ดุอาอฺเดือนรอญับ ความประเสริฐของเดือนรอญับ สิ่งที่ควรทำในเดือนรอญับ


22,178 ผู้ชม

รอญับ ชื่อเดือนที่ 7 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งอยู่ถัดจากเดือนญุมาดัลอาคิเราะฮฺ เเละอยู่ก่อนเดือนชะอฺบาน....


ดุอาอฺเดือนรอญับ ความประเสริฐของเดือนรอญับ สิ่งที่ควรทำในเดือนรอญับ

เดือนรอญับ คืออะไร ??

ดุอาอฺเดือนรอญับ ความประเสริฐของเดือนรอญับ สิ่งที่ควรทำในเดือนรอญับ

รอญับ (อาหรับ: رجب‎) ชื่อเดือนที่ 7 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งอยู่ถัดจากเดือนญุมาดัลอาคิเราะฮฺ เเละอยู่ก่อนเดือนชะอฺบาน รอญับเป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในสวรรค์ ซึ่งลำน้ำของมันขาวดุจดังน้ำนม และมีรสหวานกว่าน้ำผึ้งใครก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนนี้เพียงหนึ่งวัน เขาก็จะได้ดื่มน้ำในแม่น้ำนี้

เดือนรอญับเป็นเดือนที่ประเสริฐยิ่ง ได้มีรายงานกล่าวถึงความประเสริฐของเดือนนี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“รอญับเดือนของอัลลอฮ์อันยิ่งใหญ่ ไมมี่เดือนใดเทียบเคียงความศักดิ์สิทธิ์และความประเสริฐได้ การรบราฆ่าฟันกับผู้ปฏิเสธในเดือนนี้นั้นเป็นที่ต้องห้าม พึงสังวร เราะญับคือเดือนของอัลลอฮ์ ชะอ์บานคือเดือนของฉัน และเราะมะฎอนคือเดือนของประชาชาติของฉัน พึงสังวร ผู้ใดถือศีลอดหนึ่งวันในเดือนเราะญับ ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกรย่อมเป็นที่เหมาะสมและความกริ้ว โกรธของอัลลอฮ์ย่อมต้องห่างไกลจากเขา และประตูแห่งไฟนรกถูกปิดสำหรับเขา”

เดือนรอญับเป็นหนึ่งในสี่เดือนต้องห้าม ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงห้ามการอธรรม (การฝ่าฝืนต่อพระองค์)เอาไว้อย่างรุนเเรงมากกว่าเดือนอื่นๆ และการทำสงครามในเดือนทั้งสี่นี้ก็เป็นที่ต้องห้าม นอกจากฝ่ายศัตรูจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ดังพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

إِنَّ عِدَّةَ الشُّهُورِ عِنْدَ اللَّهِ اثْنَا عَشَرَ شَهْراً فِي كِتَابِ اللَّهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ ذَلِكَ الدِّينُ الْقَيِّمُ فَلا تَظْلِمُوا فِيهِنَّ أَنْفُسَكُمْ (التوبة:36)

ความว่า : แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮฺนั้นมีสิบสองเดือน ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน จากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรมแก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น (อัต-เตาบะฮฺ : 36)

โดยสี่เดือนต้องห้ามในโองการนี้คือ : ซุลเกี๊ยะดะฮฺ , ซุลฮิจญะฮฺ , มุหัรรอม เเละรอญับ ดังที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้อธิบายไว้ในหะดีษความว่า :

عَنْ أَبِي بَكْرَةَ رضي الله عنه عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : ( السَّنَةُ اثْنَا عَشَرَ شَهْرًا , مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ , ثَلاثٌ مُتَوَالِيَاتٌ : ذُو الْقَعْدَةِ وَذُو الْحِجَّةِ وَالْمُحَرَّمُ , وَرَجَبُ مُضَرَ الَّذِي بَيْنَ جُمَادَى وَشَعْبَانَ ) .وروى البخاري (4662) ومسلم (1679)

รายงานจากท่านอบูบักเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : ท่านนบีได้กล่าวว่า :

"ปีหนึ่งนั้น มีด้วยกันทั้งหมดสิบสองเดือน เเละในเดือนเหล่านี้ จะมีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้ามอยู่ โดยสามเดือนจะอยู่ติดต่อกัน นั่นคือ ซุลเกี๊ยะดะอฺ , ซุลฮิจญะฮฺ เเละมุหัรรอม ส่วนเดือนรอญับมุฎ็อรฺ จะเเยกออกมาอยู่ระหว่างเดือนญุมาดัลอาคิเราะฮฺกับชะอฺบาน"

(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรียฺเเละมุสลิม)

ศาสนาสั่งให้ทำอะไรบ้างในเดือนรอญับ

ไม่มีหลักฐานจากบทบัญญัติของศาสนาที่มาสั่งใช้ให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺเป็นพิเศษในเดือนรอญับเลย ส่วนการปฏิบัติของผู้คนบางส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดร่อฆออิบในค่ำคืนวันศุกร์เเรกของเดือนรอญับ โดยจะทำกันในช่วงระหว่างละหมาดมัฆริบกับละหมาดอิชาอฺ หรือไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองในค่ำคืนที่ 27 ของเดือนรอญับที่พวกเขาคิดว่าเป็นค่ำคืนอิสรออฺเเละเมี๊ยะรอจของท่านนบี (ซ.ล.)  ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ที่ผู้คนปฏิบัติกันอย่างเเพร่หลายนั้น เป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรม)ในศาสนาทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานจากศาสนามายืนยันในการกระทำดังกล่าวเลยเเม้เเต่บทเดียว เเละนอกจากนั้นค่ำคืนอิสรออฺและเมี๊ยะรอจก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นในเดือนไหนเเละค่ำคืนไหน เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้เเม้เเต่บทเดียวที่ได้ระบุวันเวลาของคำคืนดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน เเต่ถึงเเม้ว่าสามารถระบุวันเวลาได้ ก็ไม่อนุญาตให้ทำการเฉลิมฉลองใดๆเป็นพิเศษอยู่ดี เพราะท่านนบี (ซ.ล.) เเละบรรดาศอหาบะฮฺผู้มีเกียรติไม่เคยปฏิบัติพิธีกรรมใดๆมาก่อน

การถือศิลอดในเดือนรอญับ

ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ที่มายืนยันถึงความประเสริฐของการถือศิลอดในเดือนรอญับในรูปแบบเฉพาะ ส่วนผู้คนที่ทำการถือศิลอดกันในเดือนนี้เเละเชื่อว่ามันมีความประเสริฐที่เป็นพิเศษกว่าเดือนอื่นๆนั้น การกระทำดังกล่าวนี้ ไม่มีรากฐานใดๆจากศาสนา อีกทั้งหะดีษบทหนึ่งที่ระบุว่าท่านนบีﷺได้ส่งเสริมให้ถือศิลอดในเดือนต้องห้ามทั้งสี่ ก็เป็นหะดีษฎออีฟ(อ่อน)เสียอีก นั่นคือหะดีษที่ได้มีรายงานมาว่าท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

صُمْ مِنْ الْحُرُمِ وَاتْرُكْ

"จงถือศิลอดในเดือนต้องห้าม เเละจงละทิ้งมัน"

(บันทึกโดยอิหม่ามอบูดาวูด โดยเชคอัลบานียฺให้สถานะว่าเป็นหะดีษฎออีฟ)

ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ รอหิมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า :

"สำหรับการถือศิลอดในเดือนรอญับเป็นการเฉพาะนั้น บรรดาหะดีษทั้งหมดในเรื่องนี้ เป็นหะดีษอ่อนทั้งหมด มิหนำซ้ำยังถึงขั้นหะดีษเมาฎูอฺ(หะดีษอุปโลก)อีกด้วย บรรดานักวิชาการไม่ให้การรับรองหะดีษเหล่านี้ และสิ่งที่ถูกรายงานมาเกี่ยวกับความประเสริฐต่างๆนั้น ไม่ได้เป็นหะดีษฎออีฟ เเต่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นเท็จ เเละถูกอุปโลกน์ขึ้นมาทั้งสิ้น..."

مجموع الفتاوى (25/290)

ท่านอิหม่ามอิบนุลก็อยยิม รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :

"หะดีษทุกบทที่กล่าวถึงการถือศิลอดในเดือนรอญับ หรือการละหมาด(พิเศษ)ในบางค่ำคืนนั้น เป็นเรื่องเท็จ เเละเรื่องอุปโลกน์ทั้งสิ้น"

"المنار المنيف" (ص96)

ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :

"เกี่ยวกับความประเสริฐของเดือนรอญับ หรือการถือศิลอดในเดือนนั้น หรือการถือศิลอดบางวันของเดือนนี้เป็นการเฉพาะ หรือการเจาะจงละหมาดในยามค่ำคืนนั้น ไม่มีรายงานหะดีษที่ศอฮีหฺที่สามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงได้เลยเเม้เเต่บทเดียว"

"تبيين العجب" (ص11)

และท่านชัยคฺ มุฮัมหมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ ได้ถูกถามเกี่ยวกับการถือศิลอดในวันที่ 27 ของเดือนรอญับ เเละการละหมาดในค่ำคืนของวันดังกล่าว

ท่านได้ตอบว่า : การถือศิลอดในวันที่ 27 เดือนรอญับ เเละการเจาะจงละหมาดในยามค่ำคืนของวันนั้น เป็นบิดอะฮฺ(อุตริกรรม) และทุกๆบิดอะฮฺ คือความหลงผิด"

مجموع فتاوى ابن عثيمين (20/440) .

ส่วนผู้ที่ถือศิลอดซุนนะฮฺอยู่เป็นประจำทุกเดือนอยู่เเล้ว เช่นถือศิลอดวันจันทร์ กับวันพฤหัสในทุกๆสัปดาห์ หรือถือศิลอดในอัยยามุลบัยฎฺ(วันที่ 13,14,15 ของทุกๆเดือน)อยู่เเล้ว ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถ้าเขาจะถือศิลอดตามปกติ

ขอให้เราได้เอาใจใส่ในการเจริญรอยตามซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล.)เเละเเบบอย่างของเหล่าบรรดาศอหาบะฮฺอย่างจริงจัง เพราะสิ่งนี้คือความดีงามอันดีเยี่ยมสำหรับบ่าว พร้อมทั้งต้องออกห่างจากการอุตริในศาสนาทั้งปวงโดยไม่มีข้ออ้างใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้ามันเป็นความดีงามแล้วไซร้ ท่านนบีﷺเเละบรรดาศอหาบะฮฺคงปฏิบัติไปแล้ว เเต่ถ้าหากว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฉนั้นมันคือความชั่วช้าที่ท่านนบีﷺได้บอกว่ามันคือความหลงผิด เเละเป็นทางไปสู่ไฟนรก วัลอิยาซุบิลลาฮฺ

สุดท้ายนี้ขอฝากดุอาอฺบทหนึ่งให้พี่น้องได้วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งดุอาอฺบทต่อไปนี้ เป็นดุอาอฺที่บรรดานักวิชาการอนุญาตที่จะนำไปขอได้ โดยเป็นการขอดุอาอฺทั่วๆไป เเต่สายรายงานของดุอาอฺบทนี้ เป็นสายรายงานอ่อน(ฎออีฟ)

اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا في رَجَبِ وَشَعْبَانَ وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ

คำอ่าน : อัลลอฮุมม้า บาริกล่านา ฟีร่อญับ ว่าชะอฺบาน ว่าบัลลิฆนา ร่อมาฎอน

ความว่า : โอ้อัลลอฮฺ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนรอญับและเดือนชะอฺบาน และขอให้เราบรรลุสู่เดือนรอมฎอนด้วยเถิด

ที่มา:  อิสลามตามแบบฉบับ 

 

อัพเดทล่าสุด