เราะมะฎอนของโลก ที่มุสลิมควรรู้และเข้าใจ


3,987 ผู้ชม

เราะมะฎอนของโลก ที่มุสลิมควรรู้และเข้าใจ


เราะมะฎอนของโลก ที่มุสลิมควรรู้และเข้าใจ

จิตวิญญาณหวานหอมประการหนึ่งของ เราะมะฎอน คือ ความเป็นเอกภาพของประชาชาติอิสลาม ในเดือนอันแสนดีนี้ มุสลิมทั้งหมดทุกมุมโลกต่างพร้อมใจกันถือศีลอดตามคำสั่งใช้พระเจ้าของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดและในสภาพไหน เพื่อจะให้เรามองเห็นความหลากหลายของชีวิตและความเป็นไปในประชาชาติของเราใต้ร่มเงาแห่งเราะมะฎอน ลองไปรับฟังเรื่องราวของเหล่าพี่น้องหลากสถานะจากหลายมุมโลก ว่าพวกเขาใช้ชีวิตในเราะมะฎอนกันอย่างไร

เราะมะฎอน ของนักศึกษามุสลิมในตะวันตก

“ในสังคมอเมริกัน มีแต่สิ่งที่คอยยั่วยุนักศึกษามุสลิมให้ละศีลอดที่พวกเขาถือ แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาเราะมะฎอนของพวกเขาไว้ได้อย่างดียิ่ง” โจ เอนดริก ผู้อำนวนการศูนย์ศึกษาศาสตร์แห่งจิตวิญญาณชีวิต มหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงวอชิงตันกล่าว “ผมรู้สึกว่านักศึกษามุสลิมแต่ละคนนั้นมีจิตวิญญาณภายในที่เชื่อมโยงถึงกัน”

ในเดือนเราะมะฎอน นักศึกษามุสลิมซึ่งมีราว 50-60 คนในมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งนี้มักจะมาร่วมละศีลอดด้วยกัน ภายใต้การสนับสนุนของชมรมนักศึกษามุสลิมแห่งมหาวิทยาลัย นะฟีซะฮฺ เชเฟียร์ นักศึกษามุสลิมะฮฺคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อมุสลิมถือศีลอดในเราะมะฎอน เรารู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างความศรัทธากับชีวิต เราถือศีลอดมาเรียน และทำกิจกรรมต่างๆ ประจำวัน โดยที่ภายในของเรานั้นรำลึกถึงอัลลอฮฺตลอดเวลา”

ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็มีการจัดเลี้ยงละศีลอดร่วมกันในหมู่นักศึกษามุสลิม นาอีล คาจี นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ซึ่งท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่มจะเป็นคนนำละหมาดกลางคืน โดยในละหมาดนี้ เขาจะอ่านอัลกุรอานต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งจบเล่มภายในเดือนเราะมะฎอน นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่า “บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในฮาร์วาร์ด จะมีก็แต่เราะมะฎอนเท่านั้นแหละที่จะเรียกพวกเรามารวมกันได้แบบนี้”

ในอังกฤษ มุเนาวัร ฮุซซัยนฺ แกนนำนักเรียนในวิทยาลัยอีตัน โรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชายชื่อดังแห่งย่านเบิร์กไชร์ เล่าว่า “ที่อีตันจะค่อนข้างให้พื้นที่กับเรื่องศาสนามาก เราขอเปิดห้องเรียนที่สอนวิชาเฉพาะสำหรับนักเรียนมุสลิมในวันหยุดได้ เราเน้นสอนอัลกุรอาน ทั้งหลักการอ่านที่ถูกต้องและการทำความเข้าใจความหมาย นอกจากนั้นก็มีเรื่องประวัติศาสตร์และชะรีอะฮฺ ในเดือนเราะมะฎอนเราก็ยิ่งให้ความใส่ใจกับอัลกุรอาน มีการจัดวงฮะละเกาะฮฺศึกษาร่วมกัน และก็มีการจัดละศีลอดพร้อมกันด้วย เมื่อจบเราะมะฎอน เราก็จัดงานวันอีดในหมู่นักเรียน เชิญอาจารย์และเพื่อนๆต่างศาสนามาร่วมด้วยตามความเหมาะสม เรื่องน่าสนใจก็คือพวกเขามักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการถือศีลอดของเราและเดือนเราะมะฎอน ซึ่งจากจุดนี้เองที่เราจะได้เริ่มนำเสนอเกี่ยวกับความศรัทธาและหลักการต่างๆ ของอิสลามให้พวกเขาฟัง”

เราะมะฎอนของโลก ที่มุสลิมควรรู้และเข้าใจ

เราะมะฎอน ของนักโทษในเรือนจำ

“มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด และมันคือช่วงเวลาที่แย่ที่สุด” นี่คือประโยคที่ มุอัซซาม เบกก์ ชาวอังกฤษเชื่อสายปากีถาน ใช้อธิบายช่วงเวลาเราะมะฎอนที่เขาเคยได้ใช้ไปในเรือนจำ

ในฐานะอดีตนักโทษเรือนจำของฐานทัพสหรัฐฯในปากีสถาน เรือนจำบะกะรอมในอัฟกานิสถาน และเรือนจำกวนตานาโมในคิวบา มุอัซซามได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเราะมะฎอนในเรือนจำลงเว็บไซต์เคจพริซซันเนอร์ที่เขาช่วยดูแลอยู่หลังจากได้รับการปล่อยตัว โดยบางส่วนจากเรื่องราวยืดยาวนั้นเขาเล่าว่า “เราะมะฎอนที่สาหัสที่สุดของผมไม่ใช่ในกวนตาโม แต่เป็นในบะกะรอม มันคือสถานที่ที่การทรมานและการทารุณกรรมเกิดขึ้นกับนักโทษอย่างเป็นปกติ”

“เราไม่สามารถจะทำอะไรไดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือแม้แต่เดินนอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้คุม เราต้องประมาณการเข้าเวลาละหมาดเอาเอง และไม่สามารถแม้แต่จะอะซานหรืออ่านอัลกุรอานแบบออกเสียง ผมต้องทำตะยัมมุมอยู่เป็นปี เพราะน้ำมีไว้ให้แต่เพียงพอดื่ม ใครที่ละเมิดกฎพวกนี้จะถูกลากตัวออกมาหน้าห้องขัง ตรึงมือไว้กับลูกกรงสูงและครอบหัวไว้ด้วยถุงดำ พวกเราล้วนเคยโดนแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น บางทีก็ต้องอยู่ในท่านั้นสักชั่วโมง บางทีก็ทั้งวัน...เมื่อเราะมะฎอนมาถึง ผมเชื่อว่านักโทษทุกคนในบักรอมต่างต้องหวั่นใจ เพราะที่นั่นไม่มีอาหารจำพวกเนื้อและเครื่องดื่มอะไรให้เราเลย ผักสดนี่ถือเป็นอาหารสุดหรูแล้วล่ะครับสำหรับชีวิตในบะกะรอม เจ้าหน้าที่จะให้อาหารพวกเราสองครั้ง คือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นให้เป็นอาหารสะหูร และหลังดวงอาทิตย์ตกให้เป็นอาหารละศีลอด แต่มื้อละศีลอดนั้น หลายครั้งก็มาช้าไปกว่าดวงอาทิตย์ตกหลายชั่วโมง”

“ผมใช้เราะมะฎอนในบักรอมไปโดยไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับพี่น้องมุสลิมเลยสักคนเดียว นั่นทำให้ผมขอดุอาอฺเสมอ ขอให้ผมได้อยู่ร่วมกับญะมาอะฮฺของพี่น้องมุสลิมในเราะมะฎอนครั้งต่อๆไป แล้วอัลลอฮฺก็ตอบรับผม...ผมถูกส่งตัวไปกวนตานาโม ที่ซึ่งอยู่ในสายตาของพวกนักสิทธิมนุษยชนมากกว่า และนั่นทำให้พวกผู้คุมต้องอนุโลมให้พวกเราได้ทำตามหลักปฏิบัติในศาสนาบ้างตามสมควร อย่างน้อยในช่วงกลางวันที่แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว เราก็ยังได้อ่านอัลกุรอาน”

“ที่กวนตานาโมมีเสียงอะซานบอกเวลาละหมาด เวลามัฆริบนั้นน่าจดจำยิ่ง มันมักจะตรงกับเวลาที่พวกทหารสหรัฐฯเปิดเพลงชาติของพวกเขาแล้วยืนตรงสดุดี ก็เลยเป็นโมงยามที่คนในกวนตานาโมแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งแรกอยู่ในชุดผู้คุมสีกากี ยกมือขวาขึ้นวันทยาหัตถ์ ยืนตรงต่อหน้าสัญลักษณ์ที่ชีวิตพวกเขาอุทิศให้ – ธงชาติสหรัฐฯ

อีกฝั่งอยู่ในชุดนักโทษสีส้ม ยกสองมือขึ้นเสมอกันในระดับไหล่ ยืนตรงอยู่เบื้องหน้าผู้ที่พวกเขาอุทิศชีวิตให้ – พระเจ้าแห่งสากลโลก!”

“รู้ไหมครับว่าการระทำใดที่ผมรู้สึกว่ามีพลังมหาศาล มีพลังยิ่งกว่าการขว้างของหรือการสาดคำด่าทอใส่ผู้คุม และมีพลังยิ่งกว่าการอดอาหารประท้วง มันคือการที่อิมามได้นำละหมาดในเราะมะฎอนและกล่าวดุอาอฺ ก่อนจะตามด้วยเสียง “อามีน” อย่างพร้อมเพรียงกันของเหล่ามะอฺมูมซึ่กังวานไปทั่วคุก นี่คือเสียงที่เราคิดถึงสุดหัวใจ จึงไม่แปลกเลยที่เราต่างร้องไห้สะอึกสะอื้น มันคือความโศกเศร้าที่แสนหอมหวาน และนี่แหละครับที่ผมบอกว่ามันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด”

เราะมะฎอน ของผู้ถูกยึดครองในปาเลสไตน์

“อย่างแรกเลยที่เราได้พบในเราะมะฎอนคือด่านตรวจของพวกยิวที่ทั้งหนาตาขึ้นและเข้มงวดขึ้น” เว็บไซต์ข่าวอิสระที่รายงานข่าวตรงจากปาเลสไตน์ระบุ “พี่น้องมุสลิมทั้งในปาเลสไตน์เองและจากประเทศอื่นที่หวังจะได้เข้าไปเยือนมัสญิดอัลอักศอในช่วงเดือนเราะมะฎอนต้องถูกตรวจร่างกายอย่างละเอียดยิบ ด่านตรวจต่างๆ ตามมุมเมืองก็เช่นกัน”

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งก็คือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเขตที่ถูกพวกยิวควบคุมเข้มงวดอย่างฉนวนกาซ่า เราะมะฎอนปีที่แล้ว มีรายงานข่าวหลายสำนักที่พูดถึงภาวะข้าวยากหมากแพงในปาเลสไตน์ ในขณะที่พี่น้องมุสลิมจำนวนไม่น้อยต้องพบเราะมะฎอนในสภาพที่ไม่มีเงิน เนื่องจากบริษัทห้างร้านหลายแห่งไม่สามารถหาเงินมาหมุนจ่ายให้แก่พนักงานได้ ส่วนความช่วยเหลือจากภายนอกก็เป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ยภายใต้การกีดกันของผู้ยึดครอง

“มันไม่ใช่แค่เราจะอดอยาก” แม่บ้านชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าว “แต่เราะมะฎอนคือเดือนแห่งการแบ่งปัน แห่งการทำความดี เราอยากจะเชิญแขกมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้าน และอยากจะแบ่งอาหารให้แก่เพื่อนบ้าน แต่เราไม่มีเงิน คุณเข้าใจไหม ใครๆก็อยากทำความดีให้มากมายในเดือนนี้ แต่เราไม่มีปัจจัยสำหรับการนั้น มันเจ็บปวดนะ”

เราะมะฎอนของโลก ที่มุสลิมควรรู้และเข้าใจ

เราะมะฏอน ของมุสลิมใหม่

ที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีกลุ่มมุสลิมที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สนใจอิสลามซึ่งก่อร่างมาตั้งแต่ปี 1993

“เราะมะฎอนคือช่วงเวลาพิเศษยิ่งสำหรับมุสลิมใหม่” รุก็อยยะฮฺ ไฮเบลล์ หนึ่งในคณะทำงานกล่าว “พวกเขาจะได้ฝึกฝนการถือศีลอดซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะมุสลิมใหม่บางคนที่เป็นมุสลิมคนเดียวในครอบครัว บางคนไม่สามารถหาซื้ออาหารหะลาลมาละศีลอดได้ ในขณะที่บางคนต้องเผชิญวันอีดอย่างเดียวดาย”

“ทางกลุ่มของเราจะจัดโปรแกรมอบรมก่อนเราะมะฎอนจะมาถึง มีการนำมุสลิมใหม่ในย่านเลสเตอร์มาลองถือศีลอดและใช้ชีวิตร่วมกัน เมื่อเราะมะฎอนใกล้เข้ามา เราก็จะส่งจดหมายไปถึงพี่น้องมุสลิมใหม่ ซึ่งเอาแค่เท่าที่เรามีข้อมูลก็มีถึงกว่า 2,500 คน ในจดหมายนั้นเราจะแนบข้อมูลเกี่ยวกับหลักการต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับการถือศีลอด ไปจนถึงสถานที่จัดละศีลอดและละหมาดตะรอเวียฮฺร่วมกันของมุสลิมในย่านต่างๆ ของอังกฤษ และเมื่อถึงวันอีด เราก็จะจัดงานให้มุสลิมใหม่ได้พาครอบครัวของพวกเขามาร่วมด้วย ไม่ว่าครอบครัวของพวกเขาจะเป็นมุสลิมหรือไม่

...ว่าไปแล้วเราะมะฎอนนี่คือเดือนแห่งสารพัดโครงการการทำความดีจริงๆ นะ”

ที่มา: สารมุสลิมะฮฺ

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด