ฮุก่มการกินเนื้ออูฐ ทำให้เสียน้ำละหมาด


5,806 ผู้ชม

การรับประทานเนื้ออูฐเข้าไป ต้องอาบน้ำละหมาดใหม่หรือไม่ ??  และการละหมาดในคอกอูฐหรือคอกแพะนั้น หุก่มว่าอย่างไร ?


การรับประทานเนื้ออูฐเข้าไป ต้องอาบน้ำละหมาดใหม่หรือไม่ ??  และการละหมาดในคอกอูฐหรือคอกแพะนั้น หุก่มว่าอย่างไร ?

ตอบโดย:  ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ อาฏียะฮฺ ซ็อกรฺ เราะหิมะหุลลอฮฺอดีตประธานคณะกรรมาธิการวินิจฉัยปัญหาศาสนาอิสลามแห่งอัซฮัร ประเทศอียิปต์

ฮุก่มการกินเนื้ออูฐ ทำให้เสียน้ำละหมาด

มีรายงานมาจากท่านรสูล(ซ.ล.) กล่าวว่า: 
أَنَّ رَجُلاً، سَأَلَ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم أَأَتَوَضَّأُ مِنْ لُحُومِ الْغَنَمِ ؟؟ قَالَ ‏"‏ إِنْ شِئْتَ فَتَوَضَّأْ وَإِنْ شِئْتَ فَلاَ تَوَضَّأْ ‏"‏ ‏.‏ قَالَ الرجل : أَتَوَضَّأُ مِنْ لُحُومِ الإِبِلِ ، قَالَ ‏"‏ نَعَمْ فَتَوَضَّأْ مِنْ لُحُومِ الإِبِلِ ‏"‏ ‏.‏ قَالَ الرجل : أُصَلِّي فِي مَرَابِضِ الْغَنَمِ ؟؟ قَالَ ‏ الرسول صلى الله عليه وسلم  "‏ نَعَمْ ‏"‏ ‏.‏ قَالَ الرجل : أُصَلِّي فِي مَبَارِكِ الإِبِلِ ؟؟ قَالَ ‏"‏ لاَ ‏"‏ 
“มีชายคนหนึ่งถาม ท่านรสูล (ซ.ล.) ว่า ฉันต้องอาบน้ำละหมาดหลังจากรับประทานเนื้อแพะหรือไม่ ?? ท่านรสูล(ซ.ล.) ตอบว่า หากท่านประสงค์จะอาบน้ำละหมาดก็จงทำเถิด และหากไม่ประสงค์จะอาบน้ำละหมาดก็ไม่เป็นไร 

ชายคนนั้นก็ถามต่อไปว่า แล้วฉันต้องอาบน้ำละหมาดหลังจากรับประทานเนื้ออูฐหรือไม่ ?? ท่านรสูล(ซ.ล.) ก็ตอบว่า ใช่แล้ว .. ต้องอาบน้ำละหมาดหลังจากรับประทานเนื้ออูฐ  ชายคนดังกล่าวก็ถามต่ออีกว่า  แล้วฉันจะละหมาดในคอกแพะได้ไหม ?? ท่านรสูล(ซ.ล.) ก็ตอบว่า “ได้สิ” แล้วชายคนนั้นก็ถามต่ออีกว่า แล้วฉันจะละหมาดในคอกอูฐได้ไหม ?? ท่านท่านรสูล(ซ.ล.) ก็ตอบว่า “ไม่ได้” 

(บันทึกโดย มุสลิม)
แลยังมีอีกรายงานหนึ่งว่า :
إنما الوضوء مما مست النار ، توضأوا مما مست النار
“แท้จริงที่ต้องอาบน้ำละหมาด ก็อันเนื่องมาจากการรับประทานสิ่งที่สัมผัสกับไฟ (ดังนั้น) ท่านทั้งหลายก็จงอาบน้ำละหมาด เมื่อรับประทานของที่สัมผัสกับไฟ” (บันทึกโดย มุสลิม)
และมีรายงานจากท่านญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ  เล่าวว่า: 
كان آخر الأمرين من رسول الله صلّى الله عليه وسلّم تركُ الوُضُوء مما مسَّت النار
“สิ่งสุดท้ายจากทั้งสองเรื่อง ที่มาจากท่านรสูล(ซ.ล.) คือ การทิ้งการอาบน้ำละหมาดใหม่ เมื่อได้รับประทานสิ่งที่สัมผัสกับไฟ” (บันทึกโดย อะบูดาวูด)
ทัศนะของปราชญ์ส่วนมาก  มีความเห็นว่า  แท้จริงการกินเนื้ออูฐนั้น ไม่ทำให้เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด  ท่านอิมามอัล-นะวะวีย์ ได้กล่าวว่า ผู้ที่มีทัศนะเช่นนี้ คือ เคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมทั้งสี่(ท่านอะบูบักร ,ท่านอุมัร ,ท่านอุษมาน ,ท่านอะลีย์) ,ท่านอิบนุ มัศอูด ,ท่านอุบัย บิน กะอับ ,ท่านอิบนุอับบาส ,ปราชญ์ส่วนใหญ่จากตาบิอีน และยังเป็นทัศนะของท่านอิมาม อะบูหะนีฟะฮฺ ,ท่านอิมาม มาลิก ,ท่านอิมาม อัช-ชาฟิอีย์ และยังเป็นทัศนะของบรรดาสานุศิษย์ของพวกเขาอีกด้วย  ซึ่งปราชญ์กลุ่มนี้ได้อ้างหลักฐานจากหะดีษของท่าน ญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ ที่ถูกกล่าวมาข้างต้นนั่นเอง  ซึ่งมันเป็นหะดีษที่กล่าวในรูปแบบของการครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้ออูฐหรือเนื้อของสัตว์ชนิดอื่นก็ตาม คือ เมื่อกินเนื้อที่สัมผัสกับไฟไม่ว่าเนื้อสัตว์ชนิดใด ก็ไม่ต้องอาบน้ำละหมาดใหม่แต่ประการใด 


ส่วนทัศนะของท่านอิมาม อะหฺมัด ,ท่านอิสหาก บิน รอหะวัยฮฺ ,ท่านยะหฺยา บิน ยะหฺยา ,ท่านอะบูบักร บิน มุนซิร ,ท่านอิบนุ คุซัยมะฮฺ  และยังได้ถูกรายงานมาจากบรรดาปราชญ์หะดีษ และเป็นทัศนะของเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง  โดยที่ปราชญ์กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การกินเนื้ออูฐนั้น ทำให้เสียน้ำละหมาด โดยยึดตามหลักฐานของตัวบทข้างต้นจากหะดีษแรกและหะดีษที่สอง  และการรวมหะดีษจากทั้งสองทัศนะนี้นั้น มีความเห็นต่างๆ มากมายที่ถ่ายทอดมาจากบรรดาปวงปราชญ์  ซึ่งปราชญ์บางส่วนมีความเห็นว่า แท้จริงคำสั่งใช้ของท่านนบีที่บอกว่าให้ไปอาบน้ำละหมาด(อัล-วุดูอฺ) หมายถึง “ให้ไปล้างมือ” เพราะว่านี่คือ ความหมายทางภาษาของคำว่า “อัล-วุดูอฺ” 
และทัศนะที่ถูกเลือกในการฟัตวาชี้ขาดในเรื่องนี้ คือ ทัศนะของปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่ที่มีความเห็นว่า “การกินเนื้ออูฐหรือการรับประทานสิ่งที่สัมผัสกับไฟนั้น ถือว่า ไม่ทำให้เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด” 
ส่วนการละหมาดในคอกอูฐ (หรือแหล่งที่อูฐอาศัยอยู่เพื่อดื่มน้ำ)นั้น ถือว่าหะรอม(ต้องห้าม) ตามทัศนะของท่านอิมามอะหฺมัด ซึ่งท่านมีความเห็นว่า การละหมาดในคอกอูฐ ถือว่าไม่เศาะฮฺ(ใช้ไม่ได้)  ถ้าใครละหมาดในคอกอูฐ เขาจะต้องทำละหมาดใหม่อีกครั้งในสถานที่อื่น
ท่านอิมามมาลิก ได้ถูกถามจากว่า แล้วถ้าเขาที่ไม่มีสถานที่ใดนอกจากคอกอูฐละ เขาจะละหมาดในนั้นได้หรือไม่ ?? ท่านอิมามมาลิกก็ตอบว่า “อย่าได้ละหมาดในนั้น” และมีคนถามต่อว่า แล้วถ้าเราปูผ้าแล้วละหมาดบนผ้าละ จะได้หรือเปล่า ?? ท่านอิมามมาลิกก็ตอบว่า “ไม่ได้”
ท่านอิบนุ หัซมฺ อัซ-ซอฮิรีย์ ได้กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ละหมาดในคอกอูฐ”
ตามทัศนะของปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า แท้จริงการละหมาดในคอกอูฐ(หรือแหล่งที่อูฐอาศัยอยู่เพื่อดื่มน้ำ)นั้น ถือว่าเศาะฮฺ(ใช้ได้) ตราบใดที่ไม่มีนะยิส ส่วนการห้ามที่มาจากหะดีษนั้น เป็นการห้ามในเชิงมักรูฮฺ(น่ารังเกียจหรือไม่ควรกระทำ) เท่านั้น  แต่จะมีหุก่มห้ามก็ต่อเมื่อมีนะยิส  และอีกเหตุผลที่อนุญาตให้ละหมาดในคอกแพะได้ แต่ไม่อนุญาตให้ละหมาดในคอกอูฐ คือ เกรงว่าจะทำให้ผู้ละหมาดไม่มีความสงบ ,ไม่มีความนอบน้อมและไม่มีความมั่นคงในหัวใจ เนื่องบางทีอาจจะระแวงหรือตกใจกับเสียงร้องหรือการเคลื่อนไหวของอูฐ ซึ่งนำไปสู่การเสียละหมาดได้โดยมิบังควร
และยังมีหะดีษที่มาสนับสนุนถึงเหตุผลว่าไม่ควรละหมาดในคอกอูฐ ซึ่งมีสายรายงานที่เศาะเฮี๊ยะ ว่า ..
لا تصلوا فى أعطان الإبل ، فإنها خلقت من الجن ، ألا ترون إلى عيونها وهيئتها إذا نفرت
“ท่านทั้งหลายอย่าได้ละหมาดในคอกอูฐ(หรือแหล่งที่อูฐอาศัยอยู่เพื่อดื่มน้ำ) เพราะแท้จริงอูฐถูกสร้างมาจากญิน ท่านทั้งหลายไม่เห็นดวงตาของอูฐและลักษณะของอูฐเมื่อมันตกใจกลัวดอกหรือ” (บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด)
ส่วนการละหมาด ในคอกแพะหรือคอกแกะหรือแหล่งที่สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่เพื่อดื่มน้ำนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ละหมาดได้ ด้วยตัวบทหะดีษที่มายืนยัน ซึ่งในคอกแพะหรือคอกแกะนั้น ไม่มีเหตุผลใดๆ ในการห้ามละหมาดเหมือนกับคอกอูฐหรือแหล่งที่อูฐอาศัยอยู่เพื่อดื่มน้ำ

ดู ตำรา  موسوعة أحسن الكلام في الفتاوى والأحكام  ประพันธ์โดย เชค อะฏียะฮฺ ศ็อกรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เล่มที่ 3  หน้าที่ 60

ท่านรสูล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า: 
يقول الرسول : ( إن الإبل خلقت من الشياطين ، وإن وراء كل بعير شيطاناً ) . رواه سعيد بن منصور في سننه بإسنادٍ مرسل حسن
"แท้จริงอูฐถูกสร้างมาจากชัยฏอน และด้านหลังของอูฐทุกตัวนั้นมีชัยฏอนอยู่" (บันทึกโดย สะอีด บิน มันซูร ในตำราสุนันของเขาเอง เป็นหะดีษมุรสัลที่มีสถานภาพที่ดี)
ท่านอิหม่ามอัช-ชาฟีอี มีความเห็นว่า "มักรูฮฺ(น่ารังเกียจหรือไม่สมควร)ที่จะละหมาดใกล้ชัยฏอน ดังนั้นจึงมักรูฮฺที่จะละหมาดใกล้อูฐ เพราะอูฐถูกสร้างมาจากชัยฏอน ไม่ใช่เพราะสถานที่อูฐอยู่นั้นสกปรก"
ดู ตำรา الأم โดย ท่านอิมาม อัช-ชาฟิอีย์  ,บท การละหมาด  ,ว่าด้วยเรื่อง การละหมาดในคอกอูฐและคอกแพะ 


อัพเดทล่าสุด