ข้อแนะนำเตรียมตัวอย่างไรก่อนแต่งงาน?


7,338 ผู้ชม

มีน้องบางคนมาขอคำแนะนำเรื่องเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน อาจเนื่องด้วยบุคลิกหรือหน้าตาที่แก่กล้าก็ไม่อาจทราบได้ ตัวเองไม่ช่ำชองเพียงแต่อาจจะให้แนวทางเล็กๆน้อยๆ พอหอมปากหอมคอ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เพราะชีวิตไม่ใช่นิยายหรือความฝันที่จะแต่งแต้มทุกสิ่งที่สวยงามได้ดั่งใจเรา


ข้อแนะนำเตรียมตัวอย่างไรก่อนแต่งงาน?

ข้อแนะนำเตรียมตัวอย่างไรก่อนแต่งงาน?

มีน้องบางคนมาขอคำแนะนำเรื่องเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน อาจเนื่องด้วยบุคลิกหรือหน้าตาที่แก่กล้าก็ไม่อาจทราบได้ ตัวเองไม่ช่ำชองเพียงแต่อาจจะให้แนวทางเล็กๆน้อยๆ พอหอมปากหอมคอ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เพราะชีวิตไม่ใช่นิยายหรือความฝันที่จะแต่งแต้มทุกสิ่งที่สวยงามได้ดั่งใจเรา แต่พื้นฐานของการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็นคน(ยัง)ไร้คู่ หรือมีคู่แล้วต้องมีคือ “อิสลามทั้งหัวใจ”

อืมม…ตอบง่ายๆ “ทำใจสิจ๊ะ” ^^ (เพราะหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมแล้วโดยเฉพาะเวลาส่วนตัว) หลักๆ คือ “การเตรียมอีมาน” (รับรองไม่เกินความสามารถ)

มุสลิมทุกคนไม่ว่า จะอยู่ในฐานะใดทุกคนล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ “ฐานะความเป็นบ่าวตลอดเวลา” และบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา ย่อมต้องมีความตักวาหรือยำเกรงเป็นต้นทุน ยามเราจะทำการสิ่งใดหรืออยู่ในอารมณ์ใด เราต้องตระหนักและคิดให้รอบคอบถึงคำสั่งใช้-ห้ามที่ส่งผ่านมายังเราจากอัลกุรอ่านและหะดีษ

การละหมาดอิสติคอเราะหฺ เป็นวิธีที่ท่านนบีมูฮัมหมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงส่งเสริม มิใช่ในการขอคู่ครองที่ดีเหมาะสมเท่านั้น แต่เป็นการขอในการงานที่กำลังจะทำให้เกิดความราบรื่น สะดวกและสัมฤทธิ์ผลไปได้ด้วยดี การเลือกระหว่างสิ่ง 2 สิ่ง หรือการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เรา ด้วยพลานุภาพของพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ทรงกำหนด การเลือกคู่ครอง ต้องแน่ใจแล้วว่า การเริ่มต้นสรรหาคู่ครองของผู้ศรัทธา “ด้วยศาสนาและมารยาท” เราต้องชัดเจนในเป้าหมายของการวางแผนสร้างครอบครัวในแบบมุสลิม

ที่สำคัญเราต้องรู้ถึง จุดประสงค์ของการแต่งงานคืออะไร เป้าหมายการแต่งงานของมุสลิมย่อมแตกต่างจากผู้ไม่ใช่มุสลิม เมื่อเรารู้จะได้ระลึกเสมอในการวางตัวได้ถูกต้อง แน่นอนประการแรกของการแต่งงานคือ เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเพื่อรักษาแบบฉบับของท่านนบีมูฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ผู้ไม่ใช่มุสลิมการแต่งงานของเขาเพื่อสนองต่ออารมณ์ใคร่ หรือความรักที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นมาเอง แต่ไม่ใช่พื้นฐานของความรักที่มีต่อพระเจ้าเป็นหลัก

ข้อแนะนำเตรียมตัวอย่างไรก่อนแต่งงาน?

ส่วนเรื่องการเตรียมอีมานหรือความศรัทธาในที่นี้ แนะนำให้ขวนขวาย หาความรู้เพิ่มเติมด้านศาสนาทุกรูปแบบที่ศาสนาส่งเสริม อ่านหนังสือ ฟังบรรยายจากเทป วิทยุ ซีดี MP3 รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ (ปัจจุบันเวปไซต์ส่วนตัวของผู้รู้ศาสนามีหลายท่านมีให้ดาวน์โหลดได้) การออกไปเรียนต้องแน่ใจว่าการเดินไปออกจากบ้านนั้นไม่ขาดทุนหรือการไปกับกลุ่มเพื่อนมุสลิมะฮฺที่น่าไว้วางใจ

มุสลิมที่มีความศรัทธาต่ออิสลามอย่างสุดหัวจิตหัวใจ นั่นคือไม่ว่าพวกเขาอยู่ในที่แห่งใด หรือทำสิ่งใด เขาต้องยึดหลักการอิสลามมาปฏิบัติ มีใช่เลือกเพียงบางประการมาปฏิบัติ เพียงเพราะคิดว่าตนเองทำได้แค่นั้น และมิใช่เฉพาะการแต่งงานเท่านั้นที่เราต้องหันมาศึกษาศาสนาเพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน การมุ่งเน้นในการศึกษาแบบอย่างในเรื่องการใช้ชีวิตครอบครัวมากขึ้น เช่น การเป็นภรรยาที่ดี (ภรรยาที่ศอลิหฺ) สามีภรรยามือใหม่ สิทธิของคู่ครอง ความรักของท่านนบีมูฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมต่อภรรยาเป็นอย่างไร มารยาทของท่านต่อครอบครัว ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางและกำลังใจในการปฏิบัติตนเหมาะสมและเพิ่มผลบุญมากที่สุด

หากการแต่งงาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการมีอีมานที่ดี อาจจะส่อแววที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงคนสองคนเท่านั้น แต่หากเพิ่มเจ้าตัวน้อยมาอีก อนาคตครอบครัวประชาชาติอิสลามในอนาคตจะเป็นเช่นไร

อีกประการต่อมา คือต้องขวนขวายทั้งสองฝ่าย หากยังไม่ได้นิกาฮฺต่างคนต่างศึกษาในกรอบ เจ้าตัวจะทำตามอำเภอใจจูงมือกันไปหาความรู้เพิ่มเติมกันเองไม่ได้ ฝ่ายหญิงเป็นหน้าที่ของมะหฺรอมและตัวเธอเองในการดูแลให้อยู่ในที่ปลอดภัยนั่นเป็นสิทธิพวกเธอที่ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างเข้มงวดและป็นข้อแนะนำสำหรับมุสลิมะฮฺทุกคน หากว่าที่สามีสรรหา หนังสือ เทป ซีดี ความรู้ศาสนามาฝากย่อมทำได้ โดยต้องมีผู้ปกครองของฝ่ายหญิงอยู่ด้วยเสมอและคุยกันเท่าที่จำเป็นในสิ่งมีสาระเท่านั้น

การขอดุอาอฺ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน ไม่ว่าเราจะประสบสิ่งดีหรือเลวร้ายเพียงใด กำลังใจที่สำคัญของพี่น้องมุสลิมเรา คือการขอบคุณและขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแห่งมนุษยชาติ ผู้สร้างมนุษยชาติ ความแน่วแน่และตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจในการขอดุอาอฺ และมุ่งหวังรอคอยอย่างใจเย็นในการตอบรับดุอาอฺนั้นๆ

ความประพฤติของเราก็เป็นสิ่งสำคัญในการตอบรับดุอาอฺ ชีวิตหลังการแต่งงานจะสมบูรณ์หรือไม่ อัลลอฮฺซุบฮานะฮูเท่านั้นเป็นผู้ทรงกำหนด และเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยดุอาอฺ ดุอาอฺที่แนะนำคือ

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่เรา ซึ่งคู่ครองของเรา และลูกหลานของเรา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตาของเรา และขอทรงโปรดให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง”
เราจะมั่นใจในการใช้ชีวิต และมอบหมายในพระองค์แล้ว อย่างน้อยเราก็จะอุ่นใจว่ามีอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอยู่กับเราเสมอ,

ความหวังในชีวิตแต่งงานและ ความพอใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนั่นย่อมถูกกำหนดมาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างต้องการประสบกับความสุขสงบในชีวิต แต่หากแม้ว่า สิ่งที่หวังไม่ได้เป็นดังใจแล้ว เราควรจะทำเช่นไร แน่นอนการแต่งงานมีครอบครัว เป็นการเริ่มชีวิตคู่กับคนแปลกหน้าต่างฝ่ายต่างต้องอาศัยการปรับตัว เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีการให้เกียรติกัน ความช่างสังเกตในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตคู่สดใสเสมอ ศิลปะการใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องที่ต้องให้รายละเอียดบ้างไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไปเพื่อความสุขสงบของครอบครัว ความอ่อนโยน การเอาอกเอาใจ ปรนนิบัติผู้เป็นสามีเป็นสิ่งที่ปรารถนา ภรรยาก็เช่นกันปรารถนาการเอาใจใส่ดูแล เป็นห่วงเป็นใย แบ่งเบาภาระงานบ้าน หรือช่วยดูแลลูกๆ บ้าง ด้วยธรรมชาติของสตรีมักมีอารมณ์ ความรู้สึกเหนือเหตุผล พวกเธอจึงต้องการคนปกป้องดูแลและต้องการการทะนุถนอม แต่พวกเธอก็อย่าได้เรียกร้องอะไรให้มากเกินไป นี่คืออีกเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงมักจะขี้น้อยใจหรือเอาแต่ใจตนเอง ซึ่งเมื่อรู้ตนเองก็ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ทั้งสองฝ่ายรับกันได้ นี่แหละ!! คือความสวยงามของชีวิตคู่

ซึ่งพื้นฐานของการดำรงชีวิตแต่งงานต้องยึดหลักการของศาสนา ลองมองย้อนไปดูแบบอย่างจากท่านนบีมูฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ภรรยาท่านนบีฯ และบรรดาซะฮาบะฮฺ ศอฮาบิยะฮฺทั้งหลาย บรรดาภรรยาหรือว่าที่แม่บ้านทั้งหลายอย่าลืมว่า การเชื่อฟังต่อสามี (ตออัต) เคารพต่อสามีเป็นการเชื่อในคำสั่งของอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะพระองค์ทรงย้ำให้ภรรยาเชื่อฟังสามี ในเรื่องที่ไม่ผิดต่อหลักการศาสนา การแบ่งหน้าที่หลักในครอบครัวของแต่ละฝ่ายในอิสลามสอนอย่างชัดเจน

พฤติกรรม หรือการกระทำบางอย่างอาจไม่ได้ดังที่หวัง อย่าจริงจังกับมันนัก ต้องใจเย็น และเตรียมใจยอมรับ แน่แหละการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต้องมาปรับหาจุดพอดีทั้งคู่ บางอย่างก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นซะบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ หรือไม่บั่นทอนเสถียรภาพในครอบครัว ทั้งภรรยาและสามีต่างฝ่ายต่างต้องช่วยกันตักเตือนกันและกัน ใครมีอีมานมากกว่าก็ช่วยเติมเต็มอีกฝ่าย จะแบ่งแยกเป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายไม่ได้ อาจจะเหนื่อยใจ ท้อแท้ หรือเบื่อหน่ายบ้าง ต้องทำความเข้าใจว่านี่เป็นหน้าที่ของมุสลิมเราต้องตักเตือนกันและกันเพื่อให้ดีขึ้น แต่ผลสำเร็จอยู่ที่พระองค์ แม้อะไรบางอย่างที่ถูกใจอีกฝ่าย แต่เป็นสิ่งที่ศาสนาไม่ส่งเสริมก็อย่าได้ทำเลย เพราะจะสร้างความไม่พอพระทัยต่ออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ส่วนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ หรืออิบาดะอฺต่างๆ สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต้องตักเตือนและชักชวนกันทำดี บางครั้งจะหวังให้ฝ่ายชายเป็นผู้นำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจเกิดความเหน็ดเหนื่อยจากงาน หรือเครียดจากภาวะรอบตัวอื่นๆ ทำให้ละเลยอิบาดะอฺเล็กๆ น้อยๆ

เมื่อมีความรู้ใดๆ ควรนำมาชี้แจง แถลงไขแก่กัน แนะนำให้มีการนาซีฮะฮฺ ทุกสัปดาห์ อาจจะทุกวันศุกร์หลังมักริบ หรือีชาอฺ ต่างๆ ฝ่ายต่างจะได้ตักเตือนในการปรับปรุงตนให้ดีขึ้นเพื่อเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายมากขึ้น และต้องพอใจ ณ อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลายิ่ง อ้อ…อย่าลืม แนะนำให้มีการถือบวชซุนนะฮฺ,การละหมาดซุนนะฮฺต่างๆ,ละหมาดกลางคืน,การอ่านอัลกุรอ่านร่วมกัน ก็เป็นอีกการงานหนึ่งที่น่าจูงมือกันปฏิบัติ

ฝ่ายผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวในการสรรหาปัจจัยยังชีพมาดูแลครอบครัวของเขา ปกป้องครอบครัว ส่วนฝ่ายหญิงหน้าที่หลักคือดูแลบ้านเรือน ลูกๆ และดูแลความปลอดภัยของตนเองในขณะที่สามีไม่อยู่บ้าน แต่หากสามีไม่สามารถแสวงหาปัจจัยได้มากกว่านี้ เพราะริสกียฺเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประทานและกำหนดให้เท่านั้น เราต้องพอใจกับการกำหนดของพระองค์ หากอนาคตมีลูกตัวน้อยๆ ที่พระองค์ประทานให้ เราต้องพอใจกับสภาพที่ถูกกำหนดให้เกิดโดยพระองค์เช่นกัน แม้ลูกที่เกิดมาไม่ครบ 32 ประการก็ตามนั่นคือการถูกทดสอบบทบาทของแม่ที่ยากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น

หลายประการนี้ เป็นพื้นฐานของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นบ่าวผู้ศรัทธา ล้วนต้องอาศัยหลักการปฏิบัติ หลักศรัทธาทั้งสิ้น ชีวิตมุสลิมเราจะเลือกทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำไม่ได้ ฉะนั้น หากเรานำเอาบัญญัติในอัลกุรอาน อัลหะดีษ และแนวทางของเหล่าบรรดาศอฮาบะฮฺ และชาวสลัฟใช้ในการออกแบบแนวทางในการดำเนินชีวิตย่อมจะได้กำไรมากกว่าคนอื่น อินชาอัลลอฮฺ

“รักกันเพื่ออัลลอฮฺ ตักเตือนกันเพื่ออัลลอฮฺ เกลียดกันเพื่ออัลลอฮฺ”

ขอบคุณข้อความดีดีจาก : baanmuslimah.com

อัพเดทล่าสุด