มุสลิมะห์กล่าวอามีนเสียงดัง ในขณะละหมาดได้หรือไม่?


4,798 ผู้ชม

ผู้หญิงสามารถกล่าว อามีน ด้วยเสียงที่ดังได้หรือไม่  เมื่อการละหมาดของเธอนั้น  เป็นการละหมาดร่วมกับสามีในบ้าน


มุสลิมะห์กล่าวอามีนเสียงดัง ในขณะละหมาดได้หรือไม่?

คำถาม

- ผู้หญิงสามารถกล่าว อามีน ด้วยเสียงที่ดังได้หรือไม่  เมื่อการละหมาดของเธอนั้น  เป็นการละหมาดร่วมกับสามีในบ้าน

- และถ้าการละหมาดนั้นเป็นการละหมาดในมัสยิด  ผู้หญิงจะต้องกล่าวเสียงที่ค่อยใช่หรือไม่

- และถ้าการละหมาดของสตรีร่วมกับสตรีด้วยกัน  นางจะออกเสียง  ในการกล่าว อามีน  อย่างไร


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธ์ของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)

คำตอบ

อันดับแรก

          การกล่าว อามีน  นั้นถือเป็นซุนนะฮ์  สำหรับผู้ละหมาดเมื่อเสร็จสิ้นการอ่านซูเราะฮ์ อัลฟาติฮะฮ์ แล้ว  ดังรายงานของท่าน Al-Nawawi  ที่กล่าวไว้ใน al-Majmoo’, 3/371:  ว่า

          "การกล่าว อามีน  เป็นซุนนะฮ์ สำหรับผู้ทำละหมาดทุกคน  ที่จะกล่าวอามีน  ภายหลังจากการเสร็จสิ้นการอ่านซูเราะฮ์ อัลฟาติฮะฮ์    ไม่ว่า เขาจะทำหน้าที่ละหมาดในฐานะผู้นำละหมาดหรือผู้ตามละหมาด  หรือเขาจะทำการละหมาดเพียงลำพัง  ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก  อีกทั้งยังใช้กับผู้ที่ทำการละหมาดด้วยการยืน  การนั่ง หรือการนอน (เมื่อเขาไม่สามารถจะทำการยืนละหมาดได้)  และเขาจะทำการกล่าวอามีน  ทั้งในละหมาดวายิบและในละหมาดสุนัต  และไม่ว่าละหมาดนั้นจะเป็นละหมาดที่จะต้องใช้เสียงดังหรือเสียงค่อยก็ตาม" 

ซึ่งความคิดเห็นในการกล่าวอามีนดังกล่าวนี้  ไม่มีการขัดแย้งกันในหมู่ของบรรดาผู้รู้


อันดับที่สอง

          สำหรับสตรีนั้น  ไม่อนุญาตให้ใช้เสียงดัง  เมื่อหล่อนนั้นอยู่ต่อผู้ชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมของนาง  ดังเช่นที่ท่านนะบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)  ได้กล่าวว่า :

"การกล่าว ซุบฮานัลลอฮ์  นั้นไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับผู้หญิง  สำหรับนางนั้น  ถ้าต้องการที่จะเตือนอีหม่ามในเรื่องต่าง  ๆ  ให้นางใช้มือของนางกระทบกันให้เกิดเสียงขึ้นแทน"

          มีรายงานจากท่าน Sahl ibn Sad al-Saaidi ว่า  ท่านนะบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ไปพบกับท่าน Bani Ami ibn Awf  เพื่อจะทำการไกล่เกลี่ยระหว่างเขา  ขณะนั้นเป็นเวลาละหมาด  และมุอัซซินได้เข้าไปพบท่านอะบูบักร  เพื่อเชิญให้เป็นอีหม่าน  ส่วนเขานั้นจะทำการอิกอมะฮ์ ท่านอะบูบักรได้ตอบตกลง และทำหน้าที่ในการเป็นอีหม่าน ระหว่างที่มีการละหมาดอยู่นั้น ท่านนะบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้เข้าร่วมละหมาด  โดยเดินผ่านแถวละหมาดขึ้นมาจนมาอยู่แถวหน้าสุด  ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงได้ใช้ฝ่ามือกระทบกันให้เกิดเสียงขึ้น  แต่ท่านอะบูบักรไม่ได้ทำการชำเลืองตามองด้านข้าง ผู้คนจึงยังคงทำให้เกิดเสียงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งท่านอะบูบักรได้หันมามองเห็นท่านนะบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)  ซึ่งท่านนะบี(ซ.ล.)ได้แสดงท่าทางให้ท่านอะบูบักรปฏิบัติต่อไป ท่านอะบูบักร (ร.ด.)ได้ยกมือขึ้นขอพรต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)  ตามที่ท่านนะบี (ซ.ล.) แสดงท่าให้ปฏิบัติตาม  จากนั้นท่านอะบูบักรจึงถอยลงจากตำแหน่งของอีหม่าม  จนมายืนในแถวเดียวกับผู้ตามละหมาด  ท่านนะบี (ซ.ล.) จึงเดินขึ้นไปยืนอยู่ในตำแหน่งของอีหม่าม  และทำการนำละหมาดต่อไป  เมื่อท่านนะบี (ซ.ล.)  เสร็จสิ้นจากนำละหมาด  ท่านได้เข้ามาถามท่านอะบูบักรว่า

โอ้ท่านอะบูบักร  อะไรที่ทำให้ท่านเปลี่ยนตำแหน่งการยืนของท่านหลังจากที่ฉันได้แสดงท่าทางให้กับท่าน
 
ท่านอะบูบักร  ได้กล่าวตอบกลับว่า  :  "มันเป็นการไม่เหมาะสมที่ลูกของ    อะบูคอลีฟะฮ์  จะนำละหมาดต่อท่านเราะซูลของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)"
 
ท่านเราะซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.)  จึงถามว่า  "แล้วเหตุใดพวกท่านจึงได้ทำการปรบมือหลายครั้ง 

แล้วท่านได้กล่าวต่อไปว่า  "ถ้าหากว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นในขณะทำการละหมาด  ให้ท่านกล่าวว่า "ซุบฮานัลลอฮฺ"  ซึ่งการกล่าวซุบฮานัลลอฮ์  นั้นจะเป็นการประกาศให้กับผู้คนที่กำลังทำการละหมาดอยู่  ส่วนการปรบมือใช้สำหรับสตรีเท่านั้น"   (รายงานโดย อัลบุคอรีย์ 652; มุสลิม 421)


         ท่านหญิบ อิบนิ ฮาญาร ได้กล่าวว่า "เราได้ถูกสั่งให้ใช้เสียงในการละหมาดที่ค่อย  รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวซุบฮานัลลอฮ์  แต่เราได้รับอนุญาตให้ปรบมือแทน  เนื่องจากว่า เสียงของเรานั้นอาจจะทำเกิดฟิตนะฮ์  (สิ่งรบกวนจิตใจ)  ขึ้นได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำเมื่อมีผู้ชายร่วมละหมาดอยู่ด้วย"   (จาก Fath al-Baari,3/77)

          ซึ่งการห้ามใช้เสียงนี้  จะปฏิบัติเมื่อมีผู้ชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมของนางร่วมละหมาดอยู่ด้วย  แต่ถ้านางละหมาดร่วมกันกับสตรีด้วยกันแล้ว  หรือละหมาดร่วมกับผู้ชายที่เป็นมะฮ์รอมของนาง  นางสามารถที่จะกล่าว อามีน เสียงดังได้

         ท่าน Ibn Qudaamah ได้กล่าวไว้ใน al-Mughni (3/38) ว่า  "สำหรับการละหมาดของสตรีที่เวลาละหมาดนั้นให้ออกเสียงดัง  นางต้องทำการอ่านซูเราะฮ์ด้วยเสียงดังด้วย  แต่ถ้ามีผู้ชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมร่วมอยู่ด้วย  นางต้องไม่ทำการอ่านด้วยเสียงดัง  เว้นแต่ว่าผู้ชายเหล่านั้นเป็นมะฮ์รอมของนาง"

ท่านอัล-นะวาวี  ได้กล่าวใน al-Majmoo (3/390)  ว่า 

"สำหรับการละหมาดของสตรีนั้น ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของบรรดาผู้รู้ได้กล่าวว่า  ไม่ว่าหล่อนจะทำการละหมาดในห้องของนาง  หรือละหมาดร่วมกันกับสตรีด้วยกัน  หรือละหมาดร่วมกับผู้ชายที่เป็นมะฮ์รอมของนาง  หรือแม้ว่าหล่อนจะเป็นผู้นำละหมาดให้กับสตรีด้วยกัน หรือทำการละหมาดเพียงลำพัง  นางสามารถอ่านละหมาดเสียงดังได้  ตราบใดที่ไม่มีชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมปรากฎอยู่  แต่ถ้ามีชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมปรากฎอยู่ด้วยแล้ว  ให้นางทำการละหมาดด้วยเสียงที่ค่อย" 

ท่าน al-Qaadi Abu al-Tayyib  ได้กล่าวว่า

"กฎในการกล่าวอัลลอฮุอักบัร นั้น  จะตามการอ่านซูเราะฮ์ในละหมาด  กล่าวคือ  ถ้าการอ่านซูเราะฮ์ในละหมาดที่ต้องใช้เสียงดัง  การกล่าวอัลลอฮุอักบัร  ก็จะใช้เสียงดังด้วย  แต่ถ้าอ่านซูเราะฮ์ในละหมาดที่ต้องใช้เสียงค่อย  การกล่าวอัลลอฮุอักบัร  ก็จะใช้เสียงที่ค่อยด้วย" 

          ดังนั้นในการกล่าวออกเสียงอามีน  จะตามการออกเสียงของอ่านซูเราะฮ์  กล่าวคือในละหมาดที่มีการอ่านซูเราะฮ์เสียงดัง  การกล่าวอามีนก็จะใช้เสียงดัง  แต่ถ้าในละหมาดมีการอ่าน ซูเราะฮ์เสียงค่อยการออกเสียงอามีน  ก็จะเป็นเสียงค่อย

ท่าน Ibn Qudaamah ได้กล่าวไว้ใน al-Mughni (2/216) ว่า : 

"เป็นซุนนะฮ์สำหรับอิหม่ามและผู้ตามละหมาด  ที่จะกล่าวอามีนเสียงดังในละหมาดที่มีการอ่านซูเราะฮ์ด้วยเสียงดัง  และพวกเขาจะทำการกล่าวอามีนด้วยเสียงที่ค่อยในละหมาดที่มีการอ่านซูเราะฮ์ด้วยเสียงที่ค่อย"

ท่านอัล-นะวาวี  ได้กล่าวไว้ใน al-Majmoo (3/371) ว่า :

"ถ้าการละหมาดที่มีการอ่านกุรอ่านด้วยเสียงที่ค่อย   อิหม่ามและผู้ตามละหมาดควรจะกล่าวอามีน  ด้วยเสียงที่ค่อย  แต่ถ้าการละหมาดนั้นมีการอ่านกุรอ่านด้วยเสียงที่ดัง  ก็มุซตาฮับสำหรับอิหม่ามและผู้ตามที่จะทำการกล่าวอามีนด้วยเสียงที่ดัง  ซึ่งจากความคิดเห็นดังกล่าวนี้  ไม่มีความขัดแย้งกันในหมู่ของบรรดาผู้รู้"

          โดยสรุปแล้ว  สตรีนั้นสามารถกล่าวอามีนด้วยเสียงที่ดังได้  ตราบใดที่ไม่มีผู้ชายที่ไม่ใช่มะฮ์รอมปรากฎอยู่  ซึ่งถ้ามีนางควรที่จะกล่าวอามีนด้วยเสียงที่ค่อย

ที่มา:   www.islamqa.com
แปลโดย : นูรุ้ลนิซาอ์ , www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด