ทำไมมุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์? พร้อมขั้นตอนพิธีฮัจญ์
การที่มุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์นั้น เพราะอยู่ในหลักปฏิบัติของอิสลาม
หลักปฏิบัติของอิสลาม
1.การกล่าวปฏิญาณตน
2.การละหมาด
3.การถือศีลอด
4.การจ่ายซะกาต
5.การประกอบพิธีฮัจญ์
การประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นหลักการหนึ่งของรุก่นอิสลาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 97
ความว่า : และสำหรับอัลลอฮฺ(มีบทบัญญัติ) เหนือบรรดามนุษย์ คือการทำฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้
หมายถึงว่า มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ และเส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย
ดังนั้น การนำที่ดินและทรัพย์สินไปจำนอง จำนำ หรือขาย เพื่อนำไปประกอบพีธีฮัจญ์ โดยกลับมาแล้วไม่มีที่ทำกิน หรือเป็นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหลาน จึงเป็นการกระทำที่ผิดศาสนบัญญัติ เช่นเดียวกับคนที่มีความสามารถพร้อมแต่ไม่ยอมไปเพราะเสียดายทรัพย์สินจะพร่องไป
และถ้าหากไม่มีความสามารถด้านทรัพย์ และสุขภาพ ก็ไม่เป็นความผิดอย่างไร เพราะตกอยู่ในเหตุของการด้อยความสามารถ
การทำฮัจญ์เป็นอิบาดะห์หลักต่อ อัลลอฮฺ ซึ่งมีเป้าหมายในการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ต้องใช้ความอุตสาหะ เสียสละทั้งกำลังกาย ทรัพย์ กำลังสติปัญญาและมีความสามารถอดทนต่อความยากลำบาก และมีความสามารถที่จะไปได้ โดยไม่ต้องกู้หนี้ หยิบยืมทรัพย์ของบุคคลอื่น
สถานที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีฮัจย์คือ...
ทุ่งอารอฟะห์,ตำบลมุซดะลิฟะห์,ตำบลมีนา,และอัล-กะบะฮฺ (การตอวาฟรอบกะบะห์นี้ ไม่ได้กระทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน)
ลำดับขั้นตอนของพิธีฮัจญ์เรียงตามรุก่นและวาญิบฮัจญ์
1. เริ่มต้นด้วยการครองอิหฺรอม คือการตั้งเจตนาเข้าสู่พิธีฮัจญ์ ( รุก่น ) จากสถานที่ที่กำหนด (วาญิบ)
2. การวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์คล้อยของวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้ง ดวงอาทิตย์ตก ( รุก่น )
3. การค้างแรมที่มุซดะลิฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของคืนวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งเวลาซุบฮฺ ( วาญิบ )
4. การขว้างเสาหิน 7 ก้อนที่ญัมรอตุลอะเกาะบะฮฺ ที่มีนา เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งดวงอาทิตย์ตก (วาญิบ)
5. การโกนศีรษะหรือการตัดผม เมื่อกระทำมาถึงตอนนี้แล้วเรียกว่า ตะฮัลลุลเอาวัล คือ การเปลื้องชุดอิหฺรอมครั้งที่ 1 (รุก่น)
6. การฏอวาฟบัยตุลลอฮฺ 7 รอบ (รุก่น)
7. การเดินสะแอระหว่างภูเขาซอฟาและมัรวะฮฺ 7 เที่ยว (รุก่น) เมื่อฏอวาฟและสะแอแล้วเรียกว่า ตะฮัลลุลซานี คือการเปลื้องอิหฺรอมครั้งที่ 2
8. การค้างแรมที่มีนา ในค่ำคืนของวันตัชรีก (วาญิบ)
9. การขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้น ในวันที่ 11,12,13 ซุลฮิจญะฮฺ ต้นละ 7 ก้อน (วาญิบ)
10. การฏอวาฟวิดาอฺ (ฏอวาฟอำลา คือการเวียนรอบกะบะฮฺเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกจากดินแดนเมืองมักกะฮฺเพื่อจะเดินทางกลับ) (วาญิบ)
รุก่นและวาญิบของการประกอบพิธีฮัจญ์ มีความแตกต่างกัน คือ
ผู้ใดละทิ้งรุก่นหนึ่งรุก่นใดของการทำฮัจญ์ การทำฮัจญ์ของเขาใช้ไม่ได้ และจำเป็นจะต้องไปทำฮัจญ์ใหม่ในปีต่อไป ส่วนผู้ที่ละทิ้งวาญิบ ข้อหนึ่งข้อใด จำเป็นที่เขาจะต้องเสียดัม (เชือดสัตว์พลี)
ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ครองอิหฺรอม
- ห้ามสวมเสื้อผ้าที่มีรอยเย็บ กางเกง กางเกงชั้นใน ห้ามสวมหมวก ส่วนผ้าที่ไม่ได้เย็บเข้ารูปอนุญาตให้สวมได้แม้ว่าจะมีรอยเย็บ เช่น ผ้าโสร่ง ถ้าเราตัดออกเป็นผ้าผืนยาวๆ ก็ถือว่าใส่ได้ แม้ว่าจะมีรอยเย็บ(สำหรับผู้ชาย)
- ห้ามใส่เครื่องหอมหรือน้ำหอมทุกชนิด
- ห้ามตัดเล็บ ตัดผม โกนหนวด
- ห้ามพูดจาหยาบคาย ไร้สาระ เกี้ยวพาราสี การนินทา และการทะเลาะวิวาท
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เล้าโลม กอดจูบ
- ห้ามจัดพิธีนิกะฮฺ(แต่งงาน)หรือการหมั้น
- ห้ามไล่ล่าสัตว์ในเขตแผ่นดินฮะราม(ห้าม)
- ห้ามตัดหรือถอนต้นไม้ในเขตแผ่นดินฮะราม
การประกอบพิธีฮัจญ์มี 3 แบบ
1.ตะมัตตัวะอฺ คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺก่อนการทำฮัจญ์ ขณะที่เข้าสู่เทศการฮัจญ์แล้ว (ส่วนมากนิยมทำฮัจญ์แบบตะมัตตัวะอฺ คนไทยก็เช่นกัน)
2. อิฟร้อด คือผู้ครองอิหฺรอม หลังจากการทำการตอวาฟกุดูมแล้ว เขาจะต้องสวมชุดอิหฺรอมจนกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ หลังจากนั้นจึงทำอุมเราะฮฺ
3. กิรอน คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺและการทำฮัจญ์พร้อมกัน
หลังจากการทำอุมเราะฮฺคือตอวาฟและสะแอแล้ว ไม่ต้องโกนศีรษะหรือตัดผม แต่ให้เขาครองอิหฺรอมกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ
ตารางเวลาของการทำฮัจญ์ และเส้นทาง(route)ของการประกอบพิธีฮัจญ์
1. ผู้ทำฮัจญ์แบบตะมัตตัวะอฺ ครองอิหฺรอมเพื่อเจตนาทำฮัจญ์ ที่บ้านพักในมักกะฮฺเช้าวันที่ 8
2. ออกเดินทางจากมักกะฮฺมุ่งสู่มีนา และพักค้างแรมที่นั่น (วันตัรวียะฮฺ วันที่ 8)
3. ออกเดินทางจากมีนามุ่งสู่อะระฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ (ออกจากมีนา เช้าวันที่ 9)
4. หยุดอยู่ที่อะรอฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ ตั้งแต่เวลาบ่ายจนถึงเวลามัฆริบ (วันอะรอฟะฮฺที่ 9)
5. ออกจากอะรอฟะฮฺตั้งแต่เวลามัฆริบมุ่งสู่มุซดะลิฟะฮฺ และพักค้างแรมที่นั่น (คืนวันที่10 )
6. ออกจากมุซดะลิฟะฮฺ มุ่งสู่มีนา เพื่อขว้างเสาหิน ญัมเราะตุ้ลอะกอบะฮฺ (เช้าวันที่10วันอีด)
7. พักแรมที่มีนา และขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้น เป็นเวลา 3 วัน (วันตัชรีก วันที่ 11 - 12 - 13 )
8. ออกเดินทางจากมีนา มุ่งสู่เมืองมักกะฮฺ (ก่อนดวงอาทิตย์ตก)
http://www.annisaa.com/forum/index.php?topic=125.0