ข้อชี้ขาด สวมรองเท้าขณะละหมาด


24,933 ผู้ชม

การละหมาดในสภาพที่กำลังสวมรองเท้าอยู่นั้น หุก่มว่าอย่างไร ??


ข้อชี้ขาด สวมรองเท้าขณะละหมาด

การละหมาดในสภาพที่กำลังสวมรองเท้าอยู่นั้น หุก่มว่าอย่างไร ??

การละหมาดในขณะที่กำลังสวมรองเท้าอยู่นั้น เมื่อไรก็ตามที่รองเท้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างที่กำลังสวมอยู่นั้นสะอาด ดังนั้น การละหมาดของเขาก็ถือว่า ใช้ได้ ดังมีหะดีษที่ถูกบันทึกโดยท่านอิมาม อัล-บุคอรีย์ ได้รายงานมาจากท่าน ยะซีด อัล-อัซดีย์ เล่าว่า ฉันได้ถามท่าน อะนัส บิน มาลิก(ร.ด.) ว่า ..

أكان النبي صلى اللّه عليه وسلم يصلى في نعليه قال نعم

“ท่านนบี(ซ.ล.) เคยละหมาดในสภาพที่สวมรองเท้าหรือเปล่า ?? ท่านอะนัส บิน มาลิก ก็ตอบว่า ใช่”

ข้อชี้ขาด สวมรองเท้าขณะละหมาด

และได้ถูกบันทึกในตำรา ”มุนตะกอ อัล-อัคบาร” ว่า มีรายงานจากท่าน ชัดดาด บิน เอาส์(ร.ด.) เล่าวว่า ท่านรสูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า 

خالفوا اليهود فإنهم لا يصلون في نعالهم ولا خفافهم

“ท่านทั้งหลายจงทำตัวให้แตกต่างจากพวกยิว เพราะแท้จริงพวกเขาจะไม่นมัสการ(ต่อพระเจ้าของพวกเขา) ในสภาพที่พวกเขากำลังสวมรองเท้า หรือสวมคุฟ(ถุงเท้าที่ทำจากหนังสัตว์)”

และมีรายงานจากท่านอะบี ฮูร็อยเราะฮฺ(ร.ด.) เล่าว่า ท่านรสูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า 

إذا صلى أحدكم فخلع نعليه فلا يؤذ بهما أحدا ليجعلهما بين رجليه أو ليصل فيهما

"เมื่อคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านละหมาด โดยถอดรองเท้าทั้งสองข้างของเขา ดังนั้น ก็จงอย่าให้รองเท้าทั้งสองข้างนั้น เป็นอันตรายแก่ผู้ใด(สร้างความรำคาญ) จงนำรองเท้าทั้งสองข้างนั้น ไว้ระหว่างเท้าทั้งสอง หรือไม่ก็จงละหมาดโดยใส่รองเท้าทั้งสองข้างนั้น" บันทึกโดย อะบู ดาวูด 

และแท้จริงมีบรรดาเศาะหาบะฮฺและบรรดาตาบิอีนมากมาย ที่เคยละหมาดในสภาพที่กำลังสวมรองเท้าอยู่ ดังนั้น การละหมาดโดยการสวมรองเท้าที่สะอาดนั้น ถือว่า ละหมาดนั้นใช้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาปวงปราชญ์อิสลามมากมาย ถือว่า การละหมาดโดยการสวมรองเท้านั้น เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (المستحبة)

สรุปจากตรงนี้ คือ เราขอกล่าวว่า หากว่ารองเท้าที่ถูกสวมใส่อยู่นั้นเปื้อนนะยิส โดยเปื้อนนะยิสที่เห็นเป็นคราบ ไม่ว่าจะเป็นคราบเลือด หรือรอยเปียกจากคราบปัสสาวะ หรืออื่นๆ เป็นต้น ดังนั้น การที่เจ้าของรองเท้าได้ใส่มันเดินไปบนพื้นทรายหรือบนขี้เถ้า ดังนั้น มันก็จะแห้ง และเมื่อมันแห้งแล้ว เราก็ได้ถูมันออกกับพื้นดิน ก็ถือว่าสะอาดแล้ว ตราบใดที่ไม่หลงเหลือร่องรอยใดๆ นี่คือ ทัศนะหนึ่งจากปวงปราชญ์ในมัซฮับหะนะฟีย์ ดังที่ท่าน อะบู ดาวูด ได้บันทึกหะดีษหนึ่งที่รายงานมาจากท่าน อะบีสะอีด อัล-คุดรีย์(ร.ด.) เล่าว่า ท่านรสูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า 

إذا جاء أحدكم إلى المسجد فلينظر فإن رأى في نعله أذى أو قذر فليمسحه وليصل فيهما

“เมื่อคนใดๆ คนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะเข้ามัสยิด ดังนั้น จงสังเกตดู ถ้าหากว่าเขาได้เห็นรองเท้าของเขาเปรอะเปื้อนหรือสกปรก ดังนั้น จงเช็ดมันออก แล้วก็จงทำการละหมาดทั้งๆ ที่สวมรองเท้านั่นแหละ”

และท่านอิบนุคุซัยมะฮฺ ได้บันทึกหะดีษ ที่ถูกรายงานมาจากท่านอะบี ฮุร็อยเราะฮฺ (ร.ด.) เล่าว่า แท้จริงท่านรสูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

إذا وطئ أحدكم الأذى بنعليه أو خفيه فطهورهما التراب

“เมื่อรองเท้าหรือคุฟ(ถุงเท้าที่ทำจากหนังสัตว์) ของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านเหยียบย่ำบนสิ่งสกปรก ดังนั้น มันทั้งสองสามารถสะอาดได้ด้วยกับดิน(คือ เอารองเท้าส่วนที่สกปรกถูกับพื้นดิน)”

แต่หากว่าเราเท้าของเราเปื้อนนะยิสที่ไม่เห็นรอยคราบ เช่น เปื้อนน้ำปัสสวาวะแต่มันแห้งไปแล้ว ดังนั้น การเอามันไปถูพื้นดินนั้น ถือว่าไม่ได้ทำให้มันสะอาดได้ นอกสะจากว่า จะต้องนำไปล้างด้วยน้ำเท่านั้น

ฟัตวาโดย สถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนา ดารุลอิฟตาอฺ แห่งประเทศอียิปต์  บทว่าด้วยเรื่อง "การละหมาด" 

อัพเดทล่าสุด