การพนันข้อห้ามการเงินอิสลาม การแทงบอล การเล่นหวย การแทงมวย การแทงม้า


การพนันข้อห้ามการเงินอิสลาม

การพนันข้อห้ามการเงินอิสลาม  การแทงบอล การเล่นหวย การแทงมวย การแทงม้า

การพนันเรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-กิม๊ารฺ (اَلْقِمَارُ) หรือ อัล-มัยซิรฺ (اَلْمَيْسِرُ) หมายถึง การเล่น เอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ(Game of Chance) โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น การพนันในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การแทงบอล การเล่นหวย การแทงมวย การแทงม้า

ศาสนาอิสลามห้ามการพนันทุกชนิด และถือว่าเป็นบาปอันใหญ่หลวง ผู้ที่เล่นการพนันจะมีความหมกมุ่นไม่ทำมาหากิน ทำให้หมดเนื้อหมดตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาในสังคมอีกด้วย บทบัญญัติเกี่ยวกับการพนัน อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบัญญัติห้ามการพนันในอัลกุรอาน ดังนี้
ความว่า : โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! แท้ จริงแล้วสุรา การพนัน แท่นบูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมที่เกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้น พวกเจ้าจงหลีกเลี่ยงมันเสีย เผื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ (อัล-มาอิดะฮฺ : 90)
ความว่า : ที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกัน และการเกลียดชัง กันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนัน เท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาดแล้วพวกเจ้าจะยุติไหม? (อัลมาอิดะฮ  : 91)

ความว่า : พวกเขาจะถามเจ้า เกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน (อัลบะเกาะฮเราะฮ: 2)
และมีรายงานหะดิษ ดังนี้

รายงานจากอบีมูซา อัลอัชอะรีย์ว่า แท้จริงนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดเล่นลูกเต๋า แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮและรอซูลของพระองค์” บันทึกโดย อบูดาวูด หะดิษหมายเลข 4938 และอิบนุมายะฮ หะดิษหมายเลข 3762
การพนันสำหรับมุสลิมเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และนำพาไปสู่นรก ท่านรอซูล (ซ.ล.)ได้กล่าวว่า เนื้อทุกก้อนที่มันงอกเงยออกมา จากของที่ฮาราม ดังนั้นนรกคือสิ่งที่เหมาะสมยิ่งกับมัน  รายงานโดย ติรมีซีย์

ดังนั้นในเรื่องของการเงินอิสลาม ธนาคารอิสลามและการลงทุนแบบอิสลาม ก็ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกันในการที่ห้ามทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนัน

 

การธนาคารอิสลามการพนัน(Maisir)

1.ห้ามธนาคารอิสลามรับเงินฝากที่ได้จากการพนัน บริษัทที่มีรายได้หลักจากการพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

2.ห้ามธนาคารอิสลามให้สินเชื่อแก่บริษัทที่มีรายได้หลัก จากการพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

3.ห้ามธนาคารอิสลามค้ำประกันแก่บริษัทที่มีรายได้หลักจาก การพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

การลงทุนแบบอิสลามกับการพนัน(Maisir)

1.ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพนัน(Maisir)ดังนั้นอิสลามจึงห้ามการลง ทุนที่เข้าข่ายการพนัน เช่น การเข้าซื้อหุ้นโดยขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ (Fundamental Analysis) หรือการวิเคราะห์ด้านเทคนิด (Technical analysis) เป็นการลงทุนแบบปราศจากการวิเคราะห์และความรู้ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบความเสี่ยงสูง (High risk) เรียกว่าเหมือนการเสี่ยงดวงออกหัวออกก้อย เช่นเดียวกับการพนัน รวมถึงห้ามซื้อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน หรือกองทุนที่ถือหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เช่น บริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์ บริษัทที่ให้บริการเครื่องเล่นเสี่ยงโชค เป็นต้น

2.ห้ามการเทรดหรือการซื้อขาย TFEX หรือ อนุพันธ์ PUT และ CALL ของหุ้นต่างๆ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงในการถือหุ้น สามัญเพื่อการลงทุน (Hedging) แต่เป็นการเก็งกำไร จากการเทรค TFEX และอนุพันธ์ PUT และ CALL ปราศจากสินทรัพท์ที่แท้จริงรองรับ (Underlying Assets) ซึ่งต่างจากการซื้อขายหุ้นสามัญ ถือเป็นการพนันรูปแบบหนึ่งที่ใช้เป็นการแทงขึ้นหรือแทงลงในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การประกันภัยกับการพนัน(Maisir)

การพนัน (Maisir) ในสัญญาประกัน ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามมีความเห็นว่า การประกันภัยสากลมีองค์ประกอบของการพนันหรือเกมแห่งโอกาสในการเอาหลักประกัน นั้นขึ้นอยู่กับโอกาส หรือ ความน่าจะเป็น ถือได้ว่าเป็นธุรกิจการพนัน ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นมุสลิมจึงต้องเลือกใช้บริการตะกาฟูลซึ่งเป็นไปตามหลักของศาสนาอิสลาม

การพนันถือเป็นข้อห้ามหนึ่งในอิสลาม เป็นบาปใหญ่ที่มุสลิมทุกคนต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำ วันทั่วไป หรือในเรื่องการทำธุรกิจหรือการเงินต่างๆ ทรัพย์ที่ได้มาจากการพนันนั้นก็ไม่มีบารอกัต(สิริมงคล) เนื่องจากเป็นการได้ทรัพย์มาด้วยหนทางมิชอบตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่สามารถที่จะนำไปจ่ายซะกาตหรือให้ซอดาเกาะห์เพื่อหวังความเมตตาและผลบุญ จากพระผู้เป็นเจ้าได้ แต่จะต้องนำทรัพย์นั้นไปบริจาคเป็นสาธารณะกุศลและไม่หวังในผลบุญ

 

วัลลอฮุอะลัม เรียบเรียงโดย Muhammad Azmii Mahamad

 หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง

https://www.การเงินอิสลาม.com หรือ https://www.islamicfinancethai.com

อัพเดทล่าสุด