หญิงมุสลิมทานยาเลื่อนประจำเดือนได้หรือไม่?


7,129 ผู้ชม

หญิงมุสลิม หรือ มุสลิมะห์นั้น ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกินยาเลื่อนการมาประจำเดือน (เช่น ต้องการเล่นน้ำตกฯ น้ำทะเล เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะทำได้หรือเปล่าครับ?


คำถาม: หญิงมุสลิม หรือ มุสลิมะห์นั้น ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกินยาเลื่อนการมาประจำเดือน (เช่น ต้องการเล่นน้ำตกฯ น้ำทะเล เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะทำได้หรือเปล่าครับ?

แล้วถ้าหากว่าทำได้นั้น ฮุกุมการปฏิบัติอิบาดะห์ช่วงที่มีเลือดประจำเดือนและช่วงไม่มีเลือดประจำเดือน นั้นมีหลักปฏิบัติเหมือนในกระทู้นี้ ทานยาแล้วประจำเดือนหยุดก่อนกำหนดมีฮุกุ่มอย่างไร? หรือเปล่าครับผม? 

คำตอบ: การทานยาเพื่อระงับประจำเดือนนั้น  อนุญาตให้กระทำในสภาวะจำเป็นเท่านั้น  ส่วนการทานยาระงับหรือเลื่อนประจำเดือนเพื่อไปเล่นน้ำตกหรือน้ำทะเล  ถือว่าไม่อนุญาตนะครับ
อนึ่ง  เรื่องการทานยาระงับหรือเลื่อนประจำเดือนนี้  มีแต่นักปราชญ์มัซอับมาลิกีย์เท่านั้นที่ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้โดยตรง นี่ก็คือส่วนหนึ่งจากความดีงามในการมีมัซฮับต่าง ๆ ในอิสลาม
ท่านอิมามอัศศอวีย์กล่าวว่า  "ท่านอิบนุลกอซิม  ได้ยินจากท่านมาลิกว่า  สตรีใดที่ใช้ยาเพื่อให้เลือดประจำเดือนหยุดในช่วงเวลาที่ประจำเดือนมาปกติ  ถือว่าเลือดนั้นเกลี้ยง  และนางถูกตัดสินว่าสะอาด" และจากท่านอิบนุกินานะฮ์กล่าวว่า  "จากปกติแล้วนางจะมาประจำเดือนแปดวัน  เป็นต้น  แล้วหลังจากมาประจำเดือนได้สามวัน  นางได้ใช้ยาเพื่อให้ประจำเดือนหยุดในวันที่เหลือ  ดังนั้นนางถูกตัดสินว่าเป็นผู้ที่สะอาด  ซึ่งขัดแย้งกับท่านอิบนุฟัรฮูน(ซึ่งเขาตัดสินว่ายังไม่สะอาด)"  แต่บรรดาอุลามาอฺได้กล่าวว่า  "การเยียวยาเช่นนี้ถือว่ามักโระฮ์(ไม่ควรกระทำ) เพราะอาจจะทำให้เกิดโทษ"  หนังสือบุลเฆาะตุสซาลิก : 1/163 , หนังสืออัลฟะวากิฮ์ อัดดะวานีย์ : 1/137   
จากหลักการนี้  ได้ตัดสินว่าสตรีที่ทานยาระงับประจำเดือนนั้นสะอาดจากเลือดประจำเดือนและอยู่ในฮุกุ่มของสตรีที่สะอาด  ดังนั้นนางก็สามารถถือศีลอดได้  จำเป็นต้องละหมาด  ร่วมหลับนอนกับสามีได้  สรุปคือ  อนุญาตให้นางกระทำสิ่งที่ถูกห้ามสำหรับผู้มีประจำเดือนได้นั่นเอง  นี้ก็คือทัศนะอันชัดเจนของนักปราชญ์มัซฮับมาลิกีย์ส่วนมาก
แต่การทานยาเพื่อระงับประจำเดือนนั้น  อยู่ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น  เช่นสตรีที่ไปทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์  ซึ่งนางต้องทำการตอวาฟอัลอิฟาเฎาะฮ์ที่เป็นรุกุ่นของฮัจญ์  แต่การที่นางมีประจำเดือนต้องรอคอยช่วงระยะเวลาให้หมดประจำเดือน  ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการเดินทางแบบกระทันหันขณะที่ประจำเดือนยังไม่เกลี้ยง  ก็อนุญาตให้รับประทานยาระงับประจำเดือนได้เพื่อทำการตอวาฟ  หรือในกรณีของสตรีมุสลิมะฮ์ที่จำเป็นต้องสอบอัลกุรอานในช่วงร่อมะฎอน  ก็อนุญาตให้ทานยาระงับประจำเดือน  แต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับการเห็นชอบจากแพทย์เฉพาะทางที่เชื่อถือได้ว่ากระทำดังกล่าวจะไม่เกิดโทษแต่สตรี  ดังนั้นหากพวกเขายืนยันว่าสิ่งดังกล่าวทำให้เกิดโทษ  ก็ถือว่าฮะรอม
ส่วนกรณีที่ไม่มีความจำเป็นอันใด (เช่น ต้องการไปน้ำตกฯ  เล่นน้ำทะเล  เป็นต้น) ถือว่าไม่อนุญาตให้ทานยาระงับประจำเดือนเพราะไม่มีความจำเป็น  ถึงแม้ว่าแพทย์จะยืนยันว่าไม่เกิดโทษก็ตาม  เพราะกรณีที่ไม่จำเป็นนั้นถือว่าไม่อยู่ในสถาวะที่ผ่อนปรนให้ครับ
อ้างอิงจากหนังสือ : ก่อฏอยา ฟิกฮียะห์ มุอาซิเราะฮ์ (ประเด็นฟิกห์ร่วมสมัย) ของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรคณะนิติศาสตร์อิสลาม ปีที่ 1 (หน้า 174-178)

หญิงมุสลิมทานยาเลื่อนประจำเดือนได้หรือไม่?

www.sunnahstudent.com

อัพเดทล่าสุด