อักบาร์มหาราช กษัตริย์มุสลิมผู้ให้ความเสมอภาคทางศาสนา


10,105 ผู้ชม

พระเจ้าอักบาร์ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์เพียง 13 พระชันษา ในปี ค.ศ. 1556 จนถึง ค.ศ. 1605 ความยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ไม่ได้อยู่ที่การที่ทรงสามารถขยายดินแดนของอินเดียไปอย่างกว้างขวาง


อักบาร์มหาราช กษัตริย์มุสลิมผู้ให้ความเสมอภาคทางศาสนาและตั้งศาสนาใหม่

พระเจ้าอักบาร์มหาราช (Akbar the Great) หรือ "จักรพรรดิอักบาร์" ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น "มหาราช" ด้วย เพราะรัชสมัยของพระองค์ถือได้ว่าเป็นช่วงที่รุ่งเรืองมากที่สุดของจักรวรรดิโมกุล ของอินเดีย

พระเจ้าอักบาร์มหาราช


พระเจ้าอักบาร์มหาราช

พระเจ้าอักบาร์ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์เพียง 13 พระชันษา ในปี ค.ศ. 1556 จนถึง ค.ศ. 1605 ความยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ไม่ได้อยู่ที่การที่ทรงสามารถขยายดินแดนของอินเดียไปอย่างกว้างขวาง (ยึดได้ทั่วฮินดูสถาน จนท้ายที่สุดได้ครอบครองดินแดนเกือบจะทั่วภาคเหนือของอินเดียและอัฟกานิสถาน) หรือการที่ทรงทะนุบำรุงอินเดียให้มีความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน

แต่ที่โด่งดังและโดดเดนที่สุดคือ การที่ทรงเป็นมุสลิม แต่กลับทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา สร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ และการที่ทรงสร้างศาสนาใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือว่าแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐอิสลามแต่เดิม

แต่สิ่งที่อยากเน้นมากเป็นพิเศษในบทความนี้คือ การที่ อักบาร์ ข่าน หรือ พระเจ้าอักบาร์มหาราช ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ที่เป็นมุสลิม กลับมีแนวคิดเรื่องการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และมุ่งสร้างความความปรองระหว่างศาสนาอย่างมาก นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างมหัศจรรย์ในโลกยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะในสังคมมุสลิม

ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า อักบาร์ รับอิสลามได้อย่างไร?

แท้จริงแล้ว ท่านไม่ได้เริ่มรับอิสลามด้วยตัวท่านเอง แต่ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุลคือ พระเจ้าบาบูร์ ได้นับถืออิสลามมาก่อนแล้ว ฉะนั้น พระเจ้าอักบาร์จึงเป็นอิสลามโดยกำเนิด

พระเจ้าบาบูร์ หรือ บาบูร์ ข่าน สืบเชื้อสายมาจากเจงกีส ข่านและตาแมร์ลัง แห่ง กาบูล (คือ มีเชื้อสายเตอร์ก-มองโกล) เป็นผู้สืบทอดการเผยแพร่อิสลาม ในฮินดูสถาน(หรืออินเดีย)ต่อ บาบูร์ข่าน ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญและปกครองประเทศตามแบบเจงกีส ข่าน อาณาจักรของบาบูร์จากโอซุสไปถึงแม่น้ำคงคา และเบงกอล พระองค์ทรงขับไล่ Ibrahim Lodi จากการเป็นสุลต่านเดลฮี ด้วยการใช้เทคนิคการรบที่เหนือกว่า ที่ทรงได้รับมาจากพวกเตอร์ก จากนั้น ทรงเข้าครองเมืองอัครา

พระเจ้าบาบูร์นอกจากเป็นนักรบแล้วยังเป็นนักประพันธ์ ทรงเขียนกลอนได้ทั้งภาษาเปอร์เซียและภาษาเตอร์ก ทรงนำวรรณคดีและดนตรีจากเปอร์เซียมาให้อินเดีย เมื่อว่างจากศึกสงครามทรงใช้เวลาไปในการสร้างพระราชวัง สุเหร่า สวน สะพาน ทรงจ้างสถาปนิกมาจากเมืองอิสตันบูล (ตุรกี) พูดง่ายๆ ว่า ที่อินเดียมีศิลปะบางอย่างเหมือนทางตะวันออกกลางก็เพราะการเข้ามาของราชวงศ์โมกุล โดยพระเจ้าบาบูนี่เอง

หลังจาก ยุคพระเจ้าบาบูร์ ก็ยังมีกษัตริย์ต่อมาอีก จนกระทั่งมาถึงยุคของ อักบาร์ ข่าน หรือพระเจ้าอักบาร์มหาราชที่กำลังเน้นถึงในบทความนี้ พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างจักรวรรดิโมกุลที่แท้จริง ทรงเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ ทรงเป็นนักปกครองที่ชาญฉลาด ที่ทราบว่าการปกครองประเทศใหญ่ที่เต็มไปด้วยพล เมืองหลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา และหลายภาษา ควรปกครองด้วยวิธีใด

การบริหารการปกครองทรงได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่าน ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอินเดียเพื่อเป็นตัวอย่างของการเชื่อมสนิทกับประชาชนท้องถิ่นดั้งเดิม

อักบาร์ ข่าน หรือพระเจ้าอักบาร์ จึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้เสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา พระองค์ทรงกระทำหลายอย่างเพื่อให้วัตถุประสงค์นี้สำเร็จ โดยทรงยกเลิกภาษีจิซยา (Jizya - ภาษีที่รัฐอิสลามจะเก็บกับคนนอกศาสนาเพื่อเป็นค่าคุ้มครอง ซึ่งจะไม่เก็บภาษีนี้กับคนมุสลิมด้วยกัน) ทรงเปิดโอกาสให้คนฮินดู(ซึ่งเป็นคนอินเดียโดยส่วนมาก) สามารถเข้ารับราชการเท่าเทียมกับพวกมุสลิม ทรงแต่งตั้ง ให้ Todar Mall จากราชพุทธมาเป็นผู้นำทหาร ทรงปรับภาษีใหม่ คือ หนึ่งในสามของผลผลิตเป็นของรัฐเท่ากันทุกคน Todar Mall ให้คนฮินดูเรียนภาษาเปอร์เซีย เพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งสูงๆได้ ทรงให้มีการผสมกันระหว่างภาษาเปอร์เซียและภาษาฮินดูทำให้เกิดภาษาใหม่ เรียกว่า ภาษาอูรดู สร้างเมืองใหม่ คือ City of Victory (ชัยบุรี) ซึ่งเต็มไปด้วยสุเหร่า ราชวัง สถานที่สาธารณะ บ้านเรือน แต่ให้ทุกศาสนามีอิสระในการเผยแพร่ศาสนาของตน

เรื่องการให้เสรีภาพทางศาสนาของพระองค์ที่ว่าน่าทึ่งยังไม่จบเพียงเท่านั้น เรื่องที่น่าตกตะลึงมากที่สุดก็คือ อักบาร์ ข่าน ทรงริเริ่มความศาสนาใหม่ชื่อว่าศาสนา "ดินอิอิลาฮี" (Din-i-Ilahi) หรือแปลว่า ศาสนาแห่งพระเจ้า (The Religion of God บางคนเรียกศาสนา Divine Faith) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวมศาสนาอิสลามเข้ากับ ฮินดู คริสต์ เชน และศาสนาอื่นๆ เป้าหมายที่พระองค์ตั้งศาสนาใหม่เช่นนี้ขึ้นมาก็เพราะไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลระบุว่ามีผู้นับถือไม่เกิน 19 คน เพราะพระองค์ได้ สวรรคตเสียก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงออกกฎหมายยกเลิกประเพณีที่กดขี่ข่มเหงเด็ก และสตรี คือ ประเพณีแต่งงานในวัยเด็กและประเพณีสตี (หญิงม่ายกระโดดกองไฟตายตามสามี)
เรื่องราวของพระเจ้าอักบาร์มหาราช ยังมีแง่มุมอื่นที่น่าสนใจที่ขอเพิ่มเติมอีกสักหน่อย

เชื่อหรือไม่ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์เดียวในราชวงศ์โมกุลที่ไม่ทรงรู้หนังสือ แต่กระนั้นก็กลับทรงกระหายความรู้ต่างๆ ยิ่งนัก ทรงเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยมีผู้ช่วยอ่านหนังสือให้ ดังนั้นแม้จะไม่รู้หนังสือ แต่พระเจ้าอักบาร์ทรงเป็นผู้รอบรู้เท่าเทียมกับปราชญ์ผู้คงแก่เรียนมากที่สุดทั้งหลายในยุคนั้น และยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญในงานวรรณกรรมและนักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องดี ก็มีเรื่องเศร้า
พระเจ้าอักบาร์ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายซาลิม เจ้าชายมูรัด และเจ้าชายดานิยาล เจ้าชายเจ้าชายมูรัด และเจ้าชายดานิยาลสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่พระเจ้าอักบาร์ก็ทรงต้องเผชิญปัญหากับเจ้าชายซาลิม และในช่วง 4 ปีสุดท้ายในพระชนมชีพของพระองค์หมดเปลืองไปกับการปราบปรามการก่อการกบฏของเจ้าชายซาลิม
พระเจ้าอักบาร์ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์จากยาพิษใน วันที่ 27 เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1605 พร้อมทั้งการสิ้นสุดยุคสมัยที่รุ่งเรืองมากที่สุดของประวัติศาสตร์อินเดีย ราชวงศ์โมกุลถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอินเดีย
ที่มา: ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
islamhouse.muslimthaipost.com 


อัพเดทล่าสุด