โทษของการลักทรัพย์ ขโมย ตัดมือ อิสลาม


8,573 ผู้ชม

การเอาทรัพย์สินมีค่าของผู้อื่นโดยที่ไม่มีข้อคลุมเครืออันใด  จากสถานที่เฉพาะ  ด้วยกับปริมาณที่เฉพาะ  และโดยวิธีการแบบลับ...


การลักขโมย  หมายถึง  การเอาทรัพย์สินมีค่าของผู้อื่นโดยที่ไม่มีข้อคลุมเครืออันใด  จากสถานที่เฉพาะ  ด้วยกับปริมาณที่เฉพาะ  และโดยวิธีการแบบลับ

บทบัญญัติว่าด้วยการลักขโมย

  1. การลักขโมยเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และเป็นหนึ่งในการกระทำที่เป็นบาปใหญ่
  2. ศาสนาอิสลามสั่งใช้ให้ดูแลและรักษาทรัพย์สินและห้ามมิให้เป็นปฏิปักษ์กัน ดังนั้นอิสลามจึงได้ห้ามการลักขโมย  บังคับข่มขู่  ปล้นสดมภ์  แย่งชิง  เพราะว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ

วิทยปัญญาในการบัญญัติโทษของการลักขโมย

อัลลอฮฺทรงคุ้มครองและรักษาทรัพย์สมบัติของปวงมนุษย์โดยการบัญญัติให้ตัดมือผู้ที่ลักขโมย  เพราะแท้จริงมือที่ทรยศเปรียบเสมือนอวัยวะที่เป็นโรค  ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดทิ้งเพื่อให้อวัยวะส่วนอื่นที่เหลือในร่างกายปลอดภัย  และในการตัดมือเป็นข้อเตือนใจแก่ผู้ที่คิดจะลักขโมยทรัพย์สินของบุคคลอื่น  และเป็นการซักฟอกผู้ที่ลักขโมยจากบาป และยังเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งที่นำไปสู่ความปลอดภัยและความสันติสุขขึ้นในสังคมและเป็นการปกปักษ์รักษาทรัพย์สมบัติของมวลประชาชาติ

จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

ความว่า:  “ผู้ทำซินา (ผิดประเวณี) จะไม่ทำซินาขณะที่ทำซินาในสภาพที่เป็นมุมิน  เขาจะไม่ดื่มสุราขณะที่ดื่มในสภาพที่เป็นมุมิน  เขาจะไม่ขโมยขณะที่ขโมยในสภาพที่เป็นมุมิน  และเขาจะไม่ปล้นชิงทรัพย์สินผู้อื่นโดยที่ผู้คนยืนมองเขาในขณะที่เขาปล้นชิงในสภาพที่เป็นมุมิน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6772  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 57)

โทษของการลักทรัพย์ ขโมย ตัดมือ อิสลาม

โทษของการลักขโมย

  1. อัลลอฮฺตะอะลากล่าวว่า

ความว่า  “ขโมยผู้ชายและขโมยผู้หญิงจงตัดมือของเขาทั้งสองคนเพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้  เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างในการลงโทษจากอัลลอฮฺ  และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพทรงปรีชาญาณ   แล้วผู้ใดสารภาพผิดหลังจากการอธรรมของเขาและได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว  แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา  แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ”  (อัล-มาอิดะฮฺ / 38 - 39)

  1. ความหมาย จากอบีฮุร็อยเราะฮฺ  เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า  ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

ความว่า: “อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ลักขโมย  หากเขาขโมยไข่หนึ่งฟองดังนั้นเขาจะถูกตัดมือ และหากเขาขโมยเชือกหนึ่งเส้นเขาจะถูกตัดมือ”  (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6799  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1687)

เงื่อนไขในการตัดมือของผู้ลักขโมย

บทลงโทษของการลักขโมยจำเป็นต้องตัดมือเมื่อมีเงื่อนไขครบดังต่อไปนี้

  1. ผู้ลักขโมยจะต้องบรรลุศาสนภาวะ สมัครใจ  เป็นมุสลิม  หรือเป็นชาวซิมมียฺ    
  2. จะต้องเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของผู้ที่ถูกลักขโมย ดังนั้นจึงไม่มีการตัดมือในกรณีสิ่งที่ถูกขโมยเป็นของละเล่นหรือสุราอย่างนี้เป็นต้น
  3. ทรัพย์สินของที่ถูกผู้ลักขโมยจะต้องครบพิกัดตามที่ศาสนากำหนด หากเป็นทองคำต้องมีน้ำหนัก ¼ ดีนารขึ้นไป  หรือทรัพย์สินก็ต้องมีมูลค่าของมัน ¼ ดีนารขึ้นไป   
  4. การเอาทรัพย์สินนั้นไปโดยวิธีการแบบลับ หากไม่ใช่กรณีเช่นนั้นก็ไม่ต้องตัดมือ  เช่น  การกรรโชกทรัพย์  การข่มขู่บังคับ  และการปล้นสะดม  ฯลฯ  ในกรณีนี้ให้ใช้วิธีตักเตือนลงโทษ
  5. ขโมยทรัพย์สินจากที่ๆ เจ้าของเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิด

การเก็บรักษา (อัล-หัรซฺ)  หมายถึง  การเก็บรักษาทรัพย์สินเอาไว้ด้วยกับวิธีการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ  การเก็บรักษาเงินทองโดยการจัดเก็บไว้ในบ้าน  ธนาคาร  ร้านค้าสหกรณ์  และสำหรับแพะจัดให้อยู่ในคอกหรือฟาร์ม  ลักษณะนี้เป็นต้น

  1. ปราศจากข้อคลุมเครือจากผู้ขโมย ดังนั้นจึงไม่ตัดมือของผู้ขโมยในกรณีที่เขาขโมยทรัพย์ของพ่อหรือบรรพบุรุษที่สูงขึ้นไป  ผู้ที่ขโมยทรัพย์ของลูกหรือผู้สืบสันดานลงมา  และไม่ตัดมือกรณีขโมยทรัพย์กันนระหว่างสามีกับภรรยา  และทำนองเดียวกันการขโมยเนื่องจากความอดอยากหิวโหย
  2. ผู้ที่ถูกขโมยเรียกร้องทรัพย์สินของเขาคืน
  3. มีหลักฐานยืนยันถึงการลักขโมย ด้วยกับประการหนึ่งประการใดจากสองประการต่อไปนี้

            8.1  การรับสารภาพว่าเป็นผู้ขโมยด้วยตัวเขาเองสองครั้ง

            8.2  มีพยานผู้ชายที่มีความเที่ยงธรรมสองคนมายืนยันว่าเขาเป็นผู้ขโมย

สิ่งที่จะตามมาหลังจากมีหลักฐานยืนยันถึงการลักขโมย

สิ่งที่จะตามมาหลังจากมีหลักฐานยืนยันถึงการลักขโมย  ดังต่อไปนี้

  1. สำหรับผู้ขโมยมีสองภาระที่ค้างอยู่กับเขา สิทธิเฉพาะ (หักกุน คอศ)  คือ  ต้องคืนสิ่งของที่ขโมยให้แก่เจ้าของหากสิ่งนั้นยังคงอยู่  หรือให้ทดแทนเหมือนสิ่งเดิม  หรือไม่ก็ให้จ่ายตามราคาของที่ขโมยหากสิ่งนั้นเสียหายชำรุด  และสิทธิทั่วไป (หักกุน อาม)  คือ  สิทธิของอัลลอฮฺจำเป็นต้องตัดมือหากมีเงื่อนไขครบสมบูรณ์  หรือไม่ก็ให้ตักเตือนในกรณีที่ไม่ครบเงื่อนไข
  2. เมื่อจำเป็นต้องตัดมือให้ตัดข้างขวาจากข้อต่อของฝ่ามือแล้วให้ห้ามเลือด เช่น  การจุ่มมือลงในน้ำมันที่กำลังเดือด หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่สามารถห้ามเลือดได้  และจำเป็นแก่เขาต้องคืนทรัพย์สินที่เอาไปหรือให้จ่ายทดแทนแก่เจ้าของทรัพย์  และเป็นที่ต้องห้ามในการจะขอผ่อนปรนบทลงโทษของการลักขโมยหลังจากเรื่องไปถึงผู้ปกครอง (หากิม)
  3. หากผู้ขโมยกลับไปขโมยอีกให้ตัดเท้าข้างซ้ายจากตรงกลางของหลังเท้า และหากกลับไปขโมยอีกให้กักขังและตักเตือนจนกว่าเขาจะเตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัว) และไม่ต้องตัดอีก

ให้ตัดมืออัฏ-ฏ็อรรอรฺ (นักล้วงกระเป๋า)  นั่นคือ  ผู้ที่ล้วงสิ่งของจากกระเป๋าหรือที่อื่นแล้วเอาทรัพย์สินไปอย่างลับๆ หากว่าทรัพย์สินที่เอาไปถึงพิกัดตามที่ศาสนากำหนด  เพราะแท้จริงเขาเป็นผู้ขโมยเอาทรัพย์สินที่เจ้าของเก็บรักษาไว้

ปริมาณพิกัดในการลักขโมยที่ศาสนากำหนด

หากเป็นทองคำต้องมีน้ำหนัก ¼ ดีนารขึ้นไป  หรือทรัพย์สินก็ต้องมีมูลค่าเท่ากับทองคำน้ำหนัก ¼ ดีนารขึ้นไป 

จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

ความว่า: “กำหนดให้มีโทษตัดมือเมื่อเขาขโมย ¼ ดีนารขึ้นไป(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6789  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1684)

บทบัญญัติว่าด้วยการลงโทษถือเป็นโมฆะด้วยกับสิ่งคลุมเครือ

เมื่อผู้ขโมยรับสารภาพว่าเป็นคนขโมยแต่ไม่มีหลักฐาน ดังนั้นเป็นที่บัญญัติแก่ผู้พิพากษาให้ผู้นั้นกลับคำสารภาพ  แต่หากเขายังยืนกรานว่าเป็นคนขโมยและไม่กลับคำก็ให้ตัดมือ  และในกรณีที่ผู้ขโมยยอมรับว่าขโมย และหลังจากนั้นได้ปฏิเสธ เช่นนี้มิให้ตัดมือ  เพราะว่าบทการลงโทษจะเป็นโมฆะด้วยกับสิ่งที่คลุมเครือ

บทบัญญัติว่าด้วยการขโมยทรัพย์สินจากบัยตุลมาล (กองคลังมุสลิม)

ผู้ที่ขโมยทรัพย์สินจากบัยตุลมาล  ให้ตักเตือนและปรับเป็นเงินตามที่เขาเอาไปโดยไม่ต้องตัดมือ  เพราะว่าเขาก็มีส่วนแบ่งจากตรงนั้นอยู่เช่นกัน  ในทำนองเดียวกันผู้ที่ขโมยทรัพย์สินที่ได้จากเชลยศึก (อัล-เฆอะนีมะฮฺ)  และหนึ่งในห้าส่วนของทรัพย์เชลย (อัล-คุมุส)

บทบัญญัติว่าด้วยการไม่ยอมจ่ายของที่ยืมคืน (โกงหนี้)

จำเป็นต้องตัดมือผู้ที่ไม่ยอมคืนทรัพย์สินที่ยืมมา เพราะเข้าข่ายได้ชื่อว่าเป็นการขโมย

จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า

 ความว่า: มีผู้หญิงจากเผ่าอัลมัคซูมิยฺยะฮฺคนหนึ่งได้ยืมทรัพย์สินไปและนางปฏิเสธที่จะคืนให้แก่เจ้าของ  ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม จึงสั่งให้ตัดมือของนาง...”  (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1688)

บทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ถูกขโมย

ส่วนหนึ่งจากการเตาบะฮฺที่สมบูรณ์ของผู้ขโมยคือการที่เขาต้องรับประกันของที่สูญเสียไปแก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขโมย  หากเขามีความสะดวกก็ให้จ่ายคืนแก่เจ้าของ  หากมีความยากลำบากให้พิจารณาดูถึงแนวทางที่สะดวกง่ายดาย  และหากในกรณีที่สิ่งของถูกขโมยยังคงอยู่ก็ให้คืนไปให้แก่เจ้าของ  ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเตาบะฮฺ (สารภาพผิด) ถูกต้องสมบูรณ์

บทบัญญัติว่าด้วยการสารภาพผิดก่อนที่เรื่องจะไปถึงผู้ปกครอง (หากิม)

ผู้ที่จำเป็นต้องรับโทษจากการลักขโมย  ผิดประเวณี  หรือดื่มสุรา  ที่ได้สารภาพผิดก่อนที่จะมีการตรวจสอบอย่างแน่ชัด การลงโทษนั้นถือว่าตกไป  และไม่เป็นที่บัญญัติให้เขาเปิดเผยความลับของตนเองหลังจากที่อัลลอฮฺทรงปกปิดมัน  แต่ทว่าจำเป็นที่เขาต้องคืนทรัพย์สินที่ขโมยมาให้แก่เจ้าของ

 ที่มา:  islamhouse.com

อัพเดทล่าสุด