เกิดชอบใครขึ้นมา แนะนำวิธีการจีบอย่างถูกต้องตามหลักอิสลาม


9,291 ผู้ชม

ถ้าเราเกิดชอบใครขึ้นมา อาจารย์ช่วยแนะนำวิธีการจีบอย่างถูกต้องหน่อยได้ไหมค่ะ เพื่อจะเป็นสิ่งเตือนใจ หรือข้อแนะนำให้วัยรุ่น หรือคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ณ ที่นี้ ขอบคุณสำหรับคำตอบคะ?


ถ้าเราเกิดชอบใครขึ้นมา อาจารย์ช่วยแนะนำวิธีการจีบอย่างถูกต้องหน่อยได้ไหมค่ะ เพื่อจะเป็นสิ่งเตือนใจ หรือข้อแนะนำให้วัยรุ่น หรือคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ณ ที่นี้ ขอบคุณสำหรับคำตอบคะ?

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

ประการแรก ในอิสลามไม่มีระบบแฟน เมื่อไม่มีระบบแฟนก็ไม่มีระบบจีบ อิสลามมีแต่ความชัดเจน หากชายใดพึ่งพอใจหญิงหนึ่ง ด้วยศาสนา และรูปลักษณ์ของนาง ก็ให้เขาไปสู่ขอนาง

ท่านมุฆีเราะฮฺ เล่าว่า: 

أَنَّهُ خَطَبَ امْرَأَةً، فَقَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «انْظُرْ إِلَيْهَا، فَإِنَّهُ أَحْرَى أَنْ يُؤْدَمَ بَيْنَكُمَا

“แท้จริงเขาไปสู่ขอสตรีนางหนึ่ง ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวแก่เขาว่า ท่านจงมองดูหล่อนเถิด เพราะนั่นจะทำให้ความรักระหว่างท่านทั้งสองถาวร” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1087]

ประเด็นถัดมา ในทางตรงกันข้าม หากเราในฐานะสตรีพึ่งพอใจผู้ชายคนหนึ่ง เช่นนี้ เราสามารถทำให้ชายคนดังกล่าวรู้ถึงความต้องการของเราซึ่งปรารถนาจะเป็นภรรยาของเขา โดยส่งวะลีย์ (ผู้ปกครองฝ่ายหญิง) ของเราไปแจ้งให้เขาทราบ ว่าเราพึ่งพอใจ ให้เขามาดูตัวเรา หรือสอบถามเกี่ยวกับตัวเราจากครอบครัวของเราได้

ท่านอนัส เล่าว่า :

أَنَّ امْرَأَةً عَرَضَتْ نَفْسَهَا عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ» فَضَحِكَتِ ابْنَةُ أَنَسٍ، فَقَالَتْ: مَا كَانَ أَقَلَّ حَيَاءَهَا فَقَالَ أَنَسٌ: «هِيَ خَيْرٌ مِنْكِ، عَرَضَتْ نَفْسَهَا عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ

“สตรีนางหนึ่งได้เสนอตัวของนาง (เป็นภรรยา) ต่อท่านนบีมุหัมมัด, (ขณะนั้น) ลูกสาวของท่านอนัส (อยู่ในเหตุการณ์) พลางหัวเราะ นางกล่าวขึ้นว่า อะไรหนอที่ทำให้นางมีความละอายน้อยเช่นนี้, ท่านอนัสจึงกล่าวแก่นางว่า นางดีกว่าเธอเสียอีกที่เสนอตัวให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 3250]

ประการถัดมา ไม่ว่าจะชายจะไปสู่ขอหญิง หรือหญิงที่ส่งสัญญาณให้ชายถึงความต้องการของนางก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงต้องหาข้อมูลเพื่อให้รู้ถึงนิสัยใจคอ, พฤติกรรมที่เราต้องรู้ เมื่อรู้แล้วจะได้ตัดสินใจว่าเราจะแต่งงานกับเขา หรือเธอ ดีหรือไม่? ซึ่งการแสวงหาข้อมูลนั้นไม่ยาก กล่าวคือ สอบถามจากพ่อแม่ของเขา หรือเธอโดยตรง ว่ามีนิสัยอย่างไร? ซึ่งฝ่ายพ่อแม่จะต้องบอกถึงนิสัยที่ดี และไม่ดี โดยห้ามปกปิดแต่อย่างใดไม่ เพราะหากปกปิดข้อเสียไม่ยอมบอก หากมาพบหลังแต่งงาน เขาหรือเธอ สามารถเลือกแยกทาง (ยกเลิกการแต่งงาน) ได้เช่นกัน

ท่านสะอีด บุตรของมุสัยยับกล่าวว่า :

أَيُّمَا رَجُلٍ تَزَوَّجَ امْرَأَةً، وَبِهِ جُنُونٌ، أَوْ ضَرَرٌ، فَإِنَّهَا تُخَيَّرُ. فَإِنْشَاءَتْ قَرَّتْ. وَإِنْ شَاءَتْ فَارَقَتْ

“ชายใดก็ตามที่แต่งงานกับสตรี (หลังแต่งงาน) พบว่าเขาวิกลจริต หรือเป็นโรคร้ายแรง เช่นนี้ให้ฝ่ายหญิงเลือกว่า ประสงค์จะอยู่กับเขาต่อไป หรือนางประสงค์จะแยกทางจากเขา” [บันทึกโดยมาลิก หะดีษที่ 2076]

อีกประเด็นหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายสามารถสอบถามพฤติกรรม หรือนิสัยเขา หรือเธอจากเพื่อนสนิทของเขา หรือเธอ เพราะใครสนิทกับใคร เขา หรือเธอก็จะมีนิสัยที่คล้ายๆ กัน ไม่งั้นคงคบกันไม่ได้อย่างแน่นอน

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า :

الرَّجُلُ عَلَى دِينِ خَلِيلِهِ، فَلْيَنْظُرْ أَحَدُكُمْ مَنْ يُخَالِلُ

“บุคคลหนึ่งจะตามแนวทางศาสนาของเพื่อนสนิทของเขา เช่นนั้นบุคคลหนึ่งให้หมู่พวกท่านจงพิจารณา บุคคลซึ่งคบใครเป็นเพื่อนสนิท” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4833]

สรุป เมื่อหลักการอิสลามไม่อนุญาตให้มีระบบแฟน ระบบการตรวจสอบ และแสวงหานิสัยใจคอ กับพ่อแม่ ญาติ เพื่อนสนิทจึงเป็นการแสวงหาข้อมูลสามี หรือภรรยาในอนาคตได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ โดยไม่ต้องตามจีบกันตามอย่างประชาชาติอื่น ที่แสดงตัวตนเฉพาะข้อดีเพียงด้านเดียว สุดท้ายพอแต่งงานกันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะตัวตนที่แท้จริงกลับถูกแสดงออกภายหลังแต่งงาน, ทว่าอิสลามสอนให้หาข้อมูลทั้งดีและไม่ดี เมื่อทราบข้อมูลแล้ว ก็ตัดสินใจ, หากยอมรับได้ก็แต่งงาน แต่หากไม่สามารถรับได้ ก็ไม่เลือกเขา หรือเธอแต่งงาน เช่นนี้คือวิถีแห่งอิสลามที่งดงาม และยุติธรรมเป็นยิ่งนัก

(วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด