ทำไม มุสลิมถึงห้ามกินดอกเบี้ย ?


16,716 ผู้ชม

บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงละเว้นริบา(ดอกเบี้ย) ที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรับรู้ถึงสงครามจากอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้วสำหรับพวกเจ้าก็คือต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรม และไม่ถูกอธรรม


ดอกเบี้ย ( Interest) คือ   เงินที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโดยการคำนวณเป็นอัตราร้อยละต่อปี ในทางเศรษฐศาสตร์ ดอกเบี้ยเป็นเครื่องควบคุมอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย คือ เมื่อใดที่เกิดอัตราเงินเฟ้อขึ้น แสดงว่า มีปริมาณเงินในตลาด(หมายถึงเงินในมือประชาชน)จำนวนมาก และสินค้าจะราคาแพงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ ทำให้เงินได้ออกจากตลาดไป ปริมาณเงินจะลดลง เงินเฟ้อก็จะลดลง

ดอกเบี้ย หรือ ริบา ข้อห้ามที่ระบุไว้ในอัลกรุอ่าน

ริบา (Riba)  คือ การเกินเลย ส่วนเพิ่ม ในการทำธุรกรรม ที่จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการทำธุรกรรม แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดอกเบี้ย (interest) ถือเป็นส่วนหนึ่งของริบา (Riba) ริบาถือเป็นบาปใหญ่ประเภทหนึ่ง ดังได้ถูกห้ามและพระเจ้าได้ประกาศสงครามกับผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย โดยระบุไว้ในอัลกรุอ่าน ความว่า

“โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่ากินริบา(ดอกเบี้ย) หลายเท่าที่ถูกทบทวี และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

(อาละอิมรอน: 130) 

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงละเว้นริบา(ดอกเบี้ย) ที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรับรู้ถึงสงครามจากอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้วสำหรับพวกเจ้าก็คือต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรม และไม่ถูกอธรรม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 278-279) 

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมมุสลิม หรือคนอิสลามจึงได้กลัวหรือต้องหลีกเลี่ยงดอกเบี้ย และต้องการระบบการเงินอิสลามที่ปราศจากดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากฮาดิษ ดังนี้

ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)ได้กล่าวว่า “ผู้ใช้ ผู้ให้ ผู้บันทึก และผู้เป็นพยาน ในเรื่องของริบา (ดอกเบี้ย) ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นผู้ที่ได้รับการสาปแช่งและเป็นผู้ที่ล้มเหลว”

(รายงานโดยมุสลิม, อบูดาวุด, อิบนุมาญะฮฺ, นาซาอี, อะหมัด)

ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)ได้กล่าวว่า “ดอกเบี้ยนั้นแบ่งออกเป็น 99 แขนง อย่างต่ำสุดของมันมีโทษร้ายแรง ดังเช่นคนๆหนึ่ง ร่วมเพศกับแม่ของเขา”  บันทึกฮาดิษโดยอัดดารุกุฏนี

ไม่เพียงแต่ศาสนาอิสลามเท่านั้นที่ห้ามเรื่องดอกเบี้ย เนื่องจากความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนั้นได้ถูกห้ามไว้ในศาสนาคริสต์และศาสนายิวมาก่อนแล้วเช่นกัน

ทำไม มุสลิมถึงห้ามกินดอกเบี้ย ?

ทำไม มุสลิมถึงห้ามกินดอกเบี้ย ?
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า  อิสลามกับดอกเบี้ยเป็นคู่กัน ‘‘ไม่ว่าใครจะจำภาพ ชายอินเดียชุดขาวโพกหัวพูดไทยไม่ชัดคอยไล่ขูดดอกเบี้ยชาวบ้าน’’ มาจากการ์ตูนขายหัวเราะ หรือเกมโชว์ในทีวี หรือจำมาจากตลกคาเฟ่ ขอให้ลองลืมๆ ไปก่อนนะครับ เพราะสิ่งที่ท่านจะได้อ่านในย่อหน้าต่อไป มันค่อนข้างจะขัดกับภาพลักษณ์เหล่านั้นมากทีเดียว (ใครที่เคยเข้าใจแบบนั้นผมก็ไม่โกรธหรอกครับ... อิสลามเป็นศาสนาที่ถูกเข้าใจผิดในเกือบทุกเรื่องอยู่แล้ว)
‘‘ผู้ใดที่กินดอกเบี้ย ถือว่าผู้นั้นได้ประกาศสงครามกับพระเจ้าของเขาแล้ว’’ นี่เป็นธรรมนูญของอิสลามครับ อิสลามถือว่าการกินดอกเบี้ยเป็นความผิด เป็นบาปขั้นรุนแรงที่เดียวครับ ถึงได้เปรียบเทียบผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้เสมือนกับว่าเขาประกาศสงครามกับพระเจ้าของเขาเลยทีเดียว
เหตุผล?
ผู้ที่กู้ ผู้ที่หยิบยืมคนอื่น ในทัศนะอิสลามถือว่าเขาเป็นคนเดือดร้อนครับ และการหากำไรจากผู้เดือดร้อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พระเจ้าทรงสร้างให้มีคนรวยและคนจนก็เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อิสลามจึงสนับสนุนในคนมั่งมีหยิบยื่นให้คนขัดสนโดยปราศจากการหวังสิ่งตอบแทน (ดอกเบี้ย) มีหนำซ้ำอิสลามยังส่งเสริมให้เจ้าหนี้ยกหนี้ให้กับลูกหนี้อีกด้วยถ้าเจ้าหนี้มีความสามารถ ทั้งนี้ถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน เป็นการเชื่อมสังคมในสมัครสมานเป็นเนื้อเดียวกัน
ในโลกแห่งความเป็นจริง การเปิดโอกาสให้หยิบยืมเงินกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอาจเป็นเรื่องยาก อาจจะมีคนรวยน้อยคนที่จะใจบุญเช่นนั้น แต่ก็ใช่ว่าระบบไร้ดอกเบี้ยจะเป็นเพียงวิมานในอากาศนะครับ ยังมีระบบการกู้ยืมแบบไร้ดอกเบี้ยที่ใช้งานได้จริง และกำลังได้รับความนิยมอย่างมากนั่นคือ ‘‘ระบบธนาคารอิสลาม’’
ผมขอทำความเข้าใจเรื่อง ‘‘เส้นขั้นระหว่างการค้ากับดอกเบี้ย’’ ก่อนดีกว่าครับ
การค้า... คือการซื้อขายสินค้าโดยใช้เงินเป็นตัวกลาง
ดอกเบี้ย... คือการซื้อขายเงิน
เพราะฉะนั้น ‘‘การกินดอกเบี้ยเป็นข้อห้าม และการค้าขายเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ’’ ธนาคารอิสลามทั่วโลกจึงเกิดขึ้นด้วยหลักการนี้ โดยเป็นธนาคารที่ไร้ดอกเบี้ยนี้ไม่ได้เป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ แต่เป็นแหล่งทุนที่จะเสนอตัวลงไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบกิจการที่ต้องการทุน เมื่อผู้ประกอบกิจการร่วมกับธนาคารอิสลามดำเนินธุรกิจจนได้กำไร กำไรนั้นก็จะถูกแบ่งให้กับผู้ประกอบกิจการและแบ่งให้ธนาคารอิสลามในฐานะผู้ร่วมลงทุนแต่ตรงกันข้าม ถ้าธุรกิจที่ร่วมกันทำนั้นขาดทุนทั้งผู้ประกอบกิจการและธนาคารอิสลามก็ต้องขาดทุนด้วยกันทั้งสองฝ่าย นี่คือความยุติธรรมที่เป็นข้อแตกต่างกับธนาคารระบบดอกเบี้ยที่ทำกำไรจากเงิน ไม่ได้ทำกำไรจากผลิตภัณฑ์
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ผมได้ยินแว่วๆ จากนักเศรษฐศาสตร์บางคนว่า ระบบดอกเบี้ยทำให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็ไอ้ระบบดอกเบี้ยนี่แหละ จะทำให้เศรษฐกิจโลกทลายลงอย่างรวดเร็วเช่นนั้น
ความจริงผมก็ไม่ได้เชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนนั้นหรอก ผมเชื่อพระเจ้าของผมมากกว่า ว่าการที่พระองค์ทรงไม่ให้ผมยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย (ทั้งกินดอกเบี้ยและจ่ายดอกเบี้ย) นั่นเป็นปรารถนาดีจากพระองค์อย่างแน่นอน

ที่มา:  islamicfinancethai.com , อิสลามกับคำถามที่คุณอยากรู้คำตอบ

อัพเดทล่าสุด