ความประเสริฐของวันศุกร์ ซุนนะฮฺในวันศุกร์ วิธีละหมาดวันศุกร์ ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!


10,698 ผู้ชม


ความประเสริฐของวันศุกร์ ซุนนะฮฺในวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้! 

ความประเสริฐของวันศุกร์ ซุนนะฮฺในวันศุกร์ วิธีละหมาดวันศุกร์  ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!

วันศุกร์ ในภาษาอาหรับเรียกว่า เยามุลญุมุอะฮฺ หรือ เยามุลอะรุฟะ(อาหรับเรียกกัน) ที่ปรากฏในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺคือชื่อแรก และมีซูเราะฮฺหนึ่งในอัลกุรอานที่ใช้ชื่อนี้ ท่านนบีได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์อย่างชัดเจน ซึ่งอิมามบุคอรียฺได้บันทึกในศ่อฮี้ฮฺของท่าน รายงานโดยท่านอบูฮุรอยเราะฮ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า    

ولفظ البخاري "نحن الآخرون السابقون يوم القيامة،بيد أنهم أوتوا الكتاب من قبلنا، ثم هذا يومهم الذي فرض عليهم فاختلفوا فيه فهدانا الله له، فالناس لنا فيه تبع، اليهود غدا والنصارى بعد غد"

ความว่า “แท้จริงเรา(มุสลิมีน)จะเป็นคนสุดท้าย(อัลอาคิรูน)และเป็นคนที่อยู่แนวหน้า(อัซซาบิกูน)ในวันกิยามะฮฺ (1) แท้จริงมันมีข้อแตกต่างเพียงข้อเดียว พวกเขา(ประชาชาติอื่น)ได้รับคัมภีร์ก่อนเราเท่านั้น” (2) วันนี้(วันศุกร์)เป็นวันที่ถูกบันทึก(บัญญัติ)แก่ยะฮูดและนะศอรอ” (3) แต่พวกเขา(ยะฮูดและนะศอรอ)ขัดแย้งกัน (4)“ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจะตามเรามา วันประเสริฐยิ่งในโลกนี้คือวันศุกร์  ยิวพรุ่งนี้ (วันเสาร์) และนะศอรอถัดไป(วันอาทิตย์)(5)"

(1)  หมายถึง ประชาชาติอิสลามเป็นประชาชาติสุดท้ายที่อยู่บนโลกนี้ ที่มาก่อนคือประชาชาติยิวและตามด้วยคริสต์ สุดท้ายคืออิสลาม)เพราะนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นนบีท่านสุดท้าย ประชาชาติของท่านจึงเป็นประชาชาติสุดท้าย แต่ในวันกิยามะฮฺมุสลิมจะอยู่ในแนวหน้าเป็นผู้นำประชาชาติอื่นๆ

(2) นี่คือคุณลักษณะหรือความประเสริฐของประชาชาติอื่นที่มาก่อนมุสลิม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่หมายถึงว่ามีคัมภีร์ก่อนแล้วจะประเสริฐกว่าคนอื่น หรือคนที่เป็นมุสลิมตั้งแต่เกิดจะดีกว่าคนที่เป็นภายหลัง หรือมุสลิมที่อายุมากจะประเสริฐกว่าที่อายุน้อย ยะฮูดและนะศอรอได้รับคัมภีร์ก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประเสริฐกว่า

(3) ทั้งสองประชาชาตินั้นได้ถูกเสนอให้วันศุกร์เป็นวันสำคัญของพวกเขามาก่อน

(4) นี่แหละอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นในประชาชาติอิสลาม ผู้ที่อ้างตนเป็นมุสลิมแต่แสวงหาความประเสริฐในวันอื่นนอกญุมุอะฮฺ แสวงหาความสนุกสนานและการเฉลิมฉลองในวันอื่นนอกจากวันอีดทั้งสองที่อัลลอฮฺบัญญัติไว้ สิ่งที่อัลลอฮฺให้มาเรากลับปฏิเสธ ที่ยะฮูดและนะศอรอถูกสาปแช่งถูกยึดเกียรติและความประเสริฐที่อัลลอฮฺเคยประทานให้เขา ก็เนื่องจากอัลลอฮฺมอบหมายพระบัญญัติไว้แต่พวกเขาปฏิเสธ แต่มุสลิมได้รับเอาวันศุกร์ไว้เป็นวันสำคัญและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

(5) หมายถึง ความประเสริฐของวันศุกร์ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์คิดขึ้นเอง ดังนั้นจึงไม่มีใครมีสิทธิ์บัญญัติวันนี้ดีกว่าวันนั้น หรือช่วงเวลานี้ดีกว่าช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งสำหรับวันศุกร์ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه أن النبي صلى الله عليه وسلم قال: (خير يوم طلعت عليه الشمس يوم الجمعة، فيه خلق آدم، وفيه أدخل الجنة، وفيه أخرج منها، ولا تقوم الساعة إلا في يوم الجمعة). [مسلم 854].

ความว่า “วันประเสริฐที่สุดในบรรดาวันต่างๆ ที่มีดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ ในวันนั้นอาดัมถูกสร้าง และในวันนั้นท่านได้เข้าสวรรค์ และในวันนั้นท่าน(นบีอาดัม)ถูกสั่งให้ออกจากสวรรค์(เนื่องจากความผิดของท่านที่กินจากต้นไม้ต้องห้าม) และวันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่ในวันศุกร์”  ซึ่งประการสุดท้ายนี้มีความสำคัญ เพราะวันศุกร์เป็นวันที่มุอฺมินเฝ้าคอยว่าอาจจะเป็นวันกิยามะฮฺ ทำให้มีความตั้งใจในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ

มีหะดีษอีกบทหนึ่งบันทึกโดยอิมามอิบนุมาญะฮฺ อิมามอะหมัด ซึ่งอุละมาอฺบางท่านบอกว่าฎออีฟ แต่อิมามอัลอิรอกียฺ บอกว่าเป็นหะดีษหะซัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

فعن أبي لبابة بن عبد المنذر رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم إن يوم الجمعة سيد الأيام وأعظمها عند الله وهو أعظم عند الله من يوم الأضحى ويوم الفطر فيه خمس خلال خلق الله فيه آدم وأهبط الله فيه آدم إلى الأرض وفيه توفى الله آدم وفيه ساعة لا يسأل الله فيها العبد شيئا إلا أعطاه ما لم يسأل حراما وفيه تقوم الساعة ما من ملك مقرب ولا سماء ولا أرض ولا رياح ولا جبال ولا بحر إلا وهن يشفقن من يوم الجمعة .

ความว่า “แท้จริงวันญุมุอะฮฺเป็นนายของบรรดาวันต่างๆ ณ ที่อัลลอฮฺ ยิ่งใหญ่กว่าวันอีดิ้ลอัฎฮาและอีดิ้ลฟิตรฺ ในวันศุกร์นี้มีห้าประการ คือ ในวันนั้นอัลลอฮฺทรงสร้างอาดัม และวันศุกร์อัลลอฮฺได้ให้อาดัมออกจากสวรรค์มายังโลกนี้ และวันศุกร์อัลลอฮฺได้ยึดวิญญาณของอาดัม และในวันศุกร์มีช่วงเวลาที่บ่าวของอัลลอฮฺจะขออะไรอัลลอฮฺก็จะให้(เว้นแต่สิ่งหะรอม) และในวันศุกร์นั้นกิยามะฮฺจะเกิดขึ้น ไม่มีมะลาอิกะฮฺท่านใดที่อยู่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ไม่มีชั้นฟ้าชั้นใด ไม่มีแผ่นดินที่ใด ไม่มีลมพายุชนิดใด ไม่มีภูเขาลูกหนึ่งลูกใด ไม่มีทะเลแห่งใด เว้นแต่สิ่งดังกล่าวจะหวาดกลัว(เกรงกลัว)ต่อวันศุกร์(เพราะเป็นวันที่จะเกิดวันกิยามะฮฺ)”

จากหะดีษนี้เราได้รับบทเรียนว่าวันศุกร์มีความเกี่ยวพันกับประวัติของท่านนบีอาดัม และในวันศุกร์มุสลิมจะต้องมีความเกรงกลัวว่าอาจจะเป็นวันกิยามะฮฺ จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะถูกไต่สวนถูกคิดบัญชีในอะมั้ลต่างๆที่สะสมไว้ในโลก

ในบันทึกของอิมามฏ๊อบรอนียฺ โดยสายสืบที่พอเชื่อถือได้ รายงานโดยท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ในวันศุกร์หนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

يا معشر المسلمين ، إن هذا يوم جعله الله عيدا ، فاغتسلوا ، وعليكم بالسواك

ความว่า “โอ้บรรดามุสลิมีนทั้งหลาย นี่คือวันที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นอีด(วันฉลองประจำสัปดาห์)สำหรับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงชำระ และจงรักษาไว้ซึ่งการถูฟันด้วยสิว้าก”  อีกสำนวนหนึ่งบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ รายงานโดยท่านอิบนิอับบาส 

عن ابن عباس رضي الله عنهما قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: (إن هذا يوم جعله الله عيدا للمسلمين فمن جاء إلى الجمعة فليغتسل وإن كان طيب فليمس منه، وعليكم بالسواك) [صحيح الجامع 2258]

ความว่า “แท้จริงวันศุกร์นี้เป็นวันอีด(วันฉลอง) ที่อัลลอฮฺกำหนดไว้สำหรับมุสลิม ใครที่จะมาละหมาดวันศุกร์ต้องชำระ(อาบน้ำทำความสะอาด) หากมีน้ำหอมก็ให้แตะเสียหน่อย และจงใช้สิว้าก”

ท่านนบีบอกว่าวันศุกร์เป็นวันอีดคือวันเฉลิมฉลองให้ดีใจ (แต่คนบางกลุ่มกลับไปเยี่ยมกุบูรในวันศุกร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับหะดีษของท่านนบี  เกิดจากการไม่ศึกษาซุนนะฮฺของท่านนบีอย่างครบถ้วน) เพราะความประเสริฐและคุณประโยชน์ที่อัลลอฮฺจะให้กับมนุษย์ในวันศุกร์มีมากมาย ดังหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอิบนุมาญะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

الجمعة إلى الجمعة كفارة ما بينهما ما لم تغش الكبائر

ความว่า “ญุมุอะฮฺถึงญุมุอะฮฺ(ระหว่างสองศุกร์)เป็นการไถ่โทษ(ลบล้างความผิด) ยกเว้นบาปใหญ่(กะบีเราะฮฺ-ต้องเตาบัตตัว)”

ซึ่งการจะได้รับการไถ่โทษนั้นก็มีเงื่อนไขดังหะดีษที่บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺ รายงานโดยท่านซัลมาน อัลฟาริซียฺ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عن سلمان الفارسي قال: قال النبي صلى الله عليه وسلم: (لا يغتسل رجل يوم الجمعة ويتطهر ما استطاع من طهر ويدهن من دهنه أو يمس من طيب بيته ثم يخرج فلا يفرق بين اثنين ثم يصلي ما كتب له ثم ينصت إذا تكلم الإمام إلا غفر له ما بينه وبين الجمعة الأخرى) [البخاري 883]

ความว่า “ไม่มีชายคนหนึ่งคนใดที่จะอาบน้ำชำระ(ทำความสะอาด)เท่าที่กระทำได้(อาบให้สมบูรณ์ที่สุดเหมือนอาบน้ำญะนาบะฮฺ-(1) ) หรือจะใช้น้ำมันไม้หอมแตะเล็กน้อย แล้วออกไปละหมาด เมื่อเข้ามัสยิดอย่าแยกระหว่างสองคนที่นั่งติดกัน(คนที่มาทีหลังอย่าแทรกไปนั่งด้านหน้าให้นั่งตรงที่มีที่ว่างอยู่)  แล้วละหมาดเท่าที่ละหมาดได้ (2)  และสดับฟังขณะที่อิมามปราศรัย เว้นแต่อัลลอฮฺจะให้อภัยโทษแก่เขาในระหว่างสองศุกร์”

(1)  - การอาบน้ำญะนาบะฮฺเป็นอิบาดะฮฺส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการยกหะดัษ จะทำให้เราสามารถปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺได้ ให้อาบน้ำอย่างมีอะมานะฮฺ คือล้างนะญาซะฮฺให้สะอาด
(2) - ละหมาดนัฟลู –ซุนนะฮฺทั่วไป ทีละสองๆ  ไม่ใช่ซุนนะฮฺก่อนดุฮฺริ จนคอฏีบขึ้นมิมบัรก็เลิกละหมาดเราพการฟังคุฏบะฮฺเป็นวาญิบ แต่สำหรับคนที่เข้ามาขณะอะซานหรือคุฏบะฮฺ ให้ละหมาดตะฮิยะตุ้ลมัสยิดอย่างสั้นๆ

ข้อมูลจาก: https://www.islaminthailand.org/dp6/book/export/html/87


อัพเดทล่าสุด