สตรีที่ห้ามสมรสตามบัญญัติอิสลาม


7,539 ผู้ชม

ศาสนาอิสลาม ได้บัญญัติและส่งเสริมการนิกาหฺ เพราะเป็นผลดีมีประโยชน์นานัปการสู่ตัวบุคคลและสังคม ทั้งนี้สถานภาพของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดข้อชี้ขาดตามศาสนบัญญัติในการนิกาหฺนั้นโดยพิจารณาสถานภาพของฝ่ายชายเป็นหลัก


สตรีที่ห้ามสมรสตามบัญญัติอิสลาม

สตรีที่ห้ามสมรสตามบัญญัติอิสลาม

ศาสนาอิสลาม ได้บัญญัติและส่งเสริมการนิกาหฺ เพราะเป็นผลดีมีประโยชน์นานัปการสู่ตัวบุคคลและสังคม ทั้งนี้สถานภาพของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดข้อชี้ขาดตามศาสนบัญญัติในการนิกาหฺนั้นโดยพิจารณาสถานภาพของฝ่ายชายเป็นหลัก ในส่วนของสตรีที่จะทำการนิกาหฺด้วยนั้นก็มี เงื่อนไขตามศาสนบัญญัติกำหนดไว้เช่นกัน กล่าวคือ ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามทำการนิกาหฺกับสตรีบางจำพวก อาทิ สตรีผู้เป้นมารดาของตน เนื่องจากเป็นผู้มีพระคุณและมีเกียรติที่บุคคลพึงต้องเคารพนับถือโดยศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะบุพการี เป็นต้น หรือบัญญัติห้ามนิกาหฺกับบุตรสาวของตนและพี่สาวน้องสาวของตน ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของการนิกาหฺ คือการรักษาตนให้พ้นจากการละเมิดประเวณี (ซินา)  


อนึ่ง นักกฎหมายอิสลามเรียกบุคคลที่ต้องห้ามทำการนิกาหฺด้วยว่า “มะหฺรอม” (Unmarriageable person) หรือ “อัลมุหัรร่อมาตฺ มินัน นิซาอฺ” ซึ่งหมายถึง บรรดาสตรีที่ถูกบัญญัติห้ามนิกาหฺด้วย
ประเภทของการห้ามนิกาหฺกับสตรีต้องห้าม
ต้องห้ามอย่างถาวร (Eternally unmarriageable)

ต้องห้ามชั่วคราว (Temporarily unmarriageable)
สตรีต้องห้ามอย่างถาวร
1. สตรีที่ต้องห้ามนิกาหฺอย่างถาวร
หมายถึง สตรีที่ศาสนาจะไม่อนุญาตให้ผู้ชายนิกาหฺกับคนหนึ่งคนใดจากพวกนางไม่ว่าจะกรณีใดๆ ตลอดไป (Alkhin , 1991 : 26)
1.1   สาเหตุที่ต้องห้ามนิกาหฺกับสตรีประเภทต้องห้ามอย่างถาวร มี 3 สาเหตุ คือ
ก.      ความเป็นญาติใกล้ชิดโดยสายเลือด (อัลก้อรอบะฮฺ)
ข.      มีความสัมพันธ์ทางการสมรส การเกี่ยวดองกัน (อัลมุซอฮ่ารอฮฺ)
ค.      มีความสัมพันธ์กันทางการร่วมดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน (อัรร่อฏออฺ) (Assabig , 1990 : 2/201 , Alzuhayly . 1989 : 130)
1.2   สตรีที่ต้องห้ามนิกาหฺอย่างถาวร เนื่องจากสาเหตุความเป็นญาติทางสายโลหิตมีเจ็ดกลุ่ม ได้แก่
ก.      แม่ , ยาย (แม่ของแม่) และย่า (แม่ของพ่อ) หรือที่เรียกว่า ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปตามลำดับโดยมิขาดสาย
ข.      ลูกสาวและหลานสาวที่เกิดจากลูกผู้ชายและลูกผู้หญิง หรือที่เรียกว่าผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงไปโดยมิขาดสาย
ค.      พี่สาวและน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมบิดาเดียวกัน หรือร่วมมารดาเดียวกัน
ง.       ลูกสาวของพี่ชาย – น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมบิดาเดียวกัน หรือร่วมมารดาเดียวกัน
จ.      ลูกสาวของพี่สาว -  น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมบิดาเดียวกัน หรือร่วมมารดาเดียวกัน
ฉ.      พี่สาวหรือน้องสาวของบิดา ตลอดจนป้าของบิดาและป้าของมารดาก็เช่นเดียวกัน
ช.      พี่สาวหรือน้องสาวของมารดา รวมถึงน้าสาวของบิดาและน้าสาวของมารดา
1.3   หลักฐานที่ระบุห้ามนิกาหฺกับสตรีเหล่านี้ 
ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ ตรัสว่า
ถูกบัญญัติห้ามแก่พวกเจ้า (ในการนิกาหฺด้วย) ซึ่งบรรดาแม่ของพวกเจ้า บรรดาลูกสาวของพวกเจ้า บรรดาพี่สาวหรือน้องสาวของพวกเจ้า บรรดาป้าของพวกเจ้า บรรดาน้าสาวของพวกเจ้า , บรรดาลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชายของพวกเจ้าและบรรดาลูกสาวของพี่สาวหรือน้องสาวของพวกเจ้า” (อันนิสาอฺ : 23)
2. มีความสัมพันธ์กันทางการสมรส
บรรดาสตรีที่ต้องห้ามนิกาหิด้วยเนื่องจากความเกี่ยวดองกันโดยการนิกาหฺเป็นเหตุมี 4 กลุ่ม คือ
     2.1 ภรรยาของบิดา, ภรรยาของปู่ (บิดาของบิดา), ภรรยาของตา (บิดาของมารดา)
หลักฐานบัญญัติห้าม พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่านิกาหฺกับบรรดาสตรีที่บรรดาบิดาของสูเจ้าได้เคยนิกาหฺมาด้วยแล้ว นอกจากที่ผ่านพ้นมาแล้วเท่านั้น แท้จริงมันเป็นสิ่งลามกและน่าเกลียดยิ่ง อีกทั้งเป้นเหตุแห่งความโกรธเคืองและเป็นวิถีทางที่ชั่วช้าสามานย์” (อันนิสาอฺ : 22)
2.2 ลูกสะใภ้ (ภรรยาของบุตรชาย) หลานสะใภ้ (ภรรยาของหลานชายที่เกิดจากบุตรชายหรือเกิดจากบุตรสาว) และภรรยาของผุ้สืบสายโลหิตตามลำดับชั้นลงไป (คือเหลน ๆ ) ก็เช่นกัน
ศาสนาบัญญัติห้ามนิกาหฺด้วยอย่างถาวรไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น (Alkhin, 1991 : 4/27) ทั้งนี้ไม่ว่าผู้สืบสายโลหิตเหล่านั้น (คือลูกชาย,หลานชายและเหลนๆ) จะร่วมประเวณีกับสตรีที่เป้นสะใภ้นั้นหรือไม่ก็ตาม และถึงแม้ภายหลังมีการหย่าร้างหรือเสียชีวิตของผุ้สืบสายโลหิตจากสตรีเหล่านั้นก็ตาม (Al-zunhaily, 1989 : 132)
หลักฐานบัญญัติห้าม ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“และบรรดาภรรยาของบรรดาลูกชายของสูเจ้าทั้งหลายซึ่งพวกเขาเกิดจากไขสันหลังของพวกเขา (ก็ห้ามนิกาหฺด้วยเช่นกัน)” (อันนิสาอฺ : 23)
2.3 มารดาและผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปของภรรยา
ศาสนาบัญญัติห้ามนิกาหฺด้วย (Alkhin, 1991 : 4/28) ตลอดจนมารดาของบิดาของภรรยาก็เป็นที่ต้องห้ามนิกาหฺด้วยเช่นกัน ตามลำดับชั้นที่สูงขึ้นไป (Assabig, 1990 : 2/202) หลักฐานบัญญัติห้าม ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า
ความว่า “และบรรดาแม่เหล่าบรรดาภรรยาของพวกสูเจ้า" (อันนิสาอฺ : 23)
         2.4 บุตรสาวของภรรยา
คือลูกเลี้ยงซึ่งเกิดจากภรรยากับสามีคนก่อนถือเป็นสตรีต้องห้ามสำหรับสามีของแม่ (พ่อเลี้ยง) ในการนิกาหฺด้วย ภายหลังมีการร่วมประเวณีกับผู้เป็นแม่ของนางแล้ว ส่วนกรณีเมื่อทำข้อสัญญานิกาหฺกับผุ้เป็นมารดาแล้วแต่ยังไม่มีการร่วมประเวณีกับนาง และมีการหย่าร้าง(ตอล๊าก) เกิดขึ้นในระหว่างนั้น หรือผุ้เป้นมารดาเสียชีวิต ย่อมเป็นที่อนุญาตให้พ่อเลี้ยงนิกาหฺกับลูกเลี้ยงของตนได้ (Alkhin, : 4/28)
หลักฐานบัญญัติห้าม ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสว่า :
“และบรรดาลูกเลี้ยงของพวกท่านที่อยู่ในอุปการะของพวกท่านซึ่ง (เกิด) จากบรรดาภรรยาของพวกท่านที่พวกท่านได้ร่วมประเวณีกับพวกนาง ดังนั้นหากพวกท่านยังไม่ได้ร่วมประเวณีกับพวกนาง ย่อมไม่มีบาปอันใดต่อพวกท่าน(ที่จะนิกาหฺกับลูกสาวของนางซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของพวกท่าน) “ (อันนิสาอฺ : 23)
“การทำสัญญานิกาหฺกับลูกสาวนั้นย่อมทำให้มารดาของนางเป็นที่ต้องห้ามนิกาหฺด้วย (สำหรับลูกเขย) และการร่วมประเวณีกับมารดา (ของลูกเลี้ยง) ย่อมทำให้บุตรสาวของนาง (คือลูกเลี้ยงเป็นที่ต้องห้ามนิกาหฺด้วย (สำหรับพ่อเลี้ยง) “ (Hawwas ,1994 : 147)
     
3.ความสัมพันธ์ทางการร่วมดื่มน้ำนมจากแม่นมคนเดียวกัน
การดื่มนมของทารกจากสตรีผู้เป็นแม่นมจักถือเป็นสาเหตุแห่งการต้องห้ามนิกาหฺด้วยมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ
3.1 สตรีผู้ให้นม (แม่นม) ซึ่งเรียกว่า มุรฎิอฺ มีเงื่อนไขดังนี้
ก. ต้องเป็นมนุษย์ผู้หญิง 
ข. สตรีผุ้ให้นม (แม่นม) ต้องมีชีวิตอยู่จริง
ค. สตรีผู้ให้นม (แม่นม) ต้องมีอายุบรรลุวัยที่สตรีมีรอบเดือน
3.2 เด็กทารกที่ดื่มนม ซึ่งเรียกว่า ร่อฎีอฺ มีเงื่อนไขในการเป้นที่ต้องห้ามนิกาหฺด้วยเนื่องจากการดื่มนมดังนี้
ก. ในขณะดื่มนม เด็กทารกต้องมีชีวิตอยู่จริง
ข. อายุต้องไม่ถึง 2 ขวบปีบริบูรณ์โดยแน่ใจ หากการดื่มนมของเด็กเกิดขึ้นหลังจากอายุครบ 2 ขวบปีบริบูรณ์ หรือเกิดขึ้นในขณะสงสัย ย่อมไม่มีผลอันใด
3.3 น้ำนมที่ทารกดื่ม ซึ่งเรียกว่า ละบัน มีเงื่อนไขในการเป็นที่ต้องห้ามนิกาหฺด้วย ดังนี้ 
ก. น้ำนมหรือสิ่งที่เกิดจากน้ำนม เข้าไปถึงกระเพาะของเด็กทารกหรือสมองของเด็กทารก และการคงสภาพเดิมของน้ำนมเมื่อนำออกมาจากเต้านมหรือทรวงอกของสตรีที่ให้นมไม่ถือเป็นเงื่อนไขในการยืนยันสภาพต้องห้ามนิกาหฺด้วย
ข. การดื่มนมนั้นต้องเกิดขึ้นห้าครั้ง ห่างๆกัน และการดื่มนมทั้งห้าครั้งนั้น ต้องเกิดขึ้นจริงโดยมั่นใจ ดังนั้นหากการดื่มนมเกิดขึ้นน้อยกว่าห้าครั้งตามหลักประเพณีและเกิดขึ้นโดยมีข้อสงสัยในจำนวนครั้ง ก็ย่อมไม่มีผลในเรื่องนี้แต่อย่างใด
        บรรดาสตรีเหล่านี้ศาสนาบัญญัติห้ามนิกาหฺ ดังปรากฏหลักฐานจากอัลหะดิษ ได้ระบุว่า : 
“แท้จริงการร่วมดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกันนั้นย่อมเป็น (เหตุ) ต้องห้าม (นิกาหฺด้วย) เช่นเดียวกับข้อห้ามอันเกิดจากการให้กำเนิด (การสืบสายโลหิต)” (บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม)
สตรีต้องห้ามชั่วคราว
        กฎหมายอิสลามได้บัญญัติห้ามการนิกาหฺกับสตรีบางกลุ่ม เนื่องด้วยเพราะมีเหตุแห่งการบัญญัติห้ามไว้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการคงอยู่ของเหตุนั้นหรือการหมดไปของเหตุนั้นๆ กล่าวคือ เมื่อเหตุแห่งการบัญญัติห้ามในการนิกาหฺหมดไป การเป้นที่ต้องห้ามของสตรีที่ชายมีความปรารถนานิกาหิด้วยก็ย่อมหมดไป และกลับสู่สถานภาพปกติที่อนุมัติให้นิกาหฺได้ ดังนี้หากชายผุ้หนึ่งทำสัญญานิกาหฺกับสตรีผู้หนึ่งผู้ใดจากสตรีนี้ก่อนการหมดไปของเหตุแห่งการบัญญัติห้ามนิกาหฺนั้น ย่อมถือว่าสัญญานิกาหฺที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นโมฆะ (Invalid) ซึ่งนักกฎหมายอิสลาม เรียกการทำสัญญานิกาหฺเช่นนี้ว่า นิกาหฺบาฏิ้ล
 

กลุ่มสตรีที่กฎหมายอิสลามห้ามนิกาหฺเป็นการชั่วคราว มี 7 กลุ่มดังนี้
1. การรวมผู้หญิงสองคนที่เป็นญาติสนิททางสายโลหิตเป็นภรรยาของชายคนเดียวกัน
การสมรสกับหญิงอีกคนที่เป็นญาติสนิททางสายโลหิตกับภรรยาของตนอยู่แล้วย่อมกระทำไม่ได้ อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า
“และ (เป็นสิ่งที่ต้องห้าม) ในการที่พวกเจ้ารวมสตรีสองคนที่เป็นพี่น้องกัน(เป้นภรรยาของพวกเจ้า) “(อันนิสาอฺ:23)
2. การนิกาหฺซ้อน
       การนิกาหฺซ้อนระหว่างสตรีที่เป็นหลานสาวกับป้าของนาง(คือพี่น้องผู้หญิงของพ่อ) และระหว่างสตรีที่เป็นหลานสาวกับน้าสาว(คือพี่น้องผู้หญิงของแม่) และระหว่างสตรีผุ้หนึ่งกับบุตรสาวของพี่น้องผู้หญิงหรือบุตรสาวของพี่น้องผู้ชาย หรือบุตรสาวของลูกชายหรือลูกสาวของบุตรีของนาง  หลักฐานบัญญัติห้ามในเรื่องนี้ มีระบุในอัลหะดิษ ว่า 
“จะอยู่รวมกันมิได้ (ในการนิกาหฺ) ระหว่าสตรีกับป้าของนาง (คือคือพี่น้องผู้หญิงของพ่อ) และระหว่างสตรีกับน้าสาวของนาง (คือพี่น้องผู้หญิงของแม่) “ (บุคอรี : 4820 , มุสลิม : 1408 )
3. สตรีคนที่ห้าสำหรับชายที่มีภรรยาสี่คน
พระองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ตรัสว่า
ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายจงนิกาหฺกับบรรดาสตรีที่พวกท่านพึงพอใจเถิด สองคน สามคน และสี่คน” (อันนิสาอฺ : 3)
     
4. สตรีต่างศาสนิก (UNBELIVER) ที่มิใช่ชนแห่งคัมภีร์ (the people of the Book , Christioans and Jews) 

 หลักฐานที่บัญญัติห้ามในเรื่องนี้ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า


      "และพวกท่านจงอย่านิกาหฺกับเหล่าสตรีผู้ตั้งภาคี จนกว่าพวกนางจะมีศรัทธา และที่จริงทาสหญิงที่มีศรัทธานั้นยังดีกว่าสตรีที่ตั้งภาคี แม้ว่านางจะทำให้ท่านพึงพอใจก็ตาม และพวกท่านจงอย่านิกาหฺ (สตรีมุสลิมในปกครองของพวกท่าน) กับพวกชายที่ตั้งภาคี จนกว่าพวกเขาจะมีศรัทธา และที่จริงทาสชายที่มีศรัทธานั้น ยังดีกว่าชายที่ตั้งภาคี แม้ว่าพวกเขาจะทำให้ท่านพึงพอใจก็ตาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 221)
       หลักกฎหมายอิสลามอนุมัติให้ชายมุสลิมทำการนิกาหฺกับสตรีที่เป็นชาวคัมภีร์ อันได้แก่ยะฮูดียฺ (Judaic , Jew) และนัสรอนียะฮฺ (Christian) ซึ่งชนทั้งสองกลุ่มนี้เชื่อในคัมภีร์เตารอฮฺ (Torah, The Old Testament) และคัมภีร์อินญีล (Bible,The New Testament) หากชนสองกลุ่มนี้เป็นพลเมืองในรัฐอิสลาม พวกเขาจะได้รับการพิทักษ์คุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจตามความเชื่อโดยเรียกว่า “พันธสัญญาอัซซิมมะฮฺ” (Covenant of protection giving to the Zimmis) และเรียกพวกเขาว่า ซิมมี่ย์ (Zimmi – Non muslim subjects at home) บรรดาปวงปราชญ์ภาควิชานิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นว่า อนุมัติให้ทำการนิกาหฺกับสตรี “ซิมมี่ย์” ทั้งที่เป็นยะฮูดีย์(ยิว) และนัศรอนีย์(คริสเตียน) โดยอ้างหลักฐานจากพระบัญญัติที่ว่า
       “และเหล่าสตรีที่สงวนตัวทั้งที่มีศรัทธา และทั้งที่เป็นชาวคัมภีร์ซึ่งได้รับคัมภีร์ก่อนหน้าพวกท่าน” (อัลมาอิดะฮฺ : 5)
5. สตรีที่มีสามี

กฎหมายอิสลามไม่อนุญาตให้ชายใดทำการนิกาหฺกับสตรีที่มีสามีอยู่แล้ว และนางยังคงเป็นภรรยาของสามีเดิมนั้นอยู่ ไม่ว่าสามีของนางจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม โดยมีหลักฐานจากพระบัญญัติที่ว่า
และบรรดาสตรีที่อยู่ในปกครองของสามี (ถือเป็นสตรีที่มีบัญญัติห้ามมิให้นิกาหฺด้วยเช่นกัน) นอกกจากที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครอง (คือสตรีที่ตกเป็นเชลยศึกแล้วถูกมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ในฐานะทาสหญิง) “ (อันนิสาอฺ : 24)
     
6. สตรีที่ยังอยู่ในช่วงอิดดะฮฺ
ช่วงเวลาอิดดะฮฺ หมายถึงระยะเวลาที่สตรีห้ามสมรสกับชายอื่น ภายหลังจากที่ขาดการสมรสกับสามีหรือสามีเสียชีวิต เพื่อให้ทราบว่ามดลูกของนางปลอดจากการตั้งครรภ์ 
หลักฐานที่บัญญัติในเรื่องนี้ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า : 
“และพวกท่านอย่าเจตนาทำสัญญานิกาหฺจนกว่าสิ่งที่ถูกกำหนดไว้จะถึงระยะเวลาสิ้นสุดของมันเสียก่อน” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 235 )
7. สตรีที่ถูกหย่าขาด 3 ครั้ง (3 ตอลาก)
      หลักกฎหมายอิสลามไม่อนุมัติให้สามีของสตรีที่ถูกหย่าสามครั้ง (สามตอล๊าก) ทำการนิกาหฺกับนางได้อีก เรียกการหย่าประเภทนี้ว่า “ตอล๊าก บาอิน บัยนูนะฮฺกุบรอ คือการหย่า (ตอล๊าก) ที่ครบ 3 ครั้ง ซึ่งสามีผู้หย่าไม่มีสิทธิ์คืนดีกับภรรยาที่ถูกหย่าสามครั้งนั้น จนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หลักกฎหมายอิสลามได้กำหนดไว้ดังนี้ 
หลักฐานที่บัญญัติห้ามมิให้สามีที่หย่าขาดภรรยาของตน 3 ครั้งครบสมบูรณ์แล้วทำการนิกาหฺกับนางอีกจนกว่านางจะผ่านการมีสามีใหม่ตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด คือพระดำรัสที่ว่า 
        “ดังนั้นถ้าหากเขาหย่านางสามครั้ง จากนั้นนางก็ไม่เป็นที่อนุมัติแก่เขาอีกจนกว่านางจะได้นิกาหฺกับสามีกับสามีอีกคนหนึ่งเสียก่อน ดังนั้นถ้าหาดเขาหย่านาง ก็จะไม่มีบาปเหนือคนทั้งสองที่จะกลับคืนดีกัน ถ้าหากทั้งสองนั้นค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถดำรงในข้อกำหนดต่างๆของพระองค์อัลลอฮฺเอาไว้ได้ และนั้นเป็นข้อกำหนดต่างๆของพระองค์อัลลอฮฺซึ่งพระองค์ทรงแจกแจงมันอย่างกระจ่างชัดแก่กลุ่มชนที่ที่ตระหนักรู้” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 230)
สตรีที่ถูกหย่าขาดจากสามี 3 ครั้ง (3 ตอล๊าก) แล้วจะเป็นที่อนุมัติให้สามีที่หย่าขาด นิกาหฺใหม่อีกครั้ง จำต้องผ่านข้อกำหนดอันเป็นเงื่อนไข 5 ประการดังนี้
นางจะต้องนิกาหฺกับชายอื่นที่มิใช่สามีผู้หย่าขาดนั้น

การทำสัญญานิกาหฺตามข้อ 1. นั้นต้องถูกต้องสมบูรณ์

สามีคนใหม่จะต้องร่วมประเวณี(มีเพศสัมพันธ์)กับนางทางอวัยวะเพศด้านหน้า มิใช่ทางทวารหนัก

นางตกอยู่ในสภาพบัยนูนะฮฺ จากสามีใหม่ด้วยการหย่า 3 ครั้ง หรือสิ้นสุดช่วงเวลาอิดดะฮฺ ของนางในการหย่าที่สามีสามารถกลับคืนดีได้ หรือสามีใหม่เสียชีวิต
ช่วงอิดดะฮฺ ของนางเนื่องจากการหย่าของสามีใหม่ตามข้อ  4. สิ้นสุดลงแล้ว

ดังนั้นเมื่อสามีที่ถูกหย่าขาดจากสามี 3 ครั้งผ่านเงื่อนไขทั้ง 5 ประการแล้ว ย่อมอนุมัติให้นางทำการนิกาหฺกับสามีคนเดิมนี้ได้อีกโดยเริ่มต้นชีวิตคู่ใหม่ และสามีมีสิทธิครองจำนวนการหย่าใหม่ 3 ครั้ง


อัพเดทล่าสุด