เมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์


25,640 ผู้ชม

วันอิดิ้ลอัฎฮา 1438  ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 กันนยายน 2560 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ซึ่งหลายคนสงสัย ว่าต้องละหมาดวันศุกร์อีกหรือไม่?


วันอิดิ้ลอัฎฮา 1438  ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 กันนยายน 2560 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ซึ่งหลายคนสงสัย ว่าต้องละหมาดวันศุกร์อีกหรือไม่?

เมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์


คำถาม: อยากทราบว่า เมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์ ต้องละหมาดวันศุกร์อีกหรือไม่?

ตอบโดย: อาลี เสือสมิง

หากวันอีดและวันศุกร์ตรงกันและบรรดามหาชนได้มาร่วมละหมาดวันอีดก็อนุญาตให้พวกเขาแยกย้ายกันไป และทิ้งการละหมาดวันศุกร์ได้ เพราะมีรายงานจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ว่าท่านได้กล่าวในคุฏบะฮฺของท่านว่า

“โอ้ผองชน แน่แท้ สองอีดได้รวมกันในวันของพวกท่าน ผู้ใดจากชาวอัล - อาลียะฮฺประสงค์จะละหมาดวันศุกร์พร้อมกับเรา เขาผู้นั้นก็จงละหมาด และผู้ใดประสงค์จะแยกย้ายไป ก็ให้ผู้นั้นแยกย้ายไป” ไม่มีผู้ใดคัดค้านคำพูดของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) 
อิหม่ามอันนะวาวียฺ อธิบายว่า : อะษัรที่รายงานจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) นี้ อัลบุคอรียฺได้รายงานเอาไว้ในเศาะฮีหฺของเขา คำว่า อัล – อาลิยะฮฺ หมายถึงตำบลหนึ่งที่นครมะดีนะฮฺจากทางทิศตะวันออก และคำว่า “มหาชน” (اهل السواد) หมายถึงชาวตำบล ซึ่งตรงนี้หมายถึงชาวตำบลหรือชุมชนที่เสียงอะซานไปถึงพวกเขาก็จำเป็นที่พวกเขาต้องมาร่วมละหมาดวันศุกร์ในเมืองในวันอื่นจากวันอีด 
ดังนั้น ตามมัซฮับ อัช-ชาฟีอียฺ จึงถือว่าการละหมาดวันศุกร์จำเป็นเหนือชาวเมือง และการละหมาดวันศุกร์นั้นตกไป (ไม่จำเป็น) จากบรรดาชาวชุมชนตามหมู่บ้าน (ที่ไกลออกไปจากตัวเมืองที่เป็นที่ตั้งของมัสญิด) ซึ่งตามนี้ ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ และปวงปราชญ์ได้กล่าวเอาไว้ 
ส่วนท่านอะฏออฺ อิบนุ อบีเราะบาหฺ กล่าวว่า : เมื่อพวกเขาได้ละหมาดอีดแล้ว การละหมาดวันศุกร์ในวันนี้ก็ไม่จำเป็น และละหมาดซุฮฺริด้วย ตลอดจนอื่นจากทั้งสอง (วันศุกร์- ซุฮฺริ) ยกเว้นละหมาดอัศริไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวเมืองหรือชาวชุมชนก็ตาม อิบนุ อัล - มุนซิรกล่าวว่า เราได้รายงานไว้ในทำนองนี้จากท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) และอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัซซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ท่านอิหม่ามอะหฺหมัด (ร.ฮ.) กล่าวว่าการละหมาดวันศุกร์จะตกไปจากชาวชุมชนและชาวเมืองแต่จำเป็นต้องละหมาดซุฮฺริ 
อิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การละหมาดวันศุกร์จะไม่ตกไปไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองหรือชาวชุมชน (กิตาบ อัล มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อันนะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 358-359 ) 
สรุปได้ว่า เมื่อวันอีดไปตรงกับวันศุกร์ก็มีข้ออนุโลมสำหรับผู้ที่ละหมาดอีดในเช้าวันศุกร์นั้นไม่ต้องละหมาดวันศุกร์อีก แต่ถ้าผู้นั้นจะละหมาดวันศุกร์อีกก็ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้มัสญิดที่ทำละหมาดวันศุกร์ ตลอดจนผู้เป็นอิหม่ามหรือคอเต็บก็ควรจะต้องทำละหมาดวันศุกร์ตามปกติ 
เรื่องนี้เป็นข้ออนุโลมที่ศาสนาเปิดช่องเอาไว้ ไม่ควรนำเอามาเป็นประเด็นในการสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน เฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันการเดินทางไปละหมาดวันศุกร์ที่มีมัสญิดเป็นสิ่งที่สะดวก ไม่ได้ลำบากเหมือนแต่ก่อน 
ดังนั้น ผู้ที่จะมาละหมาดวันศุกร์อีกครั้งในวันอีดภายหลังการละหมาดอีดในตอนเช้าแล้วก็สามารถกระทำได้เพราะมีหลักฐานและทัศนะของนักวิชาการสนับสนุน และผู้ที่ละหมาดอีดแล้วขัดข้องไม่สะดวกมาละหมาดวันศุกร์อีกก็มีข้ออนุโลมว่าไม่ต้องละหมาดวันศุกร์ได้ เพราะมีหลักฐานและทัศนะของนักวิชาการสนับสนุนจึงควรปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามความสะดวกและความประสงค์ของแต่ละบุคคล ไม่สมควรนำมาตั้งแง่และโต้เถียงกันแต่อย่างใดเลย

ที่มา:  alisuasaming.org

อัพเดทล่าสุด