สุญูดขอบคุณ (สุญูดซูโกร) มีวิธีอย่างไรบ้าง?


20,732 ผู้ชม

สุญูดขอบคุณ คือ สุญูด 1 ครั้ง เมื่อได้รับผลสำเร็จในการงาน หรือได้รับสิ่งที่พอใจ หรือได้รับข่าวดีที่ทำให้ปลื้มใจ หรือได้ผ่านพ้นภัยต่างๆ เพียงแต่กล่าวตักบีรแล้วลงสุญูด...


สุญูดขอบคุณ (สุญูดซูโกร) มีวิธีอย่างไรบ้าง?

สุญูดขอบคุณ คือ สุญูด 1 ครั้ง เมื่อได้รับผลสำเร็จในการงาน หรือได้รับสิ่งที่พอใจ หรือได้รับข่าวดีที่ทำให้ปลื้มใจ หรือได้ผ่านพ้นภัยต่างๆ เพียงแต่กล่าวตักบีรแล้วลงสุญูด ส่วนการกล่าวตัสเบียะห์ระหว่างสุญูดไม่ปรากฏ จะอ่านคำกล่าวตัสเบียะห์ดุอาอฺของสุญูดในละหมาด และเมื่อเงยหน้าจากสุญูดก็ให้กล่าวตักบีรเช่นเดียวกัน โดยไม่มีการกล่าวสลาม 

สุญูดขอบคุณ (สุญูดซูโกร) มีวิธีอย่างไรบ้าง?

หลักการการสุญูดขอบคุณ (สุญูดซูโกร)

1. สุนัตให้สุญูดขอบคุณอัลลอฮฺเมื่อได้รับนิอฺมัตใหม่ๆ เช่น ผู้ที่ได้รับข่าวเกี่ยวกับการได้รับทางนำหรือรับศาสนาอิสลามของบุคคลคนหนึ่งที่เขาพยายามดะอฺวะฮฺ หรือเกี่ยวกับชัยชนะของชาวมุสลิม หรือได้บุตรคนใหม่ เป็นต้น

2. สุนัตให้สุญูดขอบคุณ มื่อได้รับความปลอดภัยจากภัยพิบัติ เช่น ผู้ที่รอดตายจากการจมน้ำ ไฟไหม้ ถูกตามฆ่า หรือขโมยของ เป็นต้น

ลักษณะการสุญูดขอบคุณ

การสุญูดขอบคุณ คือ การสุญูดครั้งเดียวโดยไม่ต้องตักบีรฺ และไม่ต้องให้สลาม และให้สุญูดนอกละหมาด จะสุญูดในสภาพไหนก็ได้ไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง มีหะดัษ หรือสะอาดไม่มีหะดัษ แต่สุญูดในสภาพที่สะอาดนั้นประเสริฐกว่า

มีรายงานจากท่านอบู บักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

أن النبي كان إذا أتاه أمر يَسُرُّه، أو يُسَرُّ به خَرَّ ساجداً شكراً ٬ تبارك وتعالى

ความว่า : “ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีเรื่องที่ทำให้ท่านพอใจ หรือถูกทำให้ท่านพอใจ ท่านจะก้มลงสุญูดเป็นการชุกูรฺขอบคุณต่ออัลลอฮฺ” (เป็นหะดีษหะสัน บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 2774 และอิบนุ มาญะฮฺ 1394 สำนวนนี้เป็นของอิบนุ มาญะฮฺ)

สุญูดขอบคุณ (สุญูดซูโกร) มีวิธีอย่างไรบ้าง?

สิ่งที่กล่าวในสุญูดขอบคุณ

ให้กล่าวในสุญูดขอบคุณเหมือนที่กล่าวในสุญูดละหมาดปรกติเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นซิกิรฺหรือดุอาอ์

ช่วงเวลาที่ห้ามจากการละหมาด

ช่วงเวลาที่ห้ามจากการละหมาดมี 5 ช่วง คือ

1. มีรายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لا صَلاةَ بَـعْدَ صَلاةِ العَصْرِ حَتَّى تَغْرُبَ الشَّمْسُ، وَلا صَلاةَ بَـعْدَ صَلاةِ الفَجْرِ حَتَّى تَطْلُعَ الشَّمْسُ»

ความว่า : “ไม่มีการละหมาดหลังจากละหมาดอัศรฺจนกว่าตะวันจะตกดินและไม่มีการละหมาดหลังจากละหมาดฟัจญ์รฺจนกว่าตะวันจะขึ้น” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 586 และมุสลิม เลขที่: 827 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

2. มีรายงานจากท่านอุกฺบะฮฺ บิน อามิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า :

ثَلاثُ سَاعَاتٍ كَانَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم يَنْـهَانَا أَنْ نُصَلِّيَ فِيهِنَّ، أَوْ أَنْ نَقْبُرَ فِيهِنَّ مَوتَانَا: حِينَ تَطْلُعُ الشَّمْسُ بَازِغَةً حَتَّى تَرْتَفِعَ، وَحِينَ يَـقُومُ قَائِمُ الظَّهِيرَةِ حَتَّى تَـمِيلَ الشَّمْسُ، وَحِينَ تَضيَّفُ الشَّمْسُ لِلْغُرُوبِ حَتَّى تَغْرُبَ

ความว่า :  “มีอยู่สามเวลาที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามไม่ให้พวกเราละหมาดหรือฝังคนตายลงกุบูรฺ คือ เมื่อตะวันกำลังจะขึ้นจนกระทั่งตะวันขึ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อตะวันอยู่ตรงศีรษะจนกระทั่งตะวันคล้อยเรียบร้อยแล้ว และเมื่อตะวันกำลังจะตกดินจนกระทั่งตะวันตกดินเรียบร้อยแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 831)

อนุญาตให้ละหมาดสุนัตหลังจากละหมาดอัศฺริตราบใดที่ดวงตะวันยังสว่างจ้าและเด่นตระหง่านอยู่

มีรายงานจากท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

أَنَّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم نَـهَى عَن الصَّلاةِ بَـعْدَ العَصْرِ إلا وَالشَّمْسُ مُرْتَفِعَةٌ

ความว่า :  “แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามไม่ให้ละหมาดสุนัตหลังจากละหมาดอัศรฺนอกจากในขณะที่ดวงตะวันยังเด่นตระหง่านอยู่”(เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด สำนวนนี้เป็นของอบู ดาวูดหมายเลข 1274 และบันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 573)

หลักการการละหมาดในเวลาที่ต้องห้าม

1. อนุญาตให้ละหมาดชดละหมาดวาญิบในเวลาต้องห้ามทั้งห้าที่ได้กล่าวมา และอนุญาตให้ละหมาดสองร็อกอะฮฺเฏาะวาฟ และละหมาดสุนัตที่มีสาเหตุ เช่นตะหิยะตุลมัสญิด สองร็อกอะฮฺวุฎูอ์(หลังอาบน้ำละหมาด) ละหมาดกุสูฟ เป็นต้น

2. มีบัญญัติสำหรับผู้ที่ไม่ได้ละหมาดสุนัตก่อนละหมาดศุบหฺเพราะมีเหตุจำเป็น ให้เขาละหมาดชดสุนัตดังกล่าวหลังละหมาดศุบหฺได้ และละหมาดสุนัตซุฮรฺให้ชดหลังละหมาดอัศรฺได้

3. อนุญาตให้ละหมาดสุนัตในมัสญิดอัลหะรอมได้ทุกเวลา

มีรายงานจากท่านญุบัยฺร อิบนุ มุฏฺอิม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«يَا بَنِي عَبْدِ مَنَافٍ لا تَـمْنَعُوا أَحَداً طَافَ بِـهَذَا البَيْتِ وَصَلَّى أَيّة سَاعَةٍ شَاءَ مِنْ لَيْلٍ أَوْ نَـهَارٍ»

ความว่า : “โอ้ ลูกหลานของอับดุมะนาฟ พวกท่านอย่าได้ห้ามผู้ใดทำการเฏาะวาฟบัยตุลลอฮฺ และอย่าได้ห้ามขัดขวางเขาจากการละหมาด ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม หากเขาต้องการจะปฏิบัติไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 868 และอิบนุ มาญะฮฺหมายเลข 1254)

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

แปลโดย : ดานียา เจะสนิ

ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

เรียบเรียงโดย:  https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด