มัสยิดสวนพลู ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ


4,729 ผู้ชม

มัสยิดสวนพลู สวนพลู ต.บางยี่เรือ ธนบุรี กรุงเทพมหานคร แผนที่  ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ...


มัสยิดสวนพลู สวนพลู ต.บางยี่เรือ ธนบุรี กรุงเทพมหานคร


มัสยิดสวนพลู ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ


ประวัติความเป็นมา มัสยิดสวนพลู

ตั้งอยู่ริมทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย หากเดินทางมาจะอยู่ ซอยเทอดไท 11 ถนนเทอดไท ฝั่งตรงข้ามสำนักงานเขตธนบุรี สาเหตุที่มีชื่อว่า สวนพลู เนื่องจากในอดีตพื้นที่บริเวณนี้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นสวนที่ปลูกต้นพลู เพื่อบริโภคและส่งขาย จนกระทั้งถึงยุคที่มีคำสั่งห้ามคนไทยกินหมาก ทำให้การปลูกพลูต้องเลิกไปมุสลิมในบริเวณมัสยิดสวนพลู ประกอบด้วยมุสลิมเชื้อชาติไทยแต่ดั่งเดิม และเชื้อสายมลายูจากอยุธยา ซึ่งคงอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงแตก เชื้อสายมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากอาณาจักรปัตตานี และมุสลิมจากอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ส่งกองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์ลงไปตีเมืองปัตตานีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นหัวเมืองเอกทางใต้ก่อนถึงแหลมมาลายู ประเทศมาเลเซียบางรัฐ ซึ่งประชาชนไทยรู้จักในขณะนั้นคือ รัฐปะลิศ กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี การตีเมืองตานีในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือบรรพบุรุษของชาวไทยอิสลามรู้จักในนาม “ดาโต๊ะสมเด็จ” ครั้งกระนั้นกองทัพของพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้กวาดต้อนและรวบรวมชาวตานีมายังกรุงเทพด้วย และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นนายกองควบคุมชาวตานีในครั้งนั้นคือ “ตนกูมะหมุด” ซึ่งเป็นชาวไทรบุรี และชาวตานีที่ถูกกวาดต้อนมา ทางการได้จัดที่พักเป็นสัดส่วนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ และธนบุรี ที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดมีอยู่ดังนี้ บริเวณสุเหร่าเก่าสวนหลวง บ้านไทร (อาณาบริเวณคลองตัน) มหานาค บ้านสมเด็จ และคลองบางหลวง ส่วนที่ว่าบางหลวงนั้น ก็คือ ตลอดแนวทางปากคลอง จนถึงบริเวณวัดใหม่ทองคุ้ง (บ้านสวนพลู)

มัสยิดสวนพลู ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ
ในปัจจุบันและเป็นที่ตั้งของมัสยิดสวนพลูในขณะนี้  "มัสยิดสวนพลู" แต่เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เวลาที่ปลูกสร้างไม่แน่ชัด มีลักษณะเป็นรูปทรงแบบทรงแบบเรือนไทย (ปั้นหยา) ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร มีโดมเสาปัง (หอกลอง) เป็นไม้เช่นกัน จนถึงปี พ.ศ.2379 นายฮัจยีโต๊ะชางอ (ชาย) ซึ่งเป็นอิหม่ามอันดับแรกและเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างตัวอาคารแบบไทย (กะฎี) ก่ออิฐถือปูน ซึ่งชาวบ้าน (สัปบุรุษ) ในสมัยนั้นเรียกว่า สุเหร่า หรือ กุฏี (เพราะมีรูปร่างเหมือนกะฎีหรือวิหารทางพุทธศาสนา) ซึ่งลักษณะเช่นนี้ยังมีให้คนรุ่นหลังได้เห็นอีกแห่งเดียวคือ มัสยิดบางหลวง หรือ กุฏีขาว ริมคลองบางหลวงในปัจจุบัน แต่เดิมตัวอาคารที่ก่ออิฐถือปูนมีลักษณะเป็นรูปทรงปั้นหยาเช่นเดียวกับอาคารไม้เดิม ตรงกลางอาคารมีเสากลางเพื่อรับน้ำหนักโครงหลังคา ที่มุงด้วยกระเบื้องโบราณ มีความกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เมื่อ พ.ศ. 2446 จำนวนสัปบุรุษเพิ่มมากขึ้น คณะบริหาร (ทรัสดี) ในยุคนั้นได้ซ่อมแซมปรับปรุงตัวอาคารนี้ด้วยการขยายประตูทางเข้าออกมาอีก รวมความยาวของตัวอาคารเป็น 16 เมตร แต่ความกว้างยังคมเดิมคือ 8 เมตร และได้เปลี่ยนโครงหลังคาใหม่ ใช้กระเบื้องสี่เหลี่ยมขนาด 8x8 นิ้ว

มัสยิดสวนพลู ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ


ในปัจจุบันยังคงใช้บางอาคารอยู่บ้าง และได้รื้อเสากลางออก ทำซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลวดลายไม้ฉลุแบบไทยทั้งหมด รวมทั้งศิลปะเป็นไปตามแบบไทยทุกประการ มัสยิดสวนพลูคือชื่อที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อทางราชการเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2491 ก่อนหน้านั้นเป็นที่รู้จักกันในหมู่ทั่วไปว่า “บ้านสวน” เนื่องจากเป็นมัสยิดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงธนบุรี มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังประมาณ 180 ปี ต่อมา เมื่อมัสยิดได้จดทะเบียนและมีคณะกรรมการบริหาร ตาม พ.ร.บ. มัสยิดอิสลามแล้ว โดยการนำของท่านอิหม่าม ฮัจจีอับดุจฮามิด จุลธีระ ได้ต่อเติมอาคารด้านตะวันออกไปอีก 8 เมตร แต่ยังคงรักษารูปแบบของตัวอาคารเดิมไว้ทุกประการ และได้ปรับปรุงตัวบาแล (เรือนไม้) ซึ่งมีอยู่ต่อจากตัวอาคารมัสยิด ด้วยการปรับพื้นลดลงทำแนวต่อเนื่องไปกับตัวอาคารมัสยิด ประมาณ 24 เมตร เมื่อเวลาผ่านไป ความทรุดโทรมและคับแคบ เนื่องจากสัปบุรุษเพิ่มทวีขึ้นเป็นจำนวนมาก ในระยะหลัง ๆ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้ประชุมร่วมกับสัปบุรุษ และยุวมุสลิม สวนพลู มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องรื้อตัวอาคารเดิมออกทั้งหมด และวางโครงการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่

ซึ่งขณะนี้ได้มีทุนดำเนินการอยู่ 280,000 บาท ซึ่งบริจาคโดย ฮัจยะฮ์เนาะ ยกยอคุณ และเมื่อว่างโครงการดำเนินงานแล้วได้มีผู้มีจิตศรัทธา (สัปบุรุษ) และมุสลิมท้องถิ่นอื่นๆ สนับสนุนการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ดังปรากฏในปัจจุบันซึ่งใช้ทุนดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเฉพาะอาคารเป็นเงินทั้งส้น 1,040,552 บาท และได้เสริมสร้างปรับปรุงเสาบัง (หอกลอง) ซึ่งของเดิมชำรุดให้เป็นรูปแบบตามศิลปะเข้ากับตัวอาคารหลังใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มองดูเด่นเป็นตระหง่านประจำมัสยิด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดประจำหมู่บ้านสวนพลู และได้มีการปรับปรุงอีกหลายจุดภายในมัสยิด และได้ทำพิธีเปิดเฉลิมฉลองอาคารมัสยิดสวนพลูหลังใหม่วันที่ 6 ธันวาคม 2518

ชื่อ มัสยิดสวนพลู    ชื่อรอง สวนพลู
ละติจูด 13.723299   ลองจิจูด 100.486519

ที่มา: www.masjidmap.com

อัพเดทล่าสุด