ความสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)


30,031 ผู้ชม

วันนี้ขอนำเสนอบทความสรุปประเด็นสำคัญของการทำกุรบานให้มุสลิมได้ทราบและเข้าใจรวมทั้งปฎิบัติกันอย่างถูกต้อง...


ประเด็นสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

ความสำคัญของการทำกุรบานให้มุสลิมได้ทราบและเข้าใจรวมทั้งปฎิบัติกันอย่างถูกต้อง

1. กุรบาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในภาษาอาหรับว่า "อัลอุฎฮียะฮฺ"

หมายถึง สัตว์ที่ศาสนากำหนดในประเภท วัว,ควาย แพะ แกะ และอูฐ โดยการเชือดที่ถือเป็นการทำอิบาดะฮ ในวันและเวลาที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติของศาสนาเท่านั้น

2. ถือเป็นซุนนะฮ์ (ส่งเสริมให้กระทำ)

สำหรับผู้ที่มีเจตนาจะทำกุรบาน เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 1 เดือนซุลฮิจยะฮ์ ให้เค้างดการตัดผม และตัดเล็บ จนกระทั่งถึงวันที่เชือดกุรบานของเค้า

ก็ให้ตัดผมหรือตัดเล็บ ดังกล่าวเป็นเพียงซุนนะฮ์เท่านั้น มิใช่ข้อบังคับที่เป็นวาญิบ บรรดาอูลามาฮ์ได้อธิบายถึงเหตุผลดังกล่าวว่าเพื่อต้องการให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ครบสมบูรณ์ เพื่อการปลดปล่อยจากไฟนรก และ เนื่องจากการเชือดกุรบานเป็นอิบาดะฮที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาของอัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ที่ทำกุรบานจึงสมควรได้รับเกียรติดังกล่าว

3. การบนบานเพื่อเชือดกุรบาน เป็นสิ่งวาญิบ(จำเป็น)

นักปราชญ์ส่วนใหญ่ (ญุมฮูรฺ) มีทรรศนะว่า ฮูก่มของการเชือดกุรบานถือว่าเป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ (ซุนนะฮฺที่สนับสนุนและเน้นหนักให้กระทำ) ยกเว้นสิ่งที่บนบานไว้จะถือว่าเป็นวาญิบ (จำเป็น) ซึ่งเป็นไปตามกฎของหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ว่า สิ่งที่เป็นซุนนะฮฺหรือมุบาห์ (อนุญาตให้ทำ ไม่เป็นซุนนะฮฺและวาญิบ) เมื่อนำไปบนบาน จะกลายเป็นสิ่งวาญิบ ส่วนในมัซฮับฮานาฟีย์ และสิ่งที่ใช้เป็นคำฟัตวา (ชี้ขาด) ในมัซฮับคือ กุรบานเป็นวาญิบสำหรับผู้ที่ศาสนาถือว่าร่ำรวย และไม่อยู่ในช่วงเดินทาง (ในทุกๆปี) นอกเหนือจากการบนบาน

ความสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

การทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

4. ประเภทของกุรบานเมื่อแบ่งตามฮูก่ม

ก. มัซฮับ(สำนักคิด)ฮานาฟีย์ กุรบานมี 2 ประเภทคือ 1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น)

2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) เป็นซุนนะฮฺหรือไม่จำเป็น

1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น) มี 3 ชนิด

1.1 สิ่งที่บนบานไว้ โดยคนที่บนบานจะเป็นคนที่ร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม หากเขาบนบานว่าขอสาบานต่ออัลลอฮฺฉันจะต้องเชือดกุรบาน การเชือดกุรบานก็เป็นสิ่งวาญิบสำหรับเขาทันที

1.2 สัตว์ที่คนจนซื้อไว้ ด้วยกับการตั้งเจตนาว่า จะใช้ทำกุรบาน

1.3 สิ่งที่ศาสนาเรียกร้อง (บังคับเป็นวาญิบ) เหนือคนร่ำรวย ให้ทำกุรบานในทุกๆปีสำหรับผู้ที่ศาสนาถือว่าเป็นบุคคลร่ำรวย คือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินเท่ากับพิกัดของการจ่ายซะกาตในวันอีดอิดิลอัฎฮา หรือวันเชือด หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับค่าครองชีพของเขาและผู้ที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของเค้า พิกัดดังกล่าวไม่ต้องครบรอบปี เพียงมีอยู่ในช่วงวันเชือดก็เพียงพอแล้ว จึงจำเป็นที่เขาจะต้องทำกุรบาน (ส่วนพิกัดของซะกาต คือ น้ำหนักทองคำ 85 กรัม หรือเงิน 595 กรัม)

ความสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

การทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) มีดังนี้

2.1 กุรบานของผู้ที่เดินทาง

2.2 กุรบานของคนจนที่ไม่ได้บนบานไว้ หรือซื้อไว้โดยไม่ได้ตั้งเจตนาว่าจะทำเป็นสัตว์กุรบาน

2.3 กุรบานที่คนรวย ทำให้กับลูกของเค้าที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ แต่สำหรับส่วนที่เค้าจะทำให้กับตัวเขาเอง ถือว่าเป็นวาญิบ ยกเว้นเค้าจะทำส่วนอื่นที่เพิ่มเติมไปกว่านั้น (ด้วยกับทรัพย์ของเค้า)

ข.มัซฮับ(สำนักคิด)ชาฟิอีย์ กุรบานแบ่งออกเป็นสองประเภท เช่นกันคือ 1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น) 2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ)

1. ประเภทวาญิบ มี 2 ชนิด คือ

1.1 ชนิดที่ได้บนบานไว้

1.2 ชนิดที่เจ้าของสัตว์ได้เจาะจงไว้เป็นสัตว์กุรฺบาน เช่น กล่าวว่า "นี่คือกุรบานของฉัน" หรือ "ฉันได้ทําให้สัตว์ตัวนี้เป็นสัตว์กุรฺบาน" เป็นต้น

2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ)

คือสิ่งที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นวาญิบ ถือเป็นซุนนะฮฺอัยน์ ส่วนตัวให้กับบุคคลเพียงคนเดียวที่มีความสามารถจะเชือดกุรฺบาน เป็นซุนนะฮ์เจาะจงสำหรับตัวเค้าให้เชือดกุรบานอย่างน้อยในชีวิตหนึ่งครั้ง หากเค้าทำมากไปกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการทำความดีสำหรับเค้า และถือเป็นซุนนะฮกิฟายะฮฺ (ซุนนะฮแบบพอเพียง) ที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัวเดียวกัน เชือดกุรบานก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺที่พอเพียงแล้วสำหรับสมาชิกทั้งหมดคนอื่นๆในครอบครัว หากเค้าจะทำเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นเรื่องของการทำความดี ของแต่ละบุคคล

สำหรับผู้ที่มีความสามารถมีซุนนะฮฺให้เชือดกุรฺบานนั้น ในคำอธิบายของมัซฮับชาฟิอีย์คือ คนที่มีทรัพย์ที่ครอบครองไว้ ที่สามารถซื้อกุรบานได้ในวันอีด และวันเชือดหลังจากนั้นอีก 3 วัน โดยหักค่าเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับตนเอง และผู้ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแล

ความสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

การทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

5. เวลาเชือดกุรบาน

การเชือดกุรบานจะต้องเชือดตามเวลาของมันเหมือนกับทำอิบาดะฮฺอื่นๆ เช่น การละหมาด เวลาเชือดกุรบานเริ่มต้นในวันที่ 10 ซุ้ลฮิจยะฮ์(อิดิลอัฎฮา) ในเวลาหลังละหมาดอิดิลอัฎฮา ตามทรรศนะของมัซฮับฮานาฟีย์ และหลังคุตบะฮเสร็จตามทรรศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ ดังนั้นผู้ใดเชือดก่อนละหมาดอีด ตามทรรศนะของมัซฮับฮานาฟีย์ และก่อนคุตบะฮฺทั้งสอง ตามทรรศนะมัซฮับชาฟิอีย์ ก็ถือว่าไม่ใช่กุรบาน และจะต้องเชือดตัวอื่นแทน เนื่องจากมีตัวบทฮาดีษรับรองทั้งสองทรรศนะ แต่ในทางที่ดีที่สุด ควรจะเชือดหลังอ่านคุตบะฮฺทั้งสอง

 สำหรับบุคคลใดที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนมุสลิม มีบ้านเรือนอยู่ห่างไกล ซึ่งไม่สามารถจัดละหมาดอีดิลอัฎฮาได้ หากเค้าจะเชือดกุรบานตามทรรศนะของมัซฮับฮานาฟีย์ให้เชือดได้ตั้งแต่แสงอรุณ(ฟัจรฺ)ของเช้าวันอิดิลอัฎฮาขึ้น(วันที่10 ซุลฮิจยะฮ์) ส่วนในมัซฮับชาฟิอีย์ให้เขาเชือดหลังจากเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น และเลยเวลาที่พอๆกับการละหมาดสองร๊อกอะฮ กับคุตบะฮฺทั้งสองแบบสั้นๆ

6.ระยะเวลาที่เชือดกุรบานได้และดีเลิศ

ทางที่ดีที่สุดให้เชือดกุรบานหลังอ่านคุตบะฮฺทั้งสองของละหมาดอีดิลอัฎฮาจบและการเชือดในเวลาที่ดี คือเชือดในวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ (วันอีดิลอัฎฮา) จนถึงเวลาก่อนเที่ยงวัน ในมัซฮับฮานาฟีย์ให้เชือดได้ต่อจากวันอีดิลอัฎฮาอีกสองวัน หรือวันที่11 และ 12 ของเดือนซุลฮิจยะฮ์ หมดเวลาก่อนตะวันตกดินของวันที่ 12 รวมเวลาเชือดทั้งหมด 3 วัน ในมัซฮับชาฟิอีย์อนุญาตให้เชือดได้ถึงวันที่ 13 ซุลฮิจยะฮ์ ก่อนดวงอาทิตย์ตกดินของวันดังกล่าว รวมเวลาเชือดทั้งหมด 4 วัน

อนึ่ง การเชือดในยามค่ำคืนของระยะเวลาที่อนุญาตให้เชือดได้ ถือว่าเป็นมักโรฮ (ไม่ส่งเสริม)

7. สัตว์ที่ใช้ทำกุรบาน และลักษณะของสัตว์

สัตว์ที่อนุญาตให้เชือดกุรบานจะต้องเป็นสัตว์ประเภท(นะอัม) คือ อูฐ ,วัว หรือควาย แพะหรือแกะ เท่านั้น สัตว์ดังกล่าวจะต้องครบอายุ และมีลักษณะที่สมบูรณ์

8. อายุของสัตว์กุรบาน

ก.มัซฮับฮานาฟีย์ มีทรรศนะว่า

1. อูฐ จะต้องมีอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ย่างเข้าปีที่ 6

2. วัวหรือควาย อายุครบ 2 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 3

3. แพะ หนึ่งปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สอง

4. แกะมีอายุ 6 เดือนบริบูรณ์ ย่างเข้าเดือนที่เจ็ด แต่มีข้อแม้ว่าแกะตัวนั้นจะต้องอ้วน เมื่ออยู่ปะปนกับแกะตัวอื่นที่อายุหนึ่งปี ดูจากระยะไกลขนาดพอพอกัน ไม่แตกต่างกันมาก

ข. มัซฮับชาฟิอีย์ มีทรรศนะว่า

1. อูฐจะต้องมีอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 6

2. วัว,ควาย,แพะ จะต้องมีอายุครบสองปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สาม

3. แกะ จะต้องมีอายุหนึ่งปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สอง

9. ลักษณะของสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ทำกุรบาน

นักนิติศาสตร์อิสลามเห็นพ้องกันว่าสัตว์ที่มีข้อบกพร่องสี่ประการต่อไปนี้ใช้ทำเป็นสัตว์กุรบานไม่ได้ ที่ระบุอยู่ในตัวบทคือ

1. สัตว์ตาบอดข้างเดียว หรือมีตาข้างเดียว ที่ลักษณะการบอดของมันชัดเจน

2. สัตว์ที่ขาเป๋ หรือเป็นง่อยอย่างชัดเจน

3. สัตว์ที่มีอาการป่วยอย่างชัดเจน

4. สัตว์ที่ผอมโซ จนไม่มีไขกระดูก หรือไขมันติดกระดูก

นักวิชาการส่วนใหญ่ได้ใช้หลักอนุมาน (กิยาส) ข้อบกพร่องอื่นๆในตัวสัตว์ที่มีสภาพเดียวกับสี่ประการดังกล่าว หรือรุนแรงกว่าสี่ประการดังกล่าว เช่นสัตว์ที่ตาบอดทั้งสองข้าง หรือสัตว์ที่ขาขาด เป็นต้น ก็ถือว่าไม่อนุญาตให้นำมาเชือดเป็นสัตว์กุรบาน

10. หุ้นกรรมสิทธิ์ในการครอบครองสัตว์ และการเข้าร่วมในส่วนร่วมของผลบุญ

1. อูฐ,วัว,ควาย อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ได้ หนึ่งหุ้น(หัว) จนถึง เจ็ดหุ้น (หัว)

2. แพะ,แกะ อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในการเชือดกุรบานได้หนึ่งคน แต่ในแพะหรือในแกะหนึ่งตัว หรือในหนึ่งหุ้นของวัว หรืออูฐนั้น บุคคลนั้นอาจจะใช้เชือดกุรบานแทนตัวเองและบุคคลในครอบครัวของตนเองก็ได้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวจะได้มีส่วนร่วมในผลบุญ หรือบุคคลอื่นที่เป็นมุสลิมจะเป็นญาติ หรือมิใช่ญาติ จะมีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ตาม

ตัวอย่างเช่น

1. นาย ก. ซื้อแพะ หรือแกะมาหนึ่งตัว เพื่อเชือดกุรบาน เมื่อเชือดกุรบาน นาย ก. ก็ตั้งเจตนาว่า นี่คือกุรบานของฉันและของครอบครัวของฉัน อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

2. นาย ก. ได้ไปลงหุ้นซื้อวัวหรืออูฐกับเพื่อนอีก 6 คน และขณะที่ ทำกุรบานอูฐหรือวัวตัวนั้น นาย ก. ตั้งเจตนาว่า นี่คือกุรบานของฉันและของครอบครัวของฉัน อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

3. หากนาย ก. กับนาย ข. ได้ร่วมกันหุ้นซื้อแพะหนึ่งตัว โดยที่แต่ละคนเจตนาทำเป็นกุรฺบานของแต่ละคนแยกต่างหาก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เนื่องจากแพะหรือแกะใช้สำหรับการมีกรรมสิทธิ์แค่คนเดียว

อนึ่ง หากคนหนึ่งคนจะเชือดอูฐหรือวัวหนึ่งตัว ก็ใช้ได้ หรือแบ่งเป็นสองหรือสามหุ้นก็ใช้ได้ แต่จะต้องไม่เกินเจ็ดหุ้น (หัว)

11. ฮูก่ม รับประทานเนื้อกุรบานสำหรับเจ้าของกุรบาน

สำหรับเจ้าของกุรบานไม่อนุญาตให้รับประทานเนื้อกุรบานที่เป็นวาญิบ (จำเป็นสำหรับตนเอง) ตามทรรศนะของมัซฮับฮานาฟีย์และมัซฮับชาฟิอีย์ แต่อนุญาตให้รับประทานได้ตามทรรศนะของมัซฮับมาลิกีย์ และมัซฮัมบาลีย์

12. การแจกจ่ายเนื้อกุรบาน

ในกรณีที่กุรบานประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ให้แบ่งเนื้อออกมาเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งให้เจ้าของเก็บไว้รับประทาน ส่วนที่สองมอบเป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) แก่ญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนฝูง ถึงแม้จะร่ำรวย ส่วนที่สามให้บริจาคทานกับคนยากจนที่เดินทางมาขอ หรือไม่มาขอ

ในส่วนที่เป็นกุรบานประเภทวาญิบ ตามทรรศนะของฮานาฟีย์และชาฟิอีย์ให้บริจาคหมดทั้งตัว เพราะหากไม่บริจาคทั้งตัวก็เท่ากับว่ายังทำสิ่งที่เป็นวาญิบไม่สมบูรณ์ ก็เท่ากับว่ายังไม่หลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นวาญิบให้กับตนเอง

13. วิธีแจกจ่ายเนื้อกุรบาน

อนุญาตให้ผู้ที่ทำกุรบานทำเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยจัดเลี้ยงอาหาร หรือจะแจกจ่ายเนื้อดิบก็ได้

14. การแจกจ่ายเนื้อกุรบานให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
ทรรศนะของมัซฮับฮานาฟีย์ และชาฟิอีย์ไม่อนุญาตให้เอาเนื้อกุรฺบาน(เนื้อดิบ) ให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเนื่องจากเป็นเนื้อที่ถูกเชือดในรูปของอิบาดะฮฺ ประดุจดังซะกาต ส่วนในมัซฮับฮัมบาลีย์ อนุญาตเฉพาะกุรบานที่เป็นอาสา (ตะเตาวุอฺ) แต่กุรบานที่เป็นวาญิบ ไม่อนุญาต ส่วนในมัซฮับมาลิกีย์ ถือว่าเป็นมักโรฮฺ (ไม่ส่งเสริม)

15. การขายบางส่วนของสัตว์กุรฺบานหลังเชือด

ไม่อนุญาตให้เอาส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์กุรบาน เช่น หนัง กระดูก เขา เนื้อ หรือส่วนอื่นๆ นำไปขายหรือในส่วนที่เข้าข่ายทำนองนั้น เช่น เป็นค่าจ้างของคนเชือด หรือถลกหนัง หรือพนักงานทำความสะอาด หรืออื่นใดทั้งสิ้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีตัวบทระบุไว้อย่างชัดเจน และจุดประสงค์ของการทำกุรบานคือ การเชือดในรูปแบบของการเป็นอิบาดะฮฺที่มีผลบุญมหาศาล เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีเป้าหมายให้เป็นทานบริจาค ดังนั้นการขายชิ้นส่วนของสัตว์กุรบานหรือนําชิ้นส่วนไปทำเป็นค่าจ้างคนชำแหละเนื้อหรือเชือด จึงผิดเป้าประสงค์ทางศาสนาของสัตว์พลี

มีนักวิชาการ (อูลามาฮ์) ในมัซฮับฮานาฟีย์ได้วินิจฉัย หาทางออกให้กับผู้ทำกุรบานในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาชิ้นส่วนบางอย่างของสัตว์กุรบานมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เนื่องจากในยุคหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำภาชนะใส่น้ำได้ดี แต่ในบางยุค ภาชนะใส่น้ำอาจจะมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเข้ามาทดแทนที่ดีกว่า จึงทำให้การใช้หนังสัตว์โดยตรง อาจจะไม่ได้รับความนิยม แต่หนังสัตว์ก็ถือเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่ หากนำไปทิ้งก็ทำให้เกิดการเสียผลประโยชน์ บรรดาอูลามาฮ์ในมัซฮับฮานาฟีย์ หรือแม้กระทั่งท่านอิมามอะบูฮานีฟะฮ รอฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้ให้ทรรศนะที่เป็นทางออกว่า ให้เอาหนังหรือชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์กุรบานที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงไปขาย หรือแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้แล้วยังคงสภาพตัวตนของมันอยู่ เช่น ตะแกรงร่อนแป้ง หรือเครื่องใช้อื่นๆ แต่จะไม่ไปแลกกับสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหารหรือเครื่องดื่ม แต่หากเอาไปแลกกับเงินตรา หรือขายเป็นรูปของเงินตราก็จะต้องเอาเงินเหล่านั้นไปบริจาคทาน

16. ทำกุรบานให้กับผู้ที่เสียชีวิต

นักปราชญ์ส่วนใหญ่ในอะลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์(ซุนนีย์)มีความเห็นว่า อนุญาตให้ทำกุรบานให้กับผู้ที่เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ตายก็จะได้รับผลบุญ ไม่ว่าผู้ตายจะสั่งเสียไว้หรือไม่ได้สั่งเสียไว้ก็ตาม เนื่องจากการกระทําดังกล่าวถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของการบริจาคทาน(ซอดะเกาะฮฺ) ซึ่งการบริจาคทาน(ซอดะเกาะฮฺ) ให้กับคนตายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และให้ประโยชน์ต่อผู้ตายและถึงผู้ตาย ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ (อิจญฺมาอฺ)

และในกรณีที่ผู้ตายได้สั่งเสียไว้ จะต้องพิจารณาว่าเงินที่ใช้ซื้อกุรบานนั้นเกินหนึ่งส่วนสามของทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ หากเกินก็ไม่อนุญาต แต่หากไม่เกินหนึ่งส่วนสามของกองมรดกของเขาหลังหักหนี้สินของผู้ตายแล้ว ก็ให้ผู้ที่รับมอบหมายไปจัดการเชือดกุรบานแทนผู้ตาย เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการสั่งเสียและห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น เอาเงินไปบริจาคแทนการเชือด ยกเว้นผู้ตายสั่งเสียไว้ให้กระทำ

ความสำคัญของการทำกุรบาน(เชือดสัตว์พลีทาน)

ที่มา: www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด