มุสลิมประจานคนอื่นในเฟสบุ๊ค บาปหรือไม่ ?


10,972 ผู้ชม

คนประเภทนี้ เป็นคนที่อันตรายและน่ารังเกียจมากในอิสลาม เพราะเขาเป็นคนเริ่มต้นจุดไฟแห่งฟิตนะห์ จนทำให้คนอื่นตามสิ่งที่เขาประจานไป และสมรู้ร่วมคิดไปกับเขาด้วย จนนำไปสู่ความอัคติและความเกลียดชังต่อบุคคลนั้นๆ


มุสลิมประจานคนอื่นในเฟสบุ๊ค บาปหรือไม่ ?

ประจานคนอื่นในเฟสบุ๊คได้หรือไม่ ?
ตอบโดย ดร.อัสรี มุฟตีย์เปอร์ลิส และนักวิชาการชำนาญทางด้านฮาดิษ

ในสังคมแห่งยุคโซเชียลนี้ สิ่งที่แย่ที่สุด คือ การเปิดเผยสิ่งไม่ดีของคนอื่นต่อหน้าสาธารณะ

คนประเภทนี้ เป็นคนที่อันตรายและน่ารังเกียจมากในอิสลาม เพราะเขาเป็นคนเริ่มต้นจุดไฟแห่งฟิตนะห์ จนทำให้คนอื่นตามสิ่งที่เขาประจานไป และสมรู้ร่วมคิดไปกับเขาด้วย จนนำไปสู่ความอัคติและความเกลียดชังต่อบุคคลนั้นๆ

ท่านนบีได้กล่าวว่า   “บุคคลใดเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี แล้วมีบุคคลอื่นทำตามไปด้วย บุคคลนั้น จะมีบาปเท่ากับจำนวนของผู้คนที่ทำสิ่งไม่ดีตามเขา” ซึ่งหมายถึงบาปจะติดตัวเขา ตราบใดที่คนอื่นยังตามเขา เช่น กรณีของคนที่ไปประจาน ตราบใด ที่ยังมีคนเห็นด้วยกับเขา และเอาไปพูดต่อ ทั้งแชร์ คอมเม้น หรือนินทากัน ตราบนั้นคนที่ประจาน จะรับบาปกรรมติดตัวไปจนถึงวันกียามะห์ แม้ต่อให้เขาตายไป บาปก็จะตามถึงในกูโบร์ ถ้าตราบใดที่ยังมีคนพูดถึงในสิ่งที่เขานั้นเป็นต้นเหตุไปประจานคนอื่น นาอูซูบิลลาฮีมินซาลิก

อัลลอฮทรงตรัสว่า وَلَا تَجَسَّسُوا۟ “และพวกเจ้าอย่าสอดแนม“ นั่นก็คือการขุดขุ้ย อยากรู้อยากเห็นเรื่องไม่ดีของคนอื่น ดังนั้น เราต้องระวังให้มากๆ คนประเภทนี้

แต่ในทางกลับกัน กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น้อยมากที่จะมีคนห้ามปราม แถมกลับมีคนสมรู้ร่วมคิด มิหนำซ้ำ กลายเป็นคนตาบอดด้วยซ้ำไป คิดว่า การประจานคนอื่นนั้นถูกต้อง ด้วยการเอาข้ออ้างมาบังหน้าว่า เพื่อต้องการลงโทษคนทำผิด หรือเพื่อจะให้สังคมรับรู้ และต้องระวัง ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเลย นี่แหละคือผลสำเร็จของไซตอน ที่หลอกฝ่ายต่างๆให้เกิดการเข้าใจผิดและมีความเกลียดชังในหมู่มุสลิมด้วยกัน บวกกับค่านิยมที่ถูกปลูกฝังด้วยความคิดแบบญาฮีลียะห์โดยไม่รู้ตัว เวลาเกิดปัญหาอะไรก็ฟูมฟาย แก้ปัญหานั้นด้วยการประจานกันในเฟสบุ๊ค

ท่านนบีกล่าวว่า :

‎“ وَمَنْ سَتَرَ مُسْلِـماً سَتَرَهُ الله فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ“

ใครก็ตามที่ปกปิด(เรื่องราวที่ไม่ดีของมุสลิม)อัลลอฮก็จะปกปิดเรื่องราวที่ไม่ดีของเขาในดุนยาและอาคีเราะห์”(หะดิษซอเฮี๊ยะ โดยอิหม่ามอะหมัด, ซอเฮี๊ยะ อัลญามียฺ 6287)

อุลามาอ์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “ในขณะเดียวกัน หากเขาเปิดเผยเรื่องไม่ดีของคนอื่น อัลลอฮก็จะเปิดเผยเรื่องไม่ดีของเขาเช่นกัน” ดังนั้น จงระวังบุคคลที่ประจานคนอื่น เพราะอีกไม่นาน อัลลอฮก็จะให้เขาถูกประจานในดุนยาเช่นกัน และหากเราสังเกตุดีๆแล้ว คนที่ประจานคนอื่น หรือนินทาคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วก็ไปไม่รอด และมักพบกับจุดจบที่สกปรกเช่นกัน

**จุดยืนของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่เห็นการประจานเกิดขึ้น

1.ต้องห้ามปราม ไม่ใช่เห็นด้วย หรือ แชร์ คอมเม้นตามคนอื่น

2.เราต้องตักเตือนคนที่ประจาน และให้ทางออกแก่เขาด้วยการแก้ปัญหาในแบบอิสลาม

3.อย่าเอาไปพูดต่อ หรือนินทากันลับหลัง เพราะจะทำให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม

4.อย่าหูเบา หรือเชื่อกับเนื้อหาที่เขาประจาน แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม แล้วนับประสาอะไรถ้าหากไม่ใช่ความจริง

5.จงออกห่างจากบุคคลที่ชอบประจานคนอื่น เพราะคนประเภทนี้จะปากไว และเป็นบุคคลอันตราย และเราอาจเป็นเหยื่อคนต่อไปที่จะถูกเขาประจานก็ได้

**จุดยืนของคนที่ไปประจาน

1.จงหันมาแก้ปัญหาแบบซุนนะห์นบี เพราะไม่เคยมีในอัลกุรอานและในฮาดิษ ที่สั่งใช้ให้แก้ปัญหาด้วยการประจานผู้อื่น และจงหยุดประจาน เพราะการประจานจะมีผลต่อชีวิตท่านทั้งในดุนยาและวันอาคีเราะห์ ตราบใดที่ยังมีคนหูเบา เชื่อ และเอาไปพูดต่อๆกัน

2.จงรีบเร่งไปสู่การเตาบัต และไม่ย้อนกลับไปประจานผู้อื่นอีกเป็นอันขาด

**จุดยืนของคนที่ถูกประจาน

1.จงอดทน เพราะในกุรอาน กล่าวคำว่า "ฟิตนะห"์ 114 ครั้ง และกล่าวคำว่า "อดทน" 114 ครั้งเช่นกัน

2.อย่าตอบโต้ นอกจากการตอบโต้ด้วยสิ่งที่ดี นั่นคือการเงียบ

3. อย่าไปสนใจ หรือแคร์กับคำพูดของบุคคลที่เคลือนไหวโจมตีเราในเฟสบุ๊คหรือที่อื่นๆ ทั้งคนประจาน และคนแชร์ และให้ปลีกตัวเองจากสังคมสกปรกแบบนั้น ด้วยการเอาเวลาไปรักษาความสัมพันธ์ของท่านกับอัลลอฮ แล้วความสัมพันธ์ของท่านกับมนุษย์ก็จะดีเอง

4.หมั่นอิสติฆฟารและเตาบัตต่ออัลลอฮให้มากๆ

และท่าน ดร.อัสรี ได้ทิ้งท้ายว่า “จงรำลึกถึงเรื่องราว ของหญิงโสเภนี ในฮาดิษจากท่านอาบูฮูร็อยเราะห์ร.ฎ ท่านนบี ซ.ล ได้เล่าถึง สตรีโสเภณีคนหนึ่งตักน้ำให้สุนัขตัวหนึ่งดื่ม อันเนื่องจากสุนัขตัวนั้นหิวแต่ไม่สามารถดื่มน้ำในบ่อน้ำนั้นได้ นางจึงให้รองเท้าของนางตักน้ำให้มันดื่ม ท่านนบีจึงกล่าวว่า การกระทำข้างต้นนางได้รับสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน อัลลอฮูอักบัร

เรื่องนี้ บอกให้เรารู้ว่า ความเมตตาของอัลลอฮนั้นยิ่งใหญ่ กว่าบาปที่บ่าวของพระองค์ได้ทำไป ถึงขนาดสตรีโสเภณี ที่ให้สุนัขดื่มน้ำ เป็นเหตุให้อัลลอฮให้เขาเข้าสวรรค์ และอีกเรื่องราวหนึ่ง ที่เราทุกคนต่างรู้ดี เกี่ยวกับฆาตกร 100 ศพ ที่ได้รับการให้อภัยจากอัลลอฮ ดังในฮาดิษที่รายงานโดยอีหม่ามบูคอรี

ดังนั้นจากบทเรียนทั้งสองฮาดิษนี้ คงเพียงพอแล้วที่จะให้เราเข้าใจว่า ต่อให้บ่าวเคยทำชั่วมากแค่ไหน หากอัลลอฮกำหนดจะให้เขาเป็นชาวสวรรค์แล้ว ไม่วันใดวันหนึ่ง เขาจะกลับไปหาอัลลอฮ

เราจะต้องละเอียดอ่อนและต้องระมัดระวังในเรื่องการฮูกมหรือตัดสินคนอื่นในแง่ร้ายให้มากๆ บางทีวันนี้เราอาจเห็นเขาในสภาพที่ชั่ว แต่ใครจะไปรู้ในวันข้างหน้า เขาอาจจะเป็นคนดี คนที่อัลลอฮรักและใกล้ชิดกับอัลลอฮมากกว่าเรา อย่างเช่น หญิงโสเภณี และชายฆาตกร 100 ศพ ที่แม้นจะกระทำบาปใหญ่แค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็กลายเป็นชาวสวรรค์

และนับประสาอะไรกับคนๆหนึ่ง ที่ทำผิดเล็กน้อย เปรียบไม่ได้เลยกับสตรีโสเภณีและชายฆาตกร100ศพ ดังนั้น แน่นอน เขาย่อมได้รับสิทธิการให้อภัยอย่างไม่ต้องสงสัย อีหม่ามอิบนุก็อยยิม ได้กล่าวว่า “เมื่อบ่าวทำผิด แล้วเขาก็เตาบัต เสมือนว่าเขานั้นเป็นคนที่ไม่มีบาป”

อัพเดทล่าสุด