ไขข้อสงสัย มุสลิมต้องขอดุอาอฺ (ขอพร) เป็นภาษาอาหรับเท่านั้นหรือ?


10,857 ผู้ชม

การดุอาอฺหรือขอพรนั้น คือการขอจากความต้องการของเรา ส่วนเรื่องว่าจะใช้ภาษาใดนั้นในการขอ...


ความหมายของดุอาอฺ

ในทางรากศัพท์ ดุอาอฺ  دعاء  หมายถึง การขอ การวิงวอน การเรียก

ส่วนความหมายของมันในทางศาสนบัญญัตินั้นหมายถึง การวิงวอนของจากอัลลอฮฺ รวมถึงการสรรเสริญและสดุดีพระองค์ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายอื่นอีก แต่ทั้งนี้ลักษณะการให้ความหมายมีความคล้ายกัน เช่น

1.การแสดงความปรารถนาต่ออัลลอฮฺ

2.การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

3.การแสดงตนว่าต้องพึ่งอัลลอฮฺ ไม่แสดงทิฐิ สำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย และยอมรับในความประเสริฐอันมหาศาลของอัลลอฮฺ ด้วยการสรรเสริญพระองค์

4.การขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้พ้นจากสิ่งที่เป็นพิษภัย

5.การนอบน้อมวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และมอบตนต่อหน้าพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาและให้ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ประสงค์

คำถาม: มุสลิมต้องขอดุอาร์ (ขอพร) เป็นภาษาอาหรับเท่านั้นหรือ?

คำตอบ: 

ไม่จำเป็นจะต้องอ่านดุอาตามบทภาษาอาหรับ เพราะแม้ดุอาอฺกุนูตในนมาซ (ละหมาด) ก็อนุญาตให้กล่าวด้วยภาษาอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะอ่านและพยายามครุ่นคิดในบทดุอาร์ภาษาอาหรับที่บรรดาอิมามได้สอนไว้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลที่ว่า:


ดังที่กุรอานคือพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ใช้สนทนากับมนุษย์ ดุอาอฺที่บรรดาอิมาม(อ.)สอนเราไว้ก็คือบทเอื้อนเอ่ยที่มนุษย์วอนขอต่ออัลลอฮฺ ดังที่ดุอาอฺได้รับการเปรียบว่าเป็น “กุรอานที่เหิรขึ้นเบื้องบน” นั่นหมายความว่าดุอาอฺเหล่านี้มีเนื้อหาลึกซึ้งแฝงเร้นอยู่ดังเช่น กุรอาน และเนื้อหาเหล่านี้จะได้รับการตีแผ่อย่างสมบูรณ์ด้วยภาษาอาหรับเท่านั้น


ด้วยเหตุผลดังกล่าว มุสลิมจึงควรเรียนรู้ความหมายของนมาซและดุอาอฺต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ากำลังเอ่ยขอสิ่งใดจากพระผู้เป็นเจ้า หากทำได้ดังนี้ก็จะส่งผลให้ศาสนกิจของตนอุดมไปด้วยสำนึกทางจิตวิญญาณ และจะทำให้สามารถโบยบินสู่ความผาสุกอันนิรันดร์ได้


นอกเหนือปัจจัยดังกล่าวแล้ว ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆด้วย อาทิเช่น เนื้อหาดุอาอฺไม่ควรขัดต่อจารีตที่พระองค์วางไว้ ควรศอละวาตแด่นบีและวงศ์วานเสมอ ผู้ดุอาร์จะต้องหวังพึ่งพระองค์เท่านั้นมิไช่ผู้อื่น ให้บริสุทธิใจและคำนึงถึงความยากไร้ของตน ปากกับใจต้องตรงกันยามดุอา เคร่งครัดในข้อบังคับและข้อห้ามทางศาสนา กล่าวขอลุแก่โทษต่อพระองค์ พยายามย้ำขอดุอาร์ มั่นใจและไม่สิ้นหวังในพระองค์[1]

[1] มุฮัมมัด ตะกี ฟัลสะฟี,อธิบายดุอามะการิมุ้ลอัคล้าก,เล่ม1,หน้า 2. และ โค้รรัมชอฮี,สารานุกรมกุรอานและกุรอานศึกษา,เล่ม 1,หน้า 1054. และ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร ชะฮีดีและ ฮิบะตุดดีน ชะฮ์ริสทอนี,ดุอาและตะฮ์ลีลจากกุรอาน,หน้า 43. และ ซัยยิดอลีอักบัร,พจนานุกรมกุรอาน,คำว่าดุอาอฺ

ที่มา: https://www.oknation.net/blog/kiattitharai/2011/07/05/entry-2

อัพเดทล่าสุด