เมื่อเดือนรอมฎอนจากไปแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร


3,624 ผู้ชม

เมื่อเดือนรอมฎอนจากไปแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ตอบข้อสงสัย ดังนี้...


เมื่อเดือนรอมฎอนจากไปแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

บทความโดย:  โดย  อิบนุฮาซัน

ขอให้พี่น้องมุสลิมจงตั๊กวาต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. ด้วยความจริงใจและจงซุโกรต่อพระองค์ให้มากๆที่พระองค์ทรงโปรด ปรานให้เราได้มีชีวิตมาถึงวันนี้ และโปรดปรานให้เราแต่ละคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถทำอิบาดะห์ต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. ทั้งภาคฟัรดู และสุนัต ตลอดมา สามารถถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ครบถ้วน โดยได้ถือศีลอดทั้งกาย วาจาและใจ ละหมาดฟัรดูอย่างสม่ำเสมอได้ไปมัสยิดเพื่อมาละหมาดตะรอเวิ๊ยะห์ร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง อ่านกุรอานได้มากกว่าเดือนอื่นๆ ได้ทำซิกรุลเลาะห์ร่วมกัน และขอดูอาร่วมกันเป็นประจำทุกๆคืนตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ซึ่งทุกคนต่างก็หวังในความเมตตา และหวังที่จะได้รับความโปรดปรานจากอัลเลาะห์ ซ.บ. แต่บรรยากาศอย่างนี้ได้สะดุดหยุดลงเมื่อพ้นเดือนรอมฎอนไปแล้ว

ดังนั้นขอให้ทุกคนจงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าเราเพียงแต่จะปล่อยให้เดือนรอมฏอนและการถือศีลอดผ่านไปเท่านั้น ส่วนการประพฤติปฏิบัติอิบาดะห์ต่างๆต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. ทั้งภาคฟัรดู และสุนัต ที่เราได้กระทำกันในเดือนรอมฎอนนั้นขอให้กระทำกันต่อไปเป็นประจำ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ไปกระทำร่วมกันที่มัสยิดเราก็สามารถที่จะกระทำที่บ้านพร้อมกับคนในครอบครัวได้ตลอดเวลา หากเราได้นำบรรยากาศแห่งเดือนรอมฎอนมาประพฤติปฏิบัติให้ได้เป็นประจำตลอดเวลาเราทุกคนก็จะได้รับความเมตตาและความโปรดปราน จากอัลเลาะห์ ซ.บ. อย่างแน่นอน อินซาอัเลาะห์  

แต่ถ้าใครยังไม่ได้สร้างสมคุณงามความดีไว้เป็นเสบียงสำหรับตัวเองเพื่อวันอาคีเราะห์และวันกียามะห์ ก็ขอให้จงเร่งรีบทำอิบาดะห์ด้วยความตั้งใจและจริงใจต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. เสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะว่าเราจะมีชีวิตยืนยาวไปจนกระทั่งได้พบกับรอมฎอนในปีหน้าหรือไม่ก็ไม่สามารถจะทราบได้ การสร้างสมคุณงามความดีที่สำคัญที่สุดก็คือ การละหมาดฟัรดูห้าเวลาให้ครบถ้วน และทำอิบาดะห์ที่เป็นฟัรดูทุกประเภทตามหลักปฏิบัติ(รุก่นอิสลาม)ให้ครบถ้วน เพราะเป็นฟัรดูเหนือมุสลิมที่บรรลลุศาสนภาวะแล้วทุกคน

เมื่อเดือนรอมฎอนจากไปแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ประการถัดไปก็คือการทำอิบาดะห์ประเภทสุนัตหรือประเภทอาสา เช่น การละหมาดสุนัดต่างๆ การอ่านกุรอานพร้อมกับศึกษาความหมายของกุรอานเพื่อนำไปปฏิบัติ การกล่าวซิกรุลเลาะห์  กล่าวตัสเบิ๊ยะห์ ตะห์มี๊ด ตะห์ลี้ล

ทั้งนี้อัลเลาะห์ ซ.บ.ทรงสรัสในอซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 103 ดังนี้

فَإِذَا قَضَيْتُمُ الصَّلاةَ فَاذْكُرُواْاللَّهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَى جُنُوبِكُمْ 

ความว่า เมื่อพวกเจ้าเสร็จจากการละหมาดแล้วจงรำลึก(ซิเก็ร)ถึงอัลเลาะห์ ซ.บ. ทั้งในเวลายืน เวลานั่ง และเวลานอน

นอกจากนี้ต้องพูดจาในสิ่งที่ดีๆ โดยใช้กริยาวาจาที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ทำซอดะเกาะห์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนยากจน เตาบะห์ตัวต่ออัลเลาะห์ ซ.บ. ในการที่ได้กระทำผิดต่างๆ อิสติกฟ๊าสขอภัยโทษต่ออัลเลาะห์ ซบ. และวิงวอนขอดูอาต่อพระองค์ ทั้งนี้ อัลเลาะห์ ซ.บ. ทรงตรัสในอัลกุรอานซูเราะห์ ฆอฟิ๊ร อายะห์ที่ 60 ว่า

وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ 

ความว่า พระเจ้าของพวกเจ้าทรงตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อพระองค์ซิ แล้วพระองค์จะตอบรับพวกเจ้า ส่วนบรรดาผู้ที่โอหังไม่เคารพภักดีต่อพระองค์นั้น  พวกเขาจะต้องเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต่ำต้อยและใน ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ อายะหที่ 186 พระองค์ทรงตรัสว่า

وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ 

ความว่า เมื่อปวงบ่าวของพระองค์ถามเจ้าถึงพระองค์แล้วโอ้มุฮำหมัด จงตอบเถิดว่า แท้จริงพระองค์ทรงอยู่ใกล้เขา พระองค์จะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระองค์

เมื่อเดือนรอมฎอนได้จากไปแล้วและเข้าสู่เดือนเซาวั้ลมีสุนัดให้ถือศีลอดในเดือนเซาวั้ลอีกหกวันดังมีฮะดิษในซอเฮิ๊ยะห์มุสลิมจากท่านบี ซ.ล. ดังนี้

مَنْ صَا مَ رَ مَضَانَ ُثُمُّ اَتْبَعَهُ مِنْ شَوَّالِ كَا نَ كَصِيَا مِ الدَّ هْرِ

ความว่า บุคคลใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและถือศีลอดในเดือนเซาวั้ลต่อไปอีกหกวันจะได้รับภาคผลประดุจดังเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องถือศีลอดในเดือนเซาวั้ลต่อไปอีกหกวัน

นอกจากนี้สำหรับท่านที่มีซะกาต หรือมีเงินเก็บไว้ครบรอบปีและครบพิกัดตามบัญญัติแห่งศาสนาและยังไม่ได้จ่ายซะกาต ก็ขอให้จ่ายซะกาตให้ครบถ้วนแก่ผู้มีสิทธิต่อไป   สำหรับการจ่ายซะกาตนั้นอัลเลาะห์ ซ.บ. ได้ทรงตรัสในอัลกุรอานซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 60 ดังนี้

إِنَّمَا الصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاءِ وَالْمَسَاكِينِ وَالْعَامِلِينَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمْ وَفِي الرِّقَابِ وَالْغَارِمِينَ وَفِي سَبِيلِ اللَّهِ وَابْنِ السَّبِيلِ فَرِيضَةً مِّنَ اللَّهِ وَاللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ 

ความว่า ซะกาตนั้น เป็นสิทธิ์ของ (1)คนยากไร้ (2)คนยากจน (3)อามิ้ลคือเจ้าหน้าที่จัดการซะกาต (4)มุอัลลั๊ฟ คือผู้ศรัทธาใหม่หรือมีใจโน้มเอียงที่จะเข้ารับอิสลาม (5)ทาสที่ต้องการไถ่ตัว (6)คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว (7)ซะบีลิ้ลละห์คือในหนทางของศาสนา (8)คนเดินทางที่ขาดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อันเป็นข้อบัญญัติของอัลเลาะห์ ซ.บ.  และอัลเลาะห์ ซ.บ. นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง ผู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง

ขอดุอาอฺให้ทุกท่านได้รับความโปรดปรานจากอัลเลาะห์ ซ.บ. โดยทั่วกัน

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21158

อัพเดทล่าสุด