ซุนนะฮ์ในการอาบน้ำละหมาด


16,280 ผู้ชม

การอาบน้ำละหมาด เป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการจะละหมาดหรือทำการตอว๊าฟ


การอาบน้ำละหมาด เป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการจะละหมาดหรือทำการตอว๊าฟ  มีรายงานจากท่าน  อบีฮุรอยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า


لاَيَقْبَلُ اﷲُ صَلاَةَ أَحَدِكُمْ إِذَا أَحْدَثَ حَتَّى يَتَوَضَّأَ

ความว่า :   อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการละหมาดของคนหนึ่งคนใดในพวกท่าน เมื่อเขามีฮะดัษ จนกว่าเขาจะอาบน้ำละหมาดเสียก่อน (บันทึกโดยท่านอัลบุคอรียฺและมุสลิม  อบูดาวูด  ติรมีซียฺ  อะฮฺหมัด)

ซุนนะฮ์ในการอาบน้ำละหมาด

ซุนนะฮ์ในการอาบน้ำละหมาด 

1. เริ่มการอาบน้ำละหมาด ด้วยการกล่าว :

“บิสมิลลาฮิรเราะฮ์มานนิรเราะฮีม”

2. ล้างมือทั้งสองข้างสามครั้ง ขณะเริ่มการอาบน้ำละหมาด

3. บ้วนปาก และสูดน้ำเข้าจมูก ก่อนล้างหน้า

4. สั่งน้ำมูกออกจากจมูก โดยใช้มือซ้าย

ดังปรากฏจากการปฏิบัติของท่านร่อซูล(ซ.ล.) ในหะดีสว่า : “ท่านล้างมือทั้งสองข้างของท่านสามครั้ง ต่อจากนั้นท่านก็บ้วนปาก เอาน้ำเข้าจมูก และสั่งน้ำออกจากจมูก ต่อจากนั้นท่านก็ล้างหน้า สามครั้ง”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

5. บ้วนปากและเอาน้ำเข้าจมูกให้ลึกๆ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลอด ศาสนาชอบให้บ้วนปากและเอาน้ำเข้าจมูกขณะอาบน้ำละหมาดให้ลึกๆ ดังปรากฏในหะดีษ ท่านร่อซูล(ซ.ล.) กล่าวว่า :

“จงบ้วนปาก และเอาน้ำเข้าจมูก ให้ลึกๆ หากไม่ได้เป็นผู้ที่ถือศีลอด”

บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ อบูดาวู๊ด อิบนุมาญะฮ์ และอันนะซาอีย์ 

การบ้วนปากให้ลึกๆ หมายถึงการบ้วนปากโดยให้น้ำนั้นเข้าถึงทั่วทุกซอกทุกมุม

สูดน้ำเข้าจมูกลึกๆ หมายถึงการสูดน้ำให้เข้าไปยังส่วนบนของโพรงจมูก และเหตุผลที่ยกเว้นผู้ถือศีลอดก็เพราะหากสูดน้ำจนลึกเข้าถึงโพรงจมูก น้ำอาจจะเลยเข้าลำคอ อันจะทำให้เสียศีลอดได้

6. บ้วนปากและสูดน้ำมูกเข้าโพรงจมูก โดยใช้มือวักน้ำครั้งเดียว ทั้งนี้ตามรายงานจากการปฏิบัติของท่านร่อซูล(ซ.ล.) ว่า :

“แล้วท่านนบีก็ได้ใช้มือข้างหนึ่งของท่านวักน้ำเข้าปากและจมูกในทีเดียว”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม 

7. แปรงฟัน

ให้แปรงฟันพร้อมกับการอาบน้ำละหมาด ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

“หากไม่เป็นการยากลำบากกับประชาชาติของฉันแล้ว ฉันจะขอใช้ให้เขาเหล่านั้นแปรงฟันในทุกๆ ครั้งที่ทำการอาบน้ำละหมาด”

บันทึกโดย อิมามอะหมัด และอันนะซาอีย์ 

8. ทำความสะอาดเครา

ใช้มือสางบริเวณเครา เพื่อให้น้ำละหมาดเข้าถึงบริเวณใบหน้าทั้งหมด

“ท่านนบี(ซ.ล.) ได้สางเคราของท่านในขณะอาบน้ำละหมาด”

บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์ 

9. ลูบศีรษะ

การลูบศีรษะ ให้เริ่มจากทางด้านหน้าของศีรษะเรื่อยไปจนถึงด้านท้ายทอย และลูบย้อนกลับมายังด้านหน้าอีกครั้งหนึ่ง สำหรับสิ่งที่จำเป็น(วาญิบ) ในการลูบก็คือจะต้องให้น้ำนั้นเปียกศีรษะ ทั้งหมด ดังปรากฏจากหะดีษดังนี้

“ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ลูบศีรษะของท่าน โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองของท่าน โดยลูบจากด้านหน้าสู่ด้านหลัง และลูบกลับจากด้านหลังสู่ด้านหน้า”

บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์ และมุสลิม 

10. ถูตามซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า

ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“จงอาบน้ำละหมาดให้ทั่วถึง และจงถูกตามซอกนิ้วต่างๆ”

บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ อบูดาวู๊ด อิบนุมาญะฮ์ และอันนะซาอีย์ 

11. ปฏิบัติทางด้านขวาก่อน

การอาบน้ำละหมาดนั้นให้ปฏิบัติจากทางด้านขวาก่อนเสมอ ทั้งมือและเท้า ดังมีหะดีษรายงานว่า :

“ท่านนบี(ซ.ล.) ชอบที่จะปฏิบัติจากทางด้านขวาก่อนเสมอ ทั้งในการสวมรองเท้าและการอาบน้ำละหมาด”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

12. ล้างสามครั้ง

 ล้างอวัยวะทุกส่วนสามครั้ง เช่นล้างหน้า ล้างมือ และเท้า

13. กล่าวดุอาอ์เมื่อเสร็จสิ้นจากการอาบน้ำละหมาด ดังต่อไปนี้

“ข้าพระองค์ขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ไม่มีภาคีใดๆกับพระองค์ และข้าพระองค์ขอปฏิญาณตนว่า แท้จริง ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) เป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์”

ผลที่จะได้รับจากการอ่านดุอาอ์บทนี้คือ ประตูสวรรค์จะเปิดรับเขา ดังที่ท่านร่อซูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“ประตูสวรรค์ทั้งแปด จะเปิดให้เขาได้เข้าไปตามที่เขาทรารถนา”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม 

14. อาบน้ำละหมาดจากที่บ้าน

ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“ผู้ที่อาบน้ำละหมาดจากที่บ้านและเดินจากบ้านไปยังมัสยิด เพื่อทำการละหมาดฟัรฎู ทุกๆย่างก้าวของเขาที่แตะลงบนพื้นดินนั้นจะลบล้างความผิดให้ ส่วนทุกๆ ย่างก้าวของเขาที่เขาก้าวไปนั้น จะได้รับการเพิ่มพูนผลบุญให้”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม 

15. การลูบไล้และถู

โดยใช้มือลูบล้ำไปตามอวัยวะที่อาบน้ำละหมาด เพื่อให้เกิดความสะอาดหมดจด

16. การใช้น้ำอย่างประหยัด

“ท่านนบี(ซ.ล.) อาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำเพียง 1 มุด(ประมาณ 1 ลิตร) เท่านั้น”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

17. ล้างมือและเท้าให้เกินไปจากขอบเขตที่ถูกกำหนด

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ อาบน้ำละหมาดโดยล้างมือของท่าน เกินเลยไปถึงต้นแขน และล้างเท้าของท่านเกินเลยไปถึงหน้าแข็ง และท่านก็ได้กล่าวว่า “การอาบน้ำละหมาดเช่นนี้แหละที่ฉันได้เห็นจากท่านร่อซูล(ซ.ล.)”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม 

18. ละหมาดสองร็อกอะฮ์กลังอาบน้ำละหมาด

ดังที่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“ผู้ใดที่อาบน้ำละหมาดเช่นเดียวกับการอาบน้ำละหมาดของฉัน ต่อจากนั้นเขาก็ละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ โดยที่เขาไม่ได้นึกถึงสิ่งอื่นๆ นอกจากการละหมาด อัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ให้แก่เขา”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

และในบันทึกของอิมามมุสลิม ซึ่งรายงานจากท่านอุกบะฮ์ อิบนุ อามิร ได้กล่าวว่า :

“นอกเสียจากจะได้รับสวรรค์เป็นการตอบแทน(หากเขาทำเช่นนั้น)”

19. อาบน้ำละหมาดให้ทั่วถึง

หมายความว่า การล้างนั้นจะต้องให้น้ำเข้าถึงอวัยวะทุกส่วนอย่างแท้จริง

เรื่องการอาบน้ำละหมาดนั้น มุสลิมทุกๆคนจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งหลายครั้ง เฉพาะละหมาดฟัรฎูก็ 5 ครั้งไปแล้ว แต่สำหรับมุสลิมบางท่าน อาจจะละหมาดเกินกว่า 5 ครั้งในแต่ละวัน เช่น เขาอาจละหมาดฎุฮา หรือกิยามุลลัยล์ ฯลฯ และทุกๆครั้ง ที่อาบน้ำละหมาดเขาได้ปฏิบัติตามซุนนะห์อย่างครบถ้วน แน่นอน เขาจะได้รับผลบุญการตอบแทนอันมากมายมหาศาล อินชาอัลลอฮ์

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามซุนนะห์ในการอาบน้ำละหมาด

ผู้ที่อาบน้ำละหมาดตามซุนนะห์นั้น เขาจะมีลักษณะตามที่ท่านร่อซูล(ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ในหะดีษดังต่อไปนี้

 “ผู้ใดที่อาบน้ำละหมาดโดยกระทำอย่างดีครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนั้น ความผิดของเขาก็จะออกจากตัวของเขา แม้กระทั่งที่ติดอยู่ภายใต้เล็บของเขาก็จะหลุดออกไปด้วย”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม

ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวอีกว่า :

“ไม่มีใครในหมู่พวกท่านที่อาบน้ำละหมาดเป็นอย่างดี ต่อจากนั้นก็ละหมาดสองร็อกอะฮ์ โดยที่เขามุ่งหาอัลลอฮ์ด้วยหัวใจและใบหน้าของเขา นอกจากสวรรค์จะเป็นที่พำนักของเขา และเขาก็จะได้รับการอภัยโทษอีกด้วย”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม

อิมามอันนะวะวีย์ ได้กล่าวว่า : การที่เราได้รับผลตอบแทนที่ดีงามนี้ ก็เนื่องมาจากเราได้เพียรพยายามเอาชนะจิตใจให้หลุดพ้นจากการล่อลวงของชัยฏอน และเราได้ทำการอาบน้ำละหมาดเป็นอย่างดีนั่นเอง

https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด