เหตุใดมรดกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า


6,452 ผู้ชม

เรื่องการแบ่งมรดกอาจมีความขัดแย้งกันอยู่บ้างในทัศนะของนักปราชญ์ หรือในศาสนาต่างๆ บนโลกนี้ ตลอดจนรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศเหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงเรืองการแบ่งมรดกก็มีความแตกต่างกันออกไป


เหตุใดมรดกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า

การที่ส่วนแบ่งของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายเป็นเพราะว่า เมื่อผู้หญิงแต่งงานเธอจะได้มะฮัรจากฝ่ายชาย ซึ่งฝ่ายชายจำเป็นต้องจ่าย นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายของฝ่ายหญิงขึ้นอยู่กับฝ่ายชาย ขณะที่สตรีไม่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนั้น
ทำไมแม่มีสถานะตรงนี้เหนือกว่าพ่อ ฝากให้คิดใคร่ครวญ

เศาะหาบะฮฺ (สาวก) ท่านหนึ่ง ได้ถามท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าผู้ใดที่ฉันควรทำดีต่อเขามากที่สุด ? ท่านตอบว่า "มารดาของท่าน" เศาะหาบะฮฺผู้นั้นได้ถามต่อว่าหลังจากนั้นล่ะ ? ท่านตอบอีกว่า "มารดาของท่าน" เขาถามท่านต่ออีกว่า หลังจากนั้นเป็นผู้ใดต่อ ? ท่านศาสนทูตยังตอบอีกว่า "มารดาของท่าน" เศาะหาบะฮฺผู้นั้นยังไม่หยุดถามว่า หลังจากนั้นเป็นใครอีก? ในที่สุดท่านศาสนทูตจึงตอบว่า "บิดาของท่าน" (บันทึกโดย อัล-บุคอรี 5971)

เหตุใดมรดกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า

ส่วนแบ่งมรดกของแต่ละคน

อัลกุรอาน บทนิซาอฺ โองการที่ 11 และ 12 ได้กล่าวถึงส่วนแบ่งมรดกเอาไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความสำคัญประการหนึ่งในอิสลาม สังคม และอนาคตของประชาชน กระนั้นเรื่องการแบ่งมรดกอาจมีความขัดแย้งกันอยู่บ้างในทัศนะของนักปราชญ์ หรือในศาสนาต่างๆ บนโลกนี้ ตลอดจนรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศเหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงเรืองการแบ่งมรดกก็มีความแตกต่างกันออกไป

เราลองมาพิจารณาหลักการแบ่งมรดกตามทัศนะของอัลกุรอาน ดูบ้างว่าเป็นอย่างไร อัลกุรอานกล่าวว่า

“อัลลอฮฺได้ทรงสั่งสูเจ้าเกี่ยวกับลูก ๆ ของสูเจ้าว่า สำหรับลูกชายจะได้รับ (มรดก) เยี่ยงส่วนของลูกหญิงสองคน ถ้ามีลูกสาว (สองคน) หรือเกินสองคน ดังนั้น สองในสามของมรดกเป็นของพวกนาง แต่ถ้าผู้ (รับมรดก) เป็นลูกสาวคนเดียว ครึ่งหนึ่งของ (มรดก) เป็นของนาง สำหรับบิดาและมารดา แต่ละคนจะได้รับมรดกหนึ่งในหก ถ้าเขา (ผู้ตาย) มีบุตร ครั้นถ้าเขาไม่มีบุตร เฉพาะบิดามารดาเท่านั้นเป็นทายาทรับมรดก ดังนั้น หนึ่งในสาม (มรดก) เป็นของมารดา ถ้าเขามีพี่น้อง หนึ่งในหกเป็นของมารดา (ห้าในหกที่เหลือเป็นของบิดา) ทั้งหมดเหล่านี้

หลังจากได้จัดการพินัยกรรมตามคำสั่งเสีย หรือหลังการชำระหนี้ สูเจ้าไม่รู้ดอกว่า บรรดาบิดา (มารดา) และลูก ๆ ของสูเจ้า ผู้ใดให้ประโยชน์ใกล้ชิดยิ่งกว่าแก่สูเจ้า (กฎนี้) เป็นบัญญัติจากอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ  มรดกครึ่งหนึ่งของภรรยาเป็นของสูเจ้า ถ้าพวกนางไม่มีบุตร แต้ถ้าพวกนางมีบุตร ดังนั้น หนึ่งในสี่ของมรดกของนางเป็นของสูเจ้า หลังจากได้จัดการพินัยกรรมตามคำสั่งเสีย หรือหลังการชำระหนี้ และหนึ่งในสี่ของมรดกของสูเจ้าเป็นของพวกนาง ถ้าสูเจ้าไม่มีบุตร แต่ถ้าสูเจ้ามีบุตร หนึ่งในแปดของมรดกของสูเจ้าเป็นของนาง หลังจากได้จัดการพินัยกรรมตามคำสั่งเสีย หรือหลังการชำระหนี้ แต่ถ้ามีชายหรือหญิงที่ไม่มีญาติโดยตรงรับมรดก (ไม่มีบุตรและบิดามารดา) พี่น้องเป็นผู้รับมรดก ถ้าเขามีพี่หรือน้องชาย หรือมีพี่หรือน้องสาว (ร่วมบิดามารดา) หนึ่งคน แต่ละคนจะได้รับหนึ่งในหก แต่ถ้าเขามีพี่น้องมากกว่าหนึ่งคน พวกเขามีส่วนร่วมหนึ่งในสามของมรดก หลังจากได้จัดการพินัยกรรมตามคำสั่งเสีย หรือหลังการชำระหนี้  ขณะที่ (พินัยกรรม) ต้องไม่นำความเสียหายมาสู่ นี่เป็นคำแนะนำจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงขันติ”


สาเหตุแห่งการประทานลงมา

ท่านญาบิร บุตรของอับดุลลอฮฺ กล่าวถึงโองการนี้และโองการถัดไปว่า ครั้งหนึ่งฉันไม่สบายหนักท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้มาเยี่ยมฉัน ขณะที่ฉันหมดสติไปท่านศาสดาเรียกหาน้ำเพื่อวุฎูอ์ และเอาน้ำที่เหลือลูบหน้าฉัน และฉันได้ฟื้นขึ้นในเวลาต่อมา และถามท่านว่า โอ้ศาสนทูตแห่งพระเจ้า ฉันควรจัดการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ ก่อนที่ฉันจะจากไป ท่านศาสดานิ่งเงียบ หลังจากนั้นโองการได้ประทานลงมา เพื่อกำหนดส่วนแบ่งมรดก

ส่วนแบ่งมรดก

หนึ่งในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิด้านทรัพย์สินของประชาชนคือ มรดก ซึ่งโองการนี้และโองการถัดไปสาธยายไว้ อิสลามได้กำหนดสัดส่วนและสิทธิพึงได้รับของแต่ละคนไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งก่อนหน้าการมาของอิสลาม อาหรับในยุคโฉดเขลาไม่เคยแบ่งมรดกให้แก่สตรี ดังนั้น พวกนางจึงไม่เคยได้รับมรดกทั้งจากบิดามารดา สามี และบุตรของนาง เมื่ออิสลามมาประกาศสั่งสอนได้ฟื้นฟูสิทธิของสตรีให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง และเนื่องจากว่าค่าใช้จ่ายของพวกนางอยู่ในความรับผิดชอบของสามี ผู้หญิงจึงมีสิทธิ์รับมรดกแค่ครึ่งหนึ่งของผู้ชาย

โองการกล่าวถึงทายาทชั้นแรกที่มีสิทธิ์รับมรดกได้แก่ บรรดาบุตร และบิดามารดา ซึ่งสิทธิของแต่ละคนได้ถูกกำหนดไว้อย่างเรียบร้อย กรณีที่ผู้ตายมีทายาทรับมรดกหลายคนส่วนแบ่งของแต่ละคนได้ถูกกำหนดไว้แล้วเช่นกัน แต่ถ้าผู้ตายมีทายาทเพียงคนเดียวเขาก็จะได้เฉพาะส่วนของเขา ส่วนที่เหลือเขาจะได้รับในฐานะของการปัดส่วน

โองการกล่าวถึงประเด็นมรดกของทายาทชั้นที่หนึ่งดังนี้

1.ถ้าผู้ตายทีบุตรชายและบุตรสาวหลายคน บุตรจะได้รับมรดกมากว่าบุตรสาวสองเท่า ซึ่งกฎข้อนี้ถือว่าเป็นกฎโดยทั่วไปที่ทุกที่ต้องนำมาปฏิบัติ ลูกชายจะได้รับ (มรดก) เยี่ยงส่วนของลูกหญิงสองคน

2.ถ้าผู้ตายมีบุตรสาวสองคนหรือมากกว่า พวกนางมีสิทธิ์ได้รับสองในสามของมรดก ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทคนอื่นในชั้นนี้อีกแล้ว ดังนั้น มรดกส่วนที่เหลือให้แบ่งในหมู่พวกนางคนละเท่า ๆ กัน ในฐานะของการปัดส่วน

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ณ ที่นี้คือ โองการกล่าวถึงการมีบุตรสาวเกินสองคน ซึ่งอาจเป็นสามหรือสี่ ส่วนกรณีของบุตรสาวสองคนเข้าใจได้จากประโยคก่อนหน้านี้ ที่ว่าบุตรชายได้รับมรดกสองเท่าของเด็กผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้ตายมีบุตรชายและบุตรหญิงอย่างละคน สิทธิของบุตรสาวคือ หนึ่งในสาม ถ้าผู้ตายมีบุตรสาวสองคน สิทธิของนางคือ สองในสาม ถ้ามีบุตรสาวสามคน สิทธิของพวกนางมิใช่สามในสาม ทว่าสิทธิของพวกนางคือ สองในสาม เนื่องจากโองการกล่าวถึงสิทธิ์ของบุตรสาวสามคน หรือมากกว่านั้น อย่าคิดว่าสิทธิของบุตรสาวสามคนคือ สามในสามของมรดก ดังนั้น ถ้าในชั้นนี้ไม่มีทายาทคนใดอีกแล้ว ส่วนที่เหลือให้แบ่งเท่า ๆ กัน ในหมู่พวกนาง

3.ถ้าผู้ตายทีบุตรสาวเพียงคนเดียว มรดกครึ่งหนึ่งเป็นของนาง ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทคนใดอีกส่วนที่เหลือก็เป็นของนางในฐานะของการปัดส่วน

4.ถ้าผู้ตายมีทั้งบิดามารดา และบุตร บิดากับมารดาจะได้รับมรดกคนละ หนึ่งในหก ส่วนที่เหลือเป็นของบุตรโดยให้แบ่งไปตามกฎที่กล่าวมาแล้ว

5.ถ้าผู้ตายมีแค่บิดามารดา ไม่มีบุตรและพี่น้องคนอื่น หนึ่งในสามของมรดกเป็นของมารดา ส่วนมรดกที่เหลือเป็นของบิดา

6.ถ้าผู้ตายมีบิดามารดา และพี่น้องหลายคน แต่ไม่มีบุตร พี่น้องไม่มีสิทธิ์รับมรดก เนื่องจากเป็นทายาทชั้นที่สอง แต่พวกเขาเป็นอุปสรรคสำหรับมารดา ดังนั้น มารดาจึงมีสิทธิรับมรดกเพียง หนึ่งในหกเท่านั้น มิใช่หนึ่งในสาม ส่วนที่เหลือเป็นของบิดา สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่ารายจ่ายของพี่น้องคนอื่นอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา ดังนั้น ส่วนของมารดาจึงลดน้อยลงไป

โองการข้างต้นหลังจากกล่าวสาธยายแล้ว กำชับว่าทั้งหมดที่กล่าวมาให้กระทำหลังจาก การจัดการตามพินัยกรรม และชำระหนี้สินก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทายาทต้องจัดการตามพินัยกรรมก่อนอื่นใด เมื่อทรัพย์สมบัติเหลือจึงตกลงแบ่งกันตามเงื่อนไขทีกล่าวมาข้างต้น

สิ่งสำคัญต้องกระทำก่อนเป็นอันดับแรกคือ การชำระหนี้สิน หลังจากนั้นให้ปฏิบัติไปตามพินัยกรรม เมื่อเหลือแล้วจึงแบ่งไปตามสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับ การที่โองการกล่าวถึงพินัยกรรมก่อนการชำระหนี้ มิได้หมายความว่าต้องการจัดการตามพินัยกรรมก่อนการชำระหนี้ ทว่าเป็นการเน้นให้ถึงเห็นความสำคัญของพินัยกรรม เนื่องจากโดยปกติทายาทมิค่อยให้ความสำคัญต่อพินัยกรรมเท่าที่ควร

สุดท้ายโองการกล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั่วไปโดยที่สูเจ้าไม่เข้าใจว่าผู้ใดระหว่างบิดามารดาและบุตรให้ประโยชน์ยิ่งแก่เจ้า ด้วยเหตุนี้ สูเจ้าจึงไม่สามารถจำแนกได้ว่าสัดส่วนของแต่ละคนเทาไหร่ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าสัดส่วนของบิดาและมารดามากกว่า แต่บางคนคิดในทางกลับกัน ซึ่งในความเป็นจริงพระเจ้าทรงปรีชาญาณ และรอบรู้ปัญหาดีกว่าคนอื่น

เพราะเหตุใดมรดกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงสองเท่า

คำถามดังกล่าวอยู่ในความคิดของผู้คนมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มประกาศอิสลาม บางครั้งพวกเขาถามบรรดาอิมามในสมัยนั้น เช่น ในยุคของอิมามอะลีริฎอ (อ.) ประชาชนถามอิมามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งอิมามตอบพวกเขาว่า การที่ส่วนแบ่งของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายเป็นเพราะว่า เมื่อผู้หญิงแต่งงานเธอจะได้มะฮัรจากฝ่ายชาย ซึ่งฝ่ายชายจำเป็นต้องจ่าย นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายของฝ่ายหญิงขึ้นอยู่กับฝ่ายชาย ขณะที่สตรีไม่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนั้น

ส่วนแบ่งของสามีและภรรยา

โองกสนที่ 12 สาธยายถึงปัญหามรดก การรับมรดกของสามีภรรยา การรับมรดกของทายาทชั้นที่สอง และรวมถึงปัญหาอื่น ๆ โดยอธิบายไว้ดังนี้

1.ถ้าภรรยาเสียชีวิต โดยที่นางไม่มีบุตรมรดกครึ่งหนึ่งเป็นของสามี แต่ให้แบ่งมรดกภายหลังจากการจัดการเรื่องพินัยกรรมและการชำระหนี้สิน

2.ถ้าภรรยาเสียชีวิต แต่นางมีบุตร ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย มรดกหนึ่งในสี่เป็นของสามี

3.ถ้าสามีเสียชีวิต โดยที่ไม่มีบุตรหนึ่งในสี่ของมรดกเป็นของภรรยา

4.ถ้าสามีเสียชีวิต แต่เขามีบุตร หนึ่งในแปดของมรดกเป็นของภรรยา แน่นอน ให้แบ่งมรดกภายหลังจากการจัดการเรื่องพินัยกรรมและการชำระหนี้สิน

5.ถ้าชายหรือหญิงเสียชีวิตโดยที่ไม่มีทายาทโดยตรง (กะลาละฮฺ) หมายถึง ไม่มีบุตร และไม่มีบิดามารดา ซึ่งทายาทรับมรดกคือพี่น้องของพวกเขา แต่ละคนจะได้รับมรดกหนึ่งในหก

6.ถ้าผู้ตายมีพี่น้องทั้งผู้ชายและผู้หญิงเกินหนึ่งคน ทั้งหมดมีสิทธิ์เพียงหนึ่งในสามของมรดก

หมายเหตุ คำว่ากะลาละฮฺ สามารถใช้ได้ทั้งผู้ตายและพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นทายาทรับมรดก แต่ในโองการคำว่ากะลาละฮฺ ใช้กล่าวกับผู้ตายโดยกล่าวว่า ถ้ามีชายหรือหญิงที่ไม่มีญาติโดยตรงรับมรดก (ไม่มีบุตรและบิดามารดา) พี่น้องเป็นผู้รับมรดก

มรดกของพี่น้อง

ประเด็นสำคัญ จุดประสงค์ของคำว่าพี่น้องในโองการหมายถึง พี่น้องร่วมมารดา ตามหลักการเรียกว่า กะลาละฮฺอุมมีย์  แต่โองการดังกล่าวรวมไปถึงพี่หรือน้องชาย พี่หรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า กะลาละฮฺอบีวะอุมมีย์ เนื่องจากพี่น้องร่วมบิดาเพียงอย่างเดียวจะอธิบายในโองการต่อไป  คำว่ากะลาละฮฺ ที่กล่าวในโองการนี้กับโองการที่จะอธิบายต่อไปมีความแตกต่างกัน

อีกประเด็นหนึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ โองการพยายามเน้นการจัดแบ่งมรดกภายหลังจาก การจัดการเรื่องพินัยกรรมและชำระหนี้สินเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น ถ้าคนหนึ่งขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เขียนพินัยกรรม ย่อมบังเกิดผลเสียแก่ทายาทและตนเอง ขณะเดียวกันการเขียนพินัยกรรมเกี่ยวกับหนี้สิน หรือการยอมรับภาวะหนี้สิน มีเงื่อนไชว่าต้องไม่เกิดผลเสียแก่ทายาทรับมรดก

สุดท้ายโองการกล่าวเน้นว่า นี้เป็นคำแนะนำจากพระเจ้า พระองค์ทรงรอบรู้และทรงปรีชาญาณยิ่ง หมายถึง จำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพคำแนะนำของพระองค์ เนื่องจากพระเจ้าทรงรอบรู้ถึงผลดีและผลเสียของสูเจ้า พระองค์จึงกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา และทรงรอบรู้ถึงเจตนาของผู้เขียนพินัยกรรม ขณะที่พระองค์ทรงขันติ ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง พระองค์จะไม่ลงโทษอย่างเฉียบพลัน

อัพเดทล่าสุด