วันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด และการจัดงานเฉลิมฉลอง


11,550 ผู้ชม

เคล็ดลับต่างๆ  เหล่านี้  ที่ท่านอินุ้ลฮาจได้นำมากล่าวไว้  เป็นสิ่งที่สนับสนุนความเห็นของเราที่ว่าอนุญาตให้จัดงานเมาลิดได้ และเราขอสรุปข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  อนุญาตให้จัดงานเมาลิดได้ในแบบส่วนตัว  หรือในแบบครอบครัวและที่ควรจัดงานเมาลิดก็เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้


วันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด  และการจัดงานเฉลิมฉลอง
            การจัดงานเฉลิมฉลอง  เพื่อรำลึกถึงท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด  (ซ.ล.)  เนื่องในวันเกิดของท่าน  เป็นสิ่งที่นักปราชญ์มุสลิมมีทัศนะและความเห็นที่แตกต่างกันไป  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและหลักฐานที่แต่ละท่านมีอยู่  
บางท่านส่งเสริม  บางท่านตำหนิ  และบางท่านก็ตำหนิอย่างรุนแรง  แต่ทุกท่านจะมีทัศนะที่ตรงกันอยู่ประการหนึ่ง  นั่นคือการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงศาสดานบีมูฮัมหมัด  (ซ.ล.)  เนื่องในวันเกิดของท่าน  
ไม่เคยมีการกระทำกันในยุคของท่านศาสดา  ในยุคซอฮาบะห์  และตาบิอีน  แต่ได้เกิดขึ้นในยุคหลัง  และจากจุดนี้เองนักปราชญ์มีมุมมองแตกต่างกันออกไป  และพยายามชักนำหลักฐานและเหตุผลต่างๆ  มาสนับสนุนมุมมองของตน  
ทั้งในแง่มุมที่ส่งเสริมให้กระทำ  ในแง่มุมที่ตำหนิอย่างรุนแรง
             การนำเอาบทความชิ้นนี้จากวิทยานิพนธ์ของ  ดร.อิซซัต  อะลี  อีด  อะตียะห์  แห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซอัร  มาพิมพ์เผยแพร่  เพื่อเป็นข้อมูลในมุมมองหนึ่งของการจัดงานเฉลิมแลองเพื่อรำลึกถึงท่าน
ศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)  เนื่องในวันเกิดของท่าน
             บทความชิ้นนี้คงเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน  ที่จะนำไปเป็นข้อมูลสำหรับท่าน  เพื่อจะมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมมุสลิมให้มั่นคงต่อไป
วันเกิดของท่านศาสดา ซ้อลล้อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  และการจัดงานเฉลิมฉลอง
             นักวิชาการ  มิได้มีการขัดแย้งกันในเรื่องที่ว่าการจัดงานเมาลิด  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลัง  ซึ่งยุคหลัง  ซึ่งในยุคของท่านศาสดาเองไม่ได้เคยจัดให้มีขึ้นมาก่อน  และแม้ในยุคของซอฮาบะห์และตาบิอีนก็ตาม  
ท่านสะคอวีย์ได้กล่าวว่า  “การจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านศาสดานั้นเกิดขึ้นหลังจากศตวรรษที่สามไปแล้ว”
             บุคคคลแรกที่ได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นก่อนที่กรุงไคโร  คือท่านเจ้าเมืองอัลมุอิซลิดีนิ้ลลาห์  ซึ่งอยู่ในราชวงศ์ฟาติมีย์  ในปี  ฮ.ศ. 362  และการจัดงานเมาลิด  ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา  จนถึงท่านแม่ทัพ
อัลอัฟด้อล  บัด  รุ้ลยะมาลีย์  จึงได้ยกเลิกการจัดงานเมาลิดในปี  ฮ.ศ. 488  ในสมัยคอลีฟะห์อัลมุสตะลาบิ้ลลาห์  และเมื่อท่านอามิร  บิอะห์กามิ้ลลาห์  บุตรของอัลมุสตะลาบิ้ลลาห์  ได้ขึ้นครองตำแหน่งคอลีฟะห์  
จึงได้ฟื้นฟูการจัดงานเมาลิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี ฮ.ศ. 495
             ส่วนบุคคลแรกที่ริเริ่มจัดงานเมาลิดขึ้นที่อิรบิ้ล  คือ  กษัตรย์อัลมุซอฟฟัร  อะบูสะอีด  ในศตวรรษที่  6  หรือที่  7  ท่าฮาฟิซอะ  บุ้ลคอตตอบ อุมัร  บุตร  อัลฮะซัน  ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ เดียห์ยะห์  อัลกัลป์บีย์  
ได้เรียบเรียงหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งในปี  ฮ.ศ. 644  ส่งเสริมการจัดงานเมาลิดหนังสือเล่านั้นชื่อ   التنويرفي مولدالبشيرالنذير   ท่านได้กล่าวชมเชยการจัดงานเมาลิด  และได้อ้างอิงหลักฐานมากมาย
             ดังนี้  การจัดงานเมาลิดในโอกาสอันประเสริฐจึงได้มีขึ้นมา  และได้วิวัฒนาการมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้
             และเมื่อพูดถึงทัศนะของนักวิชาการ ในเรื่องการจัดงานเมาลิด  ก็พอจะแยกออกได้เป็นสองฝ่าย  ฝ่ายแรกได้ประณามและกล่าวว่า  การจัดงานเมาลิดเป็น  “บิดอะห์”  เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่   และโดยที่
ท่านนบี  รวมทั้งคนในยุคซอฮาบะห์  และตาบิอีน  ไม่มีผู้ใดจัดกันขึ้นมา  นี่เป็นแง่มุมหนึ่ง
             ส่วนอีกแง่หนึ่งก็คือ  การจัดงานเมาลิดเป้นการเจาะจงกระทำในวันหนึ่ง  เป็นการเฉพาะคือ  ในวันเกิดของท่านศาสดาโดยไม่มีสิ่งใดที่ทำต้องเจาะจงลงไปอย่างนั้น   
และอีกทั้งยังมีฮะดีษห้ามการกระทำในรูปแบบที่ต้องกระทำในวันหนึ่งวันใดโดยเฉพาะ  เช่น  การที่ท่าน  นบี  (ซ.ล.)  ได้ห้ามการเจาะจงกระทำสิ่งที่ไม่มีข้อบัญญัติให้เจาะจงเหมือนเช่นการจัดงานเมาลิดแล้ว 
ก็คงจะไม่ถูกห้ามกระทำเพราะที่ประชาชนเจาะจงเอาวันนี้เป็นวันเฉลิมแลอง  ก็เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเป็นวันที่มีความประสริฐ  ทั้งที่ไม่มีความประเสริฐใดๆ เลย  ดังนั้นการจัดเมาลิดอย่างน้อยที่สุดในทัศนะของศาสนา 
ต้องถือว่าเป็นมักโรห์  เป็นการจำเป็นที่ผู้คนจะต้องปฏิบัติตามกิตาบ  และซุนนะห์ในการพิจารณาวันต่างๆ  ในแง่ของการยกย่องให้เกียรติและเจาะจงวันบางวันในการทำอิบาดะห์  หรือเฉลิมฉลองโดยละเลยบางวัน  
แม้พวกเขาจะไม่รู้ว่ามีผลดีหรือผลเสียในการปฏิบัติเช่นนั้นก็ตาม
             บุคคลที่มีชื่อเสียงที่คัดค้านการจัดงานเมาลิดก็คือ  ท่านตายุดดีน  อุมัร  บุตร  อะลี  อัลลัคมีย์  อัสสะกันดะรีย์  อัลมาลิกีย์  ซึ่งรู้จักกันในนาม  “อัลฟากิฮานีย์”  โดยท่านได้เรียบเรียงหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง
ชื่อ المورد فى الكلام على عمل المولد   โดยคัดค้านการจัดงานเมาลิด  และถือว่าเป็นข้อห้ามทั้งนี้เพราะไม่มีหลักฐานทั้งในกิตาบ  และซุนนะห์  และไม่เคยมีรายงานจากนักการศาสนาคนใดได้กระทำ  
และท่านได้สรุปในตอนท้ายว่า  แม้คนหนึ่งได้จัดงานเมาลิดขึ้นจากทรัพย์ของเขา  เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของเขา  และมิตรสหายของเขาโดยไม่มีอะไร  นอกเหนือไปจากการร่วมชุมนุมรับประทานอาหาร  
และพวกเขาไม่ได้กระทำการใดๆ  ที่เป็นบาปเลย  งานเมาลิดที่เขาจัดขึ้นนั้น  ก็ถือว่าเป็นบิดอะห์ที่มักโรห์น่าเกลียดและสมควรถูกประณาม  เพราะเป็นสิ่งที่อุตริกรรมกระทำขึ้นโดยปราศจากหลักฐานทางศาสนา  
แต่ถ้าหากในการจัดงานนั้นมีการร่วมชุมนุมระหว่างคนแปลกหน้า  และมีการสละทรัพย์  ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ  และมีสิ่งที่ชั่วร้ายปะปนอยู่ด้วย  เช่น ดนตรี  และมีการปะปนระหว่างชายหญิงหรือเสมือนเช่นนี้  
ก็เป็นการกระทำที่ฮะรอมอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
             ท่านฟากิฮานี  ไม่เพียงแต่ปฏิเสธงานเมาลิด  และกว่าว่า  มักโรห์หรือฮะรอมเท่านั้น  แต่ท่านยังพิจารณาถึงอีกแง่มุมหนึ่ง  ที่ท่านเห็นควรว่าต้องนำมาเอาใจใส่และพิจารณา  นั่นก็คือการจัดงานเมาลิดในเดือนรอบีอุ้ลเอาวั้ล  
เพื่อระลึกถึงันเกิดของท่าน นบี  (ซ.ล.)  อันเป็นสิ่งที่นำความปลาบปลื้ม  ปิติยินดีมาสู่มนุษย์ชาติ  แต่ในทางตรงข้ามมันก็เป็นเดือนที่ท่านนบี (ซ.ล.)  เสียชีวิต  ความปลาบปลื้มยินดีในเดือนนี้  มิได้มากไปกว่าความโศกเศร้าเสียใจเลย
             สิ่งที่ท่านฟากิฮานีย์  กล่าวพร้อมด้วยอ้างอิงหลักฐานต่างๆ นั้น  เป็นทัศนะที่ตรงกับท่าน  อิบนุตัยมียะห์  และท่านซาติบีย์  และผู้รู้ท่านอื่นๆ  ที่มีทัศนะเช่นเดียวกับบุคคลทั้งสองจากกลุ่มที่มีทัศนะว่า  
สิ่งที่ท่านร่อซูลุ้ลเลาะห์  (ซ.ล.)  ได้ละเลยไม่กระทำทั้งที่มีเหตุอันสมควรให้กระทำนั้น  ไม่อนุญาตให้อุตริทำขึ้นมาและการทำอุตริทำขึ้นมานั้นถือว่าเป็นบิดอะห์  และการจัดงานเมาลิดในทัศนะของพวกเขา  ก็ถือว่าเข้าอยู่ในข่ายนี้
             และในทางตรงกันข้าม  ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งที่มีทัศนะว่าอนุญาตให้จัดงานเมาลิด  และยิ่งกว่านั้นเป็นงานที่สมควรจัดขึ้น  และถือเป็นสิ่งดีงาน  ผู้ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายนี้  ก็คือท่านสุยูตี  โดยท่านมีทัศนะว่าการที่ท่าน  
ฟากิฮานีย์ตัดสินว่าการจัดงานเมาลิดมักโรห์นั้น  ความจริงหาได้เป็นอย่างที่ท่านฟากิฮานีย์กว่าวไม่  แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงานที่ควรกระทำ  ซึ่งไม่เคยปรากฎในสมัยแรกๆ เพราะการเลี้ยงอาหาร  โดยมิได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาปนั้น  
ถือว่าเป็นบิดอะห์ที่ได้ผลบุญ  (บิดดอะห์  มันดูบะห์)  ตามที่ท่านอัลอิซ  อิบนุ  อับดุสสลาม  ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในหนังสือของท่านชื่อ   قواعد    ส่วนที่ท่านฟากิฮานีย์  ล่าวว่าฮะรอมนั้น  
แท้จริงแล้วการฮะรอมมิได้เกิดขึ้นที่ตัวของงานที่จัดขึ้น  แต่มันเกิดขึ้นเพราะมีสิ่งอื่นบวกเข้าไป  ถ้าหากสิ่งที่บวกเข้าไปเหล่านี้  (คนตรี  การปะปนระหว่างชายหญิง)  เกิดขึ้นในการรวมตัวกันเพื่อทำละหมาด  
ไม่จำเป็นต้องถูกตำหนิและประณามแต่อย่างใด
             ในที่นี้ท่านสุยูตีย์  ได้มองข้ามจุดสำคัญจุดหนึ่งไปนั่นก็คือการคัดค้านไม่ได้อยู่ที่การเลี้ยงอาหาร  โดยไม่มีสิ่งที่เป็นบาปเข้ามาเกี่ยวข้อง  หรือไม่ได้อยู่กับสิ่งที่บวกเข้ามาในงานเมาลิด  แต่การคัดค้านการจัดงานเมาลิดนั้น  
เน้นอยู่ที่การเจาะจงเอาวันเกิดของท่านนบี (ซ.ล.)  โดยเฉพาะเป็นวันจัดงานอันเป็นการเจาะจงที่ไม่มีหลักฐานใดๆ  ให้มุ่งเจาะจงกระทำเช่นนั้น
             อ่านอิบนุฮะยัร  ได้ให้ทัศนะว่าการจัดงานเมาลิดนั้นเป็นบิดอะห์  ที่มีทั้งสี่งที่ดีและไม่ดีปะปนกัน  ผู้ใดพยายามรักษาแต่สิ่งที่ดี  พยายามออกห่างไกลจากสิ่งที่ไม่ดี  ก็ถือได้ว่าเป็นบิดอะห์ที่ดี  (บิดอะห์ อะซะนะห์)  
แต่ถ้าไม่พยายามกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่ดีๆ  คือทำคละกันไปทั้งดีและชั่ว  มันก็เป็นบิดอะห์ที่ไม่ดี  ท่านอิบนุฮะยัรได้อ้างฮะดีษบทหนึ่งเป็นหลักฐานว่า อนุญาตให้เจาะจงเอาวันที่เหมือนวันนี้  เป็นวันทำอิบาดะห์เป็นการเฉพาะได้  
เพื่อขอบคุณอัลลอฮ์ตะอาลาที่ช่วยให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ  และอนุญาตให้ยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี  โดยท่านได้อ้างฮะดีษที่ซอเฮียฮ์  รายงานจากท่านนบี (ซ.ล.)  ว่า  ในขณะที่ท่านเดินทางสู่นครมะดีนะห์  
ท่านได้พบชาวยิวทำการถือศีลอดในวันอาซูรอ  ท่านถามว่าวันนี้เป็นวันอะไร  จึงได้ทำการถือศีลอดกัน?  พวกเขาตอบว่า  วันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่  เพราะเป็นวันที่อัลลอฮ์ตาอาลา  ได้ช่วยให้ท่านนบีมูซาพ้นจากเงื้อมือของฟิรเอาน์  
และพรรคพวกของเขา  และเป็นวันที่พระองค์ได้ให้ฟิรเอาน์และพรรคพวกของเขาจมน้ำตาย  ท่านนบีมูซาได้ถือศีลอดในวันนี้  เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระองค์  ดังนั้นพวกเราจึงได้ทำการถือศีลอดในวันนี้  ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์  (ซ.ล.)
ได้กล่าวว่า  พวกเรามีสิทธิ์และสมควรปฏิบัติตามมูซายิ่งกว่าพวกท่าน  ดังนั้นท่านจึงถือศีลอดในวันอาซูรอ  และได้ใช้ให้เหล่าอัครสาวกทำการถือศีลอดในวันอาซูรอ
               ผู้ให้ความสนใจกับหลักฐานที่ท่านอิบนุฮะยัรยกขึ้นมาอ้างอิงว่า  อนุญาตให้จัดงานเมาลิดได้นั้น  หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ไม่ห้ามการจัดงานเมาลิดนั้น  โดยไม่ได้พิจารณารูปภายนอกของงาน  
ว่าจะมีสิ่งประกอบที่ตรงกับบัญญัติศาสนา  หรือข้อปฏิบัติศาสนา  หรือมีสิ่งที่เป็นมักโรห์อยู่ในงานหรือไม่  ก็จะพบว่าการอ้างอิงหลักฐานนี้ได้อาศัยหลักการ  “กิยาส”  
โดยยังเข้าไปไม่ถึงตัวบทที่เป็นหลักฐานจากซุนนะห์ที่ชี้ชัดถึงการเจาะจงจัดงานเฉลิมฉลองในวันเกิดของท่านนบี  (ซ.ล.)  หรือเจาะจงว่ามีการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง  ที่เป็นการขอบคุณอัลลอฮ์ที่ได้ประทานเนียะมัตให้
               แต่ท่านอิบนุ้ลฮาจ  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “อัลมัดคอล”  ว่าท่านได้พบหนักฐานอย่างชัดเจน  ในเรื่องการเจาะจงเอาวันเกิดของท่านนบี (ซ.ล.)  เป็นวันที่แสดงออกถึงคยวามยินดี  คือการให้เหตุผลของท่านนบี (ซ.ล.)  
ที่ใช้ให้ทำการถือศีลอดในวันจันทร์  โดยกล่าวว่า  “เพราะมันเป็นวันที่ฉันเกิด  เป็นวันที่ฉันได้รับการแต่งตั้ง  และเป็นวันทีได้รับวะฮีย์”
               หลักฐานชิ้นนี้  เป็นการโต้ตอบที่เพียงพอแล้วต่อคำกล่าวที่ว่าการจัดงานเมาลิดนั้นเป็นการเจาะจงกระทำในสิ่งที่ไม่มีตัวบทให้เจาะจงกระทำ  เพราะการเจาะจงนี้มีตัวบทหลักฐานจากซุนนะห์
               อนึ่งเกี่ยวกับคำอ้างที่ว่า  การจัดงานเมาลิดเป็นสิ่งใหม่ที่อุตริทำขึ้น  โดยท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.ล.)  และบุคคลในยุคหลังจากท่านก็ไม่ได้จัดกันขึ้นมานั้น  ตามคยวามเห็นของ  อิบนุ้ลฮาจนั้นเห็นว่าเป็นเพราะท่านนบี (ซ.ล.)  
มีความเมตตาต่อประชากรของท่านจึงไม่ได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นฟัรดูที่ประชากรของท่านจะต้องกระทำ   สิ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือการที่ท่านนบี (ซ.ล.)  ได้กำหนดเขตหวงห้ามขึ้นที่นครมะดีนะห์  
แล้วก็กล่าวว่า
               “ข้าแต่อัลลอฮ์  ความจริงอิบรอฮีมได้กำหนดเขตหวงห้ามขึ้นที่นครมักกะห์  และข้าพเจ้าก็ได้กำหนดเขตหวงห้ามขึ้นที่มะดีนะห์  ด้วยเหตุเดียวกับที่อิบรอฮีมได้กำหนดเขตหวงห้ามที่มักกะห์  
และสิ่งใดที่อิบรออีมหวงห้ามที่มักกะห์ก็เป็นสิ่งที่หวงห้ามด้วยเช่นเดียวกันที่มะดีนะห์
               ทั้งๆ  ที่ท่านได้กำหนดเขตหวงห้ามขึ้นที่มะดีนะห์  แต่ท่านไม่ได้ออกบัญญัติในเรื่องการล่าสัตว์  หรือตัดต้นไม้ในเขตหวงห้ามที่มะดีนะห์  ว่าต้องเสียค่าปรับแต่อย่างใด  
ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่อนปรนแก่ประชากรของท่านและเพื่อเป็นการแสดงความปราณีแก่พวกเขา  นี่เหป็นแง่หนึ่ง
               ส่วนอีกแง่หนึ่งเราเห็นว่าการที่ซอฮาบะห์ไม่ได้จัดงานฉลองวันเกิดของท่านนบี (ซ.ล.) ขึ้น  ก็เพราะเหล่าซอฮาบะห์มัวยุ่งอยู่กับงานที่มีความสำคัญกว่า  เช่น  การทำสงครามและจัดการปกครองรัฐอิสลาม  
ทั้งทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจและการทหาร  หรือพวกเขาอาจเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบี (ซ.ล.)  เป็นการส่วนตัว  หรือจัดกันสขึ้นภายในครอบครัวเป็นการเฉพาะ  
ซึ่งยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสังคมเพราะเป็นวันที่ไม่มีสัญลักษณ์เจาะจงเหมือนเช่นในวันอีกก็เป็นได้
               ส่วนคำอ้างที่ว่า  ความเสียใจในวันนี้  ควรเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกมายิ่งกว่าความยินดีนั้น  ก็สามารถที่จะโต้ตอบได้ตามคำที่ท่านสุยูตีย์ได้กล่าวไว้ว่า  ก็สามารถสนับสนุนไห้แสดงออกถึงการขอบคุณ  
ในความโปรดปรานที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าให้มีความอดทนและขันติให้อดกลั้น  และซ่อนเร้นปกปิด  ในขณะที่ประสบกับภัยพิบัติและความโศกเศร้าเสียใจ  ดังจะเห็นได้จากการที่ศาสนากำหนดให้มีการทำอะกีเกาะห์  
และแจกเป็นทาน  เพื่อแสดงออกถึงความขอบคุณ  และดีใจเมื่อได้บุตร  และห้ามมิให้มีการรำพึงรำพัน  และแสดงอาการตื่นตระหนกในยามที่เกิดล้มตาย  และไม่ให้มีการเชือดสัตว์หรือทำอย่างอื่นๆ  นั่นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดี  
และควรกระทำอย่างยิ่งในเดือนนี้ก็คือ  แสดงออกถึงความปลื้มปิติยินดีในการเกิดของท่านนบี (ซ.ล.)  โดยมิได้แสดงอาการโศกหเศร้าเสียใจในการที่ท่านได้อำลาจากโลกนี้ไป  ท่านอิบนุรอยับได้กล่าวว่า  
”อัลลอฮ์และรอซู้ลมิได้ใช้ให้ยึดถือเอาวันที่บรรดานบีประสบภัยภิบัติ  และวันตายของพวกเขาเป็นอนุสรณ์  แล้วจะเป็นอย่างไรกับบุคคลที่ไม่ถึงขั้นนบี”
               เราอาจกล่าวเสริมคำพูดของท่านสุยูตีย์ได้อีกว่าแท้จริงท่านนบี (ซ.ล.)  ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า  ความตายของท่านเป็นเนียะมัต  มิได้เป็นภัยภิบัติแต่อย่างใด  โดยท่านกล่าวว่า  
"แท้จริงเมื่ออัลลอฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่และเรียงไกร  เมื่อประสงค์จะประทานความเมตตาแก่ประชาชาติใด  จากบรรดาบ่าวของพระองค์  พระองค์จะเก็บชีวิตนบีของประชากรนั้น  ไปเปป็นมิ่งขวัญรอคอยพวกเขาอยู่ข้างหน้า  
และเมื่อพระองค์ประสงค์ให้เกิดความพินาศแก่ประชากรใด  พระองค์จะลงโทษประชากรนั้น  ในขณะที่นบีของพวกเขายังมีชีวิตอยู่  พระองค์จะให้เกิดความพินาศแก่พวกเขา  โดยมีนบีของพวกเขามองดูอยู่  
และพระองค์จะให้นบีของพวกเขาได้รับความเสียใจในความพินาศของพวกเขา  ได้กล่าวหานบีว่าโกหกและฝ่าฝืนคำสังของนบี
               สิ่งที่เหลืออยู่ที่จะต้องพิจารณาก็คือ  การที่ท่านนบี (ซ.ล.)  ถูกเจาะจงให้ถือกำเนิดขึ้นมาในเดือนรอบีอุ้ลเอาวั้ล  โดยไม่ได้ถือกำเนิดในเดือนอื่นที่มีความประเสริฐ  เช่นเดือนรอมาดอน  หรือในเดือนศักดิ์สิทธิ์เช่น
เดือนมุฮัรรอม  เดือนรอยับและเดือนอื่นๆ  ในรอบปี  มีเคล็ดลับอย่างไรในการเจาะจงนี้  สำหรับท่านอินุ้ลฮาน  มีทัศนะที่ดีคือรอเบียะเป็นฤดูใบไม้ผลิ  เป็นฤดูฝนแรก  เป็นที่มาของความชุ่มฉ่ำ  สดชื่น  
เป็นสิ่งแสดงออกของความปิติยินดี  ตรงตามตัวอักษรและความหมายจึงเหมาะสมที่จะเป็นเดือนเกิดของท่านนบี (ซ.ล.)  ประกอบกับหลักคำสอนของท่านเป็นคำสอนที่เที่ยงธรรมยุติธรรมและสอดคล้อมกับธรรมชาติ
ของมนุษย์ที่ชื่นชอบฤดูฝน  และอีกประการหนึ่งท่านนบี  (ซ.ล.)  ไม่ได้มีเกียรติด้วยเวลาหรือสถานที่  แต่เวลาหรือสถานที่ต่างหากที่ได้รับเกียรติเพราะท่าน  เพราะตำแหน่งและความประเสริฐของท่าน  
ปวงปราชญ์มีความเห็นพ้องกันว่า  สถานที่ที่ประเสริฐที่สุดในโลกก็คือสถานที่ที่ใช้ฝังศพของท่านนบี  แล้วด้วยเหตุใดเล่าเดือนที่ท่านนบีเกิด  จะไม่เป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุด  
และวันที่ท่านเกิดจะไม่ได้รับเกียรติว่าเป็นวันที่มีเกียรติที่สุด
               เคล็ดลับต่างๆ  เหล่านี้  ที่ท่านอินุ้ลฮาจได้นำมากล่าวไว้  เป็นสิ่งที่สนับสนุนความเห็นของเราที่ว่าอนุญาตให้จัดงานเมาลิดได้ และเราขอสรุปข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  อนุญาตให้จัดงานเมาลิดได้ในแบบส่วนตัว  หรือในแบบครอบครัวและที่ควรจัดงานเมาลิดก็เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
               1. มีตัวบทที่ให้เจาะจงวันจันทร์เป็นวันถือศีลอด  เพราะเป็นวันที่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.ล.)  เกิด
               2. ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์  (ซ.ล.)  ส่งเสริมให้ถือศีลอดในวันอาซูรอ  เพื่อแสดงความขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้นบีมูซา (อ.ล.)  และสาวกพ้นภัยภิบัติ   นั่นย่อมแสดงว่ามีการส่งเสริมให้ถือศีลอดในวันเกิดของท่าน
และเฉลิมฉลองด้วยการทำอิบาอะห์และตออะห์
               3. ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์  (ซ.ล.)  จะเพิ่มการเอาใจใส่เป็ฯพิเศษในบางเวลาที่มีความสำคัญและประเสริฐ  เช่น  ใจบุญพิเศษในเดือนรอมาฎอน  และมุมานะในการทำอิบาดะห์มากขึ้นในเดือนรอมาฎอนยิ่งกว่าเดือนอื่นๆ  
และวันที่ประเสริฐที่สุดก็คือ วันที่ท่านนบี  (ซ.ล.)  เกิด
                ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรชี้นำได้ว่า  การจัดงานเมาลิดตามที่เราวิเคราะห์นั้น  ไม่เข้าอยู่ในคำนิยามของคำว่าบิดอะห์  เพราะการจัดงานเมาลิดตามที่เราวิเคราะห์  ไม่จำเป็นต้องอ้างว่ามีบัญญัติศาสนา  
หรือศาสนาส่งเสริมให้มีการเจาะจงหรือพาดพิงสิ่งที่ไม่มีในศาสนาไปถึงแต่อย่างใด
               เมื่อเป็นเช่นนี้  กาจัดงานเมาลิดจึงไม่เข้าอยู่ในคำนิยามของคำว่า บิดอะห์  ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด  เพราะมีหลักฐานจากซุนนะห์  และหลักฐานอีกมากมายที่สนับสนุนการจัดงานเมาลิด
               ส่วนเนื้อหาของงานเมาลิด  มีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการเฉพาะสิ่งที่สแดงออกถึงการขอบคุณอัลลอฮ์ตาอาลาเท่านั้น  เช่น  การอ่านอัลกุรอาน  การเลี้ยงอาหาร  การบริจาคท่า  และการขับลำนำที่เป็นการสรรเสริญ
ท่านนบี (ซ.ล.)  และลำนำปลุกใจให้ทำความดี  และทำกิจกรรมเพื่ออาคีเราห์  ทั้งหมดนี้จะต้องไม่ทำให้สิ่งที่เป็นฟัรดู  ขาดตกบกพร่องไป  หรือเป็นการทำลายการตออัตต่ออัลลอฮ์  หรือทไให้เสียสุขภาพ  เช่น  อดหลับอดนอน  
เพราะจุดประสงค์ของการจัดงานเมาลิดนั้นก็คือเพื่อขอบตุณอัลลอฮ์ในทุกวิถีทาง
               ส่วนการปิดอวัยวะที่ถึงต้องปกปิดให้มิดชิด  การปะปนระหว่างชายหญิง  การละเล่นที่ต้องห้ามต่างๆ  จำเป็นต้องขจัดออกไปให้พ้นจากการรำลึกถึงวันเกิดของท่าน  นบี  (ซ.ล.)  โดยหมดสิ้น

ภูมิหลังประวัติผู้ริเริ่มทำเมาลิดนบี(ซ.ล.)


ผู้ริเริ่มทำเมาลิดโดยฉลองแสดงความยินดีกับวันประสูตของท่านนบีมุหัมมัด(ซ.ล.) คือตัวของท่านนบีมุหัมมัด ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เอง ท่านอิมามมุสลิมได้รายงานจากท่านอบีเกาะตาดะฮ์ว่า 
سئل رسول الله صلى الله عليه وسلم عن صوم يوم الإثنين فقال : ذلك يوم ولدت فيه وأنزل على 
"ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.)ถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันจันทร์ ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.)กล่าวตอบว่า "ดังกล่าวนั้น (เพราะเป็น ) วันที่ฉันเกิด และ(อัลกุรอาน)ถูกประทานลงมาแก่ฉัน" รายงายโดยท่าน มุสลิม 
หะดิษดังกล่าวนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการอนุญาตให้มีการฉลอง มีความปิติยินดี ชุโกรเนี๊ยะมัต ในวันเกิดของท่านนบี(ซ.ล.) เพราะเหตุผลในการทำความดี ด้วยการถือศีลอดในวันจันทร์นั้น ท่านนบี(ซ.ล.)ได้กล่าวเหตุผลไว้ว่า "เพราะมันเป็นวันเกิด(เมาลิด)ของฉัน" ดังนั้น จึงถือว่าไร้ความหมายกับผู้ที่กล่าวว่า ชีอะฮ์อัลอิสมาอีลียะฮ์จากพวกฟาฏิมีย์เป็นบุคคลแรกที่ฉลองความปิติยินดี ชุโกรเนี๊ยะมัน ในวันเกิดของท่านนบี(ซ.ล.) เพราะการเชื่อว่าพวกชีอะฮ์อัลอิสมาอีลียะฮ์เป็นบุคคลแรกที่แสดงความยินดี ชุโกรเนี๊ยะมัตในวันเกิดของท่านนบี(ซ.ล.)นั้น ถือว่าเป็นการเฉไฉ และทำไม่รู้ไม่ชี้เกี่ยวกับสัจจะธรรม 
หากถูกตั้งคำถามแก่เราว่า ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ทำการถือศีลอด ก็เพราะว่าเป็นวันเกิดของท่าน แต่พวกเราทำการฉลองเมาลิดเพื่อรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.)ด้วยการรวมตัวกัน และมาทำการอ่านประวัติ อ่านอัลกุรอานบางส่วน ซอลาวาต ทำการให้อาหารและเลี้ยงอาหาร โดยที่ท่านนบี(ซ.ล.) ไม่เคยกระทำรูปแบบนี้มาก่อน ซึ่งมันเป็นบิดอะฮ์หรือไม่? 
เราขอตอบว่า กรณีดังกล่าวนี้ มันอยู่ในเรื่องของ "วิธีการในการเฉลิมฉลองเมาลิดของท่านนบี(ซ.ล.) " หรือแล้วแต่สภาพการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีการในการรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.) นั้น เป็นเรื่องวิธีการที่อยู่ในรูปแบบกว้างๆ (มุฏลัก) ที่เป็นประเด็นในเชิงวินิจฉัย (อิจญฺฮาด) ของบรรดานักปราชญ์ ดังนั้น รูปแบบในการทำเมาลิดรำลึกท่านนบี(ซ.ล.) ก็ยังคงถูกเปิดให้แก่ประชาชาติอิสลาม ในการวินิจฉัย พิจารณาตามสภาพที่สะดวกของพวกเขา โดยไม่ขัดกับหลักการของศาสนา เพราะฉะนั้น การมีความปีติยินดีเกี่ยวกับวันเกิด(เมาลิด)ของท่านนบี(ซ.ล.) นั้น มีรากฐานจากหลักการของศาสนา แต่วิธีการต่างๆ เหล่านั้น อิสลามได้เปิดกว้างโดยมอบให้อยู่ในเรื่องของการวินิจฉัย 
ส่วนหลักการวินิจฉัยนั้น มีประเด็นมากมาย ที่หลักการพื้นฐานของมันได้ระบุเอาไว้ตามหลักของศาสนา แต่วิธีการนั้น ถูกมอบให้กับประชาชาติอิสลามทำการวินิจฉัยได้ อย่างเช่น เรื่องของอัลกุรอาน ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้านในเรื่องของความดีงามและความประเสริฐของการท่องจำ การเรียน การสอนและเผยแพร่อัลกุรอาน 
แต่วิธีการสอน การท่องจำ การเรียน และการเผยแพร่อัลกุรอานนั้น มันมีรูปแบบและวิธีการต่างกันหรือไม่? และอย่างไร? 
คำตอบก็คือ ให้ผู้อ่านพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านจะเห็นและทราบว่า วิธีการสอน การเรียน และการเผยแพร่อัลกุรอานนั้น มีอยู่ในทั้งรูปแบบของ โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย มีคณะอัลกุรอาน มีสมาคมสอนอัลกุรอาน มีการแข่งขันอ่านอัลกุรอาน ท่องจำอัลกุรอาน มีการมอบรางวัลให้กับผู้ท่องจำอัลกุรอาน มีประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จในหลักสูตรวิชาอัลกุรอาน และมีการสัมมนาเกี่ยวกับการเรียนการสอนและความสำคัญของอัลกุรอาน มีการบันทึกอัลกุรอานในรูปแบบ เทป หรือ ซีดี มีการเผยแพร่อัลกุรอาน ที่อยู่ในรูปแบบของโรงพิมพ์ มีการตีพิมพ์อัลกุรอานที่มีสีสันเน้นคำตัจญวีด มีการทำเล่มที่มีหลากหลายรูปแบบ และบางทีการเผยแพร่อัลกุรอานที่อยู่ในรูปแบบของสมาคมนักกอรีย์ เป็นต้น ดังนั้น รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ มีอยู่ในสมัยของท่านนบี(ซ.ล.)หรือไม่?? ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาครับ 
แต่รูปแบบการเฉลิมฉลองเมาลิดรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.) อย่างเป็นทางการเช่นปัจจุบันนี้นั้น ผู้คัดค้าน มักจะอ้างว่า ชีอะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ กษัตริย์ราชวงค์ฟาฏิมีย์ เป็นคนแรกที่กระทำเมาลิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 4 !! แล้วก็โพทนาว่า การทำเมาลิด เป็นการเลียนแบบพวกชีอะฮ์ เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของชีอะฮ์ โดยฉวยโอกาสใช้อ้างเป็นหลักฐานให้พี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์รังเกียจในเรื่องการทำเมาลิดรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.) 
บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์
เป็นที่ทราบกันดีว่าราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ในอียิปต์ ในช่วงปี 362 ฮ.ศ. - 567 ฮ.ศ. ซึ่งในขณะนั้น ราชวงศ์ อัสสัลฆูญีย์ อัตตุรกีย์ ได้มีอำนาจเข้าครอบครองอิรัก ในช่วงปี 447 ฮ.ศ. - 656 ฮ.ศ. ซึ่งเขาอยู่ในแนวทางของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ (ดู หนังสือ อัตตารีค อับบาซีย์ วะ อัลฟาฏิมีย์ หน้า 38 ของท่าน ดร. อะหฺมัด อัลอับบาดีย์)
ในขณะที่ราชวงศ์อัสสัลฆูญีย์เรืองอำนาจ ได้ทำการขยายอำนาจโดยการตั้งบรรดาเจ้าเมือง ซึ่งพวกเขาถูกเรียกนาม อัลอะบาติกะฮ์ แล้วทำการมอบดินแดนให้พวกเขาครอบครอง เมื่อราชวงศ์อัสสัลฆูญีย์มีอำนาจอ่อนแอลง บรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นก็ทำการปกครองดินแดนของตนเอง ส่วนหนึ่งจากเจ้าเมืองที่มีความโดดเด่นในช่วงสมัยนั้น คือ อิมาดุดดีน ซังกีย์ เจ้าเมืองอัลอะบาติกะฮ์ผู้วางรากฐานการปกครอง เมืองเมาซิล(โมซุล) ซีเรีย เมื่อต่างๆ ของร่อบิอะฮ์และมะฏ๊อร และจากสายของ อิมาดุดดีน ซังกีย์นี้ ก็มีท่าน นูรุดีน มะหฺมูด ซังกีย์ ผู้สืบทอดการปกครอง และในกองทัพของท่านนูรุดีน ซังกีย์นั้น ก็มีท่านซ่อลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ เหล่าราชวงศ์อัสสัลฆูญีย์ ได้ก่อตั้งระบบสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาวิทยาการของซุนนะฮ์เพื่อทำการต่อต้านมัซฮับชีอะฮ์อิสมาอีลียะฮ์ ซึ่งท่านนูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ ได้ดำเนินนโยบายนี้ อยู่ที่เมืองชาม(อิรักและซีเรีย) และท่านศ่อลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ ได้มีเป้าหมายที่อียิปต์ เพื่อพิชิตการเผยแพร่ของฟาฏิมียะฮ์ ฮ์ (สรุปจาก หนังสือ อัตตารีค อับบาซีย์ วะ อัลฟาฏิมีย์ หน้า 197 ของท่าน ดร. อะหฺมัด อัลอับบาดีย์)
ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า ราชวงศ์ฟาฏิมีย์เป็นผู้ริเริ่มในการทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) เป็นครั้งแรกนั้น จึงเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ ไม่มีความถูกต้องอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด ผู้อ้างตนเป็นซุนนะฮ์บางกลุ่มพยายามเชื่อและยึดมั่นว่าราชวงศ์ฟาฏิมีย์เป็นบุคคลแรกในการทำเมาลิดนบี(ซ.ล.)นั้น ไม่ใช่อื่นใด นอกจากเพื่อจะนำมาใช้ตำหนิ หุกุ่มพี่น้องมุสลิม ว่าทำบิดอะฮ์ ตกนรก เท่านั้นเอง 
ท่าน อัลหาฟิซฺ อัศสะคอวีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า
لم يفعله أحد من السلف في القرون الثلاثة، وإنما حدث بعد، ثم لا زال أهل الإسلام من سائر الأقطار والمدن الكبار يعملون المولد، ويتصدقون في لياليه بأنواع الصدقات، ويعتنون بقراءة مولده الكريم، ويظهر عليهم من بركاته كل فضل عميم
"(การกระทำเมาลิดในรูปแบบอย่างเป็นทางการนั้น) ไม่มีสะลัฟจากศตวรรษทั้งสามได้กระทำ แต่มันได้เกิดหลังจากนั้น หลังจากนั้นบรรดาผู้นับถือศาสนาอิสลาม จากแคว้นต่างๆ หรือเมืองใหญ่ๆ ต่างๆ ก็ยังคงกระทำเมาลิด โดยที่พวกเขาได้ทำการบริจาคทานในบรรดาค่ำคืนของเมาลิด ด้วยการบริจาคหลากหลายประเภท และพวกเขาได้เอาใจใส่กับการอ่านเล่าประวัติการเกิดอันมีเกียตริของท่านบี(ซ.ล.) และบรรดาความศิริมงคลของการเกิดของท่านนบี(ซ.ล.)ได้ประสบแก่พวกเขาในทุกๆ ความประเสริฐที่ครอบคลุมทั่วกัน"
ท่านอิมามอบูชามะฮ์ (ร่อหิมะฮุลลอฮ์) (เสียชีวิต ปี 566 ฮ.ศ.) นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ กล่าวไว้ว่า 
وكان أول من فعل ذلك بالموصل الشيخ عمر بن محمد الملا أحد الصالحين المشهورين وبه اقتدى في ذلك صاحب أربل وغيره رحمهم الله تعالى 
"บุคคลแรกที่กระทำสิ่งดังกล่าว(เมาลิด) ที่เมือง เมาซิล นั้น คือ ชัยค์ อุมัร บิน มุหัมมัด อัลมุลลา หนึ่งในบรรดาผู้มีคุณธรรมที่เลื่องลือ และด้วยการกระทำของเขานั้น ก็ได้ดำเนินตามสิ่งดังกล่าว โดยเจ้าเมืองอิรบิล และคนอื่นๆ (ร่อหิมะฮุมุลเลาะฮ์)" ดู หนังสือ อัลบาอิษ อะลา อิงการ อัลบิดะอฺ เล่ม 1 หน้า 24 
วิจารณ์
ท่านอิมาม อบู ชามะฮ์ ไม่ได้กล่าวเอาไว้เลยว่า การกำเหนิดเมาลิดได้ริเริ่มขึ้นมาโดยราชวงศ์อัลฟาฏิมียะฮ์ ที่อียิปต์ และท่านอบูชามะฮ์ ก็อยู่ร่วมในสมัยเดียวกับราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ที่ท่านศ่อลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ ผู้มีอะกีดะฮ์อัลอะชาอิเราะฮ์ ทำการพิชิตได้หลังจากท่านอบูชามะฮ์เสียชีวิตได้ปีเดียวเท่านั้น 
กษัตริย์จอมทัพ นูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ 
กษัติย์ นูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ นั้น เป็นบุคคลที่สามารถพิชิตสงครามครูเสดได้หลายสมรภูมิด้วยกัน ในกองทัพของเขา มีท่าน ซอลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ร่วมอยู่ด้วย และท่านก็ได้ส่งท่านซอลาหุดดีนไปประจำการที่อียิปต์หลังจากนั้น มีนักหะดิษท่านหนึ่งได้ทำการรายงานหะดิษแบบ มุซัลซัล (หะดิษมีการรายงานในรูปแบบที่สืบเนื่อง) โดยมีการยิ้ม เขาก็ได้ขอให้ท่าน นูรุดดีน ซังกีย์ทำการยิ้มด้วยเพื่อที่จะได้รายงานในรูปแบบที่สืบเนื่องกันมา แต่ท่านนูรุดดีนงดจากการกระทำสิ่งดังกล่าว และกล่าวว่า "ฉันละอายต่ออัลเลาะฮ์ ที่พระองค์ทรงเห็นฉันยิ้ม โดยที่บรรดามุสลิมีนถูกปิดล้อมโดยพวกฟรังก์(ฝรังเศส) ที่ดุมยาฏ(จังหวัดหนึ่งของอียิปต์)" 
ท่าน อัลมะเฏาะรีย์ ได้กล่าวประวัติของท่านนูรุดดีน ซังกีย์ ไว้ใหนหนังสือ ตีรีค อัลมะดีนะฮ์ ว่า "กษัตริย์ นูรุดดีน มุหฺมูด ซังกีย์ นั้น ได้ฝันเห็นท่านนบี(ซ.ล.)ในคืนหนึ่ง ถึงสามครั้งด้วยกัน โดยทุกๆ ครั้งท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวแก่เขาว่า "โอ้ มะหฺมูด ท่านจงกอบกู้ฉัน จากบุคคลสองคนนี้ด้วย" คือชายสองคนนี้มีผิวอมแดง ดังนั้น ท่านนูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ ได้เรียกรัฐมนตรีมาพบก่อนเวลาซุบหฺ แล้วก็บอกเรื่องความฝันกับเขา รัฐมนตรีท่านนั้นได้กล่าวแก่ ท่าน นูรุดดีน มะหูมูด ซังกีย์ ว่า เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นที่เมืองมะดีนะฮ์ของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งไม่มีผู้ใดอีกแล้ว(ที่จะช่วยเหลือ)นอกจากท่าน ดังนั้น ท่านนูรุดดีน ซังกีย์ จึงเตรียมการเดินทางเร็ว ด้วยอูฐ 1000 ตัว และติดตามด้วยม้าและอื่นๆ จนกระทั้งถึงเมืองมะดีนะฮ์โดยไม่มีผู้ใดรู้ตัว ดังนั้น ท่านนูรุดดีนจึงขอให้บรรดาผู้คนทั้งหมดร่วมกันบริจาคทาน โดยไม่มีผู้ใดคงเหลืออยู่เลยที่เมืองมะดีนะฮ์ นอกจาก ชายสองคนที่คล้ายกับคนมาจากสเปน(อันดะลูส) ที่อาศัยอยู่ในด้านหนึ่งของห้องท่านนบี(ซ.ล.)ที่อยู่นอกมัสยิด ซึ่งอยู่ ณ ที่พำนักของวงค์วานท่านอุมัรอิบนุค๊อฏฏอบ อันเป็นทราบกันดีไปปัจจุบันว่า ดารฺ อัลอะชะเราะฮ์ (ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุม) ชายสองคนกล่าวว่า เราได้มาถึงที่นี้ เพื่อทำการเคลื่ยนย้ายท่านนบี(ซ.ล.)ออกจากห้องที่มีเกียตรินี้ ท่านนูรุดดีน ซังกีย์ พบว่า ทั้งสองได้การเจาะขุดเป็นอุโมงใต้ดิน จากด้านใต้ของกำแพงมัสยิดด้านหน้า โดยทั้งสองเอาดินไปถมบ่อที่บ้านของเขาทั้งสองอาศัยอยู่ ดังนั้น ท่านนูรุดดีน ซังกีย์ จึงสั่งให้ประหารทั้งสอง" ดู หนังสือ ตีรีค อัลมะดีนะฮ์ ของท่าน อัลมะเฏาะรีย์ เล่ม 3 หน้า 507 – 508 , หนังสือ วะฟาอฺ อัลวะฟาฮ์ บิ อัคบารฺ ดารุลมุสเฏาะฟา ของท่าน อัซซัมฮูดีย์ เล่ม 2 หน้า 430 – 435 , หนังสือ อัตตั๊วะหฺฟะฮ์ อัชชะรีฟะฮ์ ฟี ตารีค อัลมะดีนะอ์อัชชะรีฟะฮ์ ของท่าน อัศศะคอวีย์ เล่ม 1 หน้า 45 
ท่านอิบนุกะษีรได้กล่าวประวัติคุณความดีงามของท่าน นูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ ได้ตอนหนึ่งว่า 
ذلك كله بإشارة الشيخ الصالح العابد عمر الملا ، وقد كان له زاوية يقصد فيها وله فى كل سنة دعوة فى شهر المولد يحضر فيه عنده الملوك والأمراء والعلماء والوزراء ويحتقل بذلك 
"ดังกล่าวทั้งหมดนั้น ด้วยการแนะนำของ ชัยค์ที่มีคุณธรรม ผู้เคร่งครัดในอิบาดะฮ์ คือ ท่านอุมัร อัลมุลลา โดยที่เขาจะมีมุมหนึ่งที่เขาจะมุ่งไป(ทำอิบาดะฮ์) และสำหรับ ท่านนูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ นั้น จะมีการเชื้อเชิญแขกมาในเดือนที่ท่านนบีประสูตทุกๆ ปี โดยมีบรรดากษัตริย์ บรรดาเจ้าชาย บรรดานักปราชญ์ และบรรดารัฐมนตรี ได้มา(ตามการเชื้อเชิญ)มาในเดือนเมาลิด(ทานนบี) แล้วท่านนูรุดดีน มะหฺมูด ซังกีย์ ก็ทำการฉลองเดือนเมาลิดนบีดังกล่าว" ดู หนังสือ อัลบิดายะฮ์ วันนะนิฮายะฮ์ เล่ม 12 หน้า 263 
เราสังเกตุได้ว่า ท่าน นูรุดดีน มุหฺมูด ซังกีย์ นั้น เป็นกษัตริย์ที่รักบรรดาอุลามาอ์และผู้ที่มีคุณธรรมทั้งหลาย และท่านเองก็ทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) 
ท่านอิบนุกะษีร กล่าวระบุไว้ว่า 
الملك المظفر أبو سعيد كوكبري ، أحد الأجواد والسادات الكبراء والملوك الأمجاد له آثار حسنة وكان يعمل المولد النبوي الشريف في ربيع الأول ويحتفل به احتفالاً هائلاً ؛ وكان مع ذلك شهماً شجاعاً فاتكاً 
عاقلاً عادلاً ، رحمه الله وأحسن مثواه 
" กษัตริย์ อัลมุซ๊อฟฟัร อบูสะอีด กูกูบรีย์ หนึ่งจากบรรดาผู้ใจบุญศุลทาน เป็นหัวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และเป็นกษัตริที่มีเกียรติ ซึ่งเขามีบรรดาผลงานที่ดีงาม เขาได้ทำเมาลิดนบี(ซ.ล.)ที่มีเกียตริ ในเดือนร่อบิอุลเอาวัล โดยเขาได้ทำการฉลองเมาลิดนบี(ซ.ล.) อย่างยิ่งใหญ่ และพร้อมกับสิ่งดังกล่าวนั้น เขาเป็นผู้ที่ชาญฉลาด กล้าหาญ ชาญชัย มีสติปัญญาดี และมีความยุติธรรม ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตาแก่เขา และทรงประทานความดีงามแก่พี่พำนักของเขา" ดู หนังสือประวัติศาสตร์ อัลบิดายะฮ์ วัน นะฮายะฮ์ ของท่านอิบนุกะษีร เล่ม 13 หน้า 136 
ท่านอัลหาฟิซฺ อัซซะฮะบีย์ ได้กล่าวถึง กษัตริย์ อัลมุซ๊อฟฟัร ว่า 
كان متواضعا خيرا سنيا ، يحب الفقهاء والمحدثين وقد جمع له ابن دحية كتاب المولد فأعطاه ألف دينار و
"ท่านอิบนุ เดี๊ยะหฺยะฮ์ได้ทำการประพันธ์เกี่ยวกับหนังสือเกี่ยวกับเมาลิดนบีให้แก่กษัตริย์มุซฺ๊อฟฟะรุดดีน แล้วได้มอบทองหนึ่งพันดีนารได้กับท่านอิบนุเดี๊ยะหฺยะฮ์ และแล้วเขา(กษัตริย์มุซฺ๊อฟฟะรุดดีน)นั้น เป็นผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน เป็นคนดี ยึดซุนนะฮ์ รักบรรดานักปราชญ์ฟิกห์ และนักปราชญ์หะดิษ" ดู ซิยัร อะลาม อันนุบะลาอ์ เล่ม 22 หน้า 336 
ท่านผู้อ่านที่เคารพโปรดพิจารณาครับว่า ท่านอิบนุกะษีร และท่านอัซซะฮะบีย์ ได้กล่าวแก่ กษัตริย์ อัลมุซ๊อฟฟัรว่า เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความยุติธรรม ทั้งที่เขาทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) และบรรดานักหะดิษแห่งโลกอิสลามมากมายที่มีทัศนะในการทำเมาลิดรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.)
หลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ของผู้คัดค้าน

หลักฐานที่ดีที่สุดสำหรับผู้คัดค้านในการแอบอ้างว่า ผู้ริเริ่มทำเมาลิด คือ ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ ชีอะฮ์อิสมาอีลียะฮ์ โดยยึดคำพูดของท่าน อัลมุกรีซีย์ (เสียชีวิตปี 845 ฮ.ศ.) ในหนังสือ อัลมะวาอิซฺ วะ อัลเอี๊ยะติบาร บิ ซิกร อัลคุฏ๊อฏ วะ อัลอาษาร ซึ่งเป็นหนังสือที่รู้จักกันในนาม อัลคุฏ๊อฏ อัลมุกรีซียะฮ์ของเขา ว่า
"ในตลอดทั้งปีนั้น บรรดาคอลิฟะฮ์ ได้มีบรรดาวันอีดและเทศกาลต่างๆ คือ เทศกาลต้นปี , เทศกาลวันแรกของปี , วันอาชูรออ์ , เมาลิดนบี(ซ.ล.) , เมาลิดท่านอาลี(ร.ฏ.) , เมาลิดท่านอัลหะซัน , เมาลิดท่านอัลหุซัยน์ , เมาลิดท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ , เมาลิดคอลิฟะฮ์ปัจจุบัน , คืนแรกของเดือนร่อญับ , คืนนิศฟูร่อญับ , คนแรกของเดือนชะบาน , คืนนิสฟูชะอ์บาน , เทศกาลคืนรอมะฏอน , เทศกาลช่วงแรกของรอมะฏอน , เทศกาลปูโต๊ะเลี้ยงอาหารเดือนรอมะฏอน , คืนสุดท้ายร่อมะฏอน , เทศกาลอีดฟิตร์ , เทศกาลอีดอัฏหา , อีดฆ่อดีร , เทศกาลสวมเสื้อฤดูหนาว , เทศกาลสวมเสื้อฤดูร้อน , เทศกาลพิชิตคราบสมุทรอาหรับ , เทศกาลปีใหม่ของเปอร์เซีย , เทศกาลพิธีฉลองการเสด็จลงมาของเยซู , เทศกาลวันคริสต์มาส , เทศกาลค่อมีสอะดัส , เทศกาลบรรดาวันร่อกูบาต" ดู หนังสือ อัลคุต๊อฏ อัลมุกรีซียะฮ์ เล่ม 1 หน้า 384
ข้อสังเกตุจากคำกล่าวของท่าน อัลมุกรีซีย์ 
1. จากคำพูดของท่าน อัลมุกรีซีย์ ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ราชวงศ์ฟาฏิมีย์ คือบุคคลแรกที่ทำการเฉลิมฉลองเมาลิดท่านนบี(ซ.ล.) และคำกล่าวของท่านอัลมุกรีซีย์นั้น ได้พูดแบบรวมๆ ว่าการเฉลิมฉลองเมาลิดนบี(ซ.ล.)นั้น เป็นส่วนหนึ่งจากเทศกาลต่างๆ ที่บรรดาคอลิฟะฮ์ฟาฏิมีย์ให้การควบคุมดูแล แต่ถ้าหากว่าพวกเขาเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มการทำเมาลิดขึ้นมา แน่นอนว่า ท่านอัลมุกรีซีย์ต้องกล่าวออกมาอย่างชัดเจนและชัดถ้อยชัดคำลงไป อย่างเช่นวันอีดนัสร์ عيد النصر (เทศกาลวันแห่งชัยนะ) ในหัวข้อที่ว่า "ในวันที่ 16 เดือนมุหัรรอม คอลิฟะฮ์ อัลหาฟิซฺ ลิดีนิลลาฮ์ ได้จัดการเกี่ยวกับวันอีดนัสร์ เพราะเป็นวันที่เขาได้ออกมาจากที่ทำการและได้ปฏิบัติสิ่งที่ได้ถูกปฏิบัติกันเหมือนกับวันเทศกาลต่างๆ " ดู หนังสือ อัลคุต๊อฏ อัลมุกรีซียะฮ์ เล่ม 1 หน้า 385
2. หลักฐานจากคำกล่าวของท่านอัลมุกรีซีย์นั้น เป็นเพียงการนำเสนอแบบทั่วไปๆ เกี่ยวกับวันอีดและเทศกาลต่างๆ ที่บรรดาคอลิฟะฮ์ฟาฏิมียะฮ์ให้การดูแล ซึ่งไม่ใช่ระบุว่าพวกเขาเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มทำเมาลิดนบีขึ้นมา และส่วนหนึ่งจากบรรดาวันอีดและเทศกาลต่างๆ ที่ท่านอัลมุริซีย์ได้ระบุไว้ คือบรรดาวันอีดหรือวันเทศกาลของชาวคริสต์ เช่นวันคริสตร์มาส ซึ่งท่านอัลมุกรีซีย์ ได้กล่าวว่า "มันเป็นวันที่ท่านอีซา บุตร พระนางมัรยัม (อะลัยฮัสลาม)ได้ประสูติ ซึ่งชาวคริสต์เอาคืนของวันดังกล่าวเป็นวันเฉลิมฉลองคริสต์มาสและชาวคริสต์อียิปต์ได้ทำการเฉลิมฉลองในวันที่ 29 และวันเทศกาลพิธีฉลองการเสด็จลงมาของเยซู ซึ่งเป็นวันเทศกาลของชาวคริสต์อียิปต์ได้ฉลองกันในวันที่ 21 และวัน ค่อมีส อัลอะดัส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากเทศกาลของชาวคริสต์อียิปต์" ดู หนังสือ อัลคุต๊อฏ อัลมุกรีซียะฮ์ เล่ม 1 หน้า 391
ดังนั้น บรรดาวันอีดและเทศกาลของชาวคริสต์เหล่านี้ เป็นวันที่ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ได้อุตริและริเริ่มทำขึ้นมาหรือไม่?? ซึ่งจะเสมือนกับผู้ที่เอาคำกล่าวของท่านอัลมุกรีซีย์มาอ้างเกี่ยวกับเรื่องเมาลิดนบีด้วยกระนั้นหรือ??
3. หลักฐานจากคำกล่าวของท่านอัลมุกรีซีย์นั้น เป็นการเพียงนำเสนอแบบทั่วไปๆ สำหรับวันอีดและเทศกาลต่างๆ ที่บรรดาคอลิฟะฮ์ฟาฏิมียะฮ์ให้การดูแล ซึ่งไม่ใช่ระบุว่าพวกเขาเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มทำเมาลิดนบีขึ้นมา และส่วนหนึ่งบรรดาวันอีดและเทศกาลต่างๆ ที่ท่านอัลมุริซีย์ได้ระบุไว้ คือวันอีดิลฟิตร์ และอีดิลอัฏฮา แล้ววันอีดทั้งสองนี้ ราชวงศ์อัลฟาฏิมียะฮ์เป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นมาหรือไม่?? 
ท่านอัลมุกรีซีย์ ได้กล่าวเกี่ยวกับวัน "อีดอัลฆ่อดีร" ว่า "ท่านพึงทราบเถิด วันอีดฆ่อดีรนั้น ไม่ใช่เป็นวันอีดตามหลักการของศาสนา และไม่มีสะลัฟของประชาชาติอิสลามคนใดได้กระทำขึ้น และอีดฆ่อดีรนี้ เป็นที่รู้จักกันครั้งแรกในอิสลาม ที่อิรัก ในสมัยของ มุอิซฺ อัลเดาละฮ์ อาลี บิน บุวัยฮ์ (แห่งราชวงศ์ บุวัยฮ์ชีอะฮ์เปอร์เซีย) ซึ่งเขาได้ริเริ่มทำมันขึ้นมาในปี 352 ฮ.ศ. ตั้งแต่นั้นพวกชีอะฮ์จึงนำมาทำเป็นวันอีดของพวกเขา...จากนั้น อัลมุอิซฺ (ลิดีนิลและฮ์)(กษัตริย์ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์) รู้สึกประทับใจต่อสิ่งดังกล่าวจากการกระทำของพวกเขา(ที่อิรัก) และวันอีดฆ่อดีรจึงถูกทำขึ้นมาครั้งแรกในอียิปต์!!" ดู หนังสือ อัลคุต๊อฏ อัลมุกรีซียะฮ์ เล่ม 1 หน้า 222 - 223
วิจารณ์
ตัวบทที่ท่านอัลมุกรีซีย์ได้ระบุไว้นี้ เราจะสังเกตุได้ว่า ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ ไม่ได้ริเริ่ม อีดอัลฆ่อดีร ขึ้นมา แต่ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ฉลองวันอีดฆ่อดีรขึ้นมาโดยสือทอดการอุตริกรรมขึ้นมาของพวกมุวัยฮียูนชีอะฮ์เปอร์เซียที่ครองอิรักอยู่ในสมัยนั้น หากเราได้ศึกษาภูมิหลังประวัติศาสตร์ระหว่างราชวงศ์(ชีอะฮ์)ฟาฏิมีย์และราชวงศ์บุวัยฮียูน(ชีอะฮ์เปอร์เซีย)แล้ว ก็จะทราบถึงความสัมพันธ์อันอย่างแนบแน่นระหว่างพวกเขา เพราะฉะนั้นหากว่าราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์เป็นผู้ริเริ่มทำเมาลิดนบีขึ้นมา แน่นอน ราชวงศ์บุวัยฮิยูนก็ต้องทำเมาลิดขึ้นมาด้วยที่อิรัก(แบกแดด) แต่ไม่มีตำราประวัติศาสตร์ของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์สักเล่มเดียวที่ระบุว่า ราชวงศ์บุวัยฮียูน(ชีอะฮ์เปอร์เซีย) ได้ทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) แต่ในทางตรงกันข้าม เราจะพบว่าการฉลองอีดฆ่อดีร ที่พวกอัลบุวัยฮิยูนได้อุตริขึ้นมานั้น ได้สืบทอดกระทำจากแบกแดดไปยังอียิปต์
แต่ตำราประวัติศาสตร์ของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ได้ระบุได้อย่างชัดเจนว่า ท่านชัยค์ อุมัร อัลมุลลา คือบุคคลแรกที่ทำเมาลิดในรูปแบบเฉลิมฉลองขึ้นและกษัตริย์ มุซ๊อฟฟะรุดดีน ได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า การถ่ายทอดของท่านอัลมุกรีซีย์นั้น ไม่ได้เป็นหลักฐานระบุว่าราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์เป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มการทำเมาลิดขึ้นมาได้เลย 
ท่าน อัชเชากานีย์ ได้กล่าวถึงท่าน อัลมุกรีซีย์ ไว้ในหนังสือ อัลบัดร์ อัลฏอเลี๊ยะอฺ จากการกล่าวถึงประวัติของท่านอิบนุค๊อลดูน ว่า
"ท่านอิบนุหะญัร กล่าวว่า เป็นที่แปลกใจว่า มิตรสหายของเรา ที่ชื่อ อัลมุกรีซีย์ ได้ให้เกียรติกับท่านอิบนุค๊อลดูนอย่างเลยเถิด เพราะท่านอิบนุค๊อลดูนมั่นใจว่า สายตระกูลของ บนี อะบัยดุดดีน ที่เป็นคอลิฟะฮ์(ฟาฏิมียะฮ์)ที่อียิปต์(ว่าสืบเชื้อสายจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อะลัยฮัสลาม) และบรรดานักปราชญ์ท่านอื่นมีความเห็นขัดแย้งกับท่านอิบนุค๊อลดูน และท่านอัลมุกรีซีย์ทำการคัดค้านบรรดานักปราชญ์ที่ทำการตำหนิเชื้อสายของพวกเขา(ว่าไม่ใช่สืบเชื้อสายจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์)....และท่านอัลมุกริซีย์ได้สังกัดโน้มเองไปยังพวกฟาฏิมียะฮ์ ดังนั้น ท่านอัลมุกรีซีย์ จึงชอบท่านอิบนุค๊อลดูนเพราะเขาได้ยอมรับถึงสายตระกูลของพวกฟาฏิมียะฮ์..." ดู หนังสือ อัลบัดร์ อัลฏอเลี๊ยะอฺ เล่ม 1 หน้า 337 ของท่านอัชเชากานีย์ 
วิจารณ์
ท่าน อัศศักคอวีย์ ได้ทำการกล่าวประวัติของอัลมุกรีซีย์ ไว้ในหนังสือ อัฏเฏาอุ อัลลาเมี๊ยะอฺ เกี่ยวกับการวิจารณ์ถึงความไร้น้ำหนักจากหลักสูตรของท่านอัลมุกรีซีย์ ในการทราบถึงความลึกซึ้งของแง่ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์และไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และพร้อมกับสิ่งดังกล่าวนั้น ท่านอัลมุกรีซีย์ได้ยึดคำบอกเล่าจากผู้ที่ไม่ได้รับความเชื่อถือโดยไม่มีการอ้างอิงถึงเลย แม้กระทั่งเรื่องเชื้อสายของพวกฟาฏิมียะฮ์ 
4. การถ่ายทอดของท่าน อัลมุกริซีย์ ในการกล่าวถึงเรื่องเมาลิดนบีนั้น ย่อมไร้น้ำหนัก เพราะว่าท่านอัลมุกรีซีย์ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ เพราะท่านอัลมุกรีซีย์เสียชีวิตเมื่อปี 845 ฮ.ศ. และราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์สิ้นสุดอำนาจเมื่อปี 567 ฮ.ศ. ซึ่งระยะเวลาห่างช่วงกันประมาณ 300 ปี ซึ่งแตกต่างกับการยืนยันของท่าน อิมามอบู ชามะฮ์ ที่กล่าวว่า ท่านชัยค์ อุมัร อัลมุลลา ได้ริเริ่มทำเมาลิดในรูปแบบปัจจุบันเป็นคนแรก เนื่องจากท่านอิมาม อบู ชามะฮ์ อยู่ในสมัยเดียวกับราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ คือท่าน อบู ชามะฮ์ เสียชีวิตในปีที่ 566 ฮ.ศ ซึ่งท่านอบูชามะฮ์มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ หลาย 10 ปีด้วยกัน 
5. นักประวัติศาสตร์ผู้ได้รับความเชื่อถือที่อยู่ในยุคสมัยก่อนจากท่านอัลมุกรีซีย์ อย่างเช่น ท่านอบูชามะฮ์ (ผู้อยู่ร่วมสมัยของฟาฏิมียะฮ์) ท่านอิบนุกะษีร และท่านอัซซะฮะบีย์ ไม่ได้กล่าวระบุไว้เลยว่า ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ คือบุคคลแรกที่ริเริ่มทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) ขึ้นมา แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขาได้ยืนยันว่าท่านชัยค์ อุมัร อัลมุลลา ได้ริเริ่มทำขึ้นมา และกษัตริย์ อัลมุซ๊อฟฟัร เจ้าแห่งเมืองอิรบิลได้เจริญรอยตาม เพราะฉะนั้น การถ่ายทอดทางประวัติศาสตร์ของท่านอัลมุกรีซีย์จึงแหวกแนวและขัดกับนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมากกว่า 
จากสิ่งที่ผมได้นำเสนอมา สามารถสรุปได้ดังนี้ 
1. ไม่มีตำราประวัติศาสตร์ดั้งเดิม(อัสลีย์)ของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์เล่มใด ระบุอย่างชัดเจนว่า กษัตริย์คนใดของราชวงค์ฟาฏิมีย์ เป็นคนแรกที่ริเริ่มทำเมาลิดอย่างเป็นทางการขึ้นมา ? 
2. การยกอ้างการทำเมาลิดอย่างเป็นทางการ แก่ราชวงศ์ฟาฏิมีย์นั้น ไม่มีข้อยืนยันทางประวัติศาสตร์ที่ซอฮิหฺเลยแม้แต่น้อย ?
3. การยืนยันคำกล่าวอ้างว่า ราชวงศ์ฟาฏิมีย์เป็นบุคคลแรกในการทำเมาลิดนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่แวกแนว เนื่องจากเป็นการกล่าวอ้างที่ขัดกับประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนกว่า และขัดกับสิ่งที่เลื่องลือมากกว่าจากบรรดานักปราชญ์ที่เชื่อถือได้ เช่น ท่านอิบนุกะษีร ท่านอัซซะฮะบีย์ และท่านอบูชามะฮ์ อาจารย์ของอิมามอันนะวาวีย์ เป็นต้น
4. การกล่าวอ้างว่า มุอิซลิดีนิลลาฮ์ กษัตร์ราชวงศ์ฟาฏิมีย์ เป็นคนแรกที่ทำเมาลิดนบีอย่างเป็นทางการนั้น ไม่มีตำราฉบับดั้งเดิม(อัศลีย์) ใด ที่ระบุไว้อย่างนั้น ? แต่มีตำราบางเล่มในยุคหลังได้บันทึกอย่างนั้น โดยที่ไม่สามารถอ้างอิงด้วยสายรายงานทางประวัติศาสตร์ที่ซอฮิหฺมายืนยัน และตำรายุคหลังที่ห่างไกลจากยุคฟาฏิมีย์เป็นพันปี ได้บันทึกประวัติศาสตร์การทำเมาลิดของ มุอิซลิดีนิลและฮ์นั้น ได้ใช้หลักการของการเอาตนเองเข้าไปจิตนาการอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โดยมีการคาดการณ์ว่าสิ่งนั้นน่าจะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ย่อมไม่ใช่เป็นหลักการรายงานประวัติศาสตร์ตามทัศนะของอิสลาม แต่เป็นหลักการอธิบายประวัติศาสตร์แบบนักบูรพาคดี 
5. เราต้องไม่ปักใจเชื่อคำโพธนาชวนเชื่อของผู้ที่คัดค้านแอบอ้างโดยว่าชีอะฮ์เป็นบุคคลแรกที่ทำเมาลิดนบี(ซ.ล.) 


โดยอาจารย์อรุณ บุญชม

*คัดจากวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม  อันดับหนึ่งของ  ดร.อิซซัต อะลี อีด อะตียะห์  แห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร  กรุงไคโร  ประเทศอิยิปต์   ในเชื่อเรื่อง   البدعة تحديرها وموقف الاسلام منها  
โดยผ่านการสอบจากคณะกรรมการ  ซึ่งประกอบด้วย

1.ดร.มูฮัมหมัด มูฮัมหมัด อะบูซะห์บะห์  คณบดีคณะอุซูลุดดีนแห่งอัสยูต
2.ดร.อัซซัรบาซีย์ หะซะนัยน์  อาจารย์วิชาอัลฮะดีษ  คณะอุซูลิดดีน
3.ดร.มุสตอฟา อะมีน อัตตาซีย์  อาจารย์วิชาอัลฮะดีษ  คณะอุซูลุดดีน

islamhouse.muslimthaipost.com


อัพเดทล่าสุด