นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กับปรากฏการณ์ฟ้าผ่าสองครั้ง


13,862 ผู้ชม

ฟ้าผ่า  เกิดจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าในบรรยากาศ เริ่มจากการมีพายุหรือลมแรงเกิดขึ้นก่อน เมื่อลมซึ่งประกอบไปด้วยโมเลกุลของแก๊สชนิดต่างๆพัดผ่านพื้นดินหรืออาคาร


นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กับปรากฏการณ์ฟ้าผ่าสองครั้ง

นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กับปรากฏการณ์ฟ้าผ่าสองครั้ง

“เจ้าไม่เห็นหรอกหรือว่าฟ้าผ่านั้นวิ่งลงมาและสวนกลับขึ้นไปในเวลาชั่วพริบตา” นี่คือคำพูดของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) บันทึกเป็นหะดิษไว้ ฟังผ่านๆคล้ายเป็นคำพูดปกติ แต่เมื่อคิดวิเคราะห์จะพบว่าท่านนบีกล่าวถึงฟ้าผ่าสองครั้ง นั่นคือผ่าจากฟ้าลงดินและจากดินขึ้นฟ้า โดยเกิดขึ้นแทบจะในเวลาเดียวกันทำให้คนทั่วไปสังเกตไม่เห็น มาถึงวันนี้นักวิทยาศาสตร์ต่างมีข้อสรุปตรงกันว่าฟ้าผ่าสองครั้งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในเวลาห่างกันเพียงไม่กี่มิลลิวินาที โดยเกิดจากการเคลื่อนที่อย่างฉับพลันของอิเลคตรอนหรือประจุลบไปยังจุดที่มีประจุไฟฟ้าขั้วบวกอยู่มาก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งในเมฆก้อนเดียวกันหรือระหว่างก้อนเมฆสองก้อนหรือระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน สิ่งที่เห็นคือฟ้าแลบหรือไม่ก็ฟ้าผ่าที่ตามมาด้วยเสียงฟ้าร้องคำราม

ฟ้าผ่า  เกิดจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าในบรรยากาศ เริ่มจากการมีพายุหรือลมแรงเกิดขึ้นก่อน เมื่อลมซึ่งประกอบไปด้วยโมเลกุลของแก๊สชนิดต่างๆพัดผ่านพื้นดินหรืออาคาร โมเลกุลของแก๊สวิ่งขัดสีกับพื้นดินหรือวัตถุอย่างรวดเร็วทำให้อิเลคตรอนด้านนอกสุดของโมเลกุลในพื้นดินหรือวัตถุพากันหลุดลอยออกไปตามลมทำให้พื้นดินแปรสภาพเป็นประจุไฟฟ้าบวก โมเลกุลพวกนี้เคลื่อนที่ได้ไม่ง่ายนักจึงมักเป็นฝ่ายอยู่นิ่งไม่ไปไหน ขณะที่อิเลคตรอนมีขนาดเล็กกว่ามากจึงไหลหลุดออกไปได้ง่าย

อิเลคตรอนเมื่อถูกพัดลอยขึ้นสูงจนสัมผัสกับท้องก้อนเมฆที่ลอยอยู่ไม่สูงนักในอากาศยามใกล้ฝนตก เมฆเหล่านี้เต็มไปด้วยโมเลกุลของไอน้ำซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีกว่าอากาศ อิเลคตรอนจึงถูกไอน้ำบริเวณด้านท้องก้อนเมฆดึงไว้ ด้านล่างของก้อนเมฆจึงมีสภาพประจุไฟฟ้าเป็นลบ มีการดึงอิเลคตรอนจากโมเลกุลของไอน้ำด้านบนก้อนเมฆให้ถ่ายเทลงมาเพิ่มเติมอีก บริเวณท้องก้อนเมฆจึงมีสภาพเป็นประจุลบมากขึ้น

อิเลคตรอนสะสมบนก้อนเมฆอยู่มากขณะที่พื้นดินกลายสภาพเป็นประจุบวก ผลคืออิเล็คตรอนจากด้านล่างของก้อนเมฆเคลื่อนที่ลงสู่พื้นดินด้วยความเร็วสูงเกิดแรงผลักอากาศให้แยกออกจากกันอย่างรวดเร็วและเมื่ออากาศเคลื่อนที่กลับมากระทบกันจะเกิดเสียงดังขึ้น โดยมีประกายไฟเกิดขึ้นด้วยนี่คือปรากฏการณ์ฟ้าผ่าอย่างที่เห็นกันอยู่ อิเลคตรอนที่ถ่ายเทลงสู่พื้นดินมีปริมาณมากกว่าประจุบวกที่อยู่บนพื้นดินหลายเท่า เกิดการนำอิเลคตรอนจากเมฆลงมาสะสมบนพื้นดินด้วยความเร็วในระดับแสนกิโลเมตรต่อวินาที ทำให้พื้นดินเปลี่ยนสภาพจากประจุบวกเป็นประจุลบ ขณะที่ก้อนเมฆเปลี่ยนสภาพจากลบไปเป็นบวก จึงเกิดการไหลกลับของอิเล็คตรอนจากพื้นดินวิ่งสวนขึ้นไปบนฟ้ากลายเป็นฟ้าผ่าครั้งที่สอง ที่เกิดขึ้นรวดเร็วจนแยกไม่ออกจากครั้งแรก

จากการศึกษาด้วยกล้องความเร็วสูงพบว่าฟ้าที่ผ่าลงมายังพื้นดินและที่ผ่าสวนขึ้นไปยังก้อนเมฆนั้นแบ่งออกเป็นสี่ช่วง คือช่วงการไหลของอิเลคตรอนลงมาหนึ่งช่วง การปรับสมดุลของโมเลกุลบนพื้นดินหนึ่งช่วง การไหลกลับของอิเลคตรอนขึ้นไปยังก้อนเมฆหนึ่งช่วงและการปรับสมดุลของก้อนเมฆเป็นช่วงสุดท้าย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาช่วงเวลาที่สั้นเพียง 0.04 วินาทีหรือ 40 มิลลิวินาทีโดยเกิดสองช่วงๆละ 20 มิลลิวินาที ช่วงเวลาที่ว่านี้นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความเร็วเท่ากับการกระพริบตาซึ่งอยู่ที่ระดับ 20 มิลลิวินาทีพอดิบพอดี การที่นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กล่าวถึงฟ้าผ่าสองครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงพริบตาจึงได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นจริง การพิสูจน์เกิดขึ้นในวันนี้ หลังจากคำกล่าวของท่านเกิดขึ้นเมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมา น่าแปลกใจว่านบีมูฮำมัด (ซ.ล.) บุคคลผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ล่วงรู้เรื่องราวอันมหัศจรรย์พันลึกของธรรมชาติเช่นนี้ได้อย่างไร

บทความโดย:  Dr.Winai Dahlan

อัพเดทล่าสุด