สามีจูบภรรยา เสียน้ำละหมาดไหม?


19,829 ผู้ชม

สามีของฉันจูบฉันเป็นประจำทุกครั้งที่เขาออกนอกบ้าน แม้ว่าเขาจะออกไปละหมาดมัสญิดก็ตาม บางครั้งขณะที่ถูกจูบฉันเองก็มีความรู้สึกทางเพศ จึงอยากทราบว่าฉันหรือสามีของฉันเสียน้ำละหมาดหรือไม่ ขณะมีน้ำละหมาดโดยมีการสัมผัสกันดั่งที่กล่าวมาข้างต้น ?


สามีจูบภรรยา เสียน้ำละหมาดไหม?

เลือดแบบใด ที่ทำให้เสียน้ำละหมาด?

สิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด

ภรรยาสัมผัสมือสามี จะเสียน้ำละหมาดหรือไม่?

คำถาม:  สามีของฉันจูบฉันเป็นประจำทุกครั้งที่เขาออกนอกบ้าน แม้ว่าเขาจะออกไปละหมาดมัสญิดก็ตาม บางครั้งขณะที่ถูกจูบฉันเองก็มีความรู้สึกทางเพศ จึงอยากทราบว่าฉันหรือสามีของฉันเสียน้ำละหมาดหรือไม่ ขณะมีน้ำละหมาดโดยมีการสัมผัสกันดั่งที่กล่าวมาข้างต้น ?

ตอบโดย:  อ.อาลี เสือสมิง

การจูบระหว่างสามีกับภรรยาขณะที่มีน้ำละหมาดนั้นเป็นการสัมผัสหรือโดนกันทางผิวหนัง (อัล-ลัมสฺ) หรืออวัยวะต่ออวัยวะซึ่งในกรณีที่ถามมาคงไม่มีสิ่งใดปิดกั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกันอันเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ตัวบทและนัยบ่งชี้ของตัวบทที่ต่างกัน 

หากถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ก็ถือว่า ทั้งสามีและภรรยาที่มีน้ำละหมาดหรือสามีมีน้ำละหมาด (เพราะจะออกไปมัสญิด) เสียน้ำละหมาด เนื่องจากการจูบดังกล่าว ไม่ว่าจะมีอารมณ์กำหนัดหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามนี้ ท่านอุมัร (ร.ฎ.) , อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) , ซัยดฺ อิบนุ อัสลัม (ร.ฎ.) ท่านมักหู้ล , อัช-ชะอฺบียฺ , อัน-นะเคาะอียฺ , อะฏออฺ อิบนุ อัส-สาอิบ , อัช-ซุฮฺรียฺ , ยะหฺยา อิบนุ สะอีด อัล-อันศอรียฺ , เราะบีอะฮฺ , สะอีด อิบนุ อับดิลอะซีซ และเป็นหนึ่งในสองรายงานจากท่านอัล-เอาซาอียฺกล่าวเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ , อัน-นะวาวียฺ 2/34)

สามีจูบภรรยา เสียน้ำละหมาดไหม?

แต่ถ้าถือตามทัศนะของนักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีความเห็นว่า การอาบน้ำละหมาดไม่เสียแต่อย่างใดเลย ด้วยเหตุการณ์สัมผัสหรือโดนกัน (เช่น กรณีจูบ) ก็ไม่ถือว่าสามีภรรยาที่มีน้ำละหมาดหรือสามีที่น้ำละหมาดจูบกันเสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด ซึ่งทัศนะฝ่ายนี้มีรายงานมาจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) , อะฏออฺ , ฏอวูส , มัสรู๊ก , อัล-หะสัน , สุฟยาน อัษ-เษารียฺ และอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ก็ว่าตามทัศนะนี้ (อ้างแล้ว 2/34) 

หลักฐานของนักวิชาการฝ่ายนี้ (ฝ่ายที่ว่าไม่เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใดเลยทุกกกรณี) คือหะดีษของหะบีบ อิบนุ อบีษาบิต จากอุรวะฮฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยจุมพิตภรรยาบางคนของท่าน ต่อมาท่านก็ออกไปละหมาด และท่านก็มิได้อาบน้ำละหมาด”

และหะดีษที่รายงานจากอบีเราวฺกินฺ จากอิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮฺวะซัลลัม) เคยจุมพิตภายหลังการอาบน้ำละหมาด ต่อมาท่านก็ไม่ได้กลับไปอาบน้ำละหมาดใหม่” 

นักวิชาการกลุ่มแรกที่มีทัศนะว่า การกระทบกันเสียน้ำละหมาดได้ตอบและวิพากษ์หลักฐานทั้ง 2 บทนั้นว่า หะดีษของหะบีบ อิบนุ อบีษาบิต รายงานมาจาก 2 ทางที่ดีที่สุดและมัชฮู๊ร (เลืองลือ) ที่สุด นั่นเป็นหะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน) โดยการเห็นพ้องของบรรดานักท่องจำอัล-ฮาดีษ ส่วนหนึ่งจากผู้ที่ระบุว่าหะดีษสายรายงานดังกล่าวอ่อนคือท่านสุฟยาน อัษ-เษารียฺ , ยะห์ยา อิบนุ สะอีด อัล-กอฏฏอน ท่านอิหม่ามอะหฺมัด , อบูดาวูด , อบูบักร อัน-นัยสะบูรียฺ , อบุล-หะสัน อัด-ดาเราะกุฏนียฺ และอบูบักร อัล-บัยฮะกียฺ เป็นต้น อิหม่ามอะหฺมัด (ร.ฮ.) 

และอบูบักร อัน-นัยสะบูรียฺ กล่าวว่า : หะบีบผิดพลาดในการนำเอาการจูบของผู้ถือศีลอดไปปนกับเรื่องการจูบในการอาบน้ำละหมาด และอบูดาวูดกล่าวว่า :

มีรายงานจากสุฟยาน อัษ-เษารียฺ ว่า : หะบีบไม่ได้เล่าหะดีษให้เรานอกจากรายงานจากอุรวะฮฺ อัล-มุซะนียฺ หมายความว่า ไม่ได้รายงานจากอุรวะฮฺ อิบนุ อัซซุบัยรฺ และ อุรวะฮฺ อัล-มุซะนียฺ เป็นบุคคลนิรนาม (มัจญฮูล) หะดีษที่ถูกต้องซึ่งรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ นั้นคือ “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยจุมพิตขณะที่ท่านถือศีลอด” (อ้างแล้ว 2/36-37) 

แต่ถ้าสายรายงานหะดีษของหะบีบถูกต้องก็ตีความได้ว่า การจุมพิตนั้นเป็นการจุมพิตเหนือสิ่งปิดกั้น (เช่น ผ้า) เพื่อเป็นการรวมหลักฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ส่วนหะดีษของอบีเราวฺกินฺนั้นมีสายรายงานมา 2 ทาง และนักวิชาการถือว่าอ่อน (เฎาะอีฟ) ทั้ง 2 ทาง ตัวอบีเราวฺกินฺเองนั้นยะหฺยา อิบนุ มะอีนฺ และนักวิชาการท่านอื่นๆ ถือว่ารายงานหะดีษอ่อน และอิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ ก็ไม่เคยรับฟังหะดีษจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ (ร.ฎ.) หะดีษบทที่ 2 จึงเป็นหะดีษเฏาะอีฟ มุรสัล (อ้างแล้ว 2/37)

ยังมีอีกหนึ่งทัศนะของกลุ่มนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ หากเป็นการสัมผัสโดนกันโดยมีอารมณ์กำหนัดก็ถือว่า เสียน้ำละหมาด แต่ถ้าไม่มีอารมณ์กำหนัดก็ไม่เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด ทัศนะนี้มีรายงานจาก อัล-หะกัม , หัมมาด , อิหม่ามมาลิก , อัล-ลัยษฺ และ อิสหาก และเป็นรายงานหนึ่งจากอัช-ชะอฺบียฺ อัน-นะเคาะอียฺ , เราะบีอะฮฺ และอัษ-เษารียฺ ตลอดจนมีรายงานจากอิหม่ามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ถึง 3 รายงานตรงกับทัศนะทั้งสามที่กล่าวมา (อ้างแล้ว 2/34) 

เมื่อประเด็นที่ถามมาเป็นประเด็นความเห็นต่างในเรื่องทัศนะที่มีต่อการวิเคราะห์และความเข้าใจตัวบทของนักวิชาการ คุณก็สามารถที่จะเลือกใช้ทัศนะหนึ่งทัศนะใดจากทั้ง 3 ทัศนะที่ว่ามา เอาทัศนะที่คุณมั่นใจว่าปลอดภัยที่สุดในเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องของการทำอิบาดะฮฺ

ที่มา:   alisuasaming.org

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21818

อัพเดทล่าสุด