มุสลิมในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


5,376 ผู้ชม

บันทึกประวัติศาสตร์กรุงสยามในรัชสมัยของ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ระบุเอาไว้ว่า นอกจากจะมีชนหลากหลายเชื้อชาติทั้งที่เป็นไทย ลาว เขมร ญวน มอญ และมลายู


มุสลิมในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

มุสลิม ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

บันทึกประวัติศาสตร์กรุงสยามในรัชสมัยของ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ระบุเอาไว้ว่า นอกจากจะมีชนหลากหลายเชื้อชาติทั้งที่เป็นไทย ลาว เขมร ญวน มอญ และมลายู ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ยังมีชาวต่างชาติจากแดนไกลเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาพำนักอาศัยบนผืนแผ่นดินนี้อีกมากมาย

และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ "มุสลิม" จากประเทศอิหร่าน หรือ "เปอร์ เซีย" ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า "แขกขาว" โดยนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามายังกรุงสยามก่อนชาวฝรั่งเศส โปรตุเกส และฮอลันดาเสียด้วยซ้ำ (ส่วนแขกดำจะเป็นคำเรียกชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู)

บันทึกในจดหมายเหตุยังระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยพระราชทานตำแหน่งอัครเสนาบดี ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ ให้แก่ "อาคา มูฮัมหมัด" มุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียที่กล่าวกันว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง

นอกจากนี้ ยอดทหารของพระองค์ 2 ท่านคือ "พระยายมราชสังข์" เจ้าครองนครราชสีมา และ "พระยารามเดโช " เจ้าครองนครศรีธรรมราช ต่างก็มีเชื้อสายเปอร์เซียทั้งคู่

ความผูกผันระหว่างมุสลิมกับพระนารายณ์

จากหนังสือ "สำเภากษัตริย์ สุลัยมาน" (The Ship of Sulaiman) เปิดเผยบันทึกของ "อิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮิม" อาลักษณ์คณะราชทูตเปอร์เซียที่พระเจ้าสุลัยมานทรงส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม ในราวศตวรรษที่ 16-17 ระบุว่า พระนารายณ์ทรงสนพระทัยที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและกิจกรรมของกษัตริย์อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะของเปอร์เซีย

ใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทอดพระเนตรภาพพระราชวังคาข่าน รวมทั้งภาพวาดพระเจ้ากรุงอิหร่าน ก็ทรงสนพระทัย และเมื่อรับสั่งให้คณะราชฑูตเข้าเฝ้าฯ มักเห็นพระนารายณ์ฉลองพระองค์ด้วยเสื้อผ้าอย่างอิหร่าน คือเสื้อคลุมยาว กางเกงขายาว เสื้อชั้นใน ถุงเท้ารองเท้า และเหน็บกริชเปอร์เซีย แต่พระองค์ไม่ได้คลุมผ้าบนพระเศียรดังเช่นแขกทั่วไป ด้วยเหตุที่ทรงหนัก"

ทั้งนี้ หากพิจารณาประกอบกับบันทึกของฝ่ายไทยเอง ทั้งจากจดหมายเหตุและหลักฐานภาพวาดก็พอจะเชื่อถือได้ สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเคยคบหาสมาคมกับมุสลิมชาวเปอร์เซียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมชาวอิหร่านเป็นอย่างดี ทั้งยังโปรดเสวยอาหารอิหร่านอีกด้วย

"ลอมพอก" เครื่องแต่งกายสมานฉันท์

หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งของการผสานกลมกลืนกันระหว่าง 2 วัฒนธรรม ก็คือ "ลอมพอก" อันได้แก่หมวกสำหรับขุนนางไทยที่นิยมใช้กันในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

โดย "ลอมพอก" นี้ทำจากผ้าขาว พันและผับเป็นทรงหมวก มียอดแหลม ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต ที่ขอบของ "ลอมพอก" จะมีเครื่องประดับแสดงชั้นยศ สันนิษฐานกันว่ารูปแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าโพกศีรษะของมุสลิมเปอร์เซีย ผสมผสานกับรูปแบบชฎาของไทย

เมื่อครั้งที่คณะราชทูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2229 ได้สวมเครื่องแต่งกายดังกล่าวจนเป็นที่ดึงดูดความสนใจจากชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก

มุสลิมในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

มุสลิมลพบุรีในวันนี้

การดำรงอยู่ กระทั่งได้รับตำแหน่งทางการเมืองและการทหารระดับสูงของมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย ถึงขั้นลงหลักปักฐานสืบเชื้อสายบนแผ่นดินไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร แม้ภายหลังจะถูกลดบทบาทลงบ้างจากการเข้ามาของฝรั่งอย่าง "หลวงวิชาเยนทร์"

ทว่าจนถึงปัจจุบันลูกหลานมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียก็ยังคงอยู่อาศัยและทำมาหากินอยู่บนแผ่นดินไทยเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นคนไทยเต็มตัว บางตระกูลยังคงนับถือศาสนาอิสลามดังเดิม ขณะที่บางตระกูลเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ

สำหรับ จ.ลพบุรี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดินแดนที่มุสลิมเคยมีบทบาทและผูกผันกับกษัตริย์อย่างมากนั้น ปัจจุบันกลับหลงเหลือชุนชนชาวไทยมุสลิมอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และไม่ได้สืบเชื้อสายจากมุสลิมเปอร์เซีย หากแต่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทาน (ปากีสถาน) เสียส่วนใหญ่

ในขณะที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจากจังหวัดชายแดนใต้ ก็เริ่มย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยอยู่ในลพบุรีบ้างเหมือนกัน

นายธวัชชัย คานสกุล หรือ เชร์ มูหะหมัด ราชาเคน อิหม่ามประจำมัสยิดนูรู้ลมุสลิมีน ลพบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนโกษา ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ห่างจากพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ไม่ไกลนัก กล่าวว่า ชุมชนโกษามีมุสลิมประมาณ 17 ครอบครัว ซึ่งแม้จะเป็นคนส่วนน้อย แต่การปฏิบัติตนตามหลักศาสนาก็ไม่แตกต่างจากอิสลามิกชนทั่วไป

เสียงสวดเรียกให้ไปทำละหมาด หรือ "อาซาน" ดังเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในวันศุกร์ จะมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมนุ่งผ้าโสร่ง สวมหมวกกะปิเยาะห์ เดินทางไปรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อร่วมทำละหมาดวันศุกร์ เหมือนกันกับชุมชนชาวมุสลิมทุกที่

อิหม่ามเชร์กล่าวว่า มัสยิดนูรุ้ลมุสลิมีนลพบุรีน่าจะมีอายุมากกว่าร้อยปี ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงสุเหร่าที่ปลูกสร้างด้วยไม้ ภายหลังถูกรื้อสร้างใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักฐานที่แสดงถึงร่องรอยประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของมุสลิมใน จ.ลพบุรี แทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว กระทั่งสุสานที่อยู่ใกล้ๆ มัสยิด ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ป่าช้าแขก หมกบารา" ก็ยังไม่ปรากฏวันเดือนปีที่แรกเริ่มฝั่งศพให้ได้รู้

มุสลิมในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สังคมไทยกับองค์ความรู้เรื่องมุสลิม

น.ส.บีบี ฮาซีนะฮ์ ราชาเคน ลูกสาวของอิหม่านเชร์ กล่าวว่า สังคมไทยหันมาสนใจชีวิตและวิถีปฏิบัติของผู้ที่นับถือต่างศาสนามากขึ้น สังเกตจากหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์ต่างนำเสนอองค์ความรู้และเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวไทยมุสลิมที่หลากหลายมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังแยกไม่ออกระหว่าง "แขกมุสลิม" กับ "แขกฮินดู" หรือ "แขกซิกข์"

เธอเล่าว่า ทุกวันนี้ยังโดนถามด้วยคำถามเดิมๆ เช่น เรื่องการคลุมผม การแต่งกาย อาหารการกิน ซึ่งมักจะถูกมองเป็นเรื่องตลกหรือเรื่องมาก ในขณะที่การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมหรือประเพณีทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ขัดกับศาสนบัญญัติอิสลาม เช่น เรื่องรูปเคารพ หรืออื่นๆ ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ ก็จะถูกมองว่ามุสลิมอยากได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น

"ความจริงมุสลิมถูกสอนให้ปรับตัวเข้ากับสังคมมากที่สุด และหากสิ่งใดผิดหลักศาสนาเราก็จะหาทางออกให้กับตนเองในการดำเนินชีวิต โดยไม่เคยเรียกร้องสิทธิพิเศษใดๆ เลยด้วยซ้ำ"

ฮาซีนะฮ์ กล่าวอีกว่า ศาสนาอิสลามสอนให้เคารพกฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งคัด และให้เคารพพระเจ้าแผ่นดินที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งจริงๆ เราก็เป็นคนไทย เดินทางไปต่างประเทศเขาก็เรียกเราว่าเป็นคนไทย

ทุกคนก็รักในหลวงมาก เพียงแต่ว่าเราจะกราบพระองค์ไม่ได้ เนื่องจากศาสนาอิสลามห้ามก้มกราบ นอกจากกราบองค์อัลลอฮ์เท่านั้น แต่เราก็สามารถแสดงความเคารพด้วยการไหว้ อันเป็นวัฒนธรรมของไทยแทนได้

มุสลิมในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ห่วงคน 3 จังหวัดเผชิญไฟใต้

เมื่อถามถึงสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อิหม่ามเชร์กล่าวว่า ถึงจะมีเชื้อสายปาทาน พูดภาษาปุชโต (ภาษาของชาวปากีสถาน) ไม่ได้พูดมลายู แต่ก็รู้สึกห่วงใยพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเรานับถือท่านศาสดาองค์เดียวกัน

"ศาสนาอิสลามสอนให้มุสลิมทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเช่นเดียวกับการปฏิบัติตามหลักอิสลาม ทุกคนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ฉะนั้นจะฆ่ากันไม่ได้ ถึงจะเป็นคนต่างศาสนาก็ตาม เมื่อผู้ใดทำผิด พระเจ้าจะเป็นผู้คิดบัญชีพิพากษาผู้นั้น อย่างกรณีกรือเซะหรือตากใบ มันเป็นรอยด่างที่พวกเรารู้สึกเศร้าใจมาก" อิหม่ามเชร์ กล่าวทิ้งท้าย

พระราชประวัติสมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์องค์ที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2199 - 2231 รวม 32 ปี

ช่วง 10 ปีสุดท้ายในรัชสมัย พระองค์ได้ทรงผูกสัมพันธไมตรีกับชาติต่างๆ โดยเฉพาะอิหร่านและฝรั่งเศส ถึงกับส่งราชทูตแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ชื่อเสียงของอาณาจักรสยามในสมัยนั้นเป็นที่เลืองลือไปทั่วยุโรป

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2231 ณ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรีในปัจจุบัน รวมพระชนมายุได้ 56 พรรษา

ที่มา : ประชาไท prachatai.com

อัพเดทล่าสุด