มุสลิมกับการสัก


11,539 ผู้ชม

มุสลิมกับการสัก มีคนถามว่า คนมีรอยสัก อาบน้ำละหมาด อาบน้ำวายิบ ใช้ได้หรือไม่?


มุสลิมกับการสัก

- การสัก เป็นสิ่งอนุญาตหรือไม่?

- คนสักอาบน้ำละหมาด อาบน้ำวายิบ ใช้ได้หรือไม่?


สัก เป็นคำกริยา  หมายถึง เอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่างๆ กัน เช่น  สักปลาไหล  สักหาของในน้ำ  สักรอยช้ำเพื่อรีดเอาเลือดที่คั่งออก เป็นต้น  สำหรับในคำถาม  “สัก” หมายถึง ใช้เหล็กแหลมจุ่มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมาย หรือลวดลาย ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมัน เรียกว่า สักน้ำมัน ในภาษาอาหรับ เรียกว่า อัล – วัชมุ๊ (الوَشْمُ) 

มุสลิมกับการสัก
นักนิติศาสตร์อิสลาม อธิบายว่า หมายถึง การจิ้มแทงผิวหนังด้วยเข็ม (เหล็กแหลม) เพื่อให้เลือดไหลออกมาแล้วโรยสิ่งจำพวกครามลงไปเพื่อให้เกิดสีน้ำเงินครามหรือสีเขียว  ด้วยสาเหตุของเลือดที่เกิดโดยการจิ้มแทงผิวหนังด้วยเข็ม (เหล็กแหลม) ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาเนื่องจากมีคำห้ามเอาไว้  จึงจำเป็นต้องขจัดรอยสักนั้นออกเสียทั้งนี้หากไม่เกรงว่าจะเป็นอันตรายที่อนุญาตให้ทำการตะยำมุม ฉะนั้นหากเกรงว่าจะเป็นอันตราย ก็ไม่วาญิบต้องขจัดรอยสักนั้นออกไป  และไม่มีบาปอันใดเหนือผู้นั้นภายหลังการเตาบะฮฺตัว  
ทั้งนี้ เมื่อเขาได้กระทำมัน (สัก) ด้วยความพอใจของเขาภายหลังการบรรลุศาสนภาวะของเขาแล้ว  หากไม่เป็นเช่นนั้น  (เช่น ถูกบังคับจับสัก หรือ ถูกสักตั้งแต่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เป็นต้น) ก็ไม่จำเป็นที่เขาต้องขจัดมันออกไป และการละหมาดของเขา ตลอดจนการเป็นอิมามนำละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้ และสิ่งที่เขาวางมือลงไปในสิ่งนั้นก็ไม่เป็นนะญิส เป็นต้น 
เมื่อปรากฏว่าบนมือของเขานั้นมีรอยสัก (อัล-อิจนาอฺ ฟี หัลลิอัลฟาซฺ อบีชุญาอฺ ; อัช-ชัรบีนียฺ เล่มที่ 1 หน้า 333 / บินญัยริมียฺ อะลัล เคาะฏีบฺ ; ชัยคฺ สุลัยมาน อัลบุญัยริมียฺ เล่มที่ 2 หน้า 77 ใน อัลฟุรูอฺ  นอกกรอบ)
จึงได้คำตอบว่า:

 
- การสักเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากมี อัล – หะดีษ ระบุว่า : 

“ท่านรอซูล (ศ็อล) สาปแช่งผู้ที่สัก (คือช่างสัก) และผู้ที่ขอให้สัก (ผู้ใช้บริการจากช่างสัก)” (รายงานโดย มุสลิม)


หมายความว่า ทั้งผู้ที่สักและผู้ที่ถูกสักโดยการขอร้องหรือเต็มใจได้รับละอฺนะฮฺด้วยกันทั้งคู่ และการกระทำความผิดใดที่ถูกระบุเรื่องการสาปแช่ง (ละอฺนะฮฺ) ถือว่าเป็นบาปใหญ่ (กะบีเราะฮฺ) ที่จำต้องเตาบะฮฺตัวตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดเอาไว้   และถ้าหากมีการลบรอยสักสามารถกระทำได้โดยไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงก็ถือว่าเป็นวาญิบที่จะต้องลบรอยสัก ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้แสงเลเซอร์ในการลบรอยสักแพร่หลายอยู่แล้ว

ท่านอิบนุมัสอูด รายงานว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:

لعن الله الواشمات والمستوشمات, والناصمات والمتنمصات, والمتفلجات للحسن, المغيرات خلق الله

"อัลเลาะฮ์ทรงสาปแช่ง ผู้หญิงที่ทำการสัก และใช้ให้ทำการสัก ผู้หญิงที่ขจัดขนบนใบหน้าและผู้หญิงที่ขอให้ขจัดขนบนใบหน้า ผู้หญิงที่ถ่างช่วงระหว่างฟันเพื่อความสวยงาม ซึ่งพวกนางเป็นผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลเลาะฮ์..."

รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม

 -  คนสักอาบน้ำละหมาด อาบน้ำวาญิบ และละหมาดใช้ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ ในกรณีที่สามารถลบรอยสักได้ก็วาญิบต้องกระทำ หากไม่กระทำทั้งๆที่สามารถกระทำได้ก็ถือว่ามีโทษ เป็นต้น
- การที่ชาวอาหรับบางประเทศ เช่น อียิปต์  ซูดาน และกลุ่มอาหรับในแอฟริกาเหนือสักที่ใบหน้าบริเวณคางนั้นเป็นการกระทำตามจารีตของเผ่า (เกาะบีละฮฺ) ซึ่งขัดหลักการของศาสนาดังที่มีตัวบทระบุไว้  
การกระทำของมุสลิมในบางเรื่องมิได้หมายความว่านั่นเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาเสมอไป โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังมีระบบวิถีชีวิตแบบเผ่าดั้งเดิมถึงแม้พวกเขาจะเป็นมุสลิมแต่ก็ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างที่เป็นสิ่งตกค้างเจือปนอยู่ในความเป็นมุสลิมของพวกเขา  จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ไปพบเจอคนที่กระทำเช่นนั้นถึงแม้ว่าจะว่าเป็นอาหรับก็ตามที

ที่มา: alisuasaming.org


อัพเดทล่าสุด