ส่วนหนึ่งจากซุนนะห์นบีที่เป็นหลักการปฏิบัติแก่เด็กทารกแรกเกิดนั้นก็คือ การอาซานที่หูขวา และอิกอมะห์ที่หูซ้ายหลังจากคลอดทันที
มหัศจรรย์แห่ง เสียงอาซาน แก่เด็กทารกแรกเกิด
ส่วนหนึ่งจากซุนนะห์นบีที่เป็นหลักการปฏิบัติแก่เด็กทารกแรกเกิดนั้นก็คือ การอาซานที่หูขวา และอิกอมะห์ที่หูซ้ายหลังจากคลอดทันที
ได้มีรายงานจากท่านอบีรอเฟาะห์ว่า “ฉันได้เห็นท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) อาซานที่หูของอัลฮุเซ็น บุตร อาลี ขณะที่ฟาติมะห์คลอดเขาออกมา” (บันทึกโดยอบูดาวูดและติรมิซีย์)
ส่วนในฮะดิษที่กล่าวถึงเรื่องอิกอมะห์นั้นมี 2 ฮะดิษซึ่งอยู่ในข่ายดออีฟ ซึ่งต่างจากฮะดิษที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถึงกระนั่นความหมายของฮะดิษซอเฮาะห์ที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้มายืนยันความหมายของฮะดิษที่มีรายงานอ่อนอยู่ดี ดังที่มีรายงานว่า
“บุคคลใดที่ได้ให้กำเนิดบุตร จงอาซานที่หูขวาของเขา และอิกอมะห์ที่หูซ้ายของเขา ญิน (อุมมุ้ อัซซิบยาน) จะไม่สามารถทำร้ายเขาได้” (บันทึกโดยอบูยะลา)
“แท้จริงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) อาซานที่หูของอัลฮุเซ็น บุตร อาลี และอิกอมะห์ที่หูซ้าย ในวันที่เขาเกิด” (บันทึกโดยอัลบัยฮะกีย์)
แบบฉบับของท่านศาสดามูฮัมหมัดนี้ได้มาเสริมสร้างสัญชาตญานเดิมของทารกให้เกิดความสมดุล ประกาศถึงสัญลักษณ์ความเป็นอิสลามให้แก่ทารกก่อนที่ชัยฏอนจะเรียกร้องเขาสู่ความหลงผิด ก่อนที่เสียงเพลงจะกระตุ้นโสตประสาทของเขา ก่อนที่สิ่งชั่วร้ายจะล้อลวงเขาไปในหนทางที่ผิดบาป
การอาซานและอะกอมะห์ได้ประมวลความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของอิสลามไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าว “อัลลอฮู่อักบัร” การกล่าว “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์” และการกล่าวยืนยันการเป็นศาสนทูตของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เอาไว้ อีกทั้งยังมีถ้อยคำที่กล่าวเชิญชวนสู่การดำรงการละหมาด การเรียกร้องสู่ความผาสุกที่ครอบคลุมทั้งโลกนี้และโลกหน้า
แน่แท้อัลลอฮ์ (ซุบฮาฯ) ทรงกำหนดรูปลักษณ์แห่งวิทยาศาสตร์ไว้ โดยพระองค์ได้ทรงสร้างอุปกรณ์และสื่อในการให้มนุษย์ได้พบกับความรู้และได้ใช้มันในการแสวงหาความรู้ต่างๆ ด้วยระบบการรับฟัง การมอง และหัวใจอันเป็นทีอยู่ของสติปัญญา
ثُمَّ سَوَّاهُ وَنَفَخَ فِيهِ مِنْ رُوحِهِ وَجَعَلَ لَكُمُ السَّمْعَ وَالْأَبْصَارَ وَالْأَفْئِدَةَ قَلِيلًا مَا تَشْكُرُونَ
“แล้วพระองค์ได้ทรงทำให้เขามีสัดส่วนที่สมบูรณ์ และทรงเป่ารัวะฮ์ (วิญญาณ) ของพระองค์เข้าไปในเขา และพระองค์ทรงให้พวกเจ้าได้ยินและได้เห็นและให้มีหัวใจ (สติปัญญา) ส่วนน้อยเท่านั้นที่พวกเจ้าขอบคุณ” (อัซซะญะดะห์ : 9)
ในโองการนี้ คำว่า “سَوَّاه” ชี้ถึงการสร้างที่สมบูรณ์ คำว่า “السَّمْعَ” ชี้ถึง การสร้างการระบบการได้ยินอย่างสมบูรณ์ก่อนการคลอด ซึ่งนี้เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ต่างให้การยอมรับ
ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์จะสามารถรับรู้เสียงที่พวกเขาได้ยินในขณะที่อยู่ในครรภ์ของมารดา และเมื่อพวกเขาได้คลอดออกมาและรับฟังการอาซานและการอิกอมะห์ผ่านหูของพวกเขา เขาจะรับรู้ได้ทันทีถึงการอาซานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเมื่อพวกเขาเจริญเติบโตขึ้น เสียงนี้จะยังคงตรึงและกึกก้องอยู่ในจิตใจของพวกเขา
ศูนย์วิจัยบางแห่งได้ดำเนินการวิจัยกับกลุ่มทารก จึงพบว่า บรรดาเด็กทารกเหล่านั้นจะตอบสนองการให้นมแม่ในเชิงบวกเป็นอย่างมากขณะรับฟังเสียงอันเป็นที่รักที่พวกเขาเคยได้ยินในขณะที่อยู่ในครรภ์ของมารดา และพวกเขาจะเกิดอาการท้องผูกและปั่นป่วนในท้อง และมีความอยากที่จะดูดนมน้อยลงขณะได้ยินเสียงที่ทำให้มารดาของพวกเขาเกิดความไม่สบายใจ ซึ่งการวิจัยนี้ทำให้เราได้รู้สึกว่าแบบฉบับของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ในการอาซานและอิกอมะห์ที่หูของเด็กทารกแรกเกิด เพื่อให้เสียงดังกล่าวคุ้นเคยผูกพันกับจิตใจของพวกเขา และเพื่อให้เสียงดังกล่าวเป็นเสียงอันเป็นที่รักของหัวใจพวกเขา และหัวใจและจิตใจของเด็กจะเกิดความเข้มแข็งต่อการกระซิบกระซาบของชัยฏอนมารร้าย
ท่านอิหม่ามอิบนุก็อยยิมได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัวะฟะตุ้ลเมาลูด” ว่า “และสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในการอาซาน (วัลลอฮู่อะลัม) ก็คือการที่สิ่งแรกที่มาเคาะการได้ยินของมนุษย์นั้นจะต้องเป็นถ้อยคำแห่งการเรียกร้องเชิญชวนสู่การละหมาด (อาซาน) อันสูงส่งที่ประมวลได้ด้วยความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นเจ้า และถ้อยคำการกล่าวปฏิญาณตนอันเป็นสิ่งแรกเมื่อเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ฉะนั้นดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการตัลกีน (สอน) ให้เขาได้รู้จักสัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสลามขณะที่เขา (เด็กทารก) เข้าสู่โลกดุนยา เฉกเช่นตัลกีน (คำสอน) ด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงเอกภาพของอัลลอฮ์ขณะที่พวกเขาออกจากโลกดุนยานี้ไป
ที่มา: ansorimas200.blogspot.com