนาง จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น มารยาท แนวความคิด การปฏิบัติในทุกช่วงของนาง จะมีผลสะท้อนโดยตรงต่อโครงสร้างในการเจริญเติบโตของบุตร มารดาเปรียเสมือนอาจารย์ ผู้อบรม และแม่แบบของบุตรของนางเอง นางคือหนึ่งตัวแปรสำคัญในการอบรมบุตรในทัศนะของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้


ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลือกคู่ครองเมื่อถึงเวลาที่จะแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ซึ่งจะต้องเลือกคู่ครองที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแม่ของลูกๆ ที่จะถือกำเนิดมาในอนาคต ดังสุภาษิตไทยที่ว่า "ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่" หรือ "ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น" สตรีที่จะมาเป็นคู่ครอง คือสตรีที่จะมาเป็นอาจารย์ เป็นผู้อบรม เป็นแม่แบบแก่บุตรในอนาคต ดังนั้นอิสลามจึงเน้นย้ำในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง


ท่านอิมามบากิร (อ) ได้มีวจนะเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งท่านอิมาม (อ) ได้กล่าวแก่มุฮัมมัด บินมัรวาน สหายผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของท่านว่า "ในการให้นมแก่บุตรของท่าน ท่านจงเลือกแม่นมที่มีนิสัยดี และมีความสวยงามเถิด และท่านจงออกห่างเหล่าสตรีที่ไม่ดีเสียเถิด เนื่องจากว่าน้ำนมจะเป็นตัวถ่ายโอน (คุณลักษณะต่างๆ ทางจิตวิญญาณของมารดาสู่บุตร)"


วจนะข้างต้นของท่านอิมามบากิร (อ) ได้บ่งบอกถึงผลสะท้อนจากนมของมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งจะมีบทบาทในการถ่ายโอนคุณลักษณะต่างๆ ทั้งดี และไม่ดีของมารดาสู่บุตร ด้วยเหตุนี้บทบาทของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมของมารดา จึงไม่ควรที่จะละเลยได้ในการอบรมบุตรในอนาคตของมนุษย์


เช่นเดียวกัน อิสลามได้ให้ทัศนะของการมีอยู่ของบิดาในฐานะผู้บริหารครอบครัว ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งใหญ่ต่อโครงสร้างบุคลิคภาพของเด็กที่จะเติบโตขึ้นมา ซึ่งท่านอิมามบากิร (อ) ก็ได้มีวจนะในเรื่องนี้เอาไว้เช่นกันว่า "บรรดาเด็กๆ ที่ได้อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งความดีงามของบิดา พวกเขาจะได้รับการปกป้องจากความเบี่ยงเบนต่างๆ"


วจนะข้างต้นของท่านอิมามบากิร (อ) ได้ชี้ให้เห็นว่า อิสลามสนับสนุนให้คุณสามีทั้งหลาย คอยเอาใจใส่ และอยู่เคียงข้างภรรยาในการอบรมบุตร การอยู่ติดกับบ้าน อยู่เคียงข้างภรรยา บุตรจะได้รับความอบอุ่น และความดีงามต่างๆ ที่บิดามีจะช่วยปกป้องบุตรให้ออกห่างจากความชั่วร้ายทั้งปวงได้ ในความเป็นจริงที่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ก็คือ กิริยามารยาทต่างๆ คำพูดคำจาของบิดา ก็มีบทบาทต่อโครงสร้างการเจริญเติบโตของบุตรในอนาคตด้วย


นอกเหนือจากนั้น อิสลามได้เน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบิดาทั้งหลาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการมีฐานะผู้บริหารในด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ในการตระเตรียมเสบียงอาหารภายในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาจากการทำงานในหนทางที่ถูกต้อง และบริสุทธิ์เท่านั้น เนื่องจากอาหารต่างๆ ที่บุตรได้รับจากการรับประทานของมารดา ก็จะส่งผลในมิติของจิตวิญญาณของบุตรด้วย 
ดั่งวจนะหนึ่งของท่านอิมามบากิร (อ) ได้สั่งเสียแก่บรรดาบิดาทั้งหลายให้พยายามตระเตรียมอาหารการกินของภรรยา และลูกๆ ในครอบครัวด้วยสิ่งที่ฮาล้าล (อนุญาต) เท่านั้น ซึ่งในวันกิยามัต วันแห่งการตัดสินพวกเขาจะได้เข้าพบกับพระผู้เป็นเจ้าในขณะที่ใบหน้าของพวกเขาจะเจิดจรัสแสงเหมือนกับจันทร์เพ็ญสิบห้าค่ำ


ผู้อบรมที่ดี คือผู้อบรมที่สามารถจะใช้สอยแนวทางในการอบรมที่หลากหลายได้ ผู้อบรมจะต้องให้ความเคารพต่อบรรดาเด็กๆ ซึ่งการอบรมที่ถูกต้อง และเหมาะสมนั้นล้วนมาจากคุณลักษณะที่ดีในตัวของผุ้อบรมเอง เขาพึงทราบดีว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของบรรดาเด็กๆ และเด็กวัยรุ่น คือความรู้สึกที่ด้อยกว่า และการขาดความเชื่อมั่น มนุษย์มีความต้องการต่ออาหาร และเครื่องดื่มฉันใด ความเคารพ และเอาใจใส่จากผู้อื่นก็มีความต้องการฉันนั้น ทว่าความต้องการแห่งจิตวิญญาณนั้นมีมากมายกว่าความต้องการทางร่างกายยิ่งนัก


โดยเชคมาลีกี ภักดี

ที่มา: www.ahlulbait.org

อัพเดทล่าสุด