อัลฟาติหะฮฺ ดุอาขอให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง


25,142 ผู้ชม

อัลฟาติหะฮฺ  เป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ (ถูกประทานในช่วง ก่อนการอพยพฮิจญ์เราะฮฺ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไปมะดีนะฮฺ)  ประกอบด้วย 7 อายะฮฺ


อัลฟาติหะฮฺ ดุอาขอให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง

อัลฟาติหะฮฺ ดุอาขอให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง และรักษาโรคต่างๆ 

 อัลฟาติหะฮฺ  เป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ (ถูกประทานในช่วง ก่อนการอพยพฮิจญ์เราะฮฺ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไปมะดีนะฮฺ)  ประกอบด้วย 7 อายะฮฺ

“อัลฟาติหะฮฺ” ถูกเรียกด้วยชื่อนี้ ก็เพราะว่า คัมภีร์อัลกุรอานอันทรงเกียรติ ได้เริ่มต้นด้วยกับซูเราะฮฺนี้ และเป็นซูเราะฮฺที่ถูกจัด ให้อยู่ในอันดับแรกของอัลกุรอาน  แต่ไม่ใช่ซูเราะฮฺแรกที่ถูกประทานลงมา ถือเป็นซูเราะฮฺ ที่ได้ให้ข้อสรุปต่อนัยต่างๆ ของอัลกุรอาน ได้อย่างรวบรัด รวมทั้งได้ประมวลเป้าหมายโดยรวม อันเป็นพื้นฐานของอัลกุรอาน ไว้อีกด้วย  มันคือซูเราะฮฺ ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องหลักการ และรายละเอียดปลีกย่อยของศาสนา  ทั้งที่เกี่ยวข้อง กับหลักการศรัทธา  หลักการเคารพภักดี บทบัญญัติต่างๆ การศรัทธาในวันโลกหน้า การศรัทธาต่อคุณลักษณะของอัลลอฮฺ อันวิจิตรงดงาม การให้เอกภาพต่อพระองค์ ด้วยการเคารพภักดี การขอความช่วยเหลือ การขอพร การมุ่งหน้าสู่พระองค์ (ตะวัจญุฮฺ) ด้วยการวอนขอทางนำสู่ศาสนา แห่งสัจธรรม และทางที่เที่ยงตรง รวมทั้งการวิงวอนต่อพระองค์ให้มีความหนักแน่น มั่นคงในการศรัทธา และดำเนินตามวิถีทาง ของเหล่ากัลยาณชนทั้งหลาย และให้ห่างไกล จากทางของพวกที่ถูกกริ้ว และทางของพวกที่หลงผิดทั้งหลาย ในสูเราะฮฺนี้ ยังได้สาธยายถึงเรื่องราว ของประชาชาติชนรุ่นก่อน และได้เปิดเผยถึงการย่างก้าว สู่เส้นทางอันสุขารมณ์ และที่พำนักอันทุกข์ทนหม่นไหม้ นั่นคือการเคารพภักดี ต่อข้อสั่งใช้และข้อห้ามของอัลลอฮฺ ตะอาลา และอื่นๆ จากนี้ ที่เป็นวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺนี้ เปรียบเสมือนแม่บทของ ซูเราะฮฺ อันมีเกียรติทั้งหลาย และเนื่องด้วยเหตุนี้เอง ที่ถูกเรียกว่า “อุมมุลกิตาบ” หรือแม่บทแห่งคัมภีร์ ดังนั้น ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ จึงได้ประมวลทุกๆ นัย ของอัลกุรอาน ส่วนเป้าหมายของ ซูเราะฮฺนี้นั้น ก็ได้ประมวลนัย และเป้าหมายต่างๆ ของอัลกุรอานไว้เช่นเดียวกัน

 
بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمنِ الرَّحِيمِ 

(บิสมิ้ลลาฮิ้รเราะหฺมานิ้รร่อฮีม)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณี


اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ 
(อัลฮัมดู้ลิ้ลลาฮี่ร๊อบบิ้ลอาล่ามีน)
การสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระเจ้าของทุกสรรพสิ่ง


اَلرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ 
(อั้รเราะหฺมานิ้รร่อฮีม)
ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณี


مَالِكِ يَوْمِ الدِّيْنِ 
(มาลี่กี้เยามิดดีน)
ผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในวันแห่งการตอบแทน


إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِيْنُ 
(อี้ยาก้านะอฺบู้ดู้ ว่าอี้ยาก้านัสต้าอีน)
เพียงพระองค์เท่านั้นที่พวกเราสักการะ และเพียงพระองค์เท่านั้นที่พวกเราขอความช่วยเหลือ


اِهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيْمَ 
(อิฮฺดี้นัศศี่รอต้อลมุสต้ากีม)
โปรดชี้นำพวกเราสู่แนวทางอันเที่ยงตรง


صِرَاطَ الَّذِيْنَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ 
(ศี่รอต้อลล่าซีน่า อันอัมต้า อ้าลัยฮิม ฆอยริ้ลมัฆดูบี้ อ้าลัยฮิม ว่าลัดด้อลลีน)
แนวทางของผู้ที่พระองค์ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขามาแล้ว มิใช่แนวทางของบรรดาผู้ถูกกริ้วโกรธ และมิใช่แนวทางของบรรดาผู้หลงผิด


1.  เป็นซูเราะฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอัลกุรอาน ท่านอบูสะอี๊ดบุตรอัลมุอั้ลลา กล่าวกับท่านนบีซ.ล.ว่า

أَلَمْ تَقُلْ لَأُعَلِّمَنَّكَ سُورَةً هِيَ أَعْظَمُ سُورَةٍ فِي الْقُرْآنِ ؟ قَالَ : الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ ، هِيَ السَّبْعُ الْمَثَانِي ، وَالْقُرْآنُ الْعَظِيمُ الَّذِي أُوتِيتُهُ .

“ท่านกล่าวไว้มิใช่หรือว่า ฉันจะบอกให้ท่านทราบเกี่ยวกับซูเราะฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอัลกุรอาน ? ท่านนบีซ.ล.กล่าวว่า นั่นคือซูเราะฮฺอัลฮัมดุลิ้ลลาฮี่ร๊อบบิ้ลอาล่ามีน เป็นซูเราะฮฺที่มี 7 โองการที่ถูกอ่านซ้ำ(ในทุกรอกาอัตของละหมาด) เป็นอัลกุรอานอันยิ่งใหญ่ที่ฉันได้รับมัน“ 

หะดีษถูกต้อง รายงานโดย อัลบุคอรี


2. เป็นซูเราะฮฺเดียว ที่จำเป็นต้องอ่านในการละหมาด ไม่ว่าจะละหมาดคนเดียว หรือแบบญามาอะฮฺ จะเป็นอิหม่ามหรือเป็นมะมูม จะเป็นการละหมาดที่อิหม่ามอ่านดังหรือค่อยก็ตาม เพราะท่านนบีซ.ล.กล่าวว่า

لَا صَلَاةَ لِمَنْ لَمْ يَقْرَأْ بِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ 

“ไม่มีการละหมาด สำหรับผู้ไม่อ่าน(อัลฟาติหะฮฺ)บทเริ่มต้นของอัลกุรอาน” 

หะดีษถูกต้อง รายงานโดย อัลบุคอรีและมุสลิม

หลังจากท่านนบีซ.ล.นำละหมาดซุบห์เสร็จแล้ว ท่านหันมากล่าวกับบรรดามะมูมที่อ่านอัลกุรอานในละหมาดว่า

لَعَلَّكُمْ تَقْرَؤُوْنَ خَلْفَ إِمَامِكُمْ ؟. قُلْنَا : نَعَمْ ، هَذّاً يَا رَسُوْلَ اللهِ . قَالَ: لَا تَفْعَلُوْا، إِلَّا أَنْ يَقْرَأَ أَحَدُكُمْ بـِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ ، فَإِنَّهُ لَا صَلَاةَ لِمَنْ لَمْ يَقْرَأْ بٍهَا 

“พวกท่านอ่านหลังอิหม่ามของพวกท่านหรือ ? พวกเราตอบว่า ใช่ครับ เป็นการอ่านเร็วๆครับท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ท่านนบีซ.ล.กล่าวว่า พวกท่านอย่าทำเช่นนั้น นอกจากคนหนึ่งจากพวกท่านจะต้องอ่าน(อัลฟาติหะฮฺ)บทเริ่มต้นของอัลกุรอาน เพราะแท้จริงไม่มีการละหมาดสำหรับผู้ไม่อ่านมัน”

หะดีษถูกต้อง รายงานโดย อบูดาวู๊ด อัตติรมีซียฺและอีกหลายท่าน

3. ใช้เป่ารักษาความเจ็บปวดจากการโดนสัตว์กัดต่อยและเป่ารักษาโรคต่างๆ

عَنْ أَبِي سَعِيدٍ الْخُدْرِيِّ، أَنَّ نَاسًا مِنْ أَصْحَابِ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانُوا فِي سَفَرٍ، فَمَرُّوا بِحَيٍّ مِنْ أَحْيَاءِ الْعَرَبِ، فَاسْتَضَافُوهُمْ فَلَمْ يُضِيفُوهُمْ، فَقَالُوا لَهُمْ: هَلْ فِيكُمْ رَاقٍ؟ فَإِنَّ سَيِّدَ الْحَيِّ لَدِيغٌ أَوْ مُصَابٌ، فَقَالَ رَجُلٌ مِنْهُمْ: نَعَمْ، فَأَتَاهُ فَرَقَاهُ بِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ، فَبَرَأَ الرَّجُلُ، فَأُعْطِيَ قَطِيعًا مِنْ غَنَمٍ، فَأَبَى أَنْ يَقْبَلَهَا، وَقَالَ: حَتَّى أَذْكُرَ ذَلِكَ لِلنَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَتَى النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَذَكَرَ ذَلِكَ لَهُ، فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللهِ وَاللهِ مَا رَقَيْتُ إِلَّا بِفَاتِحَةِ الْكِتَابِ فَتَبَسَّمَ وَقَالَ: وَمَا أَدْرَاكَ أَنَّهَا رُقْيَةٌ؟ 

“รายงานจากอบูสะอี๊ดอัลคุดรียฺกล่าวว่า มีอัครสาวกของท่านร่อซู้ลซ.ล.กลุ่มหนึ่งอยู่ในการเดินทาง พวกเขาผ่านย่านหนึ่งของอาหรับชนบท จึงขออาหรับเหล่านั้นต้อนรับพวกเขาเป็นแขกแต่อาหรับเหล่านั้นไม่ต้อนรับ ขณะนั้นเองอาหรับเหล่านั้นบอกพวกเขาว่า พวกท่านมีผู้เป่ารักษาไหม ? เพราะหัวหน้าท้องถิ่นนี้โดนสัตว์กัดต่อย ซอฮาบะฮ์คนหนึ่งกล่าวว่า มี จากนั้นเขาจึงไปหาหัวหน้าและเป่ารักษาเขาด้วย(อัลฟาติหะฮฺ)บทเริ่มต้นของอัลกุรอาน เขาจึงหายเป็นปกติ ผู้เป่ารักษาได้รับแพะหลายตัว(จากหัวหน้าคนนั้น) แต่เขาปฏิเสธไม่รับมัน เขากล่าวว่า จนกว่าฉันจะนำเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านนบีซ.ล.ฟังก่อน เขาจึงไปหาท่านนบีซ.ล.เล่าเรื่องดังกล่าวให้ท่านนบีซ.ล.ฟัง แล้วเขากล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ฉันไม่ได้เป่ารักษาด้วยสิ่งใดเลยนอกจากด้วย(อัลฟาติหะฮฺ)บทเริ่มต้นของอัลกุรอานเท่านั้น ท่านนบีซ.ล.ยิ้มและกล่าวว่า สิ่งใดทำให้ท่านรู้ว่ามันคือ สิ่งใช้เป่ารักษา”

หะดีษถูกต้อง รายงานโดย มุสลิม

... อามีน อามีน อามีน ...


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อาจารย์ Abdulloh Nhoorag
islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด