การละศีลอด และดุอาอ์เมื่อละศีลอด พร้อมความหมาย
การละศีลอด และดุอาอ์เมื่อละศีลอด พร้อมความหมาย
การละศีลอด มุสตะฮับ (สิ่งที่สนับสนุนให้ปฏิบัติ) ให้ละศีลอดหลังจากการปฏิบัตินมาซมัฆริบ และอิชาอฺ ถึงแม้ว่าจะอ่อนเพลียเพียงใด หรือมีแขกคอยอยู่ก็ตาม และสิ่งซึ่งจะนำมารับประทานเพื่อละศีลอดจะต้องเป็นสิ่งที่สะอาดและฮาลาล ต้องปราศจากความสงสัยใดๆ ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม หรือเป็นสิ่งฮาลาล สมควรอย่างยิ่งที่จะละศีลอดด้วยผลอินทผลัมที่ฮาลาล ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัตินมาซมีผลบุญมากถึงสี่ร้อยเท่า และการละศีลอดกับอินทผลัม น้ำเปล่า นมสด น้ำร้อน ถือเป็นสิ่งที่ดียิ่ง
عن ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ :كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا أَفْطَرَ قَالَ : «ذَهَبَ الظَّمَأُ، وَابْتَلَّتِ الْعُرُوقُ، وَثَبَتَ الأَجْرُ، إِنْ شَاءَ اللهُ». (أبو داود رقم 2010، صحيح سنن أبي داود رقم2066: حسن)
จากท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อท่านละศีลอดท่านจะกล่าวว่า
«ذَهَبَ الظَّمَأُ، وَابْتَلَّتِ الْعُرُوقُ، وَثَبَتَ الأَجْرُ، إِنْ شَاءَ اللهُ»
ซะฮะบัซ เซาะมะอุ, วับตัลละติล อุรูก, วะษะบะตัล อัจญ์รุ, อินชา อัลลอฮฺ
“ความกระหายได้ดับลงแล้ว เส้นโลหิตก็เปียกชื้น และผลบุญก็ได้มั่นคงแล้ว อินชาอัลลอฮฺ (หากอัลลอฮฺทรงประสงค์)”
(รายงานโดย อบู ดาวูด หมายเลข 2010 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด หมายเลข 2066 เป็นหะดีษหะสัน)
คำอธิบายหะดีษ
หะดีษบทนี้ถือว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺที่สุดจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เกี่ยวกับการขอดุอาอ์ขณะละศีลอด และไม่มีดุอาอ์ใดๆ ในการละศีลอดเว้นแต่มาจากหะดีษนี้ แต่ผู้ที่ถือศีลอดสามารถขอดุอาอ์ได้ด้วยการขอดุอาอ์อื่นๆ ที่คิดว่าสามารถให้ประโยชน์แก่ตัวเขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
(บทเรียนเกี่ยวกับเราะมะฎอน โดย สุลัยมาน อัล-เอาดะฮ์ หน้า 26)
บทเรียนจากหะดีษ
1. ส่งเสริมให้อ่านดุอาอ์เมื่อละศีลอด
2. เป้าหมายในการขอดุอาอ์ก็เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดวิงวอนขอความดีและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการถือศีลอดเพื่อให้พระองค์ทรงตอบรับ
3. ส่งเสริมให้ปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการประกอบอิบาดะฮฺทุกอย่าง
4. แท้จริงดุอาอ์นั้นสามารถทำให้ความยำเกรงและความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์