ละหมาดไม่ทันเวลา ทำไงดี?


25,662 ผู้ชม

เมื่อไม่ทันละหมาดในเวลา ต้องกอดอ (ชดใช้) เป็นประจำจะมีโทษไหม


ละหมาดไม่ทันเวลา ทำไงดี?

คำถาม:  หนูทำงานและต้องนั่งรถนานมากเวลากลับบ้านจนไม่ทันละหมาดมักริบในเวลา ต้องกอดอ (ชดใช้) เป็นประจำจะมีโทษไหมคะ?

โดย: อ.อาลี เสือสมิง

 ละหมาดไม่ทันเวลา ทำไงดี?

การละหมาดฟัรฎู 5 เวลานั้นมีกำหนดเวลาที่แน่นอนจำเป็นต้องปฏิบัติให้ลุล่วงภายในกำหนดเวลานั้น  ในกรณีลืมหรือนอนหลับจนเลยเวลา  ก็ให้ปฏิบัติละหมาดนั้นเมื่อนึกขึ้นได้หรือตื่นนอน  การละทิ้งละหมาดฟัรฎูหรือเจตนาทำให้เวลาละหมาดล่วงเลยจนออกนอกเวลาที่ศาสนากำหนดไว้โดยไม่มีเหตุสุดวิสัยถือเป็นบาปใหญ่  ตามทัศนะของญุมฮุ๊ร  (ปวงปราชญ์)  ระบุว่า ...

ผู้ที่เจตนาละทิ้งละหมาดฟัรฏูย่อมมีโทษ  (บาป)  และการกอฎอ  (ชดใช้)  ละหมาดก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นเหนือบุคคลผู้นั้นในขณะที่นักวิชาการบางส่วนระบุว่า  ผู้ที่ละทิ้งการละหมาดโดยเจตนา  ก็ไม่มีบัญญัติให้เขากอฎอ (ชดใช้)  ละหมาดนั้นและถือว่า การกอฎอ (ชดใช้) นั้นใช้ไม่ได้ (ดูรายละเอียดในฟิกฮุซซุนนะฮฺ  ;  อัซซัยยิด  ซาบิก  เล่มที่  1  หน้า  297-300)

ดังนั้น ในกรณีนี้ที่ถามและให้ข้อมูลมาว่า ทำงานและต้องนั่งรถนานมากในเวลากลับบ้านจนไม่ทันละหมาดมัฆริบในเวลาที่ศาสนากำหนดเอาไว้  ก็ขอตอบว่า  วาญิบ  (จำเป็น)  ที่ต้องกอฎอ  (ชดใช้)  การละหมาดมัฆริบดังกล่าวส่วนที่ว่าจะมีโทษหรือไม่?  ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าเจตนาละทิ้งหรือไม่?  ถ้าเจตนาก็ถือเป็นบาปใหญ่  และว่าญิบต้องกอฎอ  (ชดใช้)  ตามทัศนะปวงปราชญ์  แต่ถ้าไม่เจตนาเพราะมีอุปสรรคในการเดินทางที่ต้องนั่งรถอย่างยาวนานต่อเนื่อง  จะละหมาดในรถก็ไม่ได้เพราะเป็นรถเมล์มิใช่รถทัวร์หรือรถไฟ  ก็ให้ปฏิบัติตามนี้ครับ

1. ต้องตั้งเจตนาว่าจะละหมาดมัฆริบให้ทันในเวลาที่ศาสนากำหนด  มิใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปเฉย ๆ 

2. ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าไม่สามารถละหมาดมัฆริบได้ในเวลาที่ศาสนากำหนด  ก็ให้ตั้งเจตนาว่าจะละหมาดรวม  (ละหมาดญัมอ์)  ระหว่างเวลามัฆริบกับเวลาอิชาอฺโดยให้ตั้งใจว่าจะรวมมัฆริบไปปฏิบัติในเวลาอิชาอฺเมื่อถึงบ้าน  เรียกว่า  ญัมอฺตะอฺคีรฺ  คือเอาเวลาแรก  (มัฆริบ)  ไปรวมกับเวลาหลัง  (อิชาอฺ)

3. ในวันที่สามารถจะละหมาดมัฆริบตามเวลาที่กำหนดก็ให้ปฏิบัติตามปกติในเวลา  มิใช่มีเจตนาและปฏิบัติละหมาดแบบรวม  ในกรณีที่สามารถลงจากรถและหาที่ละหมาดมัฆริบได้ก็ควรกระทำ  เรียกว่าให้พยายามรักษาการละหมาดตามเวลาเท่าที่สามารถจะกระทำได้  ส่วนกรณีการละหมาดรวมที่กล่าวมาในข้อที่  2  นั้นเป็นการปฏิบัติตามข้ออนุโลมที่มีนักวิชาการระบุเอาไว้  

เช่น  นักวิชาการในมัซฮับฮัมบะลีย์  ซึ่งท่านอิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  ได้กล่าวว่า  :  มัซฮับที่เปิดกว้างที่สุดในเรื่องการละหมาดรวมนั้นคือมัซฮับอิหม่ามอะฮฺหมัด  (ร.ฮ.)  ซึ่งท่านอนุญาตให้ละหมาดรวมได้เมื่อมีกรณียุ่งยาก  ดังที่อันนะซาอีย์ได้รายงานสิ่งดังกล่าวถึงท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ว่า  :  

อนุญาตให้ละหมาดรวมได้เช่นกันสำหรับคนทำครัว  (พ่อครัว)  คนทำขนมปัง  และเหมือนกับบุคคลทั้งสองจากบุคคลที่เกรงว่าจะเกิดความเสียหายในทรัพย์สินของตน  และท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์  (ร.ฮ.)  ได้กล่าวไว้ใน  “ชัรฮุ้มุสลิม”  ว่า  :  กลุ่มหนึ่งจากบรรดาอิหม่ามมีความเห็นว่า  อนุญาตให้ละหมาดรวมได้ในกรณีที่มิได้เดินทางไกล  เนื่องจากมีความจำเป็นสำหรับบุคคลที่ยึดเอาเป็นเรื่องปกติ  ซึ่งเป็นคำกล่าวของท่านอิบนุซีรีน,  ท่านอัชฮับจากสานุศิษย์ของอิหม่ามมาลิก  (ร.ฮ.)  และอัลคอฏฏอบีย์ได้เล่าเอาไว้จากอัลก็อฟฟ้าล,  อัชชาชีย์  อัลกะบีร  จากบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์  และจากนักวิชาการสายหะดีษกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งท่านอิบนุอัลมุนซิรเลือกเอาไว้ (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ  ;  อัซซัยยิด  ซาบิก  เล่มที่  1  หน้า  315-316)

สรุปก็คือให้ปฏิบัติตามข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้น  โดยให้ละหมาดรวมระหว่างมัฆริบกับอิชาอฺเมื่อกลับถึงบ้าน  ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว

ที่มา:  alisuasaming.org

อัพเดทล่าสุด