ท่านซุลก็อรฺนัยนฺ คือใคร? ที่ปรากฎในอัลกุรอ่าน


19,867 ผู้ชม


ท่านซุลก็อรฺนัยนฺ คือใคร? ที่ปรากฎในอัลกุรอ่าน

ท่านซุลก็อรฺนัยนฺ คือใคร? ที่ปรากฎในอัลกุนอ่าน 

เกี่ยวกับตัวของท่านซุลก็อรฺนัยนฺนั้น นักวิชาการโลกมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  มีความเห็นแตกต่างกันไป  บ้างว่าเป็นกษัตริย์ซูนาวาสของเยเมน ผู้บุกเบิกทวีปแอฟริกา บ้างว่าเป็น กษัตริย์ไซรัสมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย บ้างก็ว่าเป็นกษัตริย์ดาริอุสแห่งอาณาจักรมิเดีย หรือแม้กระทั่งอเล็กซานเดอร์มหาราชและจิ๋นซีฮ่องเต้แห่งจีน ผู้ซึ่งบูชารูปปั้น

83 : และพวกเขาถามเจ้า(มุฮัมมัด) เกี่ยวกับซุล-ก็อรฺนัยนฺ จงกล่าวเถิด “ฉันจะเล่าเรื่องราวของเขาให้พวกท่านฟัง”

84 : แท้จริงเราได้ให้อำนาจแก่เขาในแผ่นดิน และเราได้ให้เขาซึ่งทุกสิ่งที่เขาต้องการ


ในหนังสือตัฟฮีมุลกุรอาน ท่านซัยยิด อบุล อะลา เมาดูดี ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ลักษณะของท่านซุลก็อรฺนัยนฺไว้ดังนี้

1. ฉายา ซุลก็อรฺนัยนฺ “คนที่มีสองเขา” น่าจะเป็นที่รู้จักกันในหมู่พวกยิว เพราะพวกยิวเองที่ยุยงให้บรรดาผู้ปฏิเสธแห่งมักกะฮฺถามท่านรอซูลุลลลอฮฺ ศ็อลฯ ดังนั้น เราจะต้องหันไปดูวรรณกรรมของพวกยิวเพื่อที่จะรู้ว่าใครคือคนที่รู้จักกันว่า “คนที่มีสองเขา” หรืออาณาจักรไหนที่เป็นที่รู้จักกันว่า “คนที่มีสองเขา”

2. ซุลก็อรฺนัยนฺจะต้องเป็นผู้ปกครองและผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถพิชิตดินแดนตั้งแต่ตะวันออกไปจนถึงตะวันตก และด้านที่สามไปจนถึงทางเหนือหรือทางใต้ ก่อนหน้าที่จะมีการประทานอัลกุรอาน มีหลายคนที่เป็นผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น เราจะต้องจำกัดการศึกษาค้นคว้าหาลักษณะของซุลก็อรฺนัยนฺไว้ เพียงหนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้

3. ฉายานี้ควรจะใช้กับผู้ปกครองที่สร้างกำแพงอันแข็งแกร่ง ผ่านช่องเขาเพื่อคุ้มครองป้องกันอาณาจักรของเขาจากการบุกรุกของยะอฺญูจญฺและมะอฺญูจญฺ ขณะเดียวกัน เราก็จะต้องหาด้วยว่ากำแพงดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อใดและโดยใคร และกำแพงนั้นติดกับเขตแดนของใคร?

4. นอกจากจะมีลักษณะดังกล่าวข้างต้นแล้ว เขาจะต้องเป็นคนที่เคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้า และเป็นผู้ปกครองที่ยุติธรรมคนหนึ่ง เพราะอัลกุรอานได้กล่าวถึงลักษณะเด่นเช่นนี้มากกว่าสิ่งอื่นใด

และท่าน ซัยยิด อบุล อะลา เมาดูดี เองก็ได้ลงความเห็นว่า ตามลักษณะดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถที่จะใช้ได้กับ กษัตริย์ไซรัสมหาราช เพราะตามบันทึกหรือเรื่องเล่าของชาวอิสรออีล เช่นในไบเบิลเองก็ได้กล่าวสนับสนุนถึง “คนสองเขา” ที่พวกอิสรออีลให้ความยกย่อง เพราะกษัตริย์ท่านนี้ได้เข้ายึดอาณาจักรบาบิโลน และได้ปลดปล่อยพวกอิสรออีลให้พ้นจากการเป็นทาสเชลยศึก ( ดูดาเนียล 8:3,20  ) รวมถึงบันทึกที่มีการเรียกขานกษัตริย์ไซรัสมหาราช ว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้าและฟื้นฟูนิเวศสถานของพระเจ้า (มัสยิดอัลอักซอ) (ดูเอสรา 1 – 6)

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม นอกเหนือจากเรื่องราวที่มีการบันทึกนั้นก็ คือ ความยิ่งใหญ่ของท่านซุลก็อรฺนัยนฺที่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบหฺฯ ทรงประทานให้นั้น อย่างน้อยจะต้องมีปรากฏในสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่นรากฐานอารยธรรมโบราณ โบราณสถาน และวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มาสนับสนุนโองการจากพระองค์ได้เป็นอย่างดี และกษัตริย์ไซรัสมหาราชเองก็ตรงตามประเด็นนี้เช่นกัน

กษัตริย์ไซรัสมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้รวบรวมอาณาจักรเปอร์เซีย(หรืออาณาจักรอาคีมินีดโบราณ) มีชีวิตอยู่ในช่วง 559 – 530 ปีก่อนคริสตกาล มีเมืองหลวงที่ใช้ในการปกครองชื่อว่าเมือง Pasargadae ปัจจุบันอยู่ในจังหวัด Fars ของประเทศอิหร่าน ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO

กษัตริย์ไซรัสเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย และเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม เป็นกษัตริย์ผู้ชอบช่วยเหลือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และใจกว้างต่อศัตรูผู้พ่ายแพ้  เขาเป็นผู้ปลดปล่อยเชลยศึกและทาสให้เป็นอิสระชน และให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยไม่มีการบังคับ

ตามประวัติศาสตร์กษัตริย์ไซรัสได้มีคำสั่งให้มีการบันทึกตัวอักษรลงบนกระบอกหิน(CYRUS CYLINDER) ซึ่งเป็นตัวอักษรแรกที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน มีอายุเก่าแก่มากที่สุดที่ถูกค้นพบ (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) บันทึกนี้ยังมีการบอกกล่าวถึงการนับถือพระเจ้า และการให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ด้วยความสมัครใจ ความเป็นมหาราชา และการรวบรวมอาณาจักรต่างๆ ภายใต้การแผ่ขยายอาณาจักรของท่าน ซึ่งข้อความนั้นไม่สมบูรณ์และไม่ต่อเนื่องโดยตลอด เพราะความเสื่อมโทรมของตัวกระบอกเอง

กระบอกหิน CYRUS CYLINDER

ลักษณะตัวอักษรบนกระบอกหิน CYRUS CYLINDER

การแผ่ขยายอาณาจักรของกษัตริย์ไซรัส ยังทิ้งร่องรอยอารยธรรมของเปอร์เซีย เช่นภาษา ตัวอักษร วัฒนธรรม ไปยังเมืองต่างๆ รวมถึงการรับเอาวัฒนธรรมของเมืองที่อยู่ภายใต้อาณัติการปกครอง มาใช้ในเมืองของตนเอง กษัตริย์ไซรัสยังมีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่เรียกว่า IMMORTAL เป็นนักรบที่เก่งกาจจนหาผู้ใดที่จะเทียบเคียงได้ในยุคนั้น และมีระบบการจัดการกองทัพที่ชาญฉลาด มีกองเสบียงที่มีสัตว์เลี้ยงและเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูก

 ภาพวาดจำลองของเมืองบาบิโลน

สภาพเมืองบาบิโลนที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1932


ครั้งหนึ่งในการเข้ายึดเมืองบาบิโลนในสมัยกษัตริย์นาโบนีดัส กษัตริย์ไซรัสใช้การปิดล้อมโดยไม่มีการทำลายสิ่งใดทั้งสิ้น จนกระทั่งชาวเมืองเปิดประตูเมืองต้อนรับแต่โดยดี และเป็นการเข้าเมืองอย่างสันติ กษัตริย์ไซรัสยังสั่งให้มีการปลดปล่อยทาสและเชลยศึกที่ถูกอาณาจักรบาบิโลนคุมขังมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยเฉพาะชาวอิสรออีล เรื่องราวความทรงธรรมของกษัตริย์ไซรัสยังได้รับการบันทึกจากศาสดาอิสยาห์ที่2 ผู้เป็นเชลยศึกชาวอิสรออีล ผ่านทางไบเบิลอีกด้วย

การขยายอาณาจักรเปอร์เซียยุคกษัตริย์ไซรัส ทางฝั่งตะวันตก

ส่วนดินแดนที่มีร่องรอยของการเดินทัพของกษัตริย์ไซรัสและอยู่ภายใต้อาณัติการปกครองของอาณาจักรเปอร์เซีย มีดังนี้

ทิศตะวันออก ครอบคลุมอัฟกานิสถาน ปากีสถาน จรดประเทศอินเดีย รวมถึงเตอร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กิสถาน ที่ติดกับมณฑลซินเกียง ประเทศจีนในปัจจุบัน

ทิศตะวันตก ครอบคลุมอาณาจักรบาบิโลน(อิรัก) อาณาจักรยูดาห์(อิสราเอล) อาณาจักรอัสซีเรีย(ซีเรีย) อาณาจักรอียิปต์โบราณ รวมถึงประเทศลิเบีย อาณาจักรลิเดีย(ตุรกี) และอาณานิคมบางส่วนของอาณาจักรกรีก ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของทะเลเอเจียน (ตุรกีและมาซิโดเนีย

ทิศเหนือ แผ่ขยายจรดเทือกเขาคอเคซัส ที่อยู่ระหว่างทะเลดำและทะเลแคสเปียน ครอบคลุม อาร์เมเนีย จอร์เจีย และอาเซอร์ไบยัน

ทิศใต้ ติดอ่าวเปอร์เซีย อ่าวอาหรับ อ่าวโอมาน และทะเลอาราเบียน

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของกษัตริย์ไซรัสตามประวัติศาสตร์แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับท่านซุลก็อรฺนัยนฺในอัลกุรอานเป็นอย่างยิ่ง วัลลอฮุอะอฺลัม

ที่มา: https://alquranstories.wordpress.com/2010/03/08/zulgornine01/

อัพเดทล่าสุด