การอาบน้ำวายิบในสตรีที่แท้งบุตรในอายุครรภ์ประมาณ 2 เดือน


12,626 ผู้ชม

ดิฉันได้แท้งบุตรมาไม่กี่วันเลยสงสัยว่ากรณีแท้งดังกล่าวต้องอาบน้ำวายิบด้วยหรือไม่ (เป็นการแท้งเองไม่ได้มีการกระทำใดๆทั้งสิ้น)


การอาบน้ำวายิบในสตรีที่แท้งบุตรในอายุครรภ์ประมาณ 2 เดือน

เลือดสตรี มี 3 ชนิด สิ่งที่หญิงมุสลิมต้องใส่ใจเเละสังเกตุ

1. เลือดประจำเดือน หรือเรียกว่า เฮด

2. เลือดหลังคลอดบุตร น้ำคาวปลา หรือเรียกว่า นิฟาส

3. เลือดเสีย หรือเรียกว่า อิสติฮาเดาะฮฺ

การอาบน้ำวายิบในสตรีที่แท้งบุตรในอายุครรภ์ประมาณ 2 เดือน

ดิฉันได้แท้งบุตรมาไม่กี่วันเลยสงสัยว่ากรณีแท้งดังกล่าวต้องอาบน้ำวายิบด้วยหรือไม่ (เป็นการแท้งเองไม่ได้มีการกระทำใดๆทั้งสิ้น)

การแท้งลูกของผู้หญิงนั้น มีอยู่ 2 สภาพด้วยกัน คือ 
1. การแท้งในสภาพที่เด็กยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่าง เช่น แท้งตอนเด็กยังอยู่ในสภาพที่เป็นแค่ก้อนเลือดอยู่อีก หรืออยู่มีสภาพเป็นแค่ก้อนเนื้อเล็กๆ ที่ไม่มีสภาพเป็นรูปร่างเลย ดังนั้น ในกรณีนี้ถือว่า เลือดที่ไหลออกมานั้น ไม่ถือว่าเป็นเลือดนิฟาส(เลือดอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร) แต่ถือว่าเป็นแค่เลือดประจำเดือน หรือเป็นแค่เลือดอิสติหาเฎาะฮฺ(เลือดเสีย) เท่านั้น แล้วแต่พิจารณา ดังนั้น หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเลือดอิสติหาเฎาะฮฺ(เลือดเสีย) ก็ไม่ต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่แต่ประการใด ซึ่งนางสามารถละหมาด หรือถือศีลอด ได้ตามปกติ  แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเลือดประจำเดือน ก็จะต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่
2. การแท้งในสภาพที่เด็กได้ปรากฏเป็นรูปร่างแล้ว เช่น เป็นตัวเด็กแล้ว ,หรือเป็นมือ ,หรือเป็นแขน ,หรือเป็นขา เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ถือว่า เลือดที่หลั่งออกมานั้น ถือว่าเป็นเลือดนิฟาส(เลือดอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร) ดังนั้น ก็ถือว่าจำเป็นจะต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่
ดู ตำรา العبادات وأحكامها في الفقه الإسلامي โดย ด็อกเตอร์ ฟัตฮียะฮฺ มะหฺมูด มุหัมมัด อัล-หะนะฟีย์ อาจารย์ภาควิชานิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร วิทยาเขตนักศึกษาหญิง ณ.กรุงไคโร ประเทศอียิปต์  หน้าที่ 98


หลังจากที่ท่านปรมาจารย์ "ฟงชิงหยาง" แห่งหัวซาน ได้ให้ความเห็นในเรื่องการแท้งนี้ ในทัศนะที่แตกต่างกันออกไป กระผมจึงได้ลองค้นคว้าและศึกษาทัศนะของปราชญ์มัซฮับ อัช-ชาฟิอีย์ ท่านอื่นๆ ในประเด็นนี้เพิ่มเติม ก็ปรากฏว่ามีทัศนะของท่านอิมามอัล-นะวะวีย์ ได้ระบุเอาไว้ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ..
وسواء في حكم النفاس كان الولد كامل الخلقة أو ناقصها أو حياً أو ميتاً ولو ألقت مضغةً أو علقةً، وقال القوابل إنه مبتدأ خلق آدمي، فالدم الموجود بعده نفاس
"ถือว่าเป็นผู้ที่มีนิฟาส(เลือดที่หลั่งออกมาอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร ซึ่งจำเป็นต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่) ในทุกกรณี ไม่ว่าเด็กที่ออกมานั้น จะเป็นเด็กที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบ ,จะเป็นเด็กที่พิการบกพร่อง ,จะเป็นเด็กที่มีชีวิต ,จะเป็นเด็กที่เสียชีวิต หรือแม้จะออกมาในสภาพที่เป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นก้อนเลือด โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินารีเวช ได้กล่าวว่า แท้จริงมันคือ เริ่มแรกของการสร้างมนุษย์ ดังนั้น เลือดที่ออกมาหลังจากการคลอด จึงถือว่าเป็นเลือดนิฟาส" 
ดู ตำรา روضة الطالبين  โดย ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 64
นอกจากนี้ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ ยังกล่าวไว้อีกว่า ..
قال أصحابنا : لا يشترط في ثبوت حكم النفاس أن يكون الولد كامل الخلقة ، ولا حياً ، بل لو وضعت ميتا أو لحما تصور فيه صورة آدمي ، أو لم يتصور ، وقال القوابل : إنه لحم آدمي ثبت حكم النفاس
"ปวงปราชญ์ในมัซฮับของเรามีทัศนะว่า (ผู้ที่คลอดบุตรออกมานั้น ทั้งหมดถือว่า)เป็นผู้มีนิฟาส โดยไม่มีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นเด็กที่คลอดออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ หรือเกิดมาในสภาพที่มีชีวิต หรือเกิดมาในสภาพที่เสียชีวิต หรือเกิดมาในสภาพเป็นเนื้อหนังในรูปแบบของมนุษย์ หรือว่าจะไม่เป็นรูปมนุษย์ก็ตาม ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินารีเวช ได้กล่าวว่า แท้จริง(การปรากฏเป็น)เนื้อหนังแห่งการเป็นมนุษย์นั้น ทำให้(ผู้เป็นแม่)ตกอยู่ในสภาพของผู้ที่มีนิฟาส(เลือดที่ออกมาอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร และผู้เป็นแม่ต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่)"
ดู ตำรา المجموع  โดย ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 487
ดังนั้น ในประเด็นนี้ ผมได้นำทัศนะของปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ มากล่าวไว้สองท่าน นั่นคือ ทัศนะของท่านอิมามอัล-มาวัรดีย์ และทัศนะของท่านอิมามอัล-นะวะวีย์ และผมขอยึดตามทัศนะของท่านอิมามอัน-นะวะวีย์ ที่มีความเห็นว่า ไม่ว่าเด็กจะออกมาในสภาพใดก็ตาม ให้ถือว่าผู้เป็นแม่นั้น ได้เข้าไปอยู่ในหุก่มของผู้มีนิฟาส(เลือดจากการคลอดบุตร)ทั้งหมด และผู้เป็นแม่ จะต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ในทุกกรณีที่มีการคลอดบุตรออกมา ถึงแม้ว่าสิ่งที่ออกมาในขณะคลอดนั้น จะเป็นแค่ก้อนเลือด หรือแค่ก้อนเนื้อก็ตาม

เนื่องจากท่านอิมามอัล-นะวะวีย์ นั้นเป็นปราชญ์ชั้นแนวหน้าของมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ ที่คอยทำการให้น้ำหนักในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ มีความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อท่านอิมามอัน-นะวะวีย์ ได้ทำการให้น้ำหนักในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการปฏิบัติตาม
สรุป : ท่านจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ อันเนื่องมาจากการคลอดบุตร ถึงแม้ว่าสิ่งที่หลั่งออกมาจะเป็นแค่ก้อนเลือดก็ตาม อันเนื่องจาก ก้อนเลือดนั้น คือ สิ่งเริ่มแรกของการสร้างมนุษย์

www.sunnahstudent.com


อัพเดทล่าสุด