ดุอาอฺของฉันทำไมโดนยับยั้ง?


4,272 ผู้ชม

ลองพิจารณาถึงสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้ ว่ามีในตัวเรามากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ผู้รู้รวบรวมไว้ ในหัวข้อ ‘สิ่งที่ยับยั้งการตอบรับของดุอาอฺ’ (อ้างอิงส่วนใหญ่จาก islamqa)



ลองพิจารณาถึงสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้ ว่ามีในตัวเรามากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ผู้รู้รวบรวมไว้ในหัวข้อ ‘สิ่งที่ยับยั้งการตอบรับของดุอาอฺ’ (อ้างอิงส่วนใหญ่จาก islamqa)


1. ความบกพร่องที่ตัวบทดุอาอฺ การขอด้วยดุอาอฺที่ไปก้าวล้ำหน้าที่ของอัลลอฮฺ ถ้อยคำไม่พึงควร เช่น ดุอาอฺให้มีชีวิตในโลกนี้นิรันดร์ ดุอาอฺให้ได้ทำความชั่ว ดุอาอฺด้วยบทดุอาอฺที่ไม่ควรขอ ดุอาอฺให้ตัวเองตาย เป็นต้น


2. ความบกพร่องที่ตัวคนขอดุอาอฺ เช่น ดุอาอฺแบบเลื่อนลอย ใจไม่ได้เชื่อมั่น ดุอาอฺอย่างไม่มีมารยาท ตะเบ็งเสียง ตะโกนดัง ดุอาอฺอย่างไม่จริงใจ ดุอาอฺด้วยความละเมียดละไมต่ำ ขาดการขึ้นต้นลงท้ายที่สมควรใช้ เช่น ขาดการสรรเสริญอัลลอฮฺ ศอลาวาตนบี หรือดุอาอฺฉาบฉวย ลวกๆ


3. ทำบาป หรือ ตกอยู่ในการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ เช่น ทำงานที่ฮะรอม หรือจมปลักในบิดอะฮฺ


4. อาหารที่ไม่ฮะลาล การกินอาหารที่ไม่ฮะลาล ส่งผลสำคัญต่อการไม่ถูกตอบรับดุอาอฺ รวมทั้ง การดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ที่พักอาศัย และทุกปัจจัยที่ได้มาไม่ถูกต้องตามหลักการ จะพร่ำดุอาอฺแค่ไหน ก็อาจไปไม่ถึงอัลลอฮฺ


5. รีบเร่งให้ดุอาอฺถูกตอบรับ เหมือนฮะดีษที่รายงานโดยมุสลิม ว่าดุอาอฺคนหนึ่งจะถูกตอบรับ ตราบที่ไม่รีบเร่งกับอัลลอฮฺให้พระองค์ตอบรับไวไว รวมทั้ง การที่ไม่ได้ดั่งใจแล้วก็ท้อ ไม่ดุอาอฺต่อ ก็เช่นกัน


6. การพ่วงคำดุอาอฺ ด้วยคำว่า ‘อินชาอัลลอฮฺ’ เพราะการดุอาอฺ ไม่ต้องพ่วงเช่นนั้น เช่นการกล่าวว่า ‘ขออัลลอฮฺให้เราได้เข้าสวรรค์ อินชาอัลลอฮฺ’ นบี صلى الله عليه وسلم ได้ห้ามการพ่วงด้วย อินชาอัลลอฮฺในการดุอาอฺ ดั่งฮะดีษที่รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม


สำคัญที่สุด ของการขอดุอาอฺ คือ คิดดีกับอัลลอฮฺ และมองทุกอย่างให้แง่ดี การไม่ตอบรับในรูปแบบที่เราขอ อาจเป็นการตอบรับดุอาอฺในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะบางทีเราขอสิ่งหนึ่ง ในขณะที่มีบางครั้งที่เราขอให้อัลลอฮฺเลือกสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งแรกที่เราขอเราอาจพลาด เพราะอัลลอฮฺตอบรับดุอาอฺหลัง ที่ขอให้เลือกสิ่งที่ดีกว่า เป็นต้น ดังนั้น ให้มีความจริงใจ รักษากายใจให้สะอาด และอย่าสิ้นหวังเด็ดขาด ที่จะดุอาอฺต่อพระองค์


ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ดุอาอฺที่ไม่ถูกตอบรับในดุนยา อาจสะสมเป็นผลบุญในวันอาคิเราะฮฺ จนกระทั่งคนหนึ่งเห็นผลบุญดังกล่าว ก็หวังว่า จะกลับไปยังดุนยาอีกครั้ง เพื่อดุอาอฺ แม้ว่าจะไม่ถูกตอบรับในดุนยาก็ตาม


ขออย่าได้สิ้นหวัง จงดุอาอฺต่อไป...

ที่มา : คุณครูขนมปัง

อัพเดทล่าสุด