ภูมิหลังการกำเนิดศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)


7,522 ผู้ชม


ภูมิหลังการกำเนิดศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)

ภูมิหลังการกำเนิดศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)

กำเนิดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) วงศ์กุร็อยช์ (Ouraysh) เป็นสาขาที่มีชื่อเสียงของชาวอรับอิสมาอิลียะฮ์ (Ismailite) ฟิฮฺร์ (Fihr) เป็นคนที่มีอำนาจมากและสืบเชื้อสายมาจากอิสมาอีล ชื่ออีกชื่อหนึ่งของฟิฮฺร์ คือ กุร็อยช์เพราะฉะนั้นวงศ์วานว่านเครือของเขาจึงเรียกว่า พวกกุร็อยช์ ตามชื่อของเขาซึ่งเป็นต้นวงศ์ ในปี คศ.5 เชื้อสายคนหนึ่งของฟิฮฺร์ชื่อว่า กุศ็อยย์ (Qusayy) ได้รวมชนเผ่ากุร็อยช์ทั้งหมดเข้าด้วยกันและได้เข้าครอบครองแคว้นหิยาซรวมทั้งได้เข้าทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสถานกะอ์บะฮ์ด้วย

เมื่อกุศ็อยย์สิ้นชีวิตลงบุตรชายของเขาชื่ออับดุดดาร (Abd-ud-Dar) ได้เป็นหัวหน้าเผ่ากุร็อยช์สืบต่อมาและเป็นผู้ปกครองแคว้นหิยาซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมักกะฮ์ เมื่อเขาสิ้นชีวิตลงแล้วก็ได้เกิดการแก่งแย่งกันในเรื่องการปกครอง ระหว่างหลานปู่ของเขาที่ชื่ออับดุมมะนาฟ (Abd-manaf) ในที่สุดก็ได้ตกลงกันว่าให้อับดุชชัมส์ (Abd-Shams) ซึ่งเป็นบุตรชายของอับดุมะนาฟเป็นผู้ดูแลใน ด้านการคลังพวกลูกหลานปู่ของอับดุดดารเป็นผู้ดูแลด้านการทหาร แต่ต่อมาอับดุชชัมส์ได้มอบหน้าที่บริหารให้แก่ฮาชิม(Hashim) น้องชายของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะรับหน้าที่นี้ ฮาชิมเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอยู่ในอารเบียเพราะความกล้าหาญ และโอบอ้อมอารีของเขา อุมัยยะฮ์ (Umayyah) บุตรของอับดุชชัมส์รู้สึกริษยาในอำนาจของน้าชายของตนเองจึงได้ทำการแข็งข้อแต่ก็ต้องแพ้ไปและถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปเป็นเวลาสิบปี

ฮาชิมผู้เป็นปู่ทวดของท่านศาสดามุฮัมมัดนั้นสมรสกับสตรีนางหนึ่งจากเมืองมะดีนะฮ์และมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า ชะบีฮฺ (Shabih) เมื่อฮาชิมสิ้นชีพลงน้องชายเขาคือมุฎเฎาะลิบ(Muttalib) ได้พาชะบีฮฺไปที่มะดีนะฮ์ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และยุติธรรมของอับดุลมุฎเฎาะลิบ ทำให้เขามีตำแหน่งและชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาของชนเผ่ากุร็อยช์ แต่ฮัรบ์ (Harb) ซึ่งเป็นบุตรชายของอุมัยยะฮ์ไม่ยอมรับนับถือเขาและทำการแข็งข้อไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจปกครองปกครองของอับดุลมุฎเฎาะลิบ ผู้พิพากษาได้ตัดสิน ให้ฮัรบ์เป็นฝ่ายแพ้เช่นเดียวกับบิดาของเขา เพราะฉะนั้นความอิจฉาริษยา ไม่ลงรอยกันในระหว่างลูกหลานของฮาชิมและลูกหลานของอุมัยยะฮ์ จึงได้เกิดขึ้นซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ชิงอำนาจกันระหว่างสองตระกูลนี้ในรุ่นต่อๆมาก็เนื่องมาจากความไม่ลงรอยกันในอดีตนี้ด้วยประการหนึ่ง
อับดุลมุฎเฎาะลิบ ขณะนั้นอายุล่วงเข้าวัยชราเกือบเจ็ดสิบปีแล้ว เขามีบุตรชายและบุตรสาวหลายคน  ในขณะที่เขาปกครองแคว้นหิยาชอยู่นั้นอับเราะฮฺฮะ (Abrahah) หัวหน้าชาวยะมันซึ่งเป็นคริสเตียนได้ยกทัพมารุกรานมักกะฮ์และสถานกะบะฮ์ ตอนที่กรีฑาทัพมายังมักกะฮ์ครั้งนั้นอับเราะฮฺฮะได้ใช้ช้างมาก่อนจึงพากันตื่นเต้นและเรียกปีแห่งการรุกรานคราวนั้น (คศ.570) ว่าปีช้าง

กองทัพของอับเราะฮฺฮะส่วนหนึ่งถูกทำลายโดยโรคระบาดและอีกส่วนหนึ่งโดยพายุฝนและพายุลูกเห็บ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์อับดุลมุฎเฏาะลิบได้พาบุตรชายคนสุดท้องของเขาคืออับดุลลอฮฺ(Abdul-lah) ไปยังบ้านของวะฮฮาบ (Wahhab) หัวหน้า(clan) ของลูกหลานของซอเราะฮและได้ทำการสมรสอับดุลลอฮฺกับอามีนะฮ บุตรสาวของวะฮฮาบอับดุลลอฮฺอยู่กับอามีนะฮฺที่บ้านบิดาของนางได้เพียงสามวันก็จากไปโดยเดินทางไปทำการค้าที่ซีเรียตอนขากลับเขาล้มป่วยลงที่เมืองมะนีดะฮ์ และสิ้นชีวิตที่นั่นทิ้งอูฐห้าตัวแพะฝูงหนึ่งกับอุมมุอัยมันเด็กหญิงทาสคนหนึ่งไว้ให้เป็นมรดกแก่บุตรชายของเขาซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในครรภ์

กำเนิดของท่านศาสดามุฮัมมัดและชีวิตปฐมวัย 

อามีนะฮฺผู้ตกเป็นหม้ายได้ให้กำเนิดบุตรชายในวันจันทร์ที่ 12 เดือนเราะบีอุลเอาวัล คศ.570 ปู่ของเขาได้ตั้งชื่อให้ว่ามุฮัมมัดและแม่ให้ชื่อว่าอะห์มัด (Muhmmad-Ahmad) ทั้งสองชื่อนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์อัลกรุอาน

ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูทารกก็คือนางฮะลีมะฮฺ (Halimah) หญิงในวงศ์วานลูกหลานของสะอ์ด (Sa`d) ตามธรรมเนียมนิยมของชาวอาหรับในขณะนั้น มุฮัมมัดไปอยู่กับพี่เลี้ยงท่ามกลางพรรคพวกของนางเป็นเวลาห้าปี

ในระหว่างนี้ท่านได้เรียนรู้ภาษาอาหรับ(อฺรับ)ชนิดที่บริสุทธ์ที่สุดจากผู้คนเหล่านั้น

เมื่อมีอายุได้หกขวบมุฮัมมัดก็ถูกส่งตัวกลับมาให้มารดาเลี้ยงดูต่อไป มารดาต้องการจะพาบุตรชายไปให้รู้จักกับญาติทางมารดา จึงได้ออกเดินทางไปมะดีนะฮ์ โดยมีทาสหญิงของนางติดตามไปด้วย ขากลับมามักกะฮ์ขณะเดินทางมาถึงสถานที่หนึ่งซึ่งมานามว่าอัลอับวา (Al-Abwa) นางอามีนะฮฺล้มเจ็บลงและสิ้นชีวิตหลังจากนั้นอุมมุอัยมัน ทาสหญิงผู้ภักดีก็พาเด็กน้อยกำพร้าบิดามารดากลับมายังมักกะฮ์
อับดุลมุฏเฏาะลิบผู้เป็นปู่ได้เป็นผู้เลี้ยงดูมุฮัมมัด ต่อมาแค่เพียงสองปีเท่านั้นผู้เป็นปู่ก็ถึงแก่กรรมลงอีก ฉะนั้นมุฮัมมัดจึงเป็นกำพร้าทั้งพ่อแม่และปู่ตั้งแต่อายุยังน้อย

หลังจากนั้นหน้าที่เลี้ยงดูมุฮัมมัดก็ตกเป็นของอบูฎอลิบ (Abu Talib) ผู้เป็นลุง ซึ่งรักเอ็นดูหลานชายอย่างยิ่ง จนกระทั่งมุฮัมมัดเติบใหญ่ เนื่องจากลุงของท่านไม่ใช่คนร่ำรวย มุฮัมมัดจึงต้องทำงานโดยพาฝูงแกะและอูฐไปเลี้ยงตามเนินเขา และหุบเขาใกล้ๆ มุฮัมมัดมีนิสัยเมตตากรุณาต่อคนยากจน และผู้มีทุกข์มาตั้งแต่เด็กๆ เป็นคนชอบอยู่อย่างสงบ รักการคิดใคร่ครวญ ผู้คนในเผ่าเดียวกันต่างรักใคร่และให้เกียรติ เพราะเขามีนิสัยอ่อนโยนมีอัธยาศัยไมตรี การที่เขาถือความซื่อสัตย์อย่างเข้มงวดและมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่งซื่อตรงต่อหน้าที่อย่างไม่สะทกสท้านนั้นทำให้มุฮัมมัด ได้รับขนานนาม ว่า อัลอามีน (Al-Amin) ซึ่งแปลว่าผู้ควรแก่การเชื่อถือ 

เมื่ออายุได้สิบสองปีมุฮัมมัด ได้เดินทางไปค้าขายที่ซีเรียกับลุงและที่ซีเรียนี่เอง ท่านได้พบกับนักบุญคริสเตียนคนหนึ่งมีชื่อว่า บุฮัยรอ (Buhaira) ซึ่งได้ทำนายมุฮัมมัดว่าจะเป็นศาสดาท่านสุดท้ายและกล่าวถึงด้วยความยกย่อง ในระหว่างที่มีงานออกร้านอุกาซได้เกิดการสู้รบกันขึ้น ทุกเผ่าในอารเบียได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ มุฮัมมัดได้ช่วยเหลือลุงของเขาด้วยโดยการคอยเก็บลูกธนูที่ฝ่ายข้าศึกยิงมาไปให้อบูฎอลิบผู้เป็นลุง เขาได้แลเห็นว่าสงครามนี้ได้ทำลายชีวิตคนนับจำนวนพัน มุฮัมมัดจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการสงบศึกคณะหนึ่งเรียกว่า ฮาลฟุลฟูซุล (Halful Fuzul) โดยได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากคนหนุ่มที่แข็งแรงกลุ่มหนึ่ง จุดประสงค์ของคณะกรรมการนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบและเพื่อสร้างมิตรไมตรีกันระหว่างเผ่าต่างๆในเมืองมักกะฮ์

มุฮัมมัดกับเคาะดีญะฮ์ 

ในระหว่างนี้ชื่อเสียงของมูฮัมมัดได้ขจรขจายไปทั่วดินแดนอารเบีย เคาะดีญะฮ์ (Kha dijah) แม่หม้ายผู้มีอันจะกินนางหนึ่งได้ยินกิติศัพย์ของมุฮัมมัดเข้าก็อยากให้ท่านมาดูแลธุรกิจของนาง ลุงของท่านอนุญาตให้เดินทางไปดูแลการค้าขายให้นางได้ที่ซีเรีย

เมื่อท่านเดินทางกลับมาและได้มาปรากฏตัวต่อหน้านางมุฮัมมัดก็ทำผลกำไรให้นางอย่างมากมาย ด้วยความฉลาดปราดเปรื่องและความซื่อสัตย์ของท่านนั้นเองนางก็รู้สึกประทับใจในบุคลิกลักษณะอันมีเสน่ห์ของท่านเป็นอย่างมากจนถึงกับต้องการจะแต่งงานกับท่าน ขณะนั้นนางเคาะดีญะฮ์มีอายุได้ 40 ปี เคยแต่งงานมาแล้วสองครั้งมีบุตรชายสองคนและบุตรสาวคนหนึ่ง การแต่งงานได้ถูกจัดทำขึ้นด้วยความเห็นชอบของลุงของมุฮัมมัด ซึ่งขณะนั้นมุฮัมมัดอายุ 25 ปี ชีวิตสมรสของทั้งสองดำเนินไปด้วยความสุข นางเคาะดีญะฮ์นิยมชมชอบความปรีชาสามารถและบุคลิกภาพอันสง่างามของมุฮัมมัด เป็นอย่างมาก นางปล่อยให้ท่านมีเวลาเป็นของตัวเองได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องกังวลใดๆเลย ยามที่ท่านมีความเศร้าโศรก และความทุกข์นางก็คอยปลอบโยนท่าน

ท่านศาสดาได้กล่าวในตอนหลังว่าเมื่อท่านได้รับมอบหมายภารกิจจากพระผู้เป็นเจ้านั้นตอน แรกไม่มีใครเชื่อท่านเลย นางเคาะดีญะฮ์คนเดียวเท่านั้นที่เชื่อท่าน เมื่อยามที่ท่านไม่มีเพื่อนนางก็เป็นเพื่อนของท่าน

เมื่อท่านศาสดาอายุได้ห้าสิบปี นางเคาะดีญะฮ์ก็สิ้นชีวิตท่านจึงต้องสูญเสียเพื่อนผู้ซื่อสัตย์และจริงใจไป ท่านมีบุตรชายกับนางหลายคนแต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กเสียหมด ลูกๆที่เสียชีวิตนั้นเป็นชายที่เหลืออยู่เพียงสามคนคือบุตรสาวที่ชื่อฟาฎิมะฮฺ (Fatimah) ซึ่งภายหลังได้สมรสกับท่านอะลี (Ali)  อุมมุกุลซูม (Ummukulzum) และซัยนับซึ่งต่อมาได้เป็นภรรยาของท่านอุษมาน ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ (Khaliph) ท่านที่สาม

หลังจากแต่งงานกับนางเคาะดีญะฮ์แล้ว มุฮัมมัดก็มักจะไปที่ถ้ำฮิรออฺ (Hira) และใช้เวลาอยู่ที่นั้นเดือนหนึ่งของทุกๆปีเพื่อแสวงหาความสงบ คืนหนึ่งขณะที่ท่านนอนอยู่ในถ้ำก็ได้ยินเสียงหนึ่งพูดกับท่านและสั่งให้ท่านอ่าน ท่านตัวสั่นด้วยความกลัวและตอบว่าท่านอ่านหนังสือไม่เป็น เสียงนั้นก็บอกอีกถึงสามครั้ง ครั้งที่สามนี้มุฮัมมัดจึงได้อ่านในนามแห่งอัลลอฮฺ พระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน (Al-Qur`an) ถูกประทานมาให้ท่านครั้งแรกในเดือนเราะมะฎอน (Ramadan) 

มุฮัมมัดได้รับมอบหน้าที่ศาสดาผู้ประกาศศาสนาเมื่ออายุได้สี่สิบปี ท่านเริ่มเทศนาคำสอนของอิสลามในหมู่ประชาชน ในเมืองมักกะฮ์ คำสอนของท่านมีดังนี้ “พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงหนึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างและเนรมิตพระองค์ทรงเป็นผู้ให้ชีวิตและเป็นผู้นำเอาความตายมาให้ ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์” ท่านเน้นถึงความเป็นหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (Tawhid) อันเป็นหลักสำคัญของศาสนาอิสลาม ท่านกล่าวว่าผู้คนควรเลิกบูชารูปเคารพเสีย ภรรยาของท่านคือนางเคาะดีญะฮ์เป็นคนแรกที่เลิกเคารพบูชารูปเคารพและยอมรับคำสั่งสอนของท่านต่อไปก็คือท่านอะลี อบูบักร์ (AbuBakr) อุษมาน (Uman) อับดุรเราะห์มาน (Abdur Rahman) ซัยด์ (Zayd) อัซซุบัยร์ (Az-Zubayr) และฎ็อลฮะ (Talha) เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนผู้เข้ารับอิสลามก็เพิ่มมากขึ้น ภายในเวลาสามหรือสี่ปีก็ได้มีผู้เข้ารับศาสนาอิสลามเกือบสี่สิบคน

ความสำเร็จของท่านศาสดามุฮัมมัดทำให้เผ่ากุร็อยช์ ไม่พอใจ ครั้งแรกคนเหล่านั้นพากันหัวเราะเยาะ แต่เมื่อท่านศาสดาแสดงความกระตือรือร้นอย่างเด็ดเดี่ยวในการที่สั่งสอนคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็เริ่มปฏิบัติต่อท่านและสานุศิษย์ของท่านอย่างร้ายกาจ ตระกูลกุร็อยช์ซึ่งครองมักกะฮ์อยู่ขณะนั้น ได้ทำการต่อต้านคำสอนใหม่ของอิสลามพอๆ กับที่ได้ทำการต่อต้านการปฏิวัติด้านสังคมและการอยู่ในขณะนั้น  คำสั่งสอนของท่านศาสดาเปรียบเสมือนการฟาดฟันลงตรงรากเหง้าของความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขา เพราะเป็นคำสอนที่ปฏิเสธเทพเจ้าเก่าๆทั้งหมด คนเหล่านั้นเป็นพวกถอยหลังเข้าคลองจึงไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงศาสนาและสังคมของพวกตนที่มีมาแต่เดิม นอกจากนั้นยังมีพวกนักบวชในตระกูลกุร็อยช์ที่คิดว่าการที่อิสลามมีอำนาจขึ้นนั้นย่อมหมายถึงความพินาศของตนพวกเขาจึงยุยงตระกูลกุร็อยช์ให้ต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด อีกประการหนึ่งคนตระกูลนี้มีหน้าที่ดูแลสถานกะบะฮ์อันเป็นที่มาของรายได้ของพวกเขา ฉะนั้นพวกเขาจึงเกรงไปว่าถ้าผู้คนหันไปหาอิสลามกันเสียหมด สถานที่นั้นก็จะหมดความศักดิ์สิทธ์ไปและพวกตนก็จะเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้นคนเหล่านี้จึงได้แสดงความกริ้วโกรธต่อพวกทาสคนอ่อนแอ และคนยากจนที่ไร้ที่พึ่งพิง และผู้เข้ารับอิสลามต้องถูกจับไปทรมานให้ตากแดดอันร้อนระอุและให้นอนบนผืนทรายที่ร้อนจัดหรือบนเนินหินที่ร้อนจัดทั้งนี้เพื่อข่มขวัญและขู่เข็ญเขาเหล่านั้นมิให้ไปนับถือสาสนาอิสลาม

การอพยสู่อบิสสิเนียเป็นครั้งแรก 

เนื่องด้วยชาวมุสลิมถูกทำร้ายและประหัตประหารเช่นนี้ท่านศาสดาจึงได้แนะให้พวกเขาไปหาที่พึ่งในดินแดนอื่น ในสมัยนั้นอบิสสิเนียเป็นที่รู้จักดีของชาวมักกะฮ์ในฐานะที่เป็นตลาดสินค้าของอารเบีย ในเดือนที่ 7 ของปีที่ห้าของการเผยแพร่ศาสนาของท่านศาสดา ผู้ชายจำนวน 11 คน และผู้หญิง 4 คนรวมทั้งอุษมานและภรรยาของท่านได้ออกเดินทางไปยังอบิสสิเนีย กษัตริย์แห่งอบิสสิเนียได้ต้อนรับคนเหล่านั้นด้วยอัธยาศัยไมตรี

เมื่อบรรดาหัวหน้าของตระกูลกุร็อยช์รู้เรื่องเข้าก็ออกติดตามแต่ไม่ทัน หัวหน้าตระกูลกุร็อยช์จึงได้ส่งตัวแทนไปเฝ้ากษัตริย์บิสสิเนียขอให้พระองค์ขับพวกมุสลิมออกจากอาณาจักรของพระองค์ กษัตริย์นะญาชี (Najashi)ทรงฟังทั้งสองฝ่ายแต่ทรงอนุญาตให้มุสลิมพำนักอยู่นั่นต่อไปได้อย่างสงบ ตัวแทนฝ่ายกุร็อยช์จึงต้องกลับไปมักกะฮ์ด้วยความผิดหวัง ในการอพยพครั้งนี้แม้ชาวมุสลิมที่อพยพจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยแต่ก็มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของอิสลามเป็นอย่างมาก การอพยพไปอบิสสิเนียครั้งนี้ทำให้พวกกุร็อยช์ได้ประจักษ์ว่าชาวมุสลิมนั้นมีความจริงใจ และความเด็ดเดี่ยวในอันที่จะเผชิญกับความลำบากยากแค้นและสูญเสียทุกอย่างโดยจะไม่ยอมหันเหไปจากศรัทธา ฝ่ายมุสลิมก็ถือว่าการที่ต้องถูกเนรเทศและต้องเผชิญกับภยันตรายในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นการกระทำที่มีเกีตรติสูง ส่วนผลที่สำคัญที่สุดของการอพยพครั้งนี้ก็คือทำให้ชาวมุสลิมในเมืองมักกะฮ์ได้รู้ว่า ขณะนี้ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่พวกตนสามารถจะหลบไปพึ่งอาศัยให้พ้นจากการประหัตประหารของชนตระกูลกุร็อยช์ได้ ในที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ก่อให้เกิดความคิดที่จะทำการโยกย้ายครั้งใหญ่ขึ้นนั่นคือการอพยพโยกย้าย ชาวมุสลิมจากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ (Madinah) แต่การอพยพครั้งนี้ก็ก่อให้เกิดผลอย่างกระทันหัน ประการหนึ่งนั่นคือ ความลำบากยากแค้นของชาวมุสลิม และเนื่องจากได้รับความผิดหวังมาจากอบิสสิเนียดังกล่าวแล้ว พวกกุร็อยช์ จึงได้โกรธแค้นพวกมุสลิมมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

การอพยพไปอบิสสิเนียครั้งที่สอง 

หลังจากที่พักอยู่ในอบิสสิเนียได้สองเดือน ผู้อพยพก็กลับมายังมักกะฮ์ พวกกุร็อยช์ก็ยิ่งรู้สึกริษยาในความสำเร็จของอิสลามมากขึ้นจึงเริ่มทำการประหัตประหารพวกมุสลิมหนักมือยิ่งขึ้นอีก การหลบภัยไปอยู่ที่อบิสสิเนียจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มีผู้อพยพ หลบหนีไปจำนวน 101 คน เป็นหญิงเสีย 18 คน

ฝ่ายกุร็อยช์เริ่มตกใจในความสำเร็จอย่างรวดเร็วของท่านศาสดา พวกเขาจึงไปหาอบูฏอลิบขอให้ท่านช่วยเจรจาให้มุฮัมมัดยอมเลิกจากการเผยแพร่อิสลามเมื่ออบูฏอลิบมาบอกแก่ท่านศาสดาท่านก็ตอบว่า “โอ้ท่านลุงของข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าจะเอาดวงอาทิตย์มาวางในมือขวาของข้าพเจ้าและเอาดวงจันทร์มาวางในมือซ้ายก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะไม่ขอเลิกภารกิจของข้าพเจ้าเลย” ในปีที่หกแห่งการเผยแพร่ศาสนาของท่านศาสดา ฮัมซะฮ์ (Hamza) กับท่านอุมัร (Umar) ก็ได้เข้ารับอิสลามซึ่งนับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของท่านศาสดา เมื่ออิทธิพลของท่านศาสดาได้แพร่ขยายมากขึ้นทุกวัน พวกกุร็อยช์จึงรวมกัน ต่อต้านเผ่าฮาชิมซึ่งเป็นฝ่ายของท่านศาสดา การบอยคอตพวกฮาชิมรวมทั้งท่านศาสดาเองต้องหลบหนีไปอยู่ถิ่นที่เปล่าเปลี่ยวของเมืองซึ่งเรียกว่าบ้านของอบูฏอลิบ ถูกตัดขาดจากการซื้อหาข้าวโพดและปัจจัยอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ถึงสามปี ท่านศาสดาได้ถูกทดสอบอย่างหนักหน่วงแต่ท่านก็ไม่เคยหมดความไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้าเลย

และในเวลานี้เองท่านก็ได้รับข่าวร้ายคือ ข่าวการสิ้นชีวิตของนางเคาะดีญะฮ์และท่านอบูฏอลิบอันเป็นปีที่สิบแห่งการเผยแพร่ศาสนาของท่านศาสดา นางเคาะดีญะฮ์เคยเป็นเพื่อนและและผู้คอยปลอบประโลมใจท่านมาถึงยี่สิบห้าปีและการสูญเสียอบูฏอลิบไปก็เท่ากับท่านเสียผู้ปกป้องคุ้มครองไปเสียแล้ว การประหัตประหารของพวกศัตรูก็รุนแรงขึ้นทุกวัน แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่เคยคิดที่จะทิ้งถิ่นเกิดของท่านไป ท่านมั่นใจว่าสักวันหนึ่งชาวอาหรับจะต้องตื่นขึ้นรับความจริงของอิสลาม แต่ในที่สุดความร้ายกาจของฝ่ายศัตรูก็ทำให้ท่านหันความสนใจไปยังเมืองฎออีฟ ซึ่งท่านหวังว่าผู้คนที่นั่นคงจะฟังคำสั่งสอน ของท่าน ท่านศาสดาได้ไปพักอยู่ที่ฎออีฟเป็นเวลาสิบวัน

และได้พยายามเทศนาสั่งสอน ถึงแม้ว่าจะมีผู้ทรงอิทธิพลหลายคนมาฟังท่าน แต่ก็ยังมีความหวังอยู่น้อยเหลือเกิน ท่านถูกขับไล่ออกจากเมืองนั้นอย่างน่าอัปยศอดสูยิ่ง ในขณะที่ท่านเดินทางกลับมักกะฮ์คนเหล่านั้นก็ติดตามท่านไปและขว้างปาท่านด้วยก้อนหินจนกระทั่งตัวของท่านชุ่มโชกไปด้วยเลือด เมื่อถูกขับไล่ออกจากฎออีฟแล้วชะตากรรมของท่านศาสดาก็ดูจะมืดมนแต่แล้วก็มีแสงแห่งความหวังฉายแวบมาให้เห็นนั่นคือขณะนั้นเป็นฤดูแสวงบุญ (การประกอบพิธีฮัจญ์) ในขณะที่พิธีการเกือบจะจบลงแล้วและผู้คนกำลังจะแยกย้ายกัน ออกไปก็มีคนหกคนจากเมืองยัษริบ (Yathrib) ซึ่งภายหลังเรียกว่ามะดีนะฮ์เข้ามาหาท่านศาสดา ท่านได้อธิบายให้พวกเขาฟังถึงหลักการศาสนา ยืนยันถึงการที่ท่านได้รับการมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้าและเล่าถึงความลำบากที่ท่านได้รับในเมืองมักกะฮและถามพวกเขาว่าจะยินดีต้อนรับท่านที่เมืองยัษริบไหม คนเหล่านั้นตอบว่าเขายอมรับคำสอนของท่านแต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยท่านได้หรือไม่เพราะพวกเขาเองก็กำลังถูกผูกพยาบาทอยู่เหมือนกัน คนเหล่านั้นได้เดินทางกลับเมืองของเขาและกระจายข่าวว่า “ได้มีศาสดาคนหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่ชาวอาหรับเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายจากพวกเขา” พวกชาวยิวนั้นคุ้นเคยกับท่านศาสดาดีอยู่แล้วในฐานะท่านเป็นผู้สนับสนุนคัมภีร์ของพวกเขา ชาวเมืองยัษริบเองก็เคยไปที่สถานกะอ์บะฮ์ทุกปีเป็นประจำ และก็มีหลายคนที่สนใจในคำสอนของท่านอยู่ด้วย

คำปฏิญาณครั้งแรกแห่งอะเกาะบะฮฺ (Aqabah) 

มุฮัมมัดกำลังเฝ้ารอฤดูแสวงบุญปีใหม่อยู่ เมื่อถึงวันนั้นท่านก็ไปรออยู่ที่แห่งหนึ่ง คราวนี้มีสานุศิษย์ผู้มีศรัทธาเดินทางมามักกะฮสิบสองคนและท่านศาสดาได้ไปพบพวกเขาที่อะเกาะบะฮฺ คนเหล่านั้นได้ให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าท่านว่าเขาจะไม่บูชาสิ่งใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้า

บัดนี้ท่านศาสดาได้ฝากความหวังของท่านไว้ที่เมืองยัษริบในระหว่างนี้เองที่ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าโดยปฏิหารย์ (เมียะอ์รอจ) (Miraj) การเดินทางในเวลาค่ำคืนไปยังกรุงเยรูซาเล็มตามบัญชาของพระเจ้า และได้รับคำสั่งจากพระองค์ให้สอนให้ผู้คนทำการนมัสการวันละห้าเวลา การบัญญัติให้มุสลิมปฏิบัตินมาซได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากศาสดาได้กลับจากกรุงเยรูซาเล็มในคืนนั้น

คำปฏิญาณครั้งที่สองที่อะเกาะบะฮฺ

 ในปีต่อมาก็ได้มีคนเจ็ดคนเดินทางจากเมืองยัษริบ เพื่อให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าศาสดาผู้เข้ารับอิสลามชุดใหม่นี้สัญญาว่าจะช่วยเหลือและปกป้องท่านและได้เชิญให้ท่านเดินทางไปยังเมืองนั้น มูสาบ (Musab) ผู้ถูกส่งตัวไปสอนศาสนาอิสลามที่เมืองยัษริบ ก็ได้เดินทางมากับกลุ่มนี้ด้วยเขาได้บอกท่านศาสดาถึงความก้าวหน้าของอิสลามในเมืองนั้น ท่านจึงคิดที่จะอพยพไปยังเมืองยัษริบแต่ก็มีเหตูอีกบางประการด้วยที่ทำให้ท่านจำต้องเดินทางไปจากถิ่นกำเนิดของท่าน

การอพยพโยกย้าย (ฮิจญ์เราะห์) 

มักกะฮ์เป็นสถานที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยเนินเขา สภาพทางภูมิศาสตร์นับว่ามีอิทธิพลต่อผู้คนในเมืองเป็นอย่างมากทีเดียว ชาวมักกะฮฺมักเป็นคนอารมณ์ร้ายและไม่ค่อยมีความคิดที่ลึกซึ้ง ตรงกันข้ามยัสริบเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มีพืชผักผลไม้มากชนิด ดินฟ้าอากาศ ก็ไม่ทารุณเหมือนมักกะฮฺผู้คนจึงมีจิตใจอ่อนโยน มีความเกรงใจและช่างคิด เพราะฉะนั้นในระยะต้นของการเผยแพร่อิสลาม มะดีนะฮ์จึงเป็นที่ๆเหมาะสมมากกว่ามักกะฮฺ ในมะดีนะฮ์ไม่มีพวกนักบวชคอยต่อต้านความเจริญเติบโตของอิสลามเหมือนในมักกะฮ์ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะสั่งสอนศาสนาอิสลามมากกว่าที่อื่น
นอกจากนั้นในเมืองนี้ยังมีชาวยิวอาศัยอยู่ด้วย พวกยิวถือว่ามุฮัมมัดเป็นผู้สนับสนุนคัมภีร์ของพวกตน ฉะนั้นพวกเขาจึงรอต้อนรับท่านศาสดาด้วยความกระตือรือร้น

ท่านศาสดาได้สั่งสานุศิษย์ของท่านให้โยกย้ายไปอยู่ที่เมืองยัษริบ ชาวมุสลิมเริ่มขายทรัพย์สมบัติของตนและอพยพไปเป็นกลุ่มเล็กๆ เมื่อพวกกุร็อยช์รู้เข้าก็โกรธแค้นและวางแผนที่จะเอาชีวิตท่านศาสดาเสียให้ได้ แต่ท่านก็ได้รับคำเตือนจากผู้หวังดีทันเวลา ท่านศาสดาพร้อมด้วย อบูบักร์และอะลียังรอคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในเมืองมักกะฮ์ เมื่ออันตรายรุนแรงถึงจุดสุดยอด และคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าได้มาถึง ท่านจึงได้ตัดสินใจที่จะอพยพไปยังเมืองยัษริบ  ท่านได้หลบหนีออกไปกับอบูบักร์ในตอนพลบค่ำโดยไปหลบอยู่ในถ่ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมักกะฮ์นักเมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงเดินทางต่อไปจนถึงยัษริบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม คศ.622

เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่าการอพยพหรือฮิจญ์เราะห์อันเป็นการเริ่มต้นศักราชของชาวมุสลิม

นับแต่นั้นมาเวลาแห่งการตามประหัตประหารชาวมุสลิมในเมืองมักกะฮ์ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงและยุคแห่งเมืองมะดีนะฮ์ก็เริ่มต้นขึ้น ภาระกิจของท่านศาสดายังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นแต่ความสำเร็จก็เริ่มขึ้นแล้วที่มะดีนะฮ์ ท่าน ศาสดาไม่เพียงแต่ได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติเท่านั้นแต่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของชุมชนอีกด้วย สถานะและอำนาจของท่านศาสดาก็เพิ่มขึ้น และอิสลามก็ได้ตั้งหลักปักฐานมั่งคงขึ้นทุกวัน ณ เมืองนี้ท่านศาสดามีอิสรภาพที่จะเทศนาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางผู้หลงผิด ที่ในที่สุดก็หันมามีศรัทธาในศาสนาใหม่นี้ มากขึ้นและได้แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ

ที่มา: https://basoree1.blogspot.com


อัพเดทล่าสุด