วันกิยามะฮฺ สัญญาณกิยามะฮฺ สำคัญไฉน?


3,046 ผู้ชม

สัญญาณกิยามะฮฺ ถือ เป็นส่วนสำคัญของศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มะลาอิกะฮฺญิบรีลลงมาทบทวนกับท่านนบีด้วยตัวเอง โดยปรากฏเป็นร่างผู้ชายให้บรรดาศอฮาบะฮฺเห็น


วันกิยามะฮฺ สัญญาณกิยามะฮฺ สำคัญไฉน?

วันกิยามะฮฺ สัญญาณกิยามะฮฺ สำคัญไฉน?

สัญญาณกิยามะฮฺ ถือ เป็นส่วนสำคัญของศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มะลาอิกะฮฺญิบรีลลงมาทบทวนกับท่านนบีด้วยตัวเอง โดยปรากฏเป็นร่างผู้ชายให้บรรดาศอฮาบะฮฺเห็น ท่านอุมัรฺรายงานว่า ชายคนนั้นนั่งเข่าชนเข่ากับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยบทสนทนานั้นมีการทบทวนรุกุ่นอิสลาม 5 ประการ รุกุ่นอิหม่าน 6 ประการ และเอียห์ซาน (ต้องภักดีต่ออัลลอฮฺประหนึ่งว่าเห็นพระองค์ ถึงแม้ไม่เห็น แต่พระองค์เห็นเรา) จากนั้นมะลาอิกะฮฺหรือชายคนนั้นจึงถามเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ ท่านนบีตอบว่า “ผู้ที่ถูกถามเกี่ยวกับวันนั้น ไม่ได้รู้ไปกว่าผู้ถาม” คนนั้นถามต่ออีกว่า “ถ้าเช่นนั้น จงแจ้งให้ฉันทราบเกี่ยวกับสัญญาณของมัน” ท่านนบีตอบว่า “คือการที่ทาสจะคลอดลูกเป็นนายของนาง ท่านจะได้เห็นผู้ที่ไม่สวมร้องเท้า ไม่มีเสื้อผ้าจะสวมใส่ เป็นผู้ยากจน และเลี้ยงแพะ แต่กลับแข่งขันกันสร้างอาคารสูงๆ” (หะดีษบันทึกโดยมุสลิม ที่เรียกว่าหะดีษญิบรีล)

ฉะนั้น วันกิยามะฮฺและสัญญาณวันกิยามะฮฺ  จึงเป็นเนื้อหาที่สำคัญของศาสนา ซึ่งไม่อาจเพิกเฉยหรือทำเป็นไม่ให้น้ำหนัก ไม่ใส่ใจใยดีไม่ได้เด็ดขาด นอกจากนั้นผู้ศรัทธายังจำเป็นที่จะต้องรู้จักและเข้าใจสัญญาณอย่างถูกต้อง เพื่อการมีความรู้ในอิสลามที่ชัดเจนมากขึ้น มีเหตุผล มีสติปัญญา โดยตั้งอยู่บนตัวบทหลักฐานทางศาสนา ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างอีหม่านศรัทธาให้เข้มแข็งมั่นคง

ผู้คนจำนวนมากที่ชอบพูดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่า เป็นสัญญาณกิยามะฮฺที่ท่านนบีบอกไว้ ทั้งที่สิ่งนั้นๆ หรือเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ใช่สัญญาณหรือเหตุการณ์ที่นบีกล่าวไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการใช้ความคิดลักษณะเป็นการโมเมเอาเอง ไม่ได้เป็นความรู้และเข้าใจในเหตุการณ์จากตัวบทหลักฐาน และมันก็ทำให้ศรัทธาของเขาเสื่อมถอย

จึงต้องมาทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดีว่า ก่อนการมาของวันกิยามะฮฺ จะมีสัญญาณปรากฏให้เราเห็นมากมาย ซึ่งนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้เป็นความจริงทุกประการ ไม่ใช่อุปมาอุปไมย ไม่ใช่พูดเป็นนามธรรมอ้อมๆ ที่ต้องตีความซับซ้อน หรือต้องมานั่งไขปริศนาคำมาตีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ เหมือนกับหนังสือนอสตราดามุส ที่ไปเอาบทกลอนทำนายอนาคตที่กล่าวเป็นอุปมาลอยๆ แล้วมาตีความเอาเองตามใจชอบให้มันสอดคล้องกับเหตุการณ์ แล้วก็อ้างว่าสิ่งที่เขากล่าวไว้เป็นความจริง (ในหลักอะกีดะฮฺของอิสลามแล้ว ไม่มีใครเห็นอนาคต นอกจากต้องเป็นนบี หรือหากคนทั่วไปคือมีรุอ์ยา คืออัลลอฮฺให้ฝัน หรือเตือนให้เห็นบางสิ่งบางอย่าง)

สิ่งที่นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พูดไว้ เป็นสถานการณ์ที่ตรงความจริง ชนิดเป๊ะๆ เราจะพบว่ามันเป็นความจริงตามที่กล่าวไว้โดยไม่ต้องพยายามตีความให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งมันคือการแจ้งล่วงหน้า จากสิ่งที่ได้รับวะฮีย์จากอัลลอฮฺ พระองค์เผยให้ท่านนบีเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าบางส่วน ซึ่งหะดีษที่ท่านนบีกล่าวนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในเนื้อหาของอิสลาม สิ่งใดที่เราพบว่ามันเกิดแล้ว นั่นคือสามารถยืนยันได้ว่ามันคือสิ่งที่ท่านนบีกล่าวไว้ แต่สิ่งใดที่ยังไม่มีรายงานการพบเห็น ก็เข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นยังไม่เกิด ไม่ต้องพยามตีความ (อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้มีทัศนะแตกต่างได้ เกี่ยวกับการชี้หรือระบุเหตุการณ์ หรือการไล่ลำดับเหตุการณ์ เพราะแต่ละผู้รู้นั้นมีความเชี่ยวชาญและรอบรู้แตกต่างกัน)

#สัญญาณแรก
คือการประกาศศาสนาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม 
 ดังที่ท่านซะฮ์ลัน อิบนุ สะอัด ได้รายงายว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ฉันได้ถูกแต่งตั้งเป็นรอซูล ในขณะที่วันกิยามะฮฺกับฉันเหมือนกับสองนิ้วนี้ และท่านก็ชูนิ้วชี้และนิ้ว กลางขึ้นมาในลักษณะประกบชิดกัน” (บันทึกโดยบุคอรี)

นั่นหมายความว่า เหตุการณ์ต่างๆที่นบีแจ้งว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากนั้น มันก็คือสัญญาณที่บอกว่าโลกใกล้จะอวสานขึ้นทุกที

สัญญาณกิยามะฮฺที่นบีแจ้งไว้ มีทั้งเรื่องดี และเรื่องไม่ดี โดยสามารถประเมินออกกมาได้ดังนี้
1.) สัญญาณที่เป็นข่าวดี เช่น การประกาศอิสลามของนบีมุฮัมมัด, มุสลิมจะได้พิชิตเปอร์เซีย คอนสแตนติโนเปิล และโรม, การมาของอัลมะฮฺดี และนบีอีซา
2.) สัญญาณที่เป็นข่าวไม่ดี
2.1 ข่าวไม่ดีที่ไม่ผิดหลักการศาสนา (ไม่ใช่การกระทำของเรา) เช่น แผ่นดินไหว, การมาของดัจญาล และยะอ์ญูด-มะอ์ญูด, ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก
2.2 ข่าวไม่ดีที่ผิดหลักการศาสนา เช่น การผิดประเวณีจะแพร่ระบาด, สตรีจะแต่งกายแบบเปลือยกาย
3.) สัญญาณที่เป็นการแจ้งเหตุการณ์ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องดี หรือเรื่องไม่ดี และไม่เกี่ยวกับหลักการศาสนา เช่น สัตว์บางตัวจะพูดภาษาคนได้

สัญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว

หะดีษญิบรีลข้างต้น ที่ท่านนบีกล่าวถึงคนเลี้ยงแพะแกะจะกลายมาเป็นคนสร้างอาคารสูงๆนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของการกำเนิดประเทศอาหรับ หรือการแบ่งเค้กของมหาอำนาจตะวันตก ที่ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก และส่วนหนึ่งก็มาเจอขุมทรัพย์ที่อาหรับด้วย ก็เลยเอาคนอาหรับเป็นลูกน้อง ปั้นคนเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะขึ้นมาเป็นผู้นำสังคม แล้วก็หาผลประโยชน์ร่วมกัน จนร่ำรวยร่ำรวยมหาศาลและสามารถสร้างเมืองสร้างตึกได้ รุ่นลูกหลานก็เกิดมาบนกองเงินกองทอง แล้วก็มาครอบครองธุรกิจสืบทอดการสร้างตึกแข่งขันกัน โดยในอีกสำนวน ท่านอิบนิ อับบาส ได้ถามท่านนบีว่า "ยารอซูลุลลอฮฺ ใครกันเล่าที่เป็นคนเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ ไม่สวมรองเท้า ยากจน?" ท่านตอบว่า "ชาวอาหรับ" (บันทึกโดยอะหมัด)

สัญญาณนี้ เป็นการตำหนิ การโอ้อวดแข่งขันกันเรื่องการตกแต่งอาคารบ้านเรือนเป็นสิ่งผิดหลักการศาสนา การสร้างตึกสูงมันไม่ได้หะรอมที่ตัวตึก แต่หะรอมที่วิถีชีวิต เป้าหมาย และความฟุ่มเฟือย การแข่งขันในที่นี้เป็นไปโดยเปิดเผย เพราะแต่ละปีจะมีการสรุปสถิติกันว่าตึกไหนสูงที่สุดในโลก

เมืองหนึ่งที่คนเลี้ยงแพะแกะได้กลายมาเป็นคนรวยสร้างตึกก็คือ 'ดูไบ' แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีตึกสูงๆมากมาย และมีตึกที่สูงที่สุดในโลกคืออาคาร 'บุรจฺญ์ คอลิฟะฮฺ' (Burj Khalifa) สร้างเสร็จในปี 2009 โดยสูงอยู่ที่ 828 เมตร ทั้งญี่ปุ่น จีน อเมริกา ต้องการสร้างแข่ง ซึ่งเดิมญี่ปุ่นก็มีแผนมาหลายปีว่าจะสร้างอาคารทรงภูเขาไฟฟูจิ โดยสูงกว่าของดูไบ 3 เท่าในอนาคต จากนั้นในดูไบเองก็มีอีกบริษัทคือนัคฮีล ที่ประกาศจะสร้างให้สูงกว่า แต่ทว่าไม่ทันเพราะ ซาอุดีอาระเบียกำลังสร้างอาคารสูงที่สุดในโลกแซงดูไบขึ้นมาได้ คือ 'คิงดอม ทาวเวอร์' (Kingdom tower) หรือ 'บุรจฺญ์ มัมละกะฮฺ' ซึ่งมีความสูงอยู่ที่ 1,000 เมตร เริ่มสร้างมาตั้งแต่ ปี 2013 และมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2018 เรียกว่าอีก 3 ปีข้างหน้า ซาอุดีจะมีตึกสูงที่สุดในโลก แซงดูไบได้สำเร็จ

การแข่งขันในสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นเรื่องหะรอมแล้ว มันยังชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ปกครองบ้านเมือง (ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบนโยบายในขณะนั้น) ประชาชน และทั้งอุละมาอฺ ที่ลุ่มหลงกับมัน หรือหัวใจชินชา ไม่ได้รู้สึกคัดค้านหรือรังเกียจ (อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องตำหนิในการการกระทำ แต่โดยหลักการตัวตึกไม่ได้เป็นสิ่งหะรอม ฉะนั้นการใช้สอยจากมันถือว่าทำได้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจ พักอาศัย หรือทำเป็นมัสญิด หรือที่ละหมาด) ซึ่งความเคยชินหรือเพลิดเพลินกับความสบายก็เป็นฟิตนะฮฺอย่างหนึ่งเช่นกัน เรียกว่า 'ฟิตนะฮฺ อัซซัรรออ์' (ฟิตนะฮฺจากความสะดวกสบาย) ซึ่งทำให้เกิด 'ฟิตนะฮฺ อัลอะห์ลาส' (ฟิตนะฮฺเพราะหลบหนีการฆ่าฟัน) ซึ่งโลกมุสลิมไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ตั้งแต่ยุคของท่านนบีเรื่อยมาจนถึงสมัยอาณาจักรอิสลามล่มสลาย มุสลิมก็ยังกล้าหาญ กล้าสละชีพเพื่อปกป้องอิสลาม ปกป้องหรือตอบโต้การเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิม แต่ว่าเนื่องจากความรักดุนยา รักความสบาย เริ่มมั่งคั่งลุ่มหลงกับการสร้างเมือง จนทำเกิดฟิตนะฮฺคือมุสลิมถูกข่มเหงเข่นฆ่า ไร้คนมีอำนาจช่วยเหลือ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้อีกสัญญาณกิยามะฮฺที่เกี่ยวข้องคือ "ใกล้เข้ามาแล้วที่ประชาชาติอื่นๆจะรุมกินโต๊ะพวกท่าน (มวลมุสลิม) เหมือนกับกลุ่มคนที่นั่งล้อมวงรุมกินอาหารในถาด" ศอฮาบะฮคนหนึ่งถามว่า "ในวันนั้นพวกเรามีจำนวนน้อยหรือ" ท่านรอซูลตอบว่า "พวกท่าน (มวลมุสลิม) มีจำนวนมาก แต่มีสภาพเหมือนฟองน้ำในท้องทะเล พระองค์ทรงขจัดความหวาดกลัวของศัตรูต่อพวกท่านออกไปจากหัวอกของพวกเขา แล้วพระองค์ทรงให้พวกท่านเกิดภาวะ อัลวะฮฺนู" ศอฮาบะฮฺถามอีกว่า "อัลวะฮฺนู คืออะไร" ท่านรอซูลตอบว่า "คือรักในโลกดุนยา และกลัวความตาย" (บันทึกโดยอบูดาวูด)

ที่มา: อัซซาบิกูน

อัพเดทล่าสุด