รู้แล้ว...ทำไมมุสลิมร่วมรับน้องไม่ได้?


7,612 ผู้ชม

ทางชมรมมุสลิมจึงได้เสนอข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติต่อนักศึกษามุสลิมในกิจกรรมประชุมเชียร์ เพื่อป้องกันการลิดรอนสิทธิในการนับถือศาสนา อันเกิดจากการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนี้


รู้แล้ว...ทำไมมุสลิมร่วมรับน้องไม่ได้?

รู้แล้ว...ทำไมมุสลิมร่วมรับน้องไม่ได้?

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่อนักศึกษามุสลิม ในการประชุมเชียร์

การประชุมเชียร์ หรือ SOTUS 
ในช่วงนี้ทุกๆมหาวิทยาลัยกำลังคึกคักเพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูต้อนรับดอกไม้ช่อใหม่  ทำเอาพี่ๆเตรียมพร้อมกันอย่างสุดฤทธิ์ที่จะประคองหรือสืบทอดจิตวิญญาณของระบบ “SOTUS” ให้จงได้ในทุกๆปี ด้วยเสมือนเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจละเว้นได้ “SOTUS” หรือ “การประชุมเชียร์” กลายเป็นประเพณีสำหรับนักศึกษาปีที่หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่จะต้องเดินผ่านประตูระบบนี้เข้าไปปีแล้วปีเล่า
ระบบโซตัสคืออะไรระบบโซตัส (SOTUS: Seniority Order Tradition Unity Spirit) หรือการว้าก ที่นำมาใช้ในรูปแบบการรับน้องรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ความเป็นอาวุโสกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความกดดันต่อนักศึกษาใหม่หรือน้องใหม่ได้อย่างชอบธรรม โดยอาศัยองค์ประกอบต่อไปนี้
S ตัวที่ 1 ย่อมาจาก Seniority หมายถึง การเคารพผู้อาวุโสO ย่อมาจาก Order หมายถึง การทำตามคำสั่งT ย่อมาจาก Tradition หมายถึงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาU ย่อมาจาก Unity หมายถึง ความสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันS ตัวที่ 2 ย่อมาจาก Spirit หมายถึง การฝึกจิตใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 
โดยการประชุมเชียร์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น1. เป็นกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้นักศึกษาปรับตัวและทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ทำให้รุ่นน้องได้รู้จักรุ่นพี่ และเกิดความภาคภูมิใจในคณะหรือสถาบันของตนเอง รวมทั้งเป็นการปูพื้นฐานในความเป็นเพื่อนร่วมสายอาชีพ/วิชาชีพของนักศึกษาที่เรียนในคณะเดียวกันในอนาคต2. การสร้างสถานการณ์ที่กดดันจะทำให้นักศึกษาใหม่ ได้รู้จักการแก้ปัญหา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีความสามัคคีต่อกัน
แต่ก็ย่อมมีข้อเสียที่เราต้องรับรู้ด้วย

1. การกระทำที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ รายงานการวิจัย ฉบับที่ 71 “ผลกระทบของการจัดกิจกรรมการรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์” โดย สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ และ ฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรณีรุ่นพี่กระทำด้วยความรุนแรงและลืมตัวบ้างเป็นบางครั้ง จากการสอบถามนักศึกษาปีที่หนึ่งพบว่ามีการกระทำเช่นนั้นถึง 51% และจากงานวิจัยการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่ามีการร้องเรียนของผู้ถูกกระทำจากการรับน้องมีถึงร้อยละ 18.3 โดยในแต่ละปีจะมีน้องใหม่ประมาณ 1 แสนคน เท่ากับว่าในแต่ละปีจะมีนักศึกษาที่มีปัญหาจากการรับน้องถึง 2 หมื่นคน (สสส., 2548)
2. การมอมเมานักศึกษาใหม่ด้วยเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ และการลวนลามทางเพศที่แฝงเร้นและเปิดเผยจากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับผลวิจัย "การรับน้อง" พบว่า ชายหาดเป็นสถานที่ยอดนิยมของสถาบันต่างๆ และมีการนำแอลกอฮอล์มาให้น้องใหม่ดื่มถึงร้อยละ 42.6 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกัญชา ยาเสพติด ลวนลามทางเพศ (สสส., 2548)
3. ผลกระทบด้านสังคมที่ปลูกฝังให้คนรู้สึกการเป็นพรรคเป็นพวกสูง และสร้างค่านิยมที่เรียกว่า“สถาบันนิยม” ที่มักจะได้ยินกันบ่อยว่า จบจากไหน รุ่นไหน เป็นต้นโดยสรุป กิจกรรมรับน้องหรือประชุมเชียร์เป็นเพียงประเพณีนิยมที่ปฏิบัติที่สืบทอดกันมา หลายคนยังรอการพลิกบทบาทของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะมาร่วมกำหนดกิจกรรมที่ปลดปล่อยตัวเองจากการยึดรูปแบบเดิมที่อาศัยการว้ากหรือการตะโกนแบบหยาบๆ เพื่อบังคับให้คนภายใต้อำนาจกระทำสิ่งที่ไร้สาระหรือวิธีการลามกทั้งหลาย ที่ไม่มีประโยชน์อื่นใดต่อการเรียนหรือการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งวิธีการลงโทษที่มุ่งให้ได้รับความอับอายต่อผู้อื่น มาสู่การมุ่งเน้นกิจกรรมที่คำนึงถึงเสรีภาพ สิทธิส่วนบุคล และวิถีชีวิตของแต่ละคน เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุขและเป็นบัณฑิตที่ออกสู่สังคมอย่างมีคุณภาพอ้างอิง สรุปรายงานการเสวนา "การรับน้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ" ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
บทบาทของชมรมมุสลิมต่อการประชุมเชียร์ ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย พบว่าชมรมมุสลิมมีบทบาทอย่างมากในการเข้าไปมีส่วนดูแลรับผิดชอบน้องนักศึกษาที่เข้ามาใหม่อย่างอบอุ่นในทุกๆปีทั้งนี้ภาพที่เป็นอยู่ของชมรมมุสลิมส่วนใหญ่ยังมีลักษณะประนีประนอม (Compromise) และเป็นการควบคุมมวลชนนักศึกษาให้เป็นไปอย่างละมุนละม่อมที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของอิสลามและสร้างเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่ออิสลามในระยะยาว ที่ผ่านมาชมรมมุสลิมเกือบทุกสถาบันที่ต่างให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและคณะในการกิจกรรมประชุมเชียร์หรือรับน้อง แต่ในขณะเดียวกันต่างพยายามที่ชี้แจง สอดแทรกประเด็นส่วนร่วมและส่วนต่างที่อยู่ภายใต้กรอบอิสลามควบคู่กันไปในทุกๆปี จากการสัมผัสชมรมมุสลิมส่วนใหญ่ต่อความเห็นที่เกี่ยวกับการรับน้องใหม่ พบว่าต่างมองถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้นในแง่ของกิจกรรมช่วยผลักดันในการสร้างคนที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นในสังคม แต่อย่างไรก็ตามต่างพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะนำไปสู่สิ่งที่หะรอม (ต้องห้ามตามหลักการศาสนา) ภายใต้กรอบสังคมญะฮีลียะฮฺในสังคมมหาวิทยาลัยเหล่านี้ พบว่ากลับมีส่วนท้าทายให้นักศึกษาชมรมมุสลิมมีการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในระหว่างสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหามาตรการและการรับมือต่อการรับน้อง ที่นับวันมีรูปแบบเข้มข้นและพิสดารมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการปฏิบัติตัวของนักศึกษามุสลิมที่มีลักษณะที่สอดคล้องต่อวิถีอิสลามนั่นเอง หลักปฏิบัติที่พบว่าชมรมรมมุสลิมเข้ามามีบทบาทในการพยุงและช่วยเหลือนักศึกษามุสลิมใหม่ในแต่ละคณะ โดยมีหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งที่ตรงกันคือ ต้องไม่ทำให้ ความเป็นมุสลิมถูกกลืนละลายไปกับกิจกรรมการรับน้องใหม่ หรือ ประชุมเชียร์และทุกๆกิจกรรมย่อยจะต้องไม่ขัดต่อหลักการอิสลาม
โดยทางชมรมมุสลิมได้มีการเสนอข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ ต่อนักศึกษามุสลิมในกิจกรรมประชุมเชียร์ เพื่อให้การประชุมเชียร์ดำเนินได้อย่างราบรื่น เป็นปีกแผ่น และไม่ขัดต่อหลักศาสนา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการนับถือศาสนา ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 37 ความว่า

“ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"
ซึ่งทางชมรมมุสลิมจึงได้เสนอข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติต่อนักศึกษามุสลิมในกิจกรรมประชุมเชียร์ เพื่อป้องกันการลิดรอนสิทธิในการนับถือศาสนา อันเกิดจากการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนี้
ข้อห้ามในการประชุมเชียร์

1.การเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาอื่นทุกชนิด เช่น การผูกข้อมือ หรือการบายศรีสู่ขวัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลักอากีดะฮฺ(หลักศรัทธา) ซึ่งเป็นชีริก(การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า) โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้ อัลเลาะฮ์ตะอาลา ได้ทรงตรัสความว่า
أَلَا لِلَّهِ الدِّينُ الْخَالِصُ وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مِن دُونِهِ أَوْلِيَاء مَا نَعْبُدُهُمْ إِلَّا لِيُقَرِّبُونَا إِلَى اللَّهِ زُلْفَى
“พึงสังวรเถิด! สำหรับอัลเลาะฮ์นั้น คือการนมัสการโดยบริสุทธิ์ และบรรดาผู้ยึดเอาสิ่งอันนอกเหนือจากพระองค์มาเป็นผู้คุ้มครอง (พวกเขากล่าวว่า) “เรามิได้นมัสการสิ่งเหล่านั้น (เพื่ออื่นใดเลย) นอกจากเพื่อพวกนั้นจะได้ทำให้เราเข้าใกล้ต่ออัลเลาะฮ์ยิ่งขึ้น” อัซซุมัร 3และอีกอายะฮ(วิวรณ์)หนึ่งความว่า : “นั่นแหละคืออัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ไม่มีผู้ควรได้รับการเคารพสักการะนอกจากพระองค์ผู้ทรงบังเกิดทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น พวกเจ้าทรงเคารพสักการะพระองค์เถิด และพระองค์ทรงเป็นผู้รับมอบหมายให้คุ้มครองรักษาในทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัลอันอาม : 102 )
ข้อเสนอแนะ ให้นำน้องมุสลิมออกจากบริเวณพิธี
2.การบูม (มหาวิทยาลัย,คณะฯลฯ) เนื่องจากการบูมมีต้นกำเนิดมาจากการเรียกความกล้าหาญ โดยใช้ผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้าที่ตามหลักความเชื่อของชาวอะบอริจิน และทั้งมีการใช้คำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่นๆ ซึ่งขัดต่อหลักอากีดะฮฺ (หลักศรัทธา) ตามหลักฐาน
لَكُمْ دِيْـنُكُمْ وَلِيَ دِيْنِ
"สำหรับพวกท่านคือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันคือศาสนาของฉัน" อัลกาฟิรูน : 6
ข้อเสนอแนะ ให้นำน้องมุสลิมออกจากวงบูม
3.อาหารไม่ฮาลาล(ฮาลาลคือสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ) รวมถึงสิ่งของมึนเมา เช่น เหล้า เบียร์เป็นต้น หลายคนมักจะเข้าใจว่าอาหารอิสลามแค่ไม่มีหมูก็สามารถรับประทานได้ โดยแท้จริงแล้วมีบัญญัติเกี่ยวกับอาหารฮาลาลไว้อย่างละเอียด ดั่งที่อัลลอฮได้ตรัสไว้ในอัลกุรอ่าน
“โอ้บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่ดีทั้งหลาย ที่เราได้ประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกท่าน และพวกท่านจงขอบคุณอัลเลาะห์ถ้าหากพวกท่านเคารพภักดีแต่พระองค์เท่านั้น ที่จริงพระองค์ได้ทรงห้ามพวกท่านเฉพาะแต่เพียง ซากสัตว์ เลือด เนื้อของสุกร สัตว์ที่ถูกเชือดบูชาโดยเอ่ยนามอื่นนอกจาก อัลเลาะห์ ดังนั้นผู้ใดที่ตกอยู่ในภาวะคับขัน โดยไม่มีเจตนาขัดขืนและไม่ใช่เป็นการละเมิดก็ไม่มีบาปตกแก่พวกเขา แท้จริงอัลเลาะห์เป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลบะกอเราะห์ : 172-173 )
และอีกหนึ่งตัวบทที่กล่าวถึงสิ่งมึนเมา
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ، إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَن ذِكْرِ اللّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ " โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายันต์ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกันและการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนันเท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาดแล้วพวกเจ้าจะยุติใหม่ "(อัลมาอิดะฮฺ/90-91)
ข้อเสนอแนะ อาหารที่จะใช้เลี้ยงน้องนั้น ควรเป็นอาหารที่มาจากร้านมุสลิม หรือ อาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานฮาลาล และ ห้ามมีเหล้า ในกิจกรรมใดๆก็ตาม
4.การปะปนอย่างใกล้ชิดและถูกเนื้อต้องตัวเพศตรงข้าม เนื่องจาก การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ให้เกียรติและเป็นบาปอย่างร้ายแรง ตามหลักฐานจากท่านนบีมูฮำมัด ซ็อลลัลลอฮถอะลัยฮิวาซัลลัม
لأن يطعن في رأس رجل بمخيط من حديد خير من أن يمس امرأة لا تحل له " 
“หากว่าใช้เข็มที่ทำมาจากเหล็กทิ่มที่ศีรษะของชายคนหนึ่งยังดีเสียกว่า บุคคลหนึ่งสัมผัสสตรีซึ่งไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับเขา” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยเฏาะบะรอนีย์ และบัยหะกีย์) 
ข้อเสนอแนะ ควรมีการแยกน้องออกอย่างชัดเจน และงดกิจกรรมประเภทถึงเนื้อถึงตัว
5.การเต้น การร้องเพลงที่มีดนตรีประกอบ การเข้าร่วมคอนเสิร์ต ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการแสดงออกของมุสลิม เป็นกิจกรรมไร้สาระและขัดต่อหลักการศาสนา โดยมีหลักฐานคือ
ليكونن من أمتي أقوام يستحلون الحر و الحرير و الخمر و المعازف
“จะปรากฏกลุ่มก้อนหนึ่งจากประชาชาติของฉันที่ทำให้ผ้าไหม, สิ่งมึนเมา และเครื่องดนตรีเป็นที่อนุมัติ (หะลาล)” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์)
และ อีกบทหนึ่ง
من حسن إسلام المرء تركه ما لا يعنيه“ส่วนหนึ่งของบุคคลที่ดีใน (ทัศนะ) อิสลาม คือบุคคลที่ละทิ้งสิ่งที่ไม่ประโยชน์สำหรับเขา” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ) 
ข้อเสนอแนะ ให้นำน้องมุสลิม ออกจากกิจกรรมดังกล่าว
ข้อพึงปฏิบัติในการประชุมเชียร์

1.การประชุมเชียร์จะเกิดในช่วงเย็น-กลางคืน ดังนั้น  เมื่อถึงเวลาละหมาดพี่ๆจะพาน้องๆไปห้องละหมาดที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง หรือจัดทำกันเองแบบชั่วคราว ดังนั้น ควรเตรียมสถานที่ละหมาดให้เรียบร้อยและให้น้องละหมาดตามเวลา2.การรับมอบของที่ระลึก(เกียร์,อะตอม เป็นต้น) ให้รับด้วยมือแทนการสวมคอ และระมัดระวังการถูกเนื้อต้องตัว3.ในการร้องเพลงให้เข้าร่วมเฉพาะการร้องเพลงคณะหรือเพลงมหาวิทยาลัย ปกติจะไม่มีดนตรีใดๆประกอบ แต่อาศัยการร้องประสานเสียง และจังหวะจากการปรบมือ และให้งดการร้องในเนื้อร้องที่มีบางท่อนแสดงชิริกที่ชัดเจน4.บางคณะที่มีการดื่มน้ำสปิริต ให้ชี้แจงต่อหน้าน้องทุกศาสนาว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่น้องจะได้ทราบว่าสิ่งที่น้องกำลังจะรับประทานอะไรบ้างและสามารถปฏิเสธการรับประทานได้5.สำหรับนักศึกษามุสลิมะฮฺ(สตรีมุสลิม) ให้ระมัดระวังกิจกรรมที่เป็นการเปิดเผยเอาเราะฮฺ(อวัยวะพึงสงวนตามหลักศาสนา สำหรับสตรีคือทุกส่วน ยกเว้น ใบหน้า และฝ่ามือ และสำหรับบุรุษคือ ตั้งแต่หัวเข่า จนถึงสะดือ)6.ทางชมรมมุสลิมจะมีการส่งตัวแทนจากชมรมมุสลิมไปประจำแต่ละคณะ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และเป็นที่ปรึกษาด้านแนวทางที่ทางคณะพึงทราบ เพื่อใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมต่อนักศึกษามุสลิมอย่างถูกต้อง
ชมรมมุสลิมในสถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญ ที่จะประคับประคองชีวิตนักศึกษามุสลิมผู้มาใหม่ ให้พ้นผ่านภาวะวิกฤติในช่วงปีแรกได้ค่อนข้างสมบูรณ์ คณะกรรมการชมรมมุสลิมเองต่างมีโอกาสได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาการเอาตัวรอดจากสังคมญะฮีลียะฮฺจำลองในรั้วมหาวิทยาลัยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นอามานะ(ความรับผิดชอบ) ที่รุ่นพี่ จะคอยชี้นำแนวทางให้กับรุ่นน้องต่อไป อิสลามไม่ได้สอนในความเป็น Seniority (การเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง) แต่อิสลามสอนการเป็น Brother (ความเป็นพี่น้อง)สุดท้ายผมก็เสริมนิดหน่อยละกันครับ หลังจากที่อ่านบทความกันเเล้ว ก็ลองคิดดูว่ารุ่นพี่อยู่กับเราเเค่ 4-6ปี เเต่อัลลอฮอยู่กับเราตลอดชีวิต คุณยังจะให้ความสำคัญกับใครก็คิดเอ่าเองละกันครับ !!!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ชมรมนักศึกษามุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด