การครองเรือนกับภรรยาหลายคนในอิสลาม


6,431 ผู้ชม

เคยมีคนตั้งประเด็นคำถามกันอยู่บ่อยว่า ความยุติธรรมในการครองเรือนกับภรรยาหลายคนนั้น ต้องเป็นอย่างไร ? ผู้เป็นสามี จะใช้อะไรเป็นมาตรฐานเพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาความยุติธรรม ความเสมอภาค และเท่าเทียมระหว่างเหล่าบรรดาภรรยา


การครองเรือนกับภรรยาหลายคนในอิสลาม

การครองเรือนกับภรรยาหลายคนในอิสลาม

ความยุติธรรมและเงื่อนไขในการครองเรือนกับภรรยาหลายคน

เคยมีคนตั้งประเด็นคำถามกันอยู่บ่อยว่า ความยุติธรรมในการครองเรือนกับภรรยาหลายคนนั้น ต้องเป็นอย่างไร ? ผู้เป็นสามี จะใช้อะไรเป็นมาตรฐานเพื่อเป็นเกณฑ์พิจารณาความยุติธรรม ความเสมอภาค และเท่าเทียมระหว่างเหล่าบรรดาภรรยา เพราะหลายคนเคยอ่านหนังสือของผู้รู้มามากมายหลายท่าน ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วมักพบว่า สาระที่นิยมเขียนออกมาส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกัน
กล่าวคือ จะบอกว่า การมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง จำเป็นจะต้องให้ความยุติธรรม ต้องเฉลี่ยทรัพย์สินเงินทอง รายได้และผลประโยชน์แก่ภรรยาทุกคนเท่าเทียมกัน พูดถึงเรื่องมีเมียเกินกว่า 1 คนคราใด มักจะได้ยินการพูดถึงความยุติธรรมด้วยครานั้น ราวกับว่า ถ้ามีภรรยาคนเดียว ก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงความยุติธรรม สามีจะเลี้ยงดูอย่างไรก็ได้ ทำนองว่า ความเที่ยงธรรมต่อภรรยานั้น อิสลามยังไม่กล่าวถึง จนกว่าสามีจะมีคนที่สอง ที่สามเสียก่อน อย่างนั้นแหละ
ผมเป็นคนชอบตั้งข้อสังเกตเพื่อวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับตำราว่า ด้วยสิทธิสตรี แล้วพบว่า ผู้รู้ระดับสูงหลายท่านของโลกอิสลามได้พยายามเขียนเพื่อเอาใจกระแสสังคมที่นิยมลัทธิผัวเดียวเมียเดียว พูดง่ายๆก็คือ เขียนเพื่อเอาใจฝรั่ง และให้ทัศนะค่อนไปในทางที่ทำให้เข้าใจว่า การมีภรรยาเกินกว่า 1 เป็นการละเมิดสิทธิสตรี แล้วไม่เห็นด้วยกับการมีภรรยาเกินกว่า 1 คน โดยชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนต่างๆที่ยุ่งยากสับสน เป็นเรื่องลำบากและอ้างถึงอุปสรรคต่างๆนานา บางท่านถึงกับเขียนเอนเอียงไปในทางกีดกัน ตำหนิติเตียน รังเกียจต่อการอนุมัติให้มีภรรยามากกว่า 1 คน
นักอ่านหนังสือประเภทนี้หลายคน มีความเข้าใจไม่ตรงกันและรู้สึกสับสนว่า เอ๊ะ! อิสลามอนุมัติหรือไม่อนุมัติกันแน่ กับการมีภรรยาเกินกว่า 1 คน เพราะเมื่อมาดูคำอธิบายของผู้รู้ ก็พบคำอธิบายเชิงปากว่าตาขยิบกันแทบจะทั้งนั้น ผมเองก็เคยพยายามทบทวนว่า ทำไม เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผมเคยแอบคิดเล่นๆในใจว่า ขณะที่ผู้รู้แต่ละท่าน นั่งเขียนเรื่องการมีภรรยามากกว่า 1 อยู่ที่บ้าน น่าจะมีใครสักคนแอบยืนถืออะไร คุมเชิงอยู่ข้างหลังก็เป็นได้ ....?
ฉะนั้น...ขออีกครั้ง ที่จะเขียนถึงประเด็นนี้ โดยจะชี้ในสองประเด็น 1 -การให้ความยุติธรรมระหว่างภรรยา 2- เงื่อนไขในการอนุมัติให้มีภรรยามากกว่า 1
ก่อนอื่นจะขออ้างถึง บทบรรยายของ อาจารย์ชัยวัฒน์(มูฮัมหมัด)สืบสันติวรพงศ์ เมื่อวันอาทิตย์ทีกรกฎาคม 2544 ณ.อาคารสำนักงานชมรมศิษย์เก่าอิสลามบูรณศาสน์ คลองสิบ ถึงแม้ว่า จะเป็นบทบรรยายที่ผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังนับได้ว่า เนื้อหายังคงร่วมสมัยอยู่ตลอดเวลา หากจะพูดถึงการมีภรรยาหลายคน อาจารย์ได้อ้างโองการ จากอัล-กุรอานดังนี้
“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย เจ้าจงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าผู้ทรงบังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง(นบีอาดัม)และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา (พระนางเฮาวาอ์) และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากเขาทั้งสองนั้นซึ่งบรรดาชายและหญิงมากมาย และจงยำเกรงอัลลอฮ์ที่พวกเจ้าต่างขอกันด้วยพระองค์(ต่างขอความช่วยเหลือกันโดยอ้างพระองค์เป็นสักขีพยาน) และจงรักเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเฝ้ามองพวกเจ้าอยู่เสมอ”
“และพวกเจ้าจงให้แก่เด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สินของพวกเขา (เมื่อถึงวัยอันควร) และจงอย่างเปลี่ยนของเลวด้วยของดี (เอาของไม่ดีเปลี่ยนกับของดีของเด็กกำพร้า) และจงอย่ากินทรัพย์ของเด็กกำพร้าร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า (เอามาปนกันแล้วถือโอกาสกินทรัพย์ของพวกเขา)แท้จริงมันเป็นบาปอันมหันต์”
“และพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดาเด็กกำพร้าได้ ก็จงสมรสกับสตรีที่พวกเจ้าพึงพอใจสองคนหรือสามคนหรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็จงมี(ภรรยา)คนเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครองอยู่ (ทาสหญิง) นั่นเป็นสิ่งที่เหมาะสมยิ่ง ในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง”
เนื้อหาในบทบรรยาย เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่ต้น จนถึงตรงนี้ไม่รู้สึกมีอะไรขัดข้อง เพราะเข้าใจตรงกันและเห็นด้วย โดยไม่มีข้อแย้ง แต่สำหรับประเด็นต่อไปนี่ซิครับ อาจารย์ชัยวัฒน์(มูฮัมหมัด)สืบสันติวรพงศ์ อ้างถึงเชคมุฮัมหมัด อาลี อัศศอบูนีย์ ว่า ท่านได้กล่าวในหนังสือตัฟซีรอายาติลอะห์กาม เกี่ยวกับ เหตุผลในการอนุมัติให้มีภรรยาหลายคนในอิสลาม พอสรุปได้ว่า การที่อิสลามอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาหลายคนได้นั้น มีขอบเขตและเงื่อนไข มิใช่เป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้ชายทุกคน ขอบเขตก็คือ จำนวนจะต้องไม่เกินสี่คน และเงื่อนไขก็คือ ต้องให้ความเป็นธรรมกับภรรยาทุกคนได้ ตรงประเด็นนี้แหละครับ ที่ผมมีความเห็นแย้ง
การที่อิสลามอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนนั้นมีขอบเขตและเงือนไข มิใช่เป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้ชายทุกคนขอบเขตก็คือจำนวนจะต้องไม่เกินสี่คน และเงื่อนไขก็คือต้องให้ความเป็นธรรมกับภรรยาทุกคนได้
คำพูดของเชค ดูผิวเผินคิดว่า ถูกต้อง แต่ผมมองว่า ซ่อนความผิดพลาดไว้มหาศาล มองเผินๆก็อาจรู้สึกเห็นคล้อยได้ไม่ยาก แต่ขอเรียนว่า จำเป็นที่เชคจะต้องอธิบายเสริมต่อไปอีกนิด เพราะว่า การมีภรรยามากกว่า 1 คนนั้น เป็นประตูทางออกหนึ่งที่อิสลามเปิดกว้างไว้สำหรับมนุษย์ทุกชนชั้น มิได้เป็นรางวัลที่กำหนดไว้สำหรับคนร่ำรวย หรืออภิสิทธิ์ชนชั้นสูงฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะ ของสิ่งใดเมื่ออัลลอฮ์ ทรงตรัสว่าอนุมัติ หรือฮาลาลให้แล้ว ก็ถือเป็นสิ่งอนุมัติและฮาลาลสำหรับคนทุกชนชั้นไปจนถึงวันกิยามะฮ์
แต่ประเด็นปัญหาที่ว่า เมื่อคุณมีภรรยามากกว่า 1 คนแล้ว คุณสามารถให้ความยุติธรรมแก่พวกนางได้หรือไม่ อันนี้เป็นอีกข้อหาหนึ่ง หรือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องแยกออกไปพิจารณาต่างหาก
แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะถูกข้อหาเป็นคนทำซินาทันที ที่คุณไม่สามารถหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับบรรดาภรรยาของคุณได้
อัลลอฮ์ทรงวางกฎต่างๆมายังมนุษย์ผู้ศรัทธาต่อพระองค์มากมาย หลายมาตรการ แต่ต้องไม่ลืมว่า พระองค์ทรงมีความเมตตาติดตามมาด้วย เพื่อผ่อนปรนและอภัยให้มนุษย์ ในยามที่มีความบกพร่อง ไม่ว่าในกฎข้อใด มนุษย์มีความเป็นไปได้ ที่จะทำให้สมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงบอกว่า พระองค์มิได้วางภาระแก่ชีวิตใด จนเกินกำลังความสามารถที่ชีวิตนั้นๆจะแบกรับ
การให้ความยุติธรรมต่อบรรดาภรรยา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่พระองค์ทรงตระหนักถึงความอ่อนแอ และบกพร่องของมนุษย์เป็นอย่างดี พระองค์ทรงอ่อนโยน จึงทรงมีโองการหนึ่งมาด้วยความกรุณาต่อคนหลายเมีย ที่พยายามสุดฤทธิ์สุดเดชแล้วว่า จะให้ความยุติธรรมกับพวกนาง แต่ก็ไม่สามารถกระทำให้ครบบริบูรณ์ได้
“และพวกเจ้าไม่สามารถที่จะให้ความยุติธรรมในระหว่างบรรดาหญิง(ผู้เป็นภรรยา)ได้หรอก และถึงแม้ว่าพวกเจ้าจะปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำก็ตาม ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าลำเอียงจนสุดตัว แล้วปล่อยให้บรรดานาง (ถูกทอดทิ้ง)ประหนึ่งถูกแขวนเติ่งไว้ และหากพวกเจ้าประนีประนอมกัน และมีความยำเกรง แท้จริงอัลลอฮ์ เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (4/129)
ในยุคปัจจุบัน สตรีในสังคมมนุษย์ ไม่ได้อยู่ในยุคทาส สถานะของพวกนาง มิใช่สินค้า ที่จะประเมินถึงรายได้ของตัวเองเมื่อมาอยู่กับสามี ฉะนั้น สตรีในยุคสมัยอิสลาม จะมีต้นทุนของตนเอง มีฐานภาพของตัวเองทางสังคม พวกนางมีทรัพย์สิน มีความรู้ มีเกียรติ มีศักยภาพที่หลากหลั่นกัน ตั้งแต่อยู่ในครอบครัวของแต่ละนางก่อนจะมาอยู่กับสามี พวกนางก็มิได้มีค่าเป็นศูนย์เท่ากันทั้งหมด เพื่อที่จะมานับหนึ่งให้กับชีวิตตัวเองเมื่อมาอยู่กับสามี แล้วจะทำอย่างไรกับความยุติธรรม ?
ความยุติธรรมในการครองรัก ครองเรือนกับภรรยาหลายคนจึงเป็นปรัชญาที่ให้ความหมายด้วยตัวของมันเอง ซึ่งยังเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่นกัน
ในเมื่อความจำเป็นเฉพาะตัวและ ศักยภาพของแต่ละนางเองไม่เท่าเทียมกัน บุคลิกภาพและระดับความรู้ ระดับสติปัญญาแต่ละคนก็ไม่เท่าเทียมกัน ต้องการอาหารต่างชนิดกัน รสนิยมในการเลือกสีสันเสื้อผ้าก็ไม่เหมือนกัน มีความถนัดในการประกอบกิจการงานแตกต่างกัน ฉะนั้นแล้ว ความยุติธรรมที่แท้จริง ควรเป็นอย่างไร ?
ถ้าเรามาพิจารณาความยุติธรรมในแง่ของคณิตศาสตร์ จะเห็นว่า ความยุติธรรมของผลบวก ขึ้นอยู่กับศักยภาพของตัวเลขที่เป็นตัวตั้ง ตัวเลขทุกตัวจะมีค่าหลากหลั่นกันไปในตัวของมันเอง นับตั้งแต่เลข 1 ถึงเลข 9
หากเราต้องการจะให้แต่ละตัวเลข บวกกับเลขตัวเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลลัพท์เท่ากับ 10 อย่างเท่าเทียมกัน เราก็คงไม่สามารถทำได้เลย ถ้าหากจะนำเลขที่มีอัตราเดียวกันเข้าไปบวก เช่นถ้าจะให้ ผลบวกของ 1 มีค่าเป็น 10 ก็จำเป็นต้องเอาเลข 9 เข้าไปบวก แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะใช้เลข 9 เข้าไปบวกกับเลขตัวอื่นด้วย เพื่อความเสมอภาค ผลลัพท์ที่ออกมาก็จะไม่เท่าเทียมกัน แต่ถ้าหวังจะให้ผลบวกออกมาอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะต้องให้แต่ละตัวเลขบวกกับตัวเลขที่มีค่าหลากหลั่นกันไป และนี่คือ ข้อพิสูจณ์เพื่อหาความยุติธรรมที่ผลลัพท์ของตัวเลข
ทุกอย่างอยู่ที่ความพอดี และความเหมาะสม มุสลิมกับความยุติธรรมนั้น อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ดำรงรักษาไว้ในทุกเรื่อง ทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการยุติธรรม โดยเฉพาะสัมพันธภาพทั่วไปมนุษย์ ทั้งในแง่การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม
สัมพันธภาพต่อพ่อแม่ เพื่อนฝูง เครือญาติ นายจ้าง ลูกจ้าง บรรดาลูก หลาน พี่น้อง เพื่อนบ้าน ฯลฯ จำเป็นต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายถึง ความเท่าเทียมกันทุกกรณีเสมอไป
แม้กับนักโทษ ก็จำเป็นต้องใช้หลักยุติธรรมตัดสิน โจร 4 คนเข้าบุกปล้นทรัพย์สิน การตัดสินไม่จำเป็นว่า โจรทุกคนจะต้องได้รับโทษเท่ากันหมด นักเรียน20 คนในชั้นย่อมมีศักยภาพไม่เท่าเทียมกัน หน้าที่ของครู คือ ต้องให้ความยุติธรรมในการสอน แต่จะให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนโดยให้คะแนนเท่าเทียมกันไปหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้
เชคได้กล่าวถึงเงื่อนไข หรือสาหตุที่ทำให้ผู้ชายได้รับอนุญาตให้มีภรรยาเกินกว่า 1 คนได้ ท่านบอกว่า

“มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้การมีภรรยาหลายคนเป็นสิ่งจำเป็นเช่น ภรรยาเป็นหมันหรือป่วยไม่สามารถให้ความสุขแก่สามีได้”

ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการ ที่สามียกเอาปมด้อยของภรรยาคนแรกทางด้านสุขภาพ เป็นเหตุผลและเป็นข้ออ้างเพื่อตัวเองจะได้มีภรรยาคนที่สอง เพราะนอกจากจะเป็นการไม่ให้เกียรติแก่ภรรยาของตน และนอกจากจะทำให้สถานะของภรรยาคนที่1 เป็นเพียงเครื่องบำบัดความใคร่ หรือเป็นโรงงานผลิตบุตรแล้ว ยังถือว่าเป็นจรรยาบรรณที่ใช้ไม่ได้เลย สำหรับสามีที่นำความบกพร่องของภรรยาคนแรกเป็นข้ออ้างในการหาหญิงคนใหม่มาเป็นภรรยา
อีกนัยหนึ่ง เท่ากับเชคอธิบายว่า ตราบใดภรรยาคนที่ 1 ยังมีความสามารถให้ความสุขทางเพศได้ สามารถให้กำเนิดบุตรได้อยู่ สามีจะไม่มีสิทธิมีภรรยาคนต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน
อิสลามเปิดกว้างเรื่องการมีภรรยามากกว่า 1 ไว้อย่างเป็นมาตรฐานสากลในอิสลาม โดยไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างใดๆมาเป็นเงื่อนไข เป็นอันว่า มนุษย์ชายหญิง โดยธรรมชาติจำเป็นจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ศาสนาอิสลามเปิดกว้างให้อยู่กินด้วยกันได้โดยอนุมัติให้ชายมีภรรยามากกว่า 1 แต่ไม่เกิน 4 โดยไม่จำเป็นต้องหาเงื่อนไขใดๆเป็นข้ออ้าง
ท่นเชคกล่าวต่อไปด้วยว่า สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายหลายเท่า หากผู้ชายมีภรรยาได้เพียงคนเดียว ผู้หญิงที่เหลือจะทำอย่างไร? จะปล่อยให้นางครองตัวเป็นโสดไม่รู้จักชีวิตคู่ ไม่รู้จักความเป็นแม่ตลอดไปกระนั้นหรือ?
นึกสมเพชเหตุผลในการอนุมัติให้มีเมียเกินกว่า 1 ของท่านเชค นั่นคือ ความกังวล ด้วยกลัวว่า 1 จะมีผู้หญิงโสดตกค้างหลงเหลืออยู่บนโลก และ 2 ท่านเชคกลัวว่า ผู้หญิงจะไม่รู้จักความเป็นแม่
ในทัศนะของท่านเชค ถือว่า จำเป็นที่ผู้ชายต้องลงทุนช่วยพวกเธอให้มีสามีให้หมดทุกคนอย่าได้เหลือ และอีกประการหนึ่ง ก็คือ เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ที่จะต้องทำให้พวกเธอรู้จักความเป็นแม่ ซึ่งผมเองมองว่า นี่เป็นการแสดงเหตุผลที่เหลวไหล ไม่เข้าท่า ไร้สาระเต็มที และไม่น่าจะเป็นทัศนะที่มาจากผู้รู้ในอิสลาม เพราะความจริงการครองเรือนโดยตัวของมันเอง คือ เสรีภาพ มันต้องมาจากเหตุผลของความรัก ความพึงพอใจ ความเข้าใจระหว่างกันต่างหาก ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผล จากความกลัวว่า นางจะเป็นดาวค้างฟ้า และไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า นางจะรู้จักความเป็นแม่คนหรือไม่ เพราะอันที่จริงการมีคู่ครองไม่ว่าจะเป็นคนที่ 1 หรือ 2 อิสลามอนุมัติให้อยู่แล้ว โดยถือเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว และขึ้นอยู่กับความปรองดองของคนที่จะอยู่ด้วยกันมากกว่าเหตุผลอื่น
ผู้รู้มีหน้าที่แนะนำ สั่งสอนให้พวกเขาเล็งเห็นความดีงาม ของการมีคู่ครองเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ้างเอาจำนวนของพวกนางที่มีปริมาณมากกว่า มาเป็นเงื่อนไขว่า พวกนางจะต้องยอมตกเป็นภรรยาคนที่สอง คนที่สามของผู้ชาย ไม่เช่นนั้น ถัวเฉลี่ยตามอัตราของผู้ชาย จะไม่เพียงพอ
ดูแล้วเป็นความคิดที่น่าขำ และน่าสมเพชเอามากๆ ช่างคิด ช่างวิเคราะห์หาเหตุผลมาเพื่อเป็นข้ออ้างกันเพียงนี้หรือผู้ชายเรา มันเหมือนกับเอาเรื่องอัตราความมากน้อยของชายหญิง ไปข่มขู่ เพื่อแบลกเมล์เพศตรงข้าม หวังให้นางยินยอมมาเป็นภรรยาคนที่ 2-3 ซึ่งความจริงแล้วการมีภรรยามากกว่า 1 เป็นเรื่องที่อิสลามอนุมัติให้กระทำได้อยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับความปรองดอง ความรัก ความเข้าใจ ประนีประนอม และความสมานฉันท์ด้วยกันหลายๆฝ่ายต่างหาก
โดยไม่จำเป็น และไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขหรือข้ออ้างใด ๆที่พูดถึงกันอย่างข้างๆคูๆ เยี่ยงนี้ จึงสรุปความได้ว่า ไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จ หรือกฎตายตัวสำหรับศิลปะในการครองเรือนกับภรรยาหลายคน

 
ที่มา : www.yomyai.com

อัพเดทล่าสุด