ดุอาอฺขอให้ยากจน


3,315 ผู้ชม

จากชายคนหนึ่งถามว่า คนเราในสมัยนี่จะดุอาอฺให้อยากจนเหมือนสมัยนบีได้หรือไม่?


ดุอาอฺขอให้ยากจน

จากชายคนหนึ่งถามว่า คนเราในสมัยนี่จะดุอาอฺให้อยากจนเหมือนสมัยนบีได้หรือไม่?

บทความโดย: อ.อาลี เสือสมิง

นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่า ผู้ร่ำรวย ที่รู้คุณ (อัล-เฆาะนียฺ อัช-ชากิรฺ) หรือผู้ยากจนที่อดทน (อัล-ฟะกีร อัศ-ศอบิรฺ) ใครประเสริฐกว่ากัน?

ในความเห็นของนักวิชาการที่เป็นอะฮฺลุตตะหฺกีกฺ วัล มะอฺริฟะฮฺถือว่า ความประเสริฐกว่ากันไม่ได้กลับไปยังตัวของความจนหรือความรวยแต่กลับไปยังการประพฤติตน สภาพ และเนื้อแท้อันเป็นตัวตนของผู้นั้น และความประเสริฐกว่ากัน ณ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อยู่ที่การตักวา และเนื้อแท้ของศรัทธา ไม่ใช่วัดกันที่ความรวยหรือความจน ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า 
إِنَّ أَكْرَ‌مَكُمْ عِندَ اللَّـهِ أَتْقَاكُمْ  

“แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดของพวกท่าน ณ ที่อัลลอฮฺ คือผู้ที่มีความตักวาที่สุดของพวกท่าน” 

(อัล-หุญุร็อต อายะฮฺ ที่ 13) 
พระองค์มิได้ตรัสว่าคือผู้ที่ยากจนที่สุดของพวกท่านหรือผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของพวกท่าน เหตุนี้จึงมีคำกล่าวที่ว่า

“ผู้ใดปรารถนาความยากจนเนื่องจากความประเสริฐของความยากจนผู้นั้นย่อมตายลงในสภาพของผู้ที่ยากจน และผู้ใดปรารถนาความยากจนเนื่องจากไม่ต้องการเกิดความพะวงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนหลงลืมอัลลอฮฺ ผู้นั้นย่อมตายลงในสภาพของผู้ที่ร่ำรวย”
ท่านมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัล-ฟัรฆอนียฺ (ร.ฮ.) ถูกถามถึงเรื่องนี้และท่านก็ตอบว่า :

“เมื่อความต้องการพึ่งพายังอัลลอฮฺ (อัล-อิฟติก็อรฺ อิลัลลอฮฺ) เป็นไปอย่างถูกต้อง ความร่ำรวยและพอเพียงด้วยอัลลอฮฺก็ย่อมเป็นไปอย่างถูกต้อง เมื่อความร่ำรวยและพอเพียงด้วยอัลลอฮฺเป็นไปอย่างถูกต้อง ความร่ำรวยและพอเพียงด้วยอัลลอฮฺก็ย่อมมีความสมบูรณ์ จึงไม่ต้องกล่าวว่า อันไหนดีกว่า? ความต้องการพึ่งพา (อัล-อิฟติก็อรฺ) หรือความร่ำรวยและพอเพียง (อัล-อิสติฆนาอฺ) เพราะทั้งสองเป็นสภาวะสองอย่างที่อันหนึ่งอันใดของสองสภาวะนั้นจะไม่สมบูรณ์นอกจากต้องมีอีกอันหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ
   
เมื่อความรวยและความจนมิใช่ประเด็นแต่อยู่ที่ตักวา ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงขอดุอาอฺว่า : 
 أَللهمَّ إِنِّىْ أَسْأَلُكَ الْهُدى وَالتُّقى وَالْعَفَافَ وَالْغِنٰى
“โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ซึ่งทางนำ ความยำเกรง (ตักวา) ความบริสุทธิ์ในการครองตน และความร่ำรวยอันพอเพียง”

(รายงานโดยมุสลิมและอัต-ติรมีซียฺ จาก อิบนุ มัสอู๊ด) 
ความยากจนที่แท้จริงนั้นคือการทำให้สภาวะความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮฺ) เกิดขึ้นจริง และมีความต้องการพึ่งพายังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในทุกสภาวะ ท่านยะหฺยา อิบนุ มุอาซฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า :

เนื้อแท้แห่งความยากจน (หะกีเกาะฮฺ) ก็คือไม่มีความเพียงพอและร่ำรวยนอกเสียจากด้วยอัลลอฮฺเท่านั้น แนวทางของมันก็คือ ไม่มีเหตุปัจจัยใดทั้งสิ้น กล่าวคือ ไม่วางใจในเหตุปัจจัยและไม่ยุติอยู่เพียงเหตุปัจจัย เหตุนี้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงขอดุอาอฮฺว่า :
أَللّهُمَّ أَحْيِنِىْ مِسْكِيْنًا , وأَمِتْنِىْ مِسْكِيِنًا , وَاحْشُرْ نِيْ فِى زُمِرًةِ الْمَسَا كِيْنِ
“โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะผู้ยากจน และขอทรงให้ข้าพระองค์สิ้นชีวิตในฐานะผู้ยากจน และขอทรงให้ข้าพระองค์ฟื้นคืนชีพในกลุ่มของผู้ยากจน” (รายงานโดย อัต-ติรมีซียฺ และอิบนุมาญะฮฺ) 
เพราะอะไรท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงวิงวอนขอเช่นนั้น เพราะความยากจนที่ท่านวิงวอนคือการไม่พึ่งพาสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺ เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า :

“โอ้ มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีความต้องการพึ่งพา (ยากจน) ยังอัลลอฮฺ” (ฟาฎิร  อายะฮฺที่ 15) มนุษย์ทุกคนจึงล้วนมีสภาวะที่ยากจนคือยากที่จะอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จนหนทางในการที่จะหลักหนีจากการพึ่งพาพระองค์ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม
ความยากจนขัดสนคือ ไร้ทรัพย์ ไร้ความสามารถในการคิดอ่านกระทำการใดๆ จนต้องบากหน้าไปพึ่งพาสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงเป็นสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ขอความคุ้มครองจากพระองค์อัลลอฮฺในดุอาอฺของท่านที่ว่า
أَللّهُمَّ إِنِّىْ أَعُوْذُبِكَ مِنَ الْكُفْرِ وَالفَقْرِ وعَذَابِ الْقَبْرِ
“โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ท่านจากการปฏิเสธ (เนรคุณ) ความยากจนขัดสน และการลงทัณฑ์ของสุสาน” (รายงานโดย อะหฺมัด , อัน-นะสาอียฺ และอัล-หากิม) และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ขอดุอาอฺอีกว่า 
أللّهُمَّ اكْفِنِيْ بِحَلَا لِكَ عَنْ حَرَامِكَ   وَأَغْنِنِيْ بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سِوَاكَ
“โอ้ อัลลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์พอเพียงด้วยสิ่งอนุมัติของพระองค์จากสิ่งต้องห้ามของพระองค์ และขอพระองค์ให้ข้าพระองค์ร่ำรวยพอเพียงจากผู้อื่นนอกจากพระองค์ด้วยความโปรดปรานของพระองค์” (รายงานโดย อะหฺมัด และอัตติรมีซียฺ)
ดังนั้น คำถามที่ว่าเราจะขอดุอาอฺให้คนยากจนเหมือนสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณานัยและความหมายของคำที่ว่า ยากจนนั้นหมายถึงอะไร หากหมายถึงยากจนค้นแค้นลำบากลำบนเหมือนเมื่อยุคพันกว่าปีที่แล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่สมควรจะขอแต่อย่างใด เพราะคนในยุคนี้ให้จนอย่างไรก็คงไม่เหมือนคนเมื่อพันปีที่แล้ว อีกทั้งหากว่าเราจนเหมือนพวกเขาแล้วเราจะทนสภาพนั้นได้หรือไม่ เพราะนั่นคือนบีและสาวกที่เป็นต้นแบบในเรื่องนี้ แต่เราไม่ใช่ 
ลางทีหากจนแบบพวกท่านเหล่านั้นจริงๆ แล้วทนไม่ได้ก็อาจจะพาลกลายเป็นผู้เนรคุณไปได้ เพราะสังเกตดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ยกมาจะเห็นว่า ท่านขอความคุ้มครองจากการปฏิเสธเนรคุณและความยากจน นั่นแสดงว่า ความยากจนที่สุดๆ นั้น หากบุคคลทนสภาพไม่ได้แล้วก็หมิ่นเหม่เหลือเกินว่าจะกลายเป็นผู้เนรคุณไปได้ในที่สุด ดังนั้นหากอยากจะขอดุอาอฺเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ขอให้นำเอาดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ยกมาข้างต้นไปขอ นั่นแหล่ะดีที่สุด


อัพเดทล่าสุด