พัฒนาการของมัสยิดในโลก


4,206 ผู้ชม


มัสยิด (อาหรับ: مسجد‎ มัสญิด) หรือ สุเหร่า (มาเลย์: Surau) เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม คำว่า มัสญิด เป็นคำภาษาอาหรับแปลว่า สถานที่กราบ ชาวมุสลิมในแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันได้แก่การนมาซ และการวิงวอน การปลีกตนเพื่อบำเพ็ญตบะ หาความสันโดษ (อิอฺติกาฟ และ คอลวะหฺ)

พัฒนาการของมัสยิดในโลก

ภาพเขียนจำลองมัสยิดอัลนะบะวีย์ ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) (ที่มา : Bianca, 2000:59)

พัฒนาการของมัสยิดในโลก
ในระหว่างการเผยแผ่ศาสนาของท่านศาสดา มุฮัมมัด (ซ.ล.) ท่านได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ใน พ.ศ. ๑๑๖๕ (ค.ศ. ๖๒๒) การเผยแผ่ศาสนาของท่านได้เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมของชาวอาหรับ จากที่เคยมีข้อขัดแย้งไปเป็นสังคมที่สงบสุข เกิดเป็นชุมชนมุสลิม ที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามในชีวิตประจำวัน อย่างเข้มแข็ง และสร้างมัสยิดอัลนะบะวีย์ขึ้น เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติศาสนกิจ และกิจกรรมของชุมชน
มัสยิดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) มีลักษณะเหมือนอาคารทั่วไปในดินแดนอาหรับที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เสาของอาคารทำจากต้นอินทผลัม รองรับหลังคาที่ทำจากกิ่งอินทผลัม ใบอินทผลัมและโคลน ส่วนกำแพงทำจากอิฐดิบและโคลน มีการวางผังให้พื้นที่ใช้สอยส่วนต่างๆ ล้อมรอบลานกลาง ผนังด้านกิบละฮ์เป็นพื้นที่ที่มีหลังคาคลุมที่ต่อเติมขึ้นในภายหลัง เพื่อช่วยป้องกันผู้ทำละหมาดจากแสงแดด และอากาศที่ร้อนแรง ในทะเลทราย ส่วนบ้านของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้สร้างอย่างเรียบง่าย เช่นเดียวกับมัสยิด แต่เป็นสัดเป็นส่วนมิดชิดกว่า 
มัสยิดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ถือเป็นต้นแบบของการสร้างมัสยิดในช่วงเวลาต่อมา ผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เปลี่ยนศาสนสถานดั้งเดิมของตน ให้กลายเป็นมัสยิด รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจากที่ต่างๆ จึงถ่ายทอดสู่มัสยิด
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้รับโองการจากพระเจ้าว่า ให้มุสลิมทุกคนผินหน้าไปสู่ทิศ อันเป็นที่ตั้งของวิหารกะอ์บะฮ์ในเวลาละหมาด เรียกว่า ทิศกิบละฮ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทำให้มุสลิมทั่วโลกมีศูนย์กลางร่วมกันเพียงหนึ่งเดียว และมอบหมายให้ท่านบิลาลเป็นผู้อะซาน เพื่อเรียกร้องให้คนมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด
มัสยิดในประเทศตุรกี หลังจากยุคสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) และคอลีฟะฮ์ (ผู้นำต่อจากท่าน) ทั้ง ๔ คน ศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายสู่แหล่งอารยธรรมต่างๆ ได้แก่ โรมัน กรีก อียิปต์ ซีเรีย บาบิโลเนีย แอสซีเรีย รวมทั้งเปอร์เซีย และไบแซนไทน์ที่นับถือศาสนาที่หลากหลาย ได้แก่ คริสต์ ยิว โซโรแอสเตอร์ และลัทธิบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ เมื่อชาวพื้นเมืองเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลาม ก็ได้นำแนวทางที่คุ้นเคย ไปพัฒนาสร้างสรรค์งานศิลปะ และได้กลายมาเป็นรากฐานในการพัฒนาศิลปะอิสลาม 
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ที่ย้ายศูนย์กลางการปกครอง มาที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย มัสยิดกลางจึงมีลักษณะและองค์ประกอบ ทางด้านสถาปัตยกรรม ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมโรมัน โดยเฉพาะการสร้างหลังคาโดมให้ตรงกับตำแหน่งที่อิหม่าม หรือผู้นำยืนนำละหมาด เพื่อแสดงถึงอำนาจและความสำคัญ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ ที่แตกต่างจากสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) สามารถแบ่งมัสยิดในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ๒ ลักษณะหลัก ได้แก่ มัสยิดท้องถิ่น และมัสยิดกลาง มัสยิดท้องถิ่นอาจเกิดจากการปรับปรุงศาสนสถานเดิม หรือสร้างขึ้นใหม ่ตามลักษณะสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เพื่อรองรับการใช้งานในชุมชน จึงสร้างอย่างเรียบง่าย ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ส่วนมัสยิดกลางนั้นสร้างขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมของคนทั้งเมือง จึงมีขนาดใหญ่ และสร้างอย่างงดงาม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
สถาปัตยกรรมอิสลามในช่วงที่มีการพัฒนาสูงสุดอยู่ในสมัยอาณาจักรออตโตมัน อาณาจักรซอฟาวียะฮ์ และอาณาจักรโมกุล ก่อนที่อาณาจักรอิสลามจะสิ้นสุดลง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศมุสลิมเกิดขึ้นใหม่หลายประเทศ แต่ละประเทศได้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลก บนพื้นฐานหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม มีการสร้างมัสยิดรูปแบบใหม่ ที่สื่อถึงวัฒนธรรมอิสลามในสภาพสังคมปัจจุบัน เป็นจำนวนมาก

ที่มา: kanchanapisek.or.th


อัพเดทล่าสุด