คุณค่าของเดือนเชาวาล ถือศีลอด 6 วัน


11,138 ผู้ชม

เชาวาล เป็นชื่อเดือนที่ 10 ของเดือนอาหรับตั้งแต่ก่อนสมัยอิสลาม


คุณค่าของเดือนเชาวาล ถือศีลอด 6 วัน

เชาวาล شوال คืออะไร

เชาวาล เป็นชื่อเดือนที่ 10 ของเดือนอาหรับตั้งแต่ก่อนสมัยอิสลาม

ความหมายเชาวาล คือ การขัดขืนของอูฐตัวเมียต่ออูฐตัวผู้

มีรากศัพท์มาจาก 

شال يشول

ซึ่งแปลว่า ยกออก 

เช่น

شالت الناقة ذنبها

อูฏตัวเมียยกหางขึ้นเพื่อการผสมพันธ์และเมื่อเกิดการปฏิสนธิ (การหลอมรวมระหว่างนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้กับเซลล์สืบพันธุ์เพศ เมีย ) แล้วมันจะไม่ยอมให้ตัวผู้ผสมพันธ์อีกจนกว่าจะคลอดลูก

เป็นเดือนที่อาหรับยุคก่อนอิสลามถือว่าเป็นลางไม่ดีสำหรับการแต่งงานเพราะ เชื่อว่าฝ่ายหญิงจะขัดขืนต่อฝ่ายชายซึ่งอาจจะนำมาสู่การหย่าร้าง เหมือนอูฐตัวเมียดังกล่าวที่ขัดขืนจนกว่าจะคลอดลูกออกมา

เดือนเชาวาลในทรรศนะอิสลาม

1. เดือนเชาวาลเป็นเดือนที่ 10 หลังจากเดือนรอมาดอนซึ่งเป็นเดือนที่มีการศีลอดวาญิบ จึงเป็นเดือนที่มีการส่งเสิรมให้มีการถือศีลอดเช่นกัน นั่นคือ 6 วัน ของเดือน เสมือนการละหมาดสูนัตหลังละหมาดฟัรดู

คุณค่าของการบวช 6 วันนี้ เสมือนกับคนนั้นบวชตลอดปี

ในฮาดิษมีว่า 

من صام رمضان ثم أتبعه ستاً من شوال كان كصيام الدهر} [رواه مسلم وغيره]

ความหมาย ผู้ใดที่ถือศีลอดเดือนรอมาดอนแล้วต่ออีก 6 วันจากเดือนเชาวาล เสมือนเขาได้บวชตลอดปี

บวช 6 วันนี้เริ่มทำได้จากวันที่ 2 ของเดือนจนถึงวันสุดท้ายของเดือน ผู้ใดบวช 6 วัน จากต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือน ก็จะได้รับผลบุญดังกล่าว

แต่การถือศีลอดตั้งแต่หลังอีดทันทีติดต่อกัน 6 วันนั้นก็เป็นสุนัตอีกต่างหาก ( ตามมัซฮับชาฟีอี ) เพราะจะเป็นการรีบเร่งในการทำความดีตามที่อัลลอฮได้ทรงดำรัสว่า 

وسارعوا إلى مغفرة من ربكم 

และสูเจ้าจงแข่งขันในการได้รับการอภัยโทษจากผู้อภิบาลของสูเจ้า 

และมีในบางฮาดิษด้วย คือ 

من صام ستة أيام بعد الفطر متتابعة فكأنما صام السنة رواه الطبراني

ความหมาย ผู้ใดที่ถือศีลอด 6 วันติดต่อกันหลังวันอีด เสมือนกับเขาถือศีลอดตลอดปี

แม้ฮาดิษนี้ฎออีฟ แต่ก็นำมาใช้ได้ในเรื่องการพูดถึงคุณค่าอามาล

2. เดือนเชาวาลเป็นเดือนที่สุนัตให้มีการแต่งงาน ( ตามมัซฮับชาฟีอี และมาลีกี ) หลักฐานคือ 

عَنْ عَائِشَةَ قَالَتْ تَزَوَّجَنِي النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي شَوَّالٍ وَبَنَى بِي فِي شَوَّالٍ رواه مسلم

นางอาอีชะห์กล่าวว่า นบีได้แต่งงาน( อากัดนีกะห์ ) กับฉันในเดือนเชาวาลและอยู่ร่วมกันกับฉันในเดือนเชาวาล 

อีหม่ามนาวาวีอธิบายว่า นางอาอีชะห์ต้องการจะสื่อว่าประเพณีเดิมของญาฮีลียะห์นั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งเหมือนกับความเห็นของคนทั่วไปบางคนที่ยึดกันว่าการแต่งงานและอยู่ร่วม กันในเดือนเชาวาลเป็นสิ่งมักโระห์ อันเป็นความคิดที่หลงเหลือมาจากสมัยญาฮีลียะห์ ซึ่งพวกเขาถือเดือนเชาวาลเป็นลางไม่ดี 

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวอาหรับก่อนอิสลามไม่ให้คูบ่าวสาวอยูร่วมกันใน เดือนเชาวาล คือ ในสมัยก่อนเคยเกิดโรคระบาดร้ายแรงในเดือนเชาวาล หลังจากนั้นก็เลยขลาดกับเดือนนี้

وقال أبو عاصم: إنما كره الناس أن يدخلوا النساء في شوال لطاعون 

وقع في شوال في الزمن الأول ( طبقات ابن سعد )

หมายเหตุ อีกเดือนหนึ่งที่สูนัตให้มีการแต่งงานคือ เดือน ซอฟัร หลักฐานคือ 

لما روى الزهري " أن رسول الله صلى الله عليه وسلم زوج ابنته فاطمة عليا رضي الله عنهما في شهر صفر

ท่านนบีทำการแต่งงานฟาตีมะห์บุตรีของท่านให้กับท่านอลีในเดือนซอฟัร

3. เดือนเชาวาลเป็นหนึ่งเดือนจากเดือนการทำฮัญจ์ เดือนอื่นอีกคือ ซุลเกาะดะห์ และ 10 วันแรกของเดือน ซุลฮิญญะห์ ดังนั้นผู้ใดต้องการทำฮัญจ์ก็สามารถอิหรอมได้ตั้งวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล

อัพเดทล่าสุด