ทำไมอิสลามถึงให้ความสำคัญกับหินดำ และหินดำมาจากไหน?


147,501 ผู้ชม


ทำไมอิสลามถึงให้ความสำคัญกับหินดำ และหินดำมาจากไหน?

ทำไมอิสลามถึงให้ความสำคัญกับหินดำ และหินดำมาจากไหน?

หินดำ เป็นหินที่ถูกตั้งอยู่มุมของกะบะห์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถูกคลุมรอบด้วยกับเงิน หินดำเป็นจุดเริ่มของการเวียนรอบกะบะห์ (ตอวาฟ) ซึ่งถูกยกเหนือพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร เป็นหินที่มีความหนัก เป็นรูปทรงวงรี มีสีดำแดง

หินดำเป็นหินที่ถูกประทานลงมาจากสวรรค์ โดยลงมาในสภาพที่เป็นชิ้นเดียว แต่ปัจจุบันนี้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวน 8 ชิ้น ถูกเคลือบด้วยกับปูนน้ำมันที่สามารถมองผ่านได้ ซึ่งผสมด้วยขี้ผึ้ง ชะมดเชียง และอัมบัร (ไขจากลำไส้ปลาวาฬนำมาใช้ทำเครื่องสำอางพวกน้ำหอม) ซึ่งถูกวางไว้บนหัวของหินดำ

ผู้ที่นำเอาหินดำมาวางไว้ ณ กะบะห์คือท่านศาสดาอิบรอฮีม เพื่อให้ผู้ตอวาฟเริ่มตอวาฟ ณ จุดเริ่มที่หินดำ เพื่อไม่ให้เกิดการสับสน

สำหรับการจูบหินดำนั้น ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “หินดำคือการสาบานของอัลลอฮ์ (ผู้ทรงสูงส่งและมีเกียรติ) ในพื้นพิภพนี้ ซึ่งสิ่งถูกสร้างของพระองค์ (มนุษย์) สามารถจับสัมผัสมันได้ เสมือนกับการที่บุรุษได้จับสัมผัสมือของพี่น้องของเขา”

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านศาสดาจึงได้จูบหินดำ โดยได้มีรายงานจากท่านอุมัร บุตร อัลค็อฏฏ๊อบว่า ตัวท่านอุมัรเองก็ได้จูบหินดำ ซึ่งในขณะท่านอุมัรจูบหินดำนั้น ท่านอุมัรได้กล่าวกับหินดำว่า “ฉันรู้ว่า ท่านก็คือหินก้อนหนึ่งที่ไม่มีอันตราย ไม่มีประโยชน์ และหากแม้นว่าฉันไม่เห็นท่านศาสดามูฮัหมัดจูบท่านล่ะก็ฉันก็จะไม่จูบท่าน” หลังจากนั้นท่านอุมัรก็ร้องไห้ และหันหลังไปพบท่านอาลี บุตร อบีตอเล็บ ท่านอุมัรจึงได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้บิดาแห่งฮูเซนเอ๋ย ที่นี่ใช่ไหม ที่ท่านได้หลั่งน้ำตาและขอพร” ท่านอาลีจึงกล่าวว่า “โอ้ท่านผู้นำแห่งเหล่าศรัทธาชน! เนื่องจากหินก้อนนั้นมีโทษและประโยชน์” ท่านอุมัรกล่าวต่อไปว่า “แล้วอย่างไรล่ะที่มันมีโทษและประโยชน์” ท่านอาลีกล่าวว่า “แน่นอน เมื่ออัลลอฮ์ทรงสัญญาแก่บรรดาดวงวิญญาณในขณะที่อยู่ในโลกแห่งวิญญาณ พระองค์จะทรงบันทึกให้แก่พวกเขาโดยเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากนั้นหินก้อนนี้ก็ได้กลืนการบันทึกนี้ เพื่อเป็นพยานแก่ผู้ศรัทธาถึงการรักษาสัญญา และเป็นพยานแก่ผู้ทรยศถึงการทรยศ” เมื่อท่านผู้อ่านทั้งหลายรู้เรื่องนี้ ท่านก็จะเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ถึงได้ของพรต่ออัลลอฮฺในขณะจูบหินดำว่า 

اللّهُمَّ إيْمَاناً بِكَ ، وَتَصْدِيْقاً بِكِتَابِكَ ، وَوَفَاءً بِعَهْدِكَ

“โอ้อัลลอฮฺ! ขอพระองค์ทรงทำให้ฉันศรัทธา โดยศรัทธาต่อท่าน และขอพระองค์ทรงทำให้ฉันเชื่อมั่น ด้วยการเชื่อมันต่อการบันทึกของท่าน และขอพระองค์ทรงทำให้ฉันรักษาสัญญา ด้วยการรักษาสัญญาของท่าน”

ได้มีรายงานว่า “เมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) สิ้นสุดการสร้างกะบะฮ์ด้วยกับการนำเอาหินดำมาวาง โดยได้กล่าวกับท่านศาสดาอิสมาแอลผู้เป็นบุตรชายว่า “ท่านจงนำเอาหินก้อนหนึ่งมาให้ฉัน เพื่อที่ฉันจะได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ของกการเริ่มตอวาฟ” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ได้ออกไปเอาหินก้อนหนึ่งมา ท่านศาสดาอิบรอฮีมจึงกล่าวว่า “ท่านจงไปเอาหินก้อนอื่นที่มิใช่หินก้อนนี้มา” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ออกไปเอาหินมาอีกก้อน ท่านศาสดาอิบรอฮีมจึงกล่าวเป็นครั้งที่สามว่า “ท่านจงไปเอาหินก้อนอื่นที่มิใช่หินก้อนนี้มา” แล้วท่านศาสดาอิสมาแอลก็ออกไปเอาหินมาเป็นก้อนที่สาม และท่านศาสดาอิบรอฮีมก็ได้กล่าวว่า “ได้มาหาแก่ฉันซึ่งบุคคลที่ทำให้ฉันไม่ต้องการหินของท่าน” แล้วท่านศาสดาอิบรอฮีมก็ได้มองไปยังหินดำที่อยู่ในตำแหน่งของมัน

ปรากฏว่าในยุคก่อนอิสลาม หินก้อนนี้ถูกวางไว้ใกล้ๆ กะบะฮ์ ต่อมาก็ถูกทำเอาออกไปไกลจากกะบะฮ์หลังจากเปิดเมืองมักกะห์ให้เป็นเมืองอิสลาม และได้ถูกนำมาวางไว้ในตำแหน่งของมันในปัจจุบันนี้ ชาวอาหรับกล่าวกันว่า ภายใต้หินก้อนนี้ มีอุปกรณ์ก่อสร้างที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมใช้ในการก่อสร้างกะบะฮ์ และอาหรับทั้งก่อนอิสลามและในยุคอิสลามก็เชื่อกันว่า หินก้อนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์

ในยุคที่ท่านศาสดาถือกำเนิดมาก่อนที่จะทำการเผยแพร่ศาสนาแห่งอัลลอฮฺ ชาวกุเรชได้ทำการบูรณะกะบะฮ์เสร็จสิ้น พวกเขามีความขัดแย้งกันว่าใครจะเป็นผู้นำเอาหินดำไปวางไว้ในที่ของมัน เหตุการณ์นี้เกือบสร้าง ความวุ่นวายระหว่างลูกหลานชาวเผ่ากุเรช ดังนั้นท่านอบูอุมัยยะห์ อิบนุ อัลมุเฆเราะห์จึงได้ยืนขึ้น แล้วกล่าวว่า โอ้ชาวกุเรชเอ๋ย ! พวกท่านจงให้บุคคลแรกที่เข้ามาทางประตูมัสญิดนี้เป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งระหว่างพวกท่านเถิด แล้วพวกเขาก็ปฏิบัติตาม ปรากฏว่าคนแรกที่เดินเข้ามาก็คือท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ดังนั้นเมื่อพวกเขาเห็นท่านศาสดา พวกเขาก็กล่าวว่า ชายคนนี้เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ เรายินดี (ให้เขาเป็นผู้ตัดสิน) ชายคนนี้คือมูฮัมหมัด เมื่อท่านศาสดาเดินมายังพวกเขา แล้วพวกเขาก็บอกเรื่องราวการขัดแย้งระหว่างพวกเขา ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า “จงเอาผ้าหนึ่งชิ้นมาให้ฉัน” แล้วผ้าก็ได้ถูกนำมา แล้วท่านศาสดาก็ได้ยกหินดำด้วยกับมืออันมีเกียรติของท่านวางไว้บนผ้าผืนนั้น แล้วท่านศาสดาก็ได้กล่าวว่า “ทุกๆเผ่าจงจับด้านหนึ่งจากผ้านี้ และจงยกมันขึ้นพร้อมๆกัน” แล้วพวกเขาก็ปฏิบัติตามจนกระทั้งถึงที่วางหินดำ ท่านศาสดาก็ได้ใช้มือของท่านยกหินดำไปวางไว้ในที่ของมัน

ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ)ได้กล่าวว่า “หินดำได้ถูกประทานลงมาจากสวรรค์ ในสภาพที่มีความขาวจัดประดุจน้ำนม ต่อมาความชั่วของมนุษย์ได้ทำให้มันเปลี่ยนสีเป็นสีดำ” แน่นอนสีดำนั้นมีอยู่เฉพาะหัวของหินดำเท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือเป็นสีขาว ซึ่งบอกเล่าโดยมูฮัมมัด บุตร นาเฟียะอ์ อัลคอซาอีย์ เพราะเขาเห็นด้วยตาของเขาโดยเขากล่าวว่า “ฉันได้สังเกตหินดำในขณะที่มันแตกเป็นชิ้นๆ เห็นว่าความดำนั้นมีอยู่บนหัวของหินดำเท่านั้น และส่วนที่เหลือของมันเป็นสีขาว” หินดำคือการสาบานของอัลลอฮฺบนโลกนี้ เพราะท่านศาสดากล่าวว่า “แท้จริงแล้วหินดำนี้คือการสาบานของอัลลอฮฺในโลกนี้”

หินดำจะเป็นพยานให้กับบุคคลที่จูบหรือสัมผัสมันในวันกิยามะห์ เพราะท่านศาสดามูฮัมหมัดได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริงสำหรับหินดำนี้มีลิ้นและมี 2 ริมฝีปาก มันจะเป็นพยานให้กับผู้ที่จูบหรือสัมผัสมันในวันกิยามะห์ด้วยความสัจจริง”

ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ ทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งต่างๆที่อัลลอฮฺ (ตะอาลา) ทรงสร้างขึ้นมานั้นมีโทษ ประโยชน์ และมีคุณลักษณ์ความพิเศษที่ต่างกันออกไป ดังนั้นหินดำก็คือวัตถุชิ้นหนึ่งที่อัลลอฮฺให้ความพิเศษแก่มัน เช่นเดียวกัน พระอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เป็นวัตถุหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้น โดยพระองค์จะให้ความสามารถแก่มันทั้งสอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์ 

จากการวิจัยใหม่ๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างต้องตะลึงถึงความมหัศจรรย์ของหินดำ พวกเขาได้ศึกษาพบว่า แท้จริงสำหรับทุกๆเรือนร่างและสิ่งต่างๆมีพลังหรือรัศมีที่กระจายอยู่รอบๆตัวของมัน ดังนั้นผู้ที่ใกล้ชิด สัมผัส และจูบหินดำนั้นจะรู้สึกและสัมผัสได้ถึงพลังงานชนิดหนึ่ง และนี่เป็นสิ่งที่ชี้ถึงลักษณะพิเศษ ประโยชน์ในการมอง การจูบ และการสัมผัสหินศักดิ์สิทธิ์นี้ เนื่องจากดังกล่าวจะเป็นการหยิบยื่นพลังงานแก่เขา และแน่นอนทุกคนที่ทำการจูบหินดำนี้จะรู้สึกมีความกระฉับกระเฉง และสัมผัสพลังงานอันน่าประหลาด ซึ่งนี่อาจเป็นความเร้นลับที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้ปฏิบัติต่อหินดำในขณะเริ่มเวียนรอบกะบะฮ์ด้วยการจูบและสัมผัส และสิ้นสุด ณ หินดิน... วัลลอฮู่อะลัม


จากหนังสือ “อิสลาม...ทำไม” โดย อะห์หมัดมุสตอฟา โต๊ะลง

อัพเดทล่าสุด