ทำหมันในอิสลามถือว่าบาปไหม?


14,862 ผู้ชม

การทำหมัน คือ    การทำให้คน ผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีโอกาสมีลูกตลอดไป   ทั้งนี้โดยการใช้ยาหรือใส่สิ่งกีดขวางหรือทำการผ่าตัด ในอัลกุรอาน ไม่มีตัวบทระบุอย่างชัดแจ้งห้ามการทำหมัน


ทำหมันในอิสลามถือว่าบาปไหม?

ทำหมันในอิสลามถือว่าบาปไหม?

อิสลามกับการทำหมัน

การทำหมัน คือ    การทำให้คน ผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีโอกาสมีลูกตลอดไป   ทั้งนี้โดยการใช้ยาหรือใส่สิ่งกีดขวางหรือทำการผ่าตัด ในอัลกุรอาน ไม่มีตัวบทระบุอย่างชัดแจ้งห้ามการทำหมัน แต่นักค้นคว้ายุคปัจจุบัน คือ ชัยคมุหัมมัด อะบู ซะฮเราะฮ นักนิติศาสตร์อิสลามชั้นอาวุโสคนหนึ่ง ท่านได้เขียนบทความไว้ในนิตยสาร ลิวาอุลอิสลาม” ออก ณ กรุงไคโร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1962 ที่ว่า

“และสูเจ้าอย่าได้ฆ่าลูก ๆ ของสูเจ้า อันเนื่องจากกลัวความยากไร้ เราเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่สูเจ้า และเขาเหล่านั้น (ลูก ๆ )” อัลอันอาม อายะฮ ที่ 151 และ

“สูเจ้าอย่าฆ่าลูก ๆ ของสูเจ้า เพราะเกรงความยากไร้ เราให้เครื่องยังชีพแก่เขาเหล่านั้นและสูเจ้า” อัล-อิสรออ อายะฮที่ 31

ซึ่งตามนัยของอายะฮทั้งสองนั้น ท่านมีความเห็นว่า “ห้ามการควบคุม หรือระงับการสืบพันธุ์ด้วยการทำหมัน หรือด้วยวิธีอื่น เพราะเกรงความยากไร้ หรือเกรงว่าจะเป็นสาเหตุแห่งความยากไร้

ในทำนองเดียวกันไม่ปรากฎตัวบทอย่างชัดแจ้ง ในสุนนะฮของท่านนบี ห้ามทำหมันถึงแม้จะมีบางหะดีษชอบให้แต่งงานกับสตรีที่จะให้กำเนิดลูกได้มาก แต่ส่วนใหญ่ของนักปราชญ์มุสลิมมีความเห็นว่า การทำหมันเป็นสิ่งหะรอม และถูกห้ามตามบทบัญญัติ เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเช่นเป็นโรคเกี่ยวกับทางจิต ทางสติปัญญาหรือทางเพศ ซึ่งได้รับการยืนยันจากทางแพทย์ว่าเป็นไปตามกรรมพันธุ์ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้และไม่อาจจะรักษาให้หายได้

ตรงกันข้ามในสภาพเช่นนี้ ตามกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติศาสนา ถือว่าการทำหมันเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผล ควรกระทำเสียอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นการระงับยับยั้งสิ่งที่จะเป็นสาเหตุให้กำเนิดลูกหลานขึ้นมาในสภาพดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นนักนิติศาสตร์อิสลามเห็นว่า การทำหมันในสภาพเช่นนั้นเป็นวาญิบ (จำเป็น) เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น วิทยาการแผนใหม่ ตามที่นักฟุก็ฮาอยุคปัจจุบันบางท่านกล่าว “ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไม่มีการคลางแคลงใจเลยว่า ทุพพลภาพของบิดามารดานั้นจะขยายไปสู่ลูก ๆ ได้ ถ้าเมื่อทุพพลภาพอันนั้นมันเกิดแก่ลูกมันก็เลื่อนไปสู่หลาน หรือคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์วาน

วิชาการเช่นนี้ มิใช่ จะไม่มีอยู่ในหมู่นักนิติศาสตร์สมัยโบราณ เพราะท่านอิมามอัชชาฟิอีย ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮิ เมื่อท่านได้กล่าวถึงเรื่องการเลิกล้มการอยู่กินกันระหว่างสามี - ภรรยา เพราะโรคด่างหรือโรคผิวหนัง ท่านก็ได้นำเอาสาเหตุของเรื่องนี้มากล่าวไว้ด้วยว่า เด็กที่เกิดมามีโรคหนึ่งในสองนั้น น้อยนักจะปลอดภัย หากปลอดภัยมันก็จะไปเกิดแก่ลูก ๆ ของเขา ฉะนี้แล้ว เรายังคัดค้านเรื่องการติดต่อของทุพพลภาพจากพ่อไปสู่ลูกโดยทางกรรมพันธุ์อีกหรือ?

อาศัยหลักดังกล่าว ชัยค อะหมัดอิบรอฮีม จึงได้กำหนดไว้ว่า “ไม่เป็นการหะรอมที่ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคหนึ่งจากโรคดังกล่าว จะเยียวยารักษาตัวเองด้วยวิธีใดก็ตามก่อนสมสู่กับภรรยาเพื่อทำลายน้ำเชื้อมิให้ผสมพันธุ์

และเป็นที่ประจักษ์ชัด ซึ่งไม่ต้องมีตัวบทมายกเว้นสภาพการณ์ต่าง ๆที่จำเป็น ซึ่งนักนิติศาสตร์บางท่านได้ให้ความกระจ่างแจ้งไว้ว่า อนุมัติให้ยับยั้งการตั้งครรภ์ตลอดไป (คือการทำหมัน) หากสองสามีภรรยาหรือหนึ่งในสองนั้นมีโรค อันจะติดต่อไปถึงลูกหลาน หากว่าการนั้นจะทำให้การสืบพันธุ์ลดน้อยลงเป็นบางส่วน หรือทำให้บางคนขาดความสุขจากการมีลูกไปบ้างก็ตาม แต่นั่นมันเป็นความเสียหาย และปัดเป่าภยันตรายที่ใหญ่ยิ่งไปกว่าการกำเนิดลูกที่มีโรคน่าเกลียดติดตัวมา ยากที่จะทำการรักษาให้หาย การป้องกันความเสื่อมเสียต้องนำมาใช้ก่อน และตามกฎเกณฑ์ของบทบัญญัตินั้น เมื่อมีอันตรายอยู่ อย่างให้ใช้อันที่มีอันตรายน้อยที่สุด

สรุปแล้วก็ได้ความว่า การใช้ยาห้ามการกำเนิดโดยสิ้นเชิงนั้นเป็นการหะรอม ตามความเห็นพ้องต้องกันของปราชญ์ทางศาสนา ทั้งนี้หากไม่มีความจำเป็น

      ดังนั้น  การทำหมันจึงเป็นสิ่งหะรอม และถูกห้ามตามบทบัญญัติศาสนา เว้นแต่ในบางกรณีซึ่งเราได้ชี้ให้เห็นมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อสองสามีภรรยา หรือหนึ่งในสองมีโรคที่น่าเกลียด เช่น โรคด่าง หรือโรคเรื้อนซึ่งไม่อาจจะรักษาให้หายได้ และปรากฎทางการแพทย์ว่า ติดต่อกันมาโดยทางกรรมพันธุ์

       ในเมื่ออิสลามได้ห้ามการทำหมัน แต่จะให้ทำได้ในบางกรณี อิสลามก็มิได้ห้ามชายแต่งงานกับหญิงที่เป็นหมัน หรือหญิงแต่งงานกับชายที่เป็นหมัน เพราะสภาพเช่นนั้น เป็นสภาพตามธรรมชาติ มีมาแต่กำเนิด โดยที่เขามิได้ทำสิ่งให้เป็นเหตุแห่งการเป็นหมัน และทางการแพทย์ก็ไม่อาจรักษาได้ หากชายคนหนึ่งจะแต่งงานกับหญิงที่เป็นหมัน ก็ไม่เรียกว่า เขาได้กระสิ่งที่ต้องห้าม ถึงแม้เขาจะรู้มาก่อนว่าหญิงคนนั้นเป็นหมัน

       หากเราจะบังคับว่าชายทุกคนจะต้องแต่งงานกับหญิงที่กำเนิดลูกได้เท่านั้น ชะตากรรมของหญิงที่เป็นหมันจะเป็นอย่างไร ? เธอเหล่านั้นจะอยู่อย่างไม่ต้องแต่งงานกระนั้นหรือ ?

       หรือหากว่าเราจะบังคับให้ชายทุกคนต้องแต่งงานกับหญิงที่ให้กำเนิดลูกมากเท่านั้น ฉะนั้นแล้วชะตากรรมของหญิงที่มีลูกน้อยเพราะส่วนประกอบทางร่างกาย หรือสาเหตุอื่นซึ่งเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย จะเป็นอย่างไรเล่า ?

      การมีลูกน้อยหรือมีลูกมากบางทีคนเราก็มีส่วนเกี่ยวข้องหรือควบคุมได้ แต่มนุษย์เราสามารถที่จะควบคุมเพศของลูกๆ ได้ไหม? เขาสามารถที่จะทำให้เป็นเพศชายหรือเพศหญิงได้ไหม?

       เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น ในทำนองเดียวกัน เราไม่มีสิทธิ์อะไรเลย เมื่ออัลลอฮได้ทรงกำหนดการเป็นหมันแก่เรา จำเป็นแก่มุสลิมและมุสลิมะฮที่ได้ลิ้มรสความหมายของการอีมาน (ศรัทธา) จะต้องพอใจตามที่อัลลอฮทรงประสงค์ และจะต้องรู้ว่า ความดีนั้นอยู่ในสิ่งที่พระองค์ทรงเลือกเฟ้นให้แก่เขาทั้งสอง (สามี - ภรรยา) บางทีเราอยากได้ลูก แต่เราก็ไม่ทราบว่านั่นเป็นการดีหรือร้ายแก่เรา บางทีเราอยากได้ลูกชายแต่บางทีการได้ลูกผู้หญิงนั้นเป็นการดีแก่เรา

       ส่วนหนึ่งจากความหมายของอิสลามนั้นให้เรามอบหมายแต่อัลลอฮอย่างสมบูรณ์ และเพื่อที่จะบรรลุความหมายของอิสลามอย่างแท้จริง จึงจำเป็นแก่เราที่จะต้องมอบกิจการงานของเราแด่อัลลอฮ สุบหฯ และพอใจในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงจัดสรรแก่เรา เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ในกิจการงานของเรา ว่าอันใดดีและเหมาะสมแก่เราอัลลอฮได้ตรัสสมจริงแล้ว โดยได้ตรัสไว้ความว่า

     “อำนาจการครอบครองชั้นฟ้าและแผ่นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ พระองค์ทรงบังเกิดตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงให้ลูกชายแก่ผู้ที่พระองค์ ทรงประสงค์ ทรงให้ลูกแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือทรงให้รวมแก่พวกเขาทั้งลูกชายและลูกหญิง และทรงทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เป็นหมัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ทรงเดชานุภาพ” อัชชูรอ อายะฮที่ 49 - 50

โดย:  อบูมันศูร มุกัรเราะมะห์
islamhouse.muslimthaipost.com


อัพเดทล่าสุด