การเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน


10,391 ผู้ชม

เดือนรอมฎอนกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว คุณเตรียมตัวต้อนรับเดือนอันประเสริฐนี้แล้วหรือยัง วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน จะมีอะไรบ้างไปอ่านกันเลย


รอมฎอน คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหาร   เพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป้นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือการละหมาดตะรอเวียะฮ์ในยามค่ำของเดือนนี้

เมื่อสิ้นเดือนรอมฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า อีดุลฟิฏริหรือวันอีดเล็ก



เดือนรอมฎอนกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว คุณเตรียมตัวต้อนรับเดือนอันประเสริฐนี้แล้วหรือยัง วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน จะมีอะไรบ้างไปอ่านกันเลย

การเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน

1. ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานให้มาก ๆ

การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานมากๆนั้นเป็นซุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีรายงานจากท่านหญิงอะอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُ حَتَّى نَقُولَ لَا يُفْطِرُ وَيُفْطِرُ حَتَّى نَقُولَ لَا يَصُومُ فَمَا رَأَيْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ إِلَّا رَمَضَانَ وَمَا رَأَيْتُهُ أَكْثَرَ صِيَامًا مِنْهُ فِي شَعْبَانَ

“ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านถือศีลอดจนกระทั่งพวกเรากล่าวว่าท่านจะไม่ละศีลอด และท่านไม่ถือศีลอด จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่าท่านจะไม่ถือศีลอด ฉันไม่เคยเห็นท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือศีลอดครบทั้งเดือน นอกจากเดือนรอมฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่าน ถือศีลอดในเดือนไหน มากกว่าเดือนชะอฺบาน”

(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1868)
แน่นอนการที่เราได้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานมาก ๆ นั้น นอกจากจะได้ปฏิบัติตามซุนนะฮฺแล้วนั้น ยังทำให้ร่างกายของเราได้มีการเตรียมพร้อม ในการเข้าสู่เดือนรอมฎอนอย่างเต็มที่ การถือศีลอดของเราก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้าบุคคลใดที่ไม่ได้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานเลย นอกจากจะไม่ได้ปฏิบัติตามซุนนะฮฺแล้ว เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน การปรับตัวเข้าสู่การถือศีลอดนั้น อาจจะใช้เวลาหลายวัน เพราะร่างกาย ไม่ได้ฝึก การถือศีลอดมาก่อน

ดังนั้น  การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนั้นเป็นซุนนะฮฺที่มุสลิมไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอนได้อย่างดี

2. อ่านอัลกุรอ่าน

การอ่านอัลกุรอ่านนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องอ่านอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนชะอฺบานแล้วนั้น ก็จะต้องให้ความสนใจ และอ่านอัลกุรอ่านมาก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการอ่านอัลกุรอ่าน เดือนแห่งการประทานอัลกุรอ่าน แน่นอนว่าใน เดือนรอมฎอนนั้นเราจะต้องอ่านอัลกุรอ่านให้ได้มากที่สุด

ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในการอ่านอัลกุรอ่านในเดือนชะอฺบานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

ท่านซะละมะฮฺ อิบนุ สุฮัยล์ (บ้างว่า อิบนุ กุฮัยล์) และอุมัร อิบนุ ก็อยส์ กล่าวว่า “เดือนชะอฺบานคือเดือนแห่งนักอ่านอัลกุรอาน“

ท่านอุมัรอิบนุก็อยส์นั้นเมื่อชะอฺบานมาเยือนท่านจะปิดประตูบ้านเพื่อให้เวลากับการอ่านอัลกุรอาน

(ชะอฺบาน ประตูสู่ เราะมะฎอน โดย นุมาน อิสมาอีล สะอะ)

3. ละหมาดกิยามุลลัยล์

บุคคลที่ไม่ได้ปฏิบัติละหมาดกิยามุลลัยล์นั้น เมื่อเข้าสู่เดือนชะอฺบานสมควรที่จะต้องเริ่มปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน ซึ่งแน่นอน ว่าเดือนรอมฎอนนั้นมีการปฏิบัติละหมาดกิยามุลลัยล์แบบเป็นญะมาอะฮฺทุกคืนเพื่อผลบุญที่จะได้รับอย่างมากมาย รายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอัยฮุอันฮุที่จริงท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

"ผู้ใดยืน (ละหมาดยามค่ำคืน) ในเดือนรอมฎอน ด้วยความศรัทธาและหวังในผลบุญ บาปของเขาที่ผ่านมาจะถูกอภัยโทษให้"

(บันทึกโดยบุคอรี : 37 มุสลิม : 759)
แต่ถ้าบุคคลใดที่ไม่เคยชินกับการละหมาดกิยามุลลัยล์เลย เมื่อถึงการละหมาดกิยามุลลัยล์ในเดือนรอมฎอน อาจมีอาการอ่อนล้า เพลีย และ ฯลฯ ดังนั้นเดือนชะอฺบานเป็นเดือนที่เราน่าจะใช้ในการเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอนในการเริ่มปฏิบัติละหมาดกิยามุลลัยล์

4. อ่านตำราเกี่ยวกับเดือนรอมฎอน การถือศีลอด รวมไปถึงสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ และสื่งที่หะรอมในขณะถือศีลอด

มีรายงานจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

طَلَبُ الْعِلْمِ فَرِيضَةٌ عَلَى كُلِّ مُسْلِمٍ

“การศึกษาหาความรู้นั้น เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน”

(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ : 224 ดูญามิอุศเศาะฆีรของสุญูตียฺ : 5266 ดูเศาะฮีฮุลญามิอฺของอัลบานียฺ : 3914)

การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเดือนรอมฎอนนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เราจะต้องเข้าใจเรื่องราวในเดือนรอมฎอน การถือศีลอด สิ่งที่ทำให้เสีย ศีลอด ซุนนะฮฺในการถือศีลอด และอีกมากมาย เราควรใช้เดือนชะอฺบาน เป็นการหาความรู้เกี่ยวกับเดือนรอมฎอน เพราะเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน แล้ว เราจะได้ทราบว่าซุนนะฮฺในการถือศีลอดคืออะไร ? สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมีอะไรบ้าง ? เราจะได้ทราบข้อมูลเหล่านี้ตั้งแต่การถือศีลอดวันแรก ฉะนั้นในเดือนชะอฺบานเรามาอ่านตำราหาความรู้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับเดือนรอมฎอนเพื่อที่เราจะได้ไม่พลาดผลบุญต่างๆในเดือนอันประเสริฐนี้

5. สอบถามบรรดาผู้รู้ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของการถือศีลอดและจดบันทึก

เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนนั้น ปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ก็จะถูกถามไปยังบรรดาผู้รู้โดยตลอด เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ไม่รู้ ก็จะต้องถามผู้รู้

فَاسْأَلُوا أَهْلَ الذِّكْرِ إِنْ كُنْتُمْ لَا تَعْلَمُونَ

“....ดังนั้น พวกเจ้าจงถามบรรดาผู้รู้ หากพวกเจ้าไม่รู้”

(อันนะหฺล : 43)


แต่ปัญหาก็คือว่า ปัญหาที่ถูกถามไปยังผู้รู้เกี่ยวกับการถือศีลอดนั้น เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ถามทุกปี และผู้รู้ก็ต้องตอบทุกปี ฉะนั้นเราควรที่จะสอบถาม ผู้รู้ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ในเดือนชะอฺบาน และถ้าเราทราบคำตอบในประเด็นปัญหาต่าง ๆ นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องจดบันทึกเอาไว้ เพื่อที่เรา จะได้ไม่ลืม และสามารถทบทวนได้ตลอด

6. ลดปริมาณอาหารในช่วงกลางวัน

บุคคลใดที่ไม่ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนั้น ก็สมควรที่จะลดปริมาณการบริโภคอาหารในรอบวันให้น้อยลง เพื่อความเคยชิน และเตรียมความ พร้อมสู่เดือนรอมฎอน

อัพเดทล่าสุด