การสาบาน โดยใช้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน


1,813 ผู้ชม

การที่หน่วยงานราชการได้ให้ใช้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมที่เป็นคู่กรณี


คำภาม : การที่หน่วยงานราชการได้ให้ใช้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมที่เป็นคู่กรณี หรือพยานสาบานตัว จะขัดกับหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่

คำตอบ

การสาบานต้องสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) และการใช้อัลกุรอานมาถือไว้ขณะสาบานไม่ผิดบทบัญญัติศาสนาอิสลาม

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก : หนังสือท่านถาม-เราตอบ โดย อดีตจุฬาราชมนตรี นายประเสริฐ มะหะหมัด และ อาจารย์อาดัม มะหะหมัด สมาคมศิษย์เก่าโรเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์

ข้อมูลเพิ่มเติม

สาบานด้วยอัลกุรอ่าน : sunnahstudent.com


اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ


การสาบานด้วยอัลกุรอานหรือด้วยสิ่งที่ยืนยันไว้ในมุศฮับ ถือว่าเป็นการสาบาน แต่หากสาบานด้วยอัลกุรอานโดยเจตนาเหนียตในใจว่า มันคือคุฏบะฮ์วันศุกร์ - จากอายะฮ์ที่ว่า "เมื่ออัลกุรอานได้ถูกอ่านขึ้น พวกเจ้าจงสดับฟัง" อัลอะร็อฟ 204 บางอุลามาอฺกล่าวว่าหมายถึงจงสดับฟังอัลกุรอานในคุฏบะฮ์ - หรือมีเจตนาเหนียตในเรื่องละหมาด - ในอายะฮ์ที่ว่า "พวกเจ้าจงดำรงละหมาดและบริจาคทานซะกาต" ฮัจญ์ 78 - หรือสาบานด้วยมุศฮับโดยเหนียตถึง แผ่นกระดาษหรือปกของอัลกุรอาน ทั้งหมดนั้นถือว่า ไม่เป็นการสาบาน (หนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ 6/191)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า

فنقول ان الحلف بالقرآن أو بآية منه أو بكلام الله يمين منعقدة تجب الكفارة بالحنث فيها. وبهذا قال ابن مسعود والحسن وقتادة ومالك واحمد وابو عبيد وعامة أهل العلم

"ดังนั้น เราขอกล่าวว่า การสาบานด้วยอัลกุรอาน หรือด้วยอายะฮ์หนึ่งจากอัลกุรอาน หรือด้วยกะลามุลลอฮ์ ถือว่าเป็นการสาบาน อีกทั้งวายิบต้องเสียกัฟฟาเราะฮ์(ไถ่ความผิด)ด้วยเหตุการผิดสาบาน และทัศนะนี้ เป็นทัศนะคำกล่าวของท่านอิบนุมัสอูด , ท่านอัลฮะซัน , ก่อตาดะฮ์ , มาลิก , อะห์มัด , อะบู อุบัยด์ , และนักปราชญ์ทั่วไป" หนังสืออัลมัจญ์มั๊วะอฺ 18/40
ท่านอิมามอันนะวาวีกล่าวอีกเช่นกันว่า

وان حلف بالمصحف انعقدت بمينه، وكان قتادة يحلف بالمصحف. وقال ابن قدامة ولم يكره ذلك إمامنا وإسحق، لان الحالف بالمصحف إنما قصد الحلف بالمكتوب فيه وهو القرآن، فإنه بين دفتى المصحف بإجماع المسلمين

"หากทำการสาบานด้วยมุศฮับ ถือว่าเป็นการสาบาน และปรากฏว่าท่านค่อตาดะฮ์เคยสาบานด้วยมุศฮับ และท่านอิบนุกุดามะฮ์กล่าวว่า การสาบานด้วยมุศฮับดังกล่าวนั้น อิมามของเรา(คือท่านอิมามอะห์มัด) และท่านอิสฮากไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะผู้ที่ทำการสาบานด้วยมุศฮับ คือเขาได้มีเป้าหมายสาบานด้วยสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในมุศฮับ ที่เป็นอัลกุรอาน เพราะแท้จริงอัลกุรอานนั้นอยู่ระหว่างสองปกของมุศฮับด้วยมติของปวงปราชญ์มุสลิมีน" หนังสืออัลมัจญ์มั๊วะอฺ 18/41

وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ

----- อ.อาลี เสือสมิง

การสาบานต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และถือเป็นการตั้งภาคีประเภทชิรฺก์ อัศฆ็อรฺ ซึ่งไม่ทำให้ผู้สาบานนั้นตกศาสนา อยู่ในหมวดเดียวกับการโอ้อวด (อัร-ริยาอฺ) สิ่งที่จะลบล้าง (กัฟฟาเราะฮฺ) ความผิดในกรณีการสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็คือการกล่าวประโยค "لاإله إلاالله" ดังที่มีรายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม ระบุเอาไว้ (มุคตะศ็อรฺ มะ อาริจญ์ อัล-เกาะบู๊ล ; ชัยคิ หาฟิซฺ อิบนุ อะหฺมัด อ๊าลฺหุกมียฺ หน้า 141)


ส่วน การสาบานต่ออัล-กุรอานนั้นถือเป็นการสาบาน (ยะมีน) โดยเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมาลิกียะฮฺ ชาฟิอียะฮฺ และหะนาบิละฮฺ ตลอดจนอัล-หะนะฟียะฮฺ ตามที่ชัยคฺ อัล-กะม้าล อิบนุ อัล-ฮุมาม และอัล-อัยนียฺให้น้ำหนักเอาไว้ เพราะผู้สาบานด้วยคัมภีร์อัลกุรอาน (อัล-มุศหัฟ) มุ่งหมายการสาบานนั้นต่อสิ่งที่ถูกเขียนไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน คือ “อัล-กุรอาน” ซึ่งเป็นดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่อยู่ระหว่างปกทั้งสองของคัมภีร์โดยอิจญ์มาอฺและอัล-กุรอานซึ่งเป็นดำรัส ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือส่วนหนึ่งจากศิฟาตของพระองค์ และการสาบานต่อศิฟาตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮุ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุหัยลียฺ เล่มที่ 3 หน้า 379)


ส่วนกรณีการสาบานในศาลหรือการเข้ารับตำแหน่งนั้น โดยมากมิใช่การสาบานต่อคัมภีร์อัล-กุรอานโดยตรง แต่เป็นการกล่าวคำสาบานต่ออัลลอฮฺด้วยประโยคอุกสิมุบิลลาฮฺ , วัลลอฮิ , ตัลลอฮิ เป็นต้น และใช้คัมภีร์อัล-กุรอานเป็นองค์ประกอบในการสาบาน ซึ่งมิใช่เป็นการสาบานโดยตรงกับคัมภีร์อัล-กุรอาน (อัล-มุศหัฟ) จึงไม่มีข้อห้ามและไม่ถือเป็นชิรก์แต่อย่างใด

อัพเดทล่าสุด