คุณค่าของการอะซานและการอิกอมะฮฺ ที่มุสลิมทุกคนควรรู้


13,185 ผู้ชม

คุณค่าของการอะซานและการอิกอมะฮฺ ที่มุสลิมทุกคนควรรู้


คุณค่าของการอะซานและการอิกอมะฮฺ ที่มุสลิมทุกคนควรรู้

คุณค่าของการอะซานและการอิกอมะฮฺ ที่มุสลิมทุกคนควรรู้

ความหมาย

คำว่า อะซาน (اَلْاَﺬَانُ) ตามรากศัพท์ หมายถึง การแจ้งให้ทราบ, การบอกให้รู้ และการประกาศ ส่วนความหมายตามนิยาม หมายถึง การประกาศให้รู้ถึงการเข้าสู่เวลาของการละหมาดด้วยบรรดาถ้อยคำเฉพาะ

คำว่า อิกอมะฮฺ (اَلْاِقَامَةُ) ตามรากศัพท์ หมายถึง การให้ลุกขึ้นยืน ส่วนความหมายตามนิยาม หมายถึง การประกาศให้ผู้ที่มาร่วมละหมาดรู้ว่าอิมามพร้อมที่จะเริ่มทำการละหมาดแล้วด้วยบรรดาถ้อยคำเฉพาะ

เรียกผู้ทำการอะซานว่า มุอัซซิน (اَلْمُؤَﺬِّنُ) และเรียกผู้ทำการอิกอมะฮฺว่า มุกีม (اَلْمُقِيْمُ)

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มาตรา (4) เรียก “มุอัซซิน” ว่า “บิหลั่น” ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา เหตุที่เรียกเช่นนั้น เพราะคำว่า “บิหลั่น” มาจากคำว่า “บิล้าล” ซึ่งเป็นนามชื่อของท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) สาวกท่านหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ทำหน้าที่ในการอะซาน การเรียกผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลาว่า “บิหลั่น” จึงเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติคุณของสาวกท่านนี้ซึ่งได้รับฉายาว่า มุอัซซิน (ผู้ประกาศ) ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

ที่มาแห่งบัญญัติการอะซาน

มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า:

’’كان المسلمون حين قدموالمدينة يجتمعون فيتحينون الصلوات ليس ينادى بهافتكلموا يوما في ﺬلك فقال بعضهم: اﺘﺨﺬواناقوسا مثل ناقوس النصارى ، وقال بعضهم: بل بوقامثل قرن اليهود ، فقال عمر: اولا تبعثون رجلا ينادي بالصلاة ، فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: ’’يابلال قم فناد بالصلاة‘‘ رواه البخاري ومسلم

ความว่า : “บรรดามุสลิมขณะที่พวกเขามาถึงนครมะดีนะฮฺนั้น พวกเขาจะร่วมชุมนุมแล้วเผ้ารอคอยการละหมาดโดยจะไม่ถูกส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาก็ปรารภในเรื่องนั้น บางคนกล่าวว่า:พวกท่านจงเอาระฆังมาใบหนึ่งเหมือนอย่างระฆังของพวกนะศอรอ บ้างก็กล่าวว่า:พวกท่านจงเอาแตรอย่างเขา (สัตว์) ของพวกยะฮูดจะดีกว่า แล้วอุมัร (ร.ฎ.) ก็กล่าวว่า:ไฉนพวกท่านจึงไม่ส่งคนๆหนึ่งให้เขาส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดเล่า!ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า:“โอ้ บิล้าล จงลุกขึ้น แล้วจงส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

การส่งเสียงเรียกนี้ คือการเชิญชวนสู่การละหมาดที่มิใช่การอะซาน และเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในอัล-หะดีษข้างต้นเกิดขึ้นก่อนหน้าการบัญญัติเรื่องการอะซาน (ดู กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/82)

ส่วน อัล-หะดีษที่ระบุถึงบัญญัติการอะซานนั้น คืออัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิ อับดิร็อบบิฮฺ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ว่า:

’’لما امر رسول الله صلى الله عليه وسلم بالناقوس يعمل ليضرب به للناس لجمع الصلاة طاف بي وانانائم رجل يحمل ناقوسا في يده فقلت: ياعبدالله اتبيع الناقوس؟ فقال: وماتصنع به؟ فقلت: ندعوبه الى الصلاة قال: افلا ادلك على ماهوخيرمنﺬلك؟ فقلت: بلى ، فقال: تقول: الله اكبر الله اكبر ، الله اكبر الله اكبر ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان محمدارسول الله ، اشهدان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، حي على الفلاح ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله. ثم استأخرعني غيربعيد ، ثم قال: ثم تقول اﺬا اقمت الصلاة: الله اكبر الله اكبر ، اشهد ان لااله الا الله ، اشهد ان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، قدقامت الصلاة ، قدقامت الصلاة ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله ، فلما اصبحت اتيت رسول الله صلى الله عليه وسلم فأخبرته بما رايت فقال: انها رؤياحق ان شاءالله ، فقم مع بلال فألق عليه مارأيت فليؤﺬن به ، فانه اندى صوتامنك ، فقمت مع بلال فجعلت القيه عليه فيؤﺬن به ، فسمع ﺬلك عمر بن الخطاب وهو في بيته فخرج يجر رداءه يقول: واﻟﺬي بعثك بالحق يارسول الله لقدرايت مثل مارأى. فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: فلله الحمد‘‘ رواه ابوداودباسناد صحيح.

ความว่า : “เมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีบัญชาให้นำระฆังมาใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้คนมาร่วมละหมาด มีชายผู้หนึ่งมาในความฝันขณะที่ฉันนอนหลับ เขาถือระฆังใบหนึ่งอยู่ในมือ ฉันจึงกล่าว (ในความฝันนั้น) ว่า:โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านจะขายระฆังใบนั้นหรือไม่? ชายผู้นั้นกล่าวว่า: ท่านจะทำอะไรกับระฆังนั้น? ฉันก็กล่าวว่า:เราจะเรียก (ผู้คน) มาสู่การละหมาดด้วยระฆังนั้น ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ฉันจะไม่ชี้แนะท่านถึงสิ่งที่ดีกว่าสิ่งดังกล่าวกระนั้นหรือ? ฉันจึงกล่าวว่า:หามิได้!ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ท่านกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอะซานจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ”

ต่อมาชายผู้นั้นก็ถอยห่างจากฉันไม่ไกลนัก แล้วเขาก็กล่าวว่า:ต่อมาท่านก็กล่าวเมื่อท่านลุกขึ้นละหมาด (อิกอมะฮฺ) ว่า:“อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอิกอมะฮฺจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ครั้นเมื่อฉันอยู่ในเวลาเช้าตรู่ ฉันจึงมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วฉันก็บอกให้ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามสิ่งที่ฉันฝันเห็น ท่านก็กล่าวว่า:“แท้จริงมันคือความฝันที่เป็นจริง หากพระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์ ดังนั้นท่านจงลุกขึ้นยืนพร้อมกับบิล้าล แล้วท่านจงบอกแก่บิล้าลถึงสิ่งที่ท่านฝันเห็น แล้วบิล้าลก็จงอะซานตามสิ่งนั้น เพราะบิล้าลมีเสียงที่กังวานไกลมากกว่าท่าน” ฉันจึงลุกขึ้นพร้อมกับบิล้าลแล้วฉันก็เริ่มบอก (ถ้อยคำ) ให้แก่บิล้าล แล้วบิล้าลก็อะซานตามนั้น

ฝ่ายอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบก็ได้ยินสิ่งดังกล่าวขณะที่อุมัรอยู่ภายในบ้านของเขา อุมัรก็ออกจากบ้านโดยลากผ้าคลุมของเขาพลางกล่าวว่า: ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งส่งท่านมาด้วยสัจธรรม โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ แน่แท้ฉันฝันเห็นเหมือนอย่างที่เขาฝันเห็น แล้วท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า:“การสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ” (บันทึกโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)

อัล-หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานในการบัญญัติเรื่องการอะซานและอิกอมะฮฺ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นความฝันของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ ซัยดฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) แต่ก็ได้รับการรับรอง (อิกร็อรฺ) จากท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยคำกล่าวของท่าน ตลอดจนการสั่งใช้ให้ท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) ทำการอะซานด้วยถ้อยคำอะซานตามที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้บอก กอปรกับมีรายงานที่ระบุว่าท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สอนสำนวนการอะซานแก่ท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) ตามสำนวนการอะซานที่ทราบกันอีกด้วย การอะซานจึงเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนาอย่างชัดเจน และถือเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนกิจที่เป็นสัญลักษณ์อันเด่นชัดและทราบกันสำหรับชาวมุสลิมโดยทั่วไป

 

ข้อชี้ขาด (หุกฺม์) ของการอะซานและอิกอมะฮฺ

นักวิชาการมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับข้อชี้ขาด (หุกฺม์) ของการอะซานและอิกอมะฮฺ 3 ทัศนะด้วยกัน ดังนี้

1) การอะซานและอิกอมะฮฺ เป็นสุนนะฮฺสำหรับการละหมาดฟัรฎูทั้ง 5เวลา ไม่ว่าในขณะที่ไม่มีการเดินทางหรือในขณะที่มีการเดินทางก็ตาม เป็นสุนนะฮฺสำหรับการละหมาดญะมาอะฮฺและการละหมาดคนเดียว การอะซานและอิกอมะฮฺไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) แต่อย่างใด หากผู้ทำการละหมาดละทิ้งการอะซานและอิกอมะฮฺ การละหมาดของผู้ทำละหมาดคนเดียวหรือทำละหมาดญะมาอะฮฺย่อมใช้ได้ ทัศนะนี้เป็นสิ่งที่รู้กันดี (มัชฮู๊ร)

ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) เหล่าสานุศิษย์ของท่านและท่านอิสหาก อิบนุ รอฮะวัยฮฺ ก็กล่าวตามนี้และอัส-สัรเคาะสียฺได้ถ่ายทอดทัศนะนี้จากปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ) (ดู กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/90)

2) การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ สำหรับพลเมืองมุสลิมที่อยู่ในเมืองใหญ่หรือชุมชน (ดู มินฮาญุลมุสลิม; อบูบักรฺ ญาบิรฺ อัล-ญะซาอิรียฺ หน้า186) อิบนุ อัล-มุนซิรฺ กล่าวว่า:การอะซานและอิกอมฮฺเป็นฟัรฎูในสิทธิของหมู่คณะ (อัล-ญะมาอะฮฺ) ทั้งในกรณีไม่ได้เดินทางและกรณีที่มีการเดินทาง และอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า: มาลิกกล่าวว่า:จำเป็นในมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ และดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺกล่าวว่า:การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูสำหรับการละหมาดญะมาอะฮฺ แต่มิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 3/90)

ทัศนะที่สองนี้ ซึ่งชี้ขาดว่าการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) คือทัศนะของอะฮฺลุลบัยตฺส่วนใหญ่ ท่านอะฏออฺ, อิมาม อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล, ท่านมุญาฮิดและอิมาม อัล-เอาซาอียฺ (ดู บิดะอฺ ว่า อัคฏออฺ อัล-มุศ็อลลีน;อิมาด ซะกียฺ อัล-บารูดียฺ หน้า 62) ในกรณีของท่านอะฏออฺ และอิมามอัล-เอาซาอียฺนั้น ทั้งสองท่านกล่าวว่า การอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการอะซานนั้นเป็นสุนนะฮฺ และมีรายงานจากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ว่า การอะซานเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการอิกอมะฮฺนั้นเป็นสุนนะฮฺ (อ้างแล้ว หน้า62)

3) การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺในการละหมาดวันศุกร์ เป็นสุนนะฮฺในการละหมาดอื่นๆ ทัศนะนี้เป็นคำกล่าวของ อิบนุ คอยฺร็อน และอัล-อัศเฏาะคิรียฺ ตลอดจน อัส-สัรเคาะสียฺเล่าจาก อะหฺมัด อัส-สัยยารียฺ นักวิชาการในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/88)

อนึ่ง ตามมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺถือว่าทัศนะที่ 1เป็นประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหุ้ล เอาญุฮฺ) กล่าวคือ ถือว่าการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ มิใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) และมิใช่เงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด ทั้งนี้อาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่ระบุถึงการสอนของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกี่ยวกับวิธีการละหมาดให้แก่ชาวอาหรับชนบท (อะอฺรอบียฺ) ที่ปฏิบัติละหมาดไม่ถูกต้อง

โดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ท่านจงปฏิบัติละหมาดอย่างนี้ อย่างนั้น” แต่ท่านก็ไม่กล่าวถึงการอะซานและอิกอมะฮฺ ทั้งๆที่ท่านกล่าวถึงการอาบน้ำละหมาด การหันหน้าสู่ทิศกิบละฮฺและบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) ของการละหมาด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/88-89) การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้กล่าวถึงเรื่องการอะซานและอิกอมะฮฺในการสอนของท่านย่อมแสดงว่าการอะซานและอิกอมะฮฺมิใช่สิ่งที่จำเป็นนั่นเอง

ในกรณีที่ชี้ขาดว่า การอะซานเป็นฟัรฎู กิฟายะฮฺนั้น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า อย่างน้อยที่สุดซึ่งฟัรฎูนั้นจะตกไปก็คือ การอะซานนั้นกระจายออกไปในหมู่ชนที่อยู่ในสถานที่นั้นทั้งหมด หากเป็นชุมชนเล็กๆที่มีผู้อะซานเพียงคนเดียว โดยผู้คนในชุมชนนั้นทั้งหมดได้ยินเสียงอะซาน การเป็นฟัรฎูก็ตกไปด้วยผู้อะซานคนเดียวนั้น แต่ถ้าหากเป็นเมืองขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีผู้อะซานหนึ่งคนในแต่ละสถานที่ โดยเสียงอะซานนั้นกระจายไปในหมู่ผู้คนของเมืองนั้นทั้งหมด หากมีผู้อะซานเพียงคนเดียวเท่านั้น ฟัรฎูก็ตกไปเฉพาะผู้คนในแถบที่ได้ยินเสียงอะซานเท่านั้น ส่วนผู้ที่อยู่คนละย่านของเมืองนั้นซึ่งไม่ได้ยินเสียงอะซาน ก็ถือว่าไม่พ้นฟัรฎูแต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/89)

และในกรณีที่กล่าวว่า การอะซานเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺแล้วปรากฏว่าผู้คนในเมืองนั้นหรือชุมชนนั้นเห็นพ้องกันในการทิ้งการอะซาน และพวกเขาก็ถูกร้องขอให้ทำการอะซานแต่พวกเขาก็ปฏิเสธ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องสู้รบกับผู้คนเหล่านั้น (ทั้งนี้หากว่าพวกเขาอยู่ในดินแดนภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม) ส่วนกรณีที่กล่าวว่า การอะซานเป็นสุนนะฮฺ ทัศนะที่ถูกต้อง (อัศ-เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็คือ พวกเขาจะไม่ถูกทำการสู้รบเมื่อมีการละทิ้งการอะซานแต่อย่างใด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/89)

การละหมาดที่มีบัญญัติให้ทำการอะซานและอิกอมะฮฺ

การอะซานและอิกอมะฮฺ ทั้งสองถูกบัญญัติสำหรับการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาด้วยบรรดาตัวบทที่ถูกต้องและการอิจญ์มาอฺ การอะซานและอิกอมะฮฺมิได้ถูกบัญญัติสำหรับการละหมาดอื่นๆนอกเหนือจากการละหมาดฟัรฎู 5เวลา โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ไม่ว่าการละหมาดอื่นๆนั้นจะเป็นการละหมาดที่ถูกนะซัรฺเอาไว้หรือเป็นการละหมาดญะนาซะฮฺหรือเป็นการละหมาดสุนนะฮฺ และไม่ว่าการละหมาดสุนนะฮฺนั้นจะมีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ เช่น การละหมาดอีดทั้งสอง การละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส และการละหมาดขอฝน หรือไม่มีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ เช่น การละหมาดฎุหาอฺ ก็ตาม แต่ให้ประกาศเรียกเพื่อทำการละหมาดอีด ละหมาดสุริยฺคราส-จันทรคราส และละหมาดขอฝนว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” (الصلاة جامعة)

และเช่นกัน ให้ประกาศเรียกเพื่อทำการละหมาดตะรอวีหฺนั้นถูกละหมาดแบบญะมาอะฮฺ และไม่ส่งเสริมให้กล่าวว่า  “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” ในการละหมาดญะนาซะฮฺตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยน์) ซึ่งตามนี้ ชัยคฺ อบูหามิด, อัล-บันดะนัยญียฺ, อัล-มุหามิลียฺและอัล-บะเฆาะวียฺชี้ขาดเอาไว้ ส่วนอิมาม อัล-เฆาะซาลียฺชี้ขาดว่าสิ่งดังกล่าวถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ในการละหมาดญะนาซะฮฺ

แต่ตามมัซฮับและตามตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (อัล-มันศูศ) คือประเด็นแรกที่ระบุว่าไม่ส่งเสริมให้กล่าวประโยค “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” ในการละหมาดญะนาซะฮฺ เนื่องจากท่านอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตอนต้นของบทที่ว่าด้วยการอะซานจากตำรา อัล-อุมม์ว่า:ไม่มีการอะซานและไม่มีการอิกอมะฮฺสำหรับการละหมาดอื่นจากละหมาดฟัรฎู ส่วนบรรดาอีด การละหมาดสุริยคราส-จันทรคราส และการละหมาดกิยามของเดือนเราะมะฎอนนั้น ฉันชอบที่จะถูกกล่าวในการละหมาดนั้นว่า:“อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน”... และการละหมาดให้แก่ญะนาซะฮฺ และทุกๆการละหมาดสุนนะฮฺนอกเหนือจากละหมาดอีดและละหมาดสุริยคราส-จันทรคราสนั้น ไม่มีการอะซานในละหมาดสุนนะฮฺนั้น และไม่มีการกล่าวว่า “อัศ-เศาะลาต้า ญามิอะตัน” แต่อย่างใด นี่คือตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ระบุเอาไว้” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/83)

และคำกล่าวที่ว่าการอะซานและอิกอมะฮฺ ไม่ได้ถูกบัญญัตสำหรับการละหมาดอื่นๆนอกจากการละหมาดฟัรฎู 5เวลานั้นเป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์จากชนรุ่นสะลัฟและเคาะลัฟ ส่วนที่มีการถ่ายทอดจากท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยานและท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ว่าบุคคลทั้งสองกล่าวว่า: “การอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสุนนะฮฺในการละหมาดอีดทั้งสอง” หากเป็นการรายงานที่ถูกต้องจากบุคคลทั้งสอง ก็ตีความได้ว่าสุนนะฮฺในเรื่องนี้ไม่ถึงบุคคลทั้งสอง

กล่าวคือ อัล-หะดีษที่ระบุว่าไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺในการละหมาดอีดไม่ได้ถูกรายงานสู่การรับรู้ของบุคคลทั้งสอง จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองกล่าวเช่นนั้น เพราะมีรายงานในเศาะฮีหฺมุสลิมจากท่านญาบิรฺ อิบนุ สะมุเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า:

’’صليت مع النبي صلى الله عليه وسلم العيدين غير مرة ولا مرتين بغير اﺬان ولااقامة‘‘

ความว่า:“ฉันเคยละหมาดอีดทั้งสองพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิใช่ครั้งเดียวและมิใช่สองครั้งโดยไม่มีการอะซานและไม่มีการอิกอมะฮฺ” และในประเด็นที่ระบุว่าไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺในการละหมาดอีดทั้งสองนั้นมีอัล-หะดีษที่ถูกต้องเป็นจำนวนมากรายงานเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ;อ้างแล้ว 3/84)

 

ความประเสริฐของการอะซาน

ส่วนหนึ่งจากบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุถึงความประเสริฐของการอะซานและผลานิสงค์ของผู้อะซาน ได้แก่

1) (عن ابي هريرة رضي الله عنه ، ان رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: ’’لو يعلم الناس ما في النداء والصف الاول ، ثم لم يجدواالا ان يستهموا عليه لاستهموا عليه‘‘ الحديث (متفق عليه

ความว่า : รายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า:“หากว่าผู้คนรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในการประกาศเรียกร้อง (อะซาน) และแถวแรก (ในการละหมาดจากผลานิสงค์อันยิ่งใหญ่) ต่อมาพวกเขาก็ไม่พบนอกเสียจากการที่พวกเขาต้องจับฉลากบนมัน (คือการได้สิทธิในการอะซานและสิทธิในการละหมาดแถวแรก) พวกเขาย่อมจับฉลากบนมัน...” (รายงานพ้องกันโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

สำนวนในการอะซาน

สำนวนในการอะซานตามที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สอนสำนวนนั้นให้แก่ท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) คือ

الله اكبر الله اكبر    الله اكبر الله اكبر

اشهدان لا اله الا الله ، اشهدان لا اله الا الله

اشهد ان محمدارسول الله ، اشهدان محمدارسول الله

حي على الصلاة ، حي على الصلاة

حي على الفلاح ، حي على الفلاح

الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله.

(ประเด็น)

1) หลังจากมุอัซซินกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้ง 2 ประโยคแล้ว มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินกล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสองด้วยเสียงดังพอควรว่า

اشهد ان لا اله الا الله ، اشهد ان لا اله الا الله

اشهد ان محمدارسول الله ، اشهد ان محمدارسول الله

หลังจากนั้นจึงค่อยกล่าวประโยค “อัล-หัยอะละฮฺ” ทั้งสอง หรือจะกล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺที่หนึ่งค่อยๆ 2ครั้งแล้วจึงกล่าวซ้ำด้วยเสียงดัง ต่อมาก็กล่าวทวนประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺที่สองค่อยๆ 2ครั้งแล้วจึงกล่าวซ้ำด้วยเสียงดังก็ได้ เรียกการกล่าวทวนนี้ว่า อัต-ตัรฺญีอฺ (الترجيع) ซึ่งตามทัศนะที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือเป็นสุนนะฮฺ และนักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวเอาไว้

ฉะนั้นหากมุอัซซินละทิ้งการกล่าวทวน (อัต-ตัรฺญีอฺ) โดยหลงลืมหรือโดยเจตนา การอะซานก็ย่อมถือว่าใช้ได้ แต่เสียภาคผล (ฟะฎีละฮฺ) ไปเท่านั้น และหิกมะฮฺในการกล่าวทวนนี้ก็คือให้มุอัซซินกล่าวค่อยๆโดยใคร่ครวญและมีความบริสุทธิ์ใจในการกล่าวประโยคอัช-ชะฮาดะฮฺทั้งสอง (อ้างแล้ว 3/100)

2) หากเป็นการอะซานละหมาดศุบหิ ก็มีสุนนะฮฺให้มุอัซซินกล่าวประโยค الصلاة خير من النوم  สองครั้งหลังจากการกล่าวประโยค “อัล-หัยอะละฮฺ” ทั้งสองแล้ว เรียกประโยคที่เติมในการอะซานละหมาดศุบหินี้ว่า อัต-ตัษวีบ (التثويب) ทั้งนี้เนื่องจากมีอัล-หะดีษของอบูมะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานมา บันทึกโดยอบูดาวูดและท่านอื่นๆด้วยสายรายงานที่ดี

และมีรายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ) ว่า:“ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮฺนั้น เมื่อมุอัซซินกล่าวในการอะซานอัล-ฟัจฺญร์ (ละหมาดศุบหิ) ว่า (حي على الفلاح) แล้วมุอัซซินกล่าวว่า (الصلاة خير من النوم) (الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله)” บันทึกโดย อิบนุ คุซัยมะฮฺ, อัด-ดาเราะกุฏนียฺและอัล-บัยฮะกียฺ ซึ่งกล่าวว่า:สายรายงานของอัล-หะดีษเศาะฮีหฺ (อ้างแล้ว 3/99)

อนึ่ง คำว่า “อัต-ตัษวีบ” (التثويب) หมายถึง การกลับหรือหวนกลับหลังจากไป เหตุที่เรียกการกล่าวประโยค (الصلاة خير من النوم) ของมุอัซซินว่า อัต-ตัษวีบ เพราะคล้ายกับว่ามุอัซซินได้หวนกลับมาสู่การเรียกร้องเชิญชวนสู่การละหมาดอีดครั้ง โดยก่อนหน้านี้มุอัซซินได้กล่าวประโยค (حي على الصلاة) ไปแล้ว ต่อมามุอัซซินก็หวนกลับมากล่าวประโยคที่เรียกร้องเชิญชวนสู่การละหมาดอีกครั้งว่า (الصلاة خير من النوم) (อ้างแล้ว 3/100)

การกล่าว “อัต-ตัษวีบ” ในการอะซานศุบหินั้นถือเป็นสุนนะฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวของท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.), ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), ท่านอะนัส (ร.ฎ.), อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ, อิบนุ สีรีน, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อิมาม มาลิก, อัษ-เษาะรียฺ, อิมาม อะห์มัด, อิสหาก, อบูเษาริน และดาวูด (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ) (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3/102)

อนึ่งคำว่า อัล-หัยอะละฮฺ (الحيعلة) เป็นคำย่อจากคำกริยาว่า (حي على) เช่นเดียวกับคำว่า อัล-บัสมะละฮฺ (البسملة) เป็นคำย่อจากประโยค (بسم الله) คำว่า “อัล-เหาเกาะละฮฺ” (الحوقلة) เป็นคำย่อจากประโยค (لا حول ولاقوة الا با لله) คำว่า “อัล-หัมดะละฮฺ” (الحمدلة) เป็นคำย่อจากประโยค (الحمد لله) เป็นต้น

(ประเด็น) *การกล่าวประโยค อัต-ตัษวีบในการอะซานเวลาละหมาดอื่นจากเวลาละหมาดศุบหิถือเป็นมักรูฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและปวงปราชญ์ (อ้างแล้ว 3/105)

*มักรูฮฺในการกล่าวประโยค (حي على خير العمل) ในการอะซาน เพราะไม่มีรายงานยืนยันจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งนี้ อิมามอัล-บัยฮะกียฺได้รายงานหะดีษเมากู๊ฟจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) และท่านอะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) แล้วอิมามอัล-บัยฮะกียฺก็กล่าวว่า:ถ้อยคำนี้ไม่มีรายงานยืนยันจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ฉะนั้นพวกเราจึงถือว่าการเพิ่มเติมในการอะซานเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ (อ้างแล้ว 3/106)

ในตำรา “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” อิมามอัล-บัยฮะกียฺกล่าวว่า:ถ้อยคำนี้ (คือการกล่าวประโยค حي على خير العمل) ไม่มีรายงานยืนยันมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในสิ่งที่ท่านได้สอนท่านบิล้าล (ร.ฎ.) และท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) และเราถือว่าการเพิ่มเติมในการอะซานเป็นมักรูฮฺ (อัส-สุนัน อัลกุบรอ 1/425)

หากถือตามคำกล่าวของอิมามอัล-บัยฮะกียฺ (ร.ฮ.) ที่ว่านี้ก็ย่อมถือว่า การเพิ่มเติมคำว่า (سيدنا) ในการกล่าวประโยค (اشهد ان محمدارسول الله) ในการอะซานและอิกอมะฮฺเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เพราะนักวิชาการกล่าวว่า:แท้จริงการเพิ่มเติมคำๆหนึ่งหรือบางส่วนของถ้อยคำหลายคำก็เหมือนกับการตัดทอนหรือทิ้งคำ (อัล-หัซฺฟ์) ซึ่งทั้งสองกรณีไม่เป็นที่อนุญาต (บิดะอฺ ว่า อัคฏออฺ อัล-มุศอลลีน;อิมาด ซะกียฺ อัล-บารูดียฺ หน้า 67 / อัส-สุนัน วัล มุบตะดะอาตฺ;อัช-ชุก็อยรียฺ หน้า 40)

 

สำนวนของการอิกอมะฮฺ

สำนวนของการอิกอมะฮฺตามที่มีรายงานมาในหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) คือ

الله اكبر ، الله اكبر

أشهد ان لا اله الا الله

أشهد ان محمد الرسول الله

حي على الصلاة ، حي على الفلاح

قدقامت الصلاة ، قدقامت الصلاة

الله اكبر ، الله اكبر

لا اله الا الله

(ประเด็น) *ประโยคในการอิกอมะฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) มี 11 ประโยคโดยกล่าวเพียงครั้งเดียว (เป็นจำนวนคี่) ตามหะดีษที่ท่านอะนัส (ร.ฎ.) รายงานว่า “บิล้าลได้ถูกใช้ให้อะซานเป็นคู่และอิกอมะฮฺเป็นจำนวนคี่” (บันทึกโดย มุสลิม) ประโยคในการอะซานจึงมีทั้งหมด 19 ประโยคโดยนับรวมการกล่าวทวน (อัต-ตัรญีอฺ) ในประโยคอัช-ชะฮาะดะฮฺทั้งสอง ทั้งนี้ประโยค (الله اكبر) ในตอนต้นของการอะซานมี 4ประโยค โดยสุนนะฮฺให้มุอะซซินกล่าวประโยค (الله اكبر ، الله اكبر) ในการหายใจ (นะฟัส) 1ครั้ง เมื่อกล่าว 4 ประโยคจึงมีการหายใจ (นะฟัส) 2 ครั้ง ส่วนในการอิกอมะฮฺนั้นผู้ทำการอิกอมะฮฺจะกล่าว (الله اكبرالله اكبر) ในการหายใจ (นะฟัส) เพียงหนึ่งครั้งซึ่งถือเป็นจำนวนคี่ (วิตร์) ตามการนับครั้งของการหายใจ (อ้างแล้ว 3/102)

*การนับประโยคในการอิกอมะฮฺ 11ประโยคเป็นการนับจำนวนตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.), ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.), ท่านอะนัส (ร.ฎ), อัล-หะสัน อัลบะเศาะรียฺ, มักหู้ล, อัซ-ซุฮฺรียฺ, อัล-เอาซาอียฺ, อิมามอะหฺมัด, อิสหาก, อบูเษาริน, ยะหฺยา อิบนุ ยะหฺยา, ดาวูด และอิบนุ อัล-มุนซิร (เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ)

อิมามอัล-บัยฮะกียฺ กล่าวว่า:ส่วนหนึ่งจากผู้ที่กล่าวว่าให้อิกอมะฮฺเป็นประโยคเดี่ยว คือ สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ, อุรฺวะฮฺ อิบนุ อัซซุบัยฺร์, อัล-หะสัน, อิบนุสีรีน, มักหู้ล, อัซซุฮฺรียฺ, อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ และบรรดาคณาจารย์ในรุ่นตาบิอีนจำนวนมาก อัล-บะเฆาะวียฺกล่าวว่าเป็นคำกล่าวของนักปราชญ์ส่วนมาก

อิมามมาลิก (ร.ฎ.) กล่าวว่า การอิกอมะฮฺมี 10 ประโยคโดยกล่าว (قدقامت الصلاة) เพียงครั้งเดียว ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ, อัษ-เษารียฺ และอิบนุ อัล-มุบาร็อก (เราะฮิมะฮุมุลลอฮฺ) กล่าวว่า มีจำนวนประโยคเหมือนการอะซานพร้อมกับเพิ่มประโยค قدقامت الصلاة  สองครั้ง (อ้างแล้ว 3/103)

*อนึ่ง อิมามที่จะนำละหมาดมีสิทธิในการใช้ให้ทำการอิกอมะฮฺ ดังนั้นผู้อะซานจะไม่ทำการอิกอมะฮฺเพื่อเข้าสู่การละหมาดนอกจากในขณะที่อิมามนั้นมาปรากฏตัวอยู่แล้วและได้รับอนุญาตจากอิมามให้ทำการอิกอมะฮฺ ส่วนการอะซานนั้น ผู้ทำการอะซาน (มุอัซซิน-บิหลั่น) มีสิทธิทำการอะซานมากกว่าคนอื่น ดังนั้นเมื่อเข้าเวลาการละหมาด มุอัซซินก็จะทำการอะซานโดยไม่ต้องรอคอยและขออนุญาตผู้ใดก่อนไม่ว่าจะเป็นอิมามหรือผู้ใดก็ตาม (มินฮาญุลมุสลิม, อบูบักรฺ ญาบิรฺ อัล-ญะซาอีรียฺ หน้า 188)

ที่มา: https://www.alisuasaming.com/main/index.php/writing-92/article/articles/2540-azan

อัพเดทล่าสุด