เรื่องราวการสังหารหมู่สเรเบรนีตซา (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมบอสเนีย)


4,778 ผู้ชม


เรื่องราวการสังหารหมู่สเรเบรนีตซา (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมบอสเนีย)

เรื่องราวการสังหารหมู่สเรเบรนีตซา (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมบอสเนีย)

การสังหารหมู่สเรเบรนีตซา (Srebrenica massacre) หรือ การล้างชาติสเรเบรนีตซา (Srebrenica genocide) หมายถึง การสังหารชายและเด็กชายชาวบอสนีแอก (ชาวบอสเนียมุสลิม)มากกว่า 8,000 คน ในและรอบเมืองสเรเบรนีตซาในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โดยทหารหน่วยหนึ่งของกองทัพสาธารณรัฐเซิร์ปสกาซึ่งเป็นชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ ภายใต้บังคับบัญชาของนายพลรัตโก มลาดิช ระหว่างสงครามบอสเนีย หน่วยกึ่งทหารจากเซอร์เบียซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ สกอร์เปียนส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยเซอร์เบียจนถึง พ.ศ. 2534 มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่าอาสาสมัครต่างด้าว รวมทั้งทหารอาสากรีก มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การถ่ายโอนประชากรหญิง เด็ก และคนชราชาวบอสนีแอกโดยใช้กำลังเป็นจำนวนระหว่าง 25,000 ถึง 30,000 คน ประกอบกับการสังหารหมู่นั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวียวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานของเจตนาล้างชาติของเสนาธิการหลักของกองทัพสาธารณรัฐเซิร์ปสกาซึ่งชักใยการสังหารหมู่ดังกล่าว

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 สหประชาชาติได้ประกาศว่าสเรเบรนีตซาที่ถูกล้อมในหุบเขาดรีนาทางตะวันออกเฉียงเหนือของบอสเนียนั้นเป็น "เขตปลอดภัย" ภายใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติ แต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 กองกำลังคุ้มครองสหประชาชาติ (UNPROFOR) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยรักษาสันติภาพดัตช์ 400 นาย ไม่สามารถคุ้มครองมิให้เมืองถูกยึดครองโดยกองทัพสาธารณรัฐเซิร์ปสกาและการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นตามมาได้

การสังหารหมู่สเรเบรนีตซาเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ ในปี พ.ศ. 2547 สภาอุทธรณ์แห่งศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวียมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ในคดี "ระหว่างพนักงานอัยการ กับคริชทิช" ว่าการสังหารหมู่ราษฎรที่สเรเบรนีตซานั้นเข้าข่ายอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวียว่าความรุนแรงซึ่งกระทำขึ้นที่สเรเบรนีตซาเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกล่าวว่า:

ศาลฯ สรุปว่าพฤติการณ์ซึ่งกระทำที่สเรเบรนีตซานั้นอยู่ในขอบเขตของมาตรา 2 และ ของอนุสัญญา เป็นการกระทำโดยมีจุดประสงค์เฉพาะในการทำลายกลุ่มมุสลิมในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และดังนั้น เหล่านี้จึงเป็นพฤติการณ์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งกระทำโดยสมาชิกของกองทัพสาธารณรัฐเซิร์ปสกาในและรอบสเรเบรนีตซาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียและเซอร์เบียนั้นไม่มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าเซอร์เบีย "ได้ละเมิดพันธกรณีที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น" และเซอร์เบียจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับศาลฯ ในการส่งมอบบุคคลที่ถูกกล่าวหาในความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวีย

รัตโก มลาดิช ถูกกล่าวหา โดยศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวียและต้องสงสัยว่าซ่อนตัวอยู่ในเซอร์เบียหรือในเขตปกครองของชาวเซิร์บภายในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเรียกว่า สาธารณรัฐเซิร์ปสกา มลาดิชถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และจะต้องเผชิญกับการพิจารณาในข้อหาอาชญากรรมสงครามในกรุงเฮก

เหยื่อที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชายวัยผู้ใหญ่และเด็กชายวัยรุ่น แต่มีรายงานว่าเหยื่อยังรวมไปถึงเด็กชายอายุต่ำกว่า 15 ปี ชายอายุมากกว่า 65 ปี และทารกอีกหลายศพ"รายชื่อบุคคลผู้หายสาบสูญหรือถูกสังหารในสเรเบรนีตซาเบื้องต้น" ซึ่งรวบรวมขึ้นโดยคณะกรรมาธิการบุคคลหายสาบสูญสหพันธ์บอสเนีย ประกอบด้วยบุคคลจำนวน 8,373 ชื่อในจำนวนนี้ ราว 500 คนมีอายุน้อยกว่า 18 ปี และรวมไปถึงผู้หญิงและเด็กหญิงอีกหลายสิบคน

จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จำนวน 6,557 คนถูกพิสูจน์เอกลักษณ์โดยใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนร่างกายที่เก็บมาจากสุสานหมู่

ขอขอบคุณข้อมูล: ดาบแห่งอัลเลาะห์ แอนตี้ไซออนิสต์

อัพเดทล่าสุด